เมื่ออัตลักษณ์แห่งศิลปะวัฒนธรรม 'เมียนมา' ยัง 'ฝังแน่น-มิจางหาย' คงเสน่ห์ไว้ได้หลายร้อยปี กลายเป็นของดีที่ไม่ต้องเคลมจากใคร

จากที่ใครต่อใครหลายคนเห็นว่า สื่อโซเชียลประเทศหนึ่งที่อยู่ทางฝั่งตะวันออกของไทยพยายามตั้งหน้าตั้งตาเคลมทุกอย่างจากไทย ด้วยการสร้างสตอรี่ขึ้นมาใหม่ ว่านี่เอย...นั่นเอย...เป็นของตนมาก่อน แค่ถูกชาวสยามขโมยไป สวนทางกับประเทศฝั่งตะวันตกอย่างเมียนมา ซึ่งก็มีอะไรหลายอย่างที่เหมือนกันกับไทย แต่กลับไม่เคยคิดจะเคลมว่าไทยขโมยมาจากพม่าแต่อย่างใด  

วันนี้เอย่าจะพาไปค้นหาว่าทำไมคนพม่า ไม่เคลมอะไรต่อมิอะไรหลายอย่างของชาวสยาม หรือที่พม่าชอบเรียกว่า 'โยเดีย' นั้น ว่าเป็นของเขามาก่อน

1. พม่ายอมรับการมีอยู่ของโยเดียและยอมรับว่าโยเดียมีศิลปะของตนเอง ดั่งที่เราทราบว่าในเมียนมามีชุมชนชาวโยเดียที่เทครัวมาครั้งกรุงศรีอยุธยาแตก  และนำพาศิลปะวิทยาการมาด้วย

2. ความชาตินิยมของชนเผ่า ต้องยอมรับว่าเมียนมาเป็นประเทศที่มีชนเผ่าหลายชาติพันธุ์รวมกัน แต่ละชาติพันธุ์ก็มีอัตลักษณ์ของตนเอง และสืบต่อให้ลูกหลานอนุรักษ์ศิลปะและวัฒนธรรมของตน ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ เครื่องแต่งกาย

3. ทางเมียนมาไม่ได้สนใจกับต้นกำเนิดว่ามาจากไหน เพียงแค่มีอยู่ในชีวิตประจำวันก็เพียงพอ อาทิเช่น มวยไทย กับ มวยพม่า (Lethwei) ที่มีความคล้ายคลึงกัน แต่ก็ไม่เคยมีการเคลมว่ามวยพม่าเป็นต้นกำเนิดของมวยไทย หรืออย่างการนับวันปีใหม่ไทยก็คือ สงกรานต์ เช่นเดียวกับตะจ่านของเมียนมา แม้จะมีความเหมือนกันและต่างกันในรายละเอียดบางอย่าง แต่ทางเมียนมาก็ไม่คิดถามถึงว่าต้นกำเนิดมาจากใด

4. ความเชื่อที่ฝังแน่นจากรุ่นสู่รุ่นทำให้เกิดเป็นรากฐานทางสังคมที่แข็งแกร่ง อาทิเช่นการขอขมาผู้ใหญ่ในช่วงเทศกาลออกพรรษา หรือทางพม่าเรียกว่าตะดิงจุด ยังคงมีอยู่สืบรุ่นสู่รุ่น ในขณะที่ทางไทยธรรมเนียมนี้ได้หายไปจากสังคมไทยนานแล้ว

5. อีกสิ่งหนึ่งคือชาวเมียนมาไม่ได้ยึดติดกับอดีต  เท่าที่เอย่าได้คุยกับคนเมียนมาส่วนใหญ่ แม้ว่าเขาจะบอกว่าในอดีตเขาไม่เคยลืมว่าบรรพบุรุษของเขาว่าเป็นกษัตริย์นักรบที่ยิ่งใหญ่ขนาดไหน แต่ยุคสมัยเหล่านั้นได้ผ่านไปแล้ว คนรุ่นใหม่ไม่ยึดติดกับหงสาวดีหรือคองบองเหมือนคนไทยที่ยังยึดติดกับกษัตริย์อย่างเหนียวแน่น...ชาวเมียนมายุคใหม่บอกว่ายุคของเขาเริ่มต้นในสมัยของนายพลอองซานที่ปลดแอกชาวเมียนมาจากจักรวรรดิอังกฤษ กล่าวสั้นๆ ได้ว่า 'จำได้แต่ไม่ยึดติด' นั่นเอง

ปัจจุบันชาวเมียนมายังคงอนุรักษ์สิ่งที่สืบทอดกันมาตั้งแต่อดีตนับหลายร้อยปีจนถึงปัจจุบัน แสดงออกมาในแง่ของการแต่งกาย อาหาร คติความคิด ค่านิยม การใช้ชีวิต รวมถึงศิลปะวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ จนไม่ต้องไปเคลมของชาติใด


เรื่อง: AYA IRRAWADEE