อ.พงษ์ภาณุ ชี้!! 'ก๊าซเรือนกระจก-คาร์บอน' กำลังมีค่าเสมือนทองคำ แนะรัฐบาลเร่งส่งเสริมสังคมไทยเปลี่ยนคาร์บอนให้กลายเป็นเงิน

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่มาร่วมพูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'เปลี่ยนคาร์บอนให้เป็นเงิน' เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 67 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

วันนี้คาร์บอนฯ ไม่ได้เป็นเพียงของเสียที่ทำให้โลกร้อนอีกต่อไป...

ความพยายามของประชาคมโลกในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยอิงกลไกตลาดในการกำหนดราคาคาร์บอน (Carbon Pricing) ได้ทำให้ก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งคาร์บอนมีคุณค่าเสมือนทองคำ หน่วยงานต่าง ๆ ทั่วโลก รวมทั้งองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ของประเทศไทย มีการจัดตั้งขึ้นมาเพื่อรับรองคาร์บอนเครดิต ซึ่งมีผลเท่ากับเป็นการเปลี่ยนสภาพคาร์บอนให้เป็นเงินตราและ/หรือหลักทรัพย์

เป็นที่น่ายินดีที่วันนี้เทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อมได้ช่วยให้โครงการลดก๊าซเรือนกระจกเกิดขึ้นมากมายทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย เทคโนโลยีดูดกลับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage-CCS) ได้แสดงให้เห็นศักยภาพในการลดคาร์บอนในปริมาณมาก แม้จะยังคงมีต้นทุนค่อนข้างสูงอยู่ บริษัท ปตท.สผ. ได้ลงทุนจำนวนมหาศาลจัดทำระบบ CCS ที่แท่นขุดเจาะก๊าซธรรมชาติ แหล่งอาทิตย์ กลางอ่าวไทย ซึ่งคาดว่าจะสามารถลดคาร์บอนไดอ็อกไซด์ได้ถึงประมาณ 700,000 ถึง 1 ล้านตันต่อปี นับเป็นโครงการ CCS โครงการแรกของประเทศไทย

โครงการภูมิปัญญาผ้าไทยลดโลกร้อน เป็นอีกโครงการที่สมควรกล่าวถึง ผ้าไทยทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นผ้าไหมหรือผ้าฝ้ายไทย ที่เกิดจากการถักทอของชาวบ้านทั่วประเทศ จากนี้ไปจะใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดเลิกการใช้สารเคมี และได้รับการรับรอง Carbon Footprint โดย อบก. (องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก) จะสามารถนำไปแสดงและวางขายในงานแสดงสินค้าในสหรัฐอเมริกาและยุโรปได้ ซึ่งจะเป็นช่องทางการตลาดและรายได้ของชาวบ้านอย่างมากมาย นอกจากนี้ กระบวนการถักทอผ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสามารถทำเป็นโครงการลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อสร้างคาร์บอนเครดิตเป็นรายได้เสริมให้ชาวบ้านอีกด้วย

เมื่อเร็ว ๆ นี้ สถาบันคาร์บอนแห่งเอเชีย (Asia Carbon Institute-ACI) ซึ่งมีถิ่นฐานอยู่ที่สิงคโปร์ ได้ทำความร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และบริษัท Green Standards เพื่อวิจัยและพัฒนา Biochar ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ผ่านกระบวนการทางเคมี และเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงในการดูดซับคาร์บอนจากอากาศและสามารถฝังลงใต้ดินเพื่อกักเก็บได้เป็นระยะเวลายาวนาน โครงการนี้นอกจากจะช่วยลดเลิกการเผาซากวัสดุการเกษตร ซึ่งเป็นต้นเหตุของปัญหาฝุ่น PM 2.5 แล้ว ยังจะช่วยสร้างคาร์บอนเครดิตและรายได้เสริมให้เกษตรกรอีกด้วย

สิงคโปร์ภายใต้ทีมบริหารชุดใหม่ นำโดยนายกรัฐมนตรี Lawrence Wong ซึ่งเพิ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็วสู่การเป็นศูนย์กลางการซื้อขายคาร์บอน (Carbon Trading Hub) ของเอเชีย 

ประเทศไทยซึ่งมีโครงสร้างพื้นฐานในด้านนี้ที่ดีพอสมควร ก็ไม่ควรที่จะรีรอที่จะเดินหน้าสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในเอเชียในเรื่องการลดคาร์บอน รวมทั้งรัฐบาลให้การส่งเสริมในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งการลด/ยกเว้นภาษี การให้เงินอุดหนุน รวมทั้งการออกกฎหมายภาคบังคับ และการเก็บภาษีคาร์บอน ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะทำให้ไทยเดินหน้าไปกับสิงคโปร์ในฐานะ Carbon Hub แห่งเอเชีย