'รัสเซีย' ฮึกเหิม!! เผด็จศึกเบ็ดเสร็จเมือง 'อัฟดิอิฟกา' ความพ่ายแพ้เชิงสัญลักษณ์ครั้งใหญ่ของยูเครน

เมื่อวันอาทิตย์ (18 ก.พ. 67) กองทัพรัสเซียได้ประกาศชัยชนะอย่างเบ็ดเสร็จเหนือเมืองอัฟดิอิฟกา (Avdiivka) ทางภาคตะวันออกของยูเครน ซึ่งถือเป็นเมืองหน้าด่านสู่แคว้นโดเนตสค์ ที่ปัจจุบันเป็นเขตยึดครองโดยรัสเซีย 

การสู้รบในเมืองอัฟดิอิฟกา ถือเป็นหนึ่งในสมรภูมิที่ต่อสู้กันอย่างดุเดือดที่สุดแห่งหนึ่งในช่วงสงครามรัสเซีย-ยูเครน ตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นมา โดยกองทัพรัสเซียพยายามที่จะกัดดัน รุกคืบ เพื่อยึดเมืองอัฟดิอิฟกาให้ได้ ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม 

และแล้ว หลังจากที่ปะทะกันอย่างหนักในอัฟดิอิฟกา มานานถึง 2 ปี กองทัพยูเครน นำโดย พลโท โอเล็กซานดร์ ซีร์สกี ผบ.ทบ.ยูเครนคนล่าสุด ได้ตัดสินใจถอนกำลังออกมาจากเมืองนี้แล้วเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อพากองทหารออกจากพื้นที่ปิดล้อมของรัสเซีย และรักษาชีวิตพลทหารยูเครน ที่มีอยู่จำกัด จึงถือว่าฝ่ายกองทัพรัสเซียสามารถยึดเมืองนี้ได้แล้วอย่างสมบูรณ์ ซึ่งรัฐบาลมอสโควก็ได้ประกาศชัยชนะอีกครั้งในรอบ 9 เดือนหลังจากพิชิตเมืองบัคมุทได้เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม ปีที่แล้ว

เมืองอัฟดิอิฟกาสำคัญกับรัสเซียอย่างไร?

อันที่จริง เมือง อัฟดิอิฟกา ก็ไม่ใช่เมืองขนาดใหญ่ มีประชากรราว ๆ 3.1 หมื่นคน (ก่อนจะเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน) ซึ่งตัวเมืองมีขนาดเพียงครึ่งเดียวของเมือง บัคมุท แต่ชาวยูเครนก็รู้จักเมืองเล็ก ๆ นี้เป็นอย่างดี เพราะเป็นที่ตั้งโรงงานบริษัทโค้กที่ใหญ่ที่สุดในยูเครนมานานตั้งแต่ยุคสหภาพโซเวียต 

แต่ขนาดไม่สำคัญเท่าทำเล เนื่องจากเมืองนี้เป็นเหมือนประตูทางเข้า ที่มีถนนวิ่งตรงสู่ใจกลางแคว้นโดเนตสค์ เขตยึดครองสำคัญของกองกำลังแบ่งแยกดินแดนที่สนับสนุนรัสเซีย ดังนั้นการที่กองกำลังยูเครนยกพลมาปักหลักสู้ตายที่เมืองนี้ เพื่อตัดเส้นทางลำเลียงพล และเสบียงขนส่งจากโดเนตสค์เข้าสู่พื้นที่ตอนกลางของยูเครน แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นเหมือนหอกข้างแคร่ ที่ยูเครนพร้อมยกกองทัพบุกมาโจมตีใจกลางโดเนตสค์ของฝ่ายรัสเซียได้โดยง่าย 

นอกจากนี้ เมืองอัฟดิอิฟกายังถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของความมั่นคงทางเศรษฐกิจของยูเครนฝั่งตะวันออก ที่นอกจากจะมีเขตอุตสาหกรรม เป็นที่ตั้งโรงงานผลิตโค้กที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ และยังเป็นอันดับต้นๆ ในยุโรปแล้ว ยังมีเหมืองถ่านหินขนาดใหญ่ของ รีนาท อาห์เมตอฟ มหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในยูเครนอีกด้วย 

ซึ่งเหตุผลเหล่านี้ก็เพียงพอแล้วที่รัสเซียจะทุ่มเททั้งเวลา และทรัพยากรด้านการทหารนานถึง 2 ปี เพื่อบุกโจมตีเพื่อยึดอัฟดิอิฟกาให้จงได้ แม้ต้องถล่มเมืองนี้จนราบเป็นหน้ากลอง ไม่เว้นแม้แต่โรงงานโค้กที่ชาวยูเครนแสนภูมิใจก็ยังไม่เหลือซาก จนสามารถปักธงรัสเซียได้สำเร็จ บนความสูญเสียทหารอย่างมากมายทั้ง 2 ฝ่าย 

แม้หากประเมินพื้นที่ที่รุกคืบได้เพิ่มมีแค่ 29 ตารางกิโลเมตร กับจำนวนทรัพยากรที่เสียไป อาจดูไม่คุ้มค่า แต่สิ่งที่รัสเซียได้มามากกว่าดินแดน ก็คือขวัญกำลังใจทหาร ที่กลับมาฮึกเหิมได้อีกครั้ง ในขณะเดียวกัน ก็เป็นการตอกย้ำ โวโลดิมีร์ เซเลนสกี้ ผู้นำยูเครน ว่าแผนการตอบโต้กองทัพรัสเซีย ที่ถูกใช้เป็นแคมเปญหาทุน และ ความช่วยเหลือด้านอาวุธจากต่างประเทศยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่คาดหวัง แม้แต่เมืองอัฟดิอิฟกา ที่เซเลนสกี้เพิ่งไปเยี่ยมเยือน ให้กำลังใจทหารแถวหน้าเมื่อช่วงสิ้นปี พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมานี้เอง ผ่านไปแค่เดือนกว่า ๆ กลายเป็นของรัสเซียไปเสียแล้ว 

การพิชิตพื้นที่เล็ก ๆ ในเชิงยุทธศาสตร์ครั้งนี้ จึงกลายเป็นความพ่ายแพ้เชิงสัญลักษณ์ของกองทัพยูเครน ที่ทำให้ชาติพันธมิตรตะวันตกต้องออกมาขยับตัวกันอีกคร้้ง เริ่มจาก โจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ ที่ออกมาแสดงความกังวลเมืองเห็นว่ากองทัพยูเครนมีแววพ่ายแพ้ให้กับรัสเซียในอัฟดิอิฟกา และได้กล่าวโทษความเพิกเฉยของสภาคองเกรซในการอนุมัติงบประมาณ และอาวุธเพิ่มเติมให้แก่ยูเครน 

ด้านเดนมาร์กประกาศยกคลังแสงปืนใหญ่ทั้งหมดที่มีในกองทัพส่งไปให้ยูเครน เมื่อเห็นฝ่ายยูเครนกำลังเพรี่ยงพร่ำเพราะขาดแคลนอาวุธ อีกทั้งยังเรียกร้องใช้ชาติพันธมิตรยุโรป สละยุทโธปกรณ์ของตัวเองไปให้ยูเครนที่มีความจำเป็นต้องใช้ก่อน

ส่วน ฝรั่งเศส และ เยอรมัน เพิ่งเซ็นข้อตกลงฉบับใหม่ที่จะมอบเงินช่วยเหลือด้านการทหารให้ยูเครนเพิ่มอีกในปี 2024 นี้ โดย เอมานูเอล มาครง ผู้นำฝรั่งเศส อนุมัติงบช่วยเหลือเพิ่มให้ยูเครนอีก 3 พันล้านยูโร ส่วน โอลัฟ ช็อลทซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมัน ตั้งใจที่จะอัดฉีดให้ถึง 2.8 หมื่นล้านยูโร ผ่านกองทุนของสหภาพยุโรป ที่จะทำให้เยอรมันกลายเป็นประเทศที่ให้ความช่วยเหลือยูเครนมากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐอเมริกา

นั่นก็แสดงให้เห็นแล้วว่า สงครามรัสเซีย-ยูเครน ไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างแค่ รัสเซีย กับ ยูเครนมานานแล้ว แต่เป็นการวัดพลังกันระหว่างชาติมหาอำนาจ ที่ใช้ยูเครนเป็นสนามรบตัวแทน แต่เมื่อได้ชื่อว่าเป็นสงครามแล้ว ทุกฝ่ายย่อมคาดหวังชัยชนะ และเมื่อลองได้ร่วมลงทุนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสนามรบเล็ก หรือใหญ่ ขอชนะไว้ก่อนดีที่สุด


เรื่อง: ยีนส์ อรุณรัตน์

อ้างอิง: La Monde / Swiss Info / The Washington Post / The Guardian