‘ดร.หิมาลัย’ รับลูก!! ‘พีระพันธุ์’ ขึ้น ‘ลำปาง’ รับหนังสือร้องขอความเป็นธรรม หลัง รพ.แห่งหนึ่ง วินิจฉัยโรคผิด สุดท้ายผู้ป่วยอาการทรุดจนเสียชีวิต

เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 67 ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ คณะที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค) และคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงร้องเรียนร้องทุกข์ ได้เดินทางมาให้กำลังและรับหนังสือร้องขอความเป็นธรรมจาก นายวัชระ บุรณะเครือ ประชาชนชาวตำบลสบตุ๋ย อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง บุตรชาย ของนายณรงค์ บูรณะเครือ เป็นผู้ป่วยเข้ารักษาในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดลำปาง ซึ่งวินิจฉัยโรคผิดจนทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต

ทางด้าน ดร.หิมาลัย เปิดเผยว่า “ท่านพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ทราบเรื่องดังกล่าวจากการเผยแพร่ในโซเชียลต่างๆ จึงได้มอบให้ตนเอง ในฐานะคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงร้องเรียนร้องทุกข์ เดินทางมาให้กำลังใจพร้อมสอบถามข้อเท็จจริงในเบื้องต้น และรับหนังสือร้องขอความเป็นธรรมที่บ้านพักของนายบอล ลูกชายของผู้เสียชีวิต พร้อมเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าว หลังจากนี้ ทาง ผอ.รพ.ลำปางก็ต้องออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงทุกอย่าง ที่เกี่ยวข้องของการรักษาผู้ป่วยจนเสียชีวิต ว่าเกิดปัญหามาจากอะไร และจะมีการแสดงความรับผิดชอบกรณีนี้อย่างไร” ดร.หิมาลัย กล่าว

ด้านนายวัชระ ได้เปิดเผยว่า ตนเองได้ประสานขอความเป็นธรรมผ่าน ดร.นงค์เยาว์ อาทิตยานนท์ สถานียุติธรรมพรรครวมไทยสร้างชาติ จังหวัดลำปาง ให้ติดต่อขอยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อ ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ คณะที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี/คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงร้องเรียนร้องทุกข์ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดลำปาง ว่าวินิจฉัยโรคผิด ทำให้บิดาของตนเองคือ นายณรงค์ ผู้ป่วยและเสียชีวิต 

โดยนายวัชระ ได้ให้รายละเอียดว่า เมื่อเวลาประมาณ 09.00 น.ของวันที่ 8 ก.พ. 67 นายณรงค์  บิดาของตนซึ่งมีอายุ 60 ปี เกิดอาการปวดท้องอย่างรุนแรงทุรนทุราย หายใจติดขัด ตนจึงได้เรียกรถพยาบาลฉุกเฉินของหน่วยกู้ภัยมารับตัว และได้ส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลดังกล่าว เมื่อไปถึงโรงพยาบาลฯ ได้มีเจ้าหน้าที่เวรเปลมารับตัวผู้ป่วย และได้ส่งตัวไปรอคิวตรวจที่ห้องกระดูกและข้อ จนกระทั่งเมื่อเวลาประมาณ 11.00 น. ตนเองได้ไปสอบถามมารดาที่รอเฝ้าอยู่หน้าห้องฉุกเฉิน และถามว่าคนไข้ยังอยู่ที่จุดใด และได้ทราบว่าทางโรงพยาบาลส่งคนไข้ไปยังห้องตรวจตึกผู้ป่วยนอก ซึ่งเป็นห้องตรวจกระดูกและข้อ 

ตนเห็นว่ามันไม่ตรงกับอาการของผู้ป่วย และตนได้สังเกตเห็นว่าผู้ป่วยในขณะนั้นหายใจติดขัด ดิ้นทุรนทุรายหนักขึ้น ตนจึงได้รีบแจ้งกับเจ้าหน้าที่พยาบาลฯ ให้รีบนำบิดาของตนส่งไปยังห้องฉุกเฉินเป็นการด่วน พยาบาลให้ความเห็นว่าถ้ารอเจ้าหน้าที่เกรงว่าจะล่าช้า จึงให้ตนนำบิดาซึ่งเป็นผู้ป่วยไปส่งด้วยตนเอง ตนจึงได้นำบิดาไปส่งยังห้องฉุกเฉิน ในขณะนั้น คนไข้มีอาการชีพจรหยุดเต้นทีมแพทย์จึงรีบให้การรักษา และเสียชีวิตในเวลาต่อมา โดยแพทย์ให้ความเห็นว่า ผู้ป่วยมีอาการเส้นเลือดโป่งพองในช่องท้องและแตก เป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิต

ตนและครอบครัวจึงได้รับศพนายณรงค์ฯ บิดาของตน ไปบำเพ็ญกุศล และได้ฌาปนกิจที่สุสานร่องสามดวงในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 ตนและครอบครัวได้ตั้งข้อสังเกตว่า สาเหตุของการเสียชีวิตของบิดาของตน น่าจะเกิดจากความล่าช้าในรักษามีการวินิจฉัยโรคผิดตั้งแต่ต้น ทำให้เสียเวลารักษาเกือบ 2 ชั่วโมง เนื่องจากการรักษาครั้งนี้ ตนและครอบครัวได้เสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเป็นเงินร่วม 600,000 บาท 

ดังนั้น ตนและญาติจึงได้มาร้องขอความเป็นธรรม เพื่อให้โรงพยาบาลดังกล่าวออกมาแสดงความรับผิดชอบ และเป็นอุทาหรณ์เป็นกรณีตัวอย่าง ในการดูแลรักษาผู้ป่วย จะได้ไม่เกิดการสูญเสียเหมือนบิดาของตนเอง

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เกิดเหตุทางโรงพยาบาลดังกล่าว ยังไม่ได้ติดต่อเพื่อชี้แจงแต่อย่างใด