รู้จัก 'การยิงแตกอากาศ' การร้องขอครั้งสุดท้ายของวีรบุรุษ  เกียรติแห่งทหารกล้า 'ปกป้อง-นำพา' แผ่นดินไทยให้ดำรงสืบต่อไป

(5 ก.พ.67) ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ คณะที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค) และประธานที่ปรึกษามูลนิธิพระราหู ได้ออกบทความเนื่องในวันทหารผ่านศึก ระบุว่า...

ผมเขียนบทความเรื่องนี้ ในคืนวันที่ 3 ก.พ.67 ซึ่งเราถือว่าเป็นวันทหารผ่านศึก เพื่อระลึกและเชิดชูเกียรติให้กับทหารและพลเรือน ที่เข้าสู่สนามรบในสมรภูมิต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งในรูปแบบและนอกแบบ บางครั้งเป็นสงครามการสู้รบที่เปิดเผย หลายครั้งเป็นการสู้รบทางลับ เพื่อปกป้องรักษาผืนแผ่นดินไทยของเราไว้ให้ลูกหลาน

ย้อนกลับไปเมื่อไม่นานนี้ ช่วงต้นๆ ปี มียูทูบเปอร์หญิงท่านหนึ่ง ลงทุนไปใช้ชีวิตกับทหารตามแนวชายแดนเพื่อเรียนรู้จากการลงพื้นที่และปฏิบัติจริง เพื่อนำมาเผยแพร่ให้สังคมได้รับรู้ แต่น่าเสียดาย ที่มีการด้อยค่าจากผู้เห็นต่างทางความคิด รุมถล่มหรือที่เขาเรียกว่าทัวร์ลง จนเจ้าตัวแทบจะย่ำแย่เลยทีเดียว หากมองในแง่ของสื่อมวลชนแล้ว ต้องยกย่องคุณ pigkaploy ยูทูบเปอร์ท่านนี้ด้วยซ้ำไป ที่ลงทุนลงแรงปฏิบัติด้วยตัวเองอย่างเหน็ดเหนื่อย

วลี 'ทหารมีไว้ทำไม' เกิดขึ้นจากนักวิชาการการเมืองบางท่าน ที่ตั้งคำถามขึ้นมาเพียงเพื่อเอาชนะกันทางการเมือง โดยไม่คิดถึงผลกระทบระยะยาวที่จะตามมา มีการพยายามสร้างความแตกแยกเกลียดชังให้เกิดขึ้นระหว่างประชาชนกับทหาร นักการเมืองบางท่านต้องการเอาชนะ ต้องการมีอำนาจทางการเมือง ถึงขนาดเสกสรรปั้นแต่งประวัติศาสตร์ขึ้นมาใหม่ เพื่อบั่นทอนความรักและความภาคภูมิใจในความเป็นคนไทย

โชคดี ที่วันนี้ความพยายามเหล่านี้ไม่ประสบผลสำเร็จ ความรู้สึกเกลียดชังกันในสังคม ค่อยๆ ลดน้อยถอยลง ความรู้สึกรักและผูกพันกันของบุคคลในชาติยังคงมีอยู่เป็นจำนวนมาก ทหาร อาจจะมีการกระทำที่ถูกใจหรือไม่ถูกใจท่านไปบ้าง แต่ท่านทั้งหลายมั่นใจเถอะครับ ถึงท่านจะเกลียดทหาร เพียงใดก็ตาม เมื่อเวลาวิกฤตมาถึง ทหารจะเป็นคนแรกที่จะเอาร่างกายและชีวิตเข้าปกป้องรักษาผืนแผ่นดินนี้ไว้ให้ท่านและลูกหลานท่านสืบไป

ย้อนกลับไปสมัยที่ผมยังเรียนอยู่โรงเรียนเตรียมทหารตลอดจนโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า วิชาทหารจะมีวิชาหนึ่งที่เราเรียกว่า 'วิชายุทธวิธี' จะมีการสอนเกี่ยวกับการรบและหลักนิยมของสงครามและการรบแบบต่างๆ พวกเราซึ่งจะต้องจบออกไปเป็นนายทหารและนำหน่วย จะถูกสอนย้ำแล้วย้ำอีกให้ยึดมั่นในภารกิจเหนือสิ่งอื่นใด ภารกิจที่ได้รับมอบหมายย่อมมีความสำคัญเสมอ แม้แต่ชีวิตของพวกเราก็ต้องพร้อมที่จะเสียสละ เพื่อปฎิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จ 

มีคำศัพท์ในวิชาทหารคำหนึ่ง ที่พวกเราจะต้องเรียนรู้และจดจำ เพราะคำนี้จะมีความสำคัญมาก หากเราได้รับภารกิจให้รักษาฐานที่มั่นที่ใดที่หนึ่ง ในการตั้งฐานปฏิบัติการทางทหารนั้น สิ่งที่พวกเราจะต้องกระทำทุกครั้งคือ การส่งพิกัดที่ตั้งฐานของเราเองให้กับหน่วยทหารปืนใหญ่ที่จะช่วยยิงสนับสนุนให้กับฐานของเรา 

การส่งพิกัดที่ตั้งให้กับหน่วยปืนใหญ่นั้น เป็นการแจ้งให้ทราบว่าหน่วยของเราตั้งอยู่ที่ใด เพื่อเวลาขอความช่วยเหลือจากการโดนโจมตีจากข้าศึก ปืนใหญ่จะได้ช่วยทำการยิงสนับสนุนได้ถูกต้อง และที่สำคัญที่สุด ปืนใหญ่จะสามารถสนับสนุนการร้องขอครั้งสุดท้ายของพวกเราในฐานะผู้บังคับหน่วยได้

'การยิงแตกอากาศ' คือการร้องขอให้ปืนใหญ่ที่ยิงสนับสนุนนั้น ยิงปืนใหญ่ใส่ฐานที่มั่นตนเอง โดยให้กระสุนปืนใหญ่ระเบิดแตกกลางอากาศเหนือที่หมาย ตามพิกัดที่เราส่งให้ไว้ เป็นคำขอของผู้บังคับหน่วยทหารที่พึงกระทำเพื่อรักษาฐานที่มั่นตามคำสั่งทางทหารด้วยชีวิต แปลง่ายๆ ครับ คือการฆ่าตัวตายยกหน่วยพร้อมข้าศึก 

การร้องขอครั้งสุดท้ายของวีรบุรุษของเรา มีเกิดขึ้นจริง หลายครั้งหลายหนในหลายสมรภูมิ 'ทหารมีไว้ทำไม' หลายท่านคงมีคำตอบที่หลากหลาย แตกต่างกันไป แต่คำตอบที่ทหารทุกคนคงจะตอบเหมือนกันหมดไม่ว่าจะเป็นนายพล หรือ พลทหาร ทหารมีไว้เพื่อรักษาประเทศชาติและผืนแผ่นดินไว้ให้ลูกหลาน แม้จะต้องใช้ชีวิตเข้าแลกก็ตาม ตามคำปฎิญานตนของทหารทุกคนที่ว่า "ตายในสนามรบ คือ เกียรติของทหาร"

ท้ายสุดนี้ ผมขอกราบคารวะ สดุดี ทหารผ่านศึกทุกท่าน ทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่และเสียชีวิตไปแล้วก็ดี ขอให้ท่านทั้งหลายได้รับรู้เถิดว่า ลูกหลานของท่านได้รับรู้และรับทราบความเสียสละของพวกท่าน ซาบซึ้ง สำนึกในบุญคุณ และภาคภูมิใจในตัวพวกท่านเสมอ