สตม.สกัดกั้น ตรวจสอบ ระดมจับกุมคนต่างด้าวที่เข้ามาประกอบธุรกิจผิดกฎหมายในประเทศไทย

ตามนโยบายของ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ 
หักพาล รอง ผบ.ตร. สั่งการให้ สตม.สกัดกั้น ตรวจสอบ ระดมจับกุมคนต่างด้าวที่เข้ามาประกอบธุรกิจผิดกฎหมายในประเทศไทย รวมทั้งให้ดำเนินการตรวจสอบชาวไทยและชาวต่างชาติที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในขณะที่พำนักอาศัยอยู่ในประเทศไทย กระทำผิดกฎหมาย ก่อเหตุอันตรายต่อความสงบสุขและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ทำให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของประเทศ หรือกลุ่มคนร้ายข้ามชาติที่เข้ามาแฝงตัวอยู่ก่อเหตุ หรือโดยใช้ประเทศไทยเป็นฐานในการกระทำความผิด

ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.อิทธิพล อิทธิสารรณชัย ผบช.สตม.,พล.ต.ต.พันธนะ นุชนารถ รองผบช.สตม. พล.ต.ต.ประพันธ์ศักดิ์ ประสานสุข ผบก.สส.สตม., พล.ต.ต.ปิยะอนันต์ โตสกุลวงศ์ ผบก.ตม.4, พ.ต.อ.สิทธิ์ศิริ กังวาลกุล รอง ผบก.ตม.4, พ.ต.อ.กฤษฎากรณ์ กลิ่นเกษร รอง ผบก.ตม.4, พ.ต.อ.กฤชมงกุฎ บูรณะภักดี ผกก.ตม.จว.หนองคาย, พ.ต.ท.ธียาฌพัตท์ รังสิพราหมณกุล รอง ผกก.ตม.จว.หนองคาย ร่วมแถลงข่าวการจับกุมบุคคลตามหมายจับคดีสำคัญ

เมื่อประมาณต้นเดือน ตุลาคม 2566 ผู้แทนรับมอบอำนาจจากโรงรับจำนำแห่งหนึ่งใน ต.ปากเกร็ด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี  ได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษ ต่อ พงส.สภ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี เพื่อดำเนินคดีกับ น.ส.จีรวรรณ  อายุ  30 ปี สัญชาติไทย และ น.ส.ศรินทิพย์  อายุ 32 ปี สัญชาติไทย พนักงานของโรงรับจำนำดังกล่าว ที่มีหน้าที่ในการทำบัญชีและเก็บรักษาของรับจำนำ  โดยเฉพาะสร้อยคอทองคำ เนื่องจากตรวจพบว่าจำนวนสร้อยคอทองคำ และทองคำแท่ง ที่รับจำนำมีมูลค่าน้อยกว่าจำนวนเงินที่จ่ายในการจำนำให้กับลูกค้า นอกจากนี้ยังพบว่ามีสร้อยคอทองคำปลอมปะปนอยู่ห้องเก็บรักษาของรับจำนำ โดยพบว่าพนักงานทั้งสองรายเมื่อรับจำนำทองแล้ว จากนั้นจะลักเอาทองที่รับจำนำของโรงรับจำนำไว้แล้วข้างต้น มามอบให้หน้าม้านำมาเวียนจำนำกับโรงรับจำนำอีกครั้ง เมื่อได้เงินมาแล้วจะแบ่งให้หน้าม้าครั้งละ 1,000 -2,000 บาท จากนั้นจะนำเงินสดไปเข้าบัญชีของตนเองโดยมีการทำในลักษณะดังกล่าวอยู่เป็นเวลากว่า 2 ปี ได้เงินรวมกว่า 170 ล้านบาท ต่อมา  ศาลจังหวัดนนทบุรีได้อนุมัติหมายจับบุคคลทั้งสอง ในความผิด “ร่วมกันลักทรัพย์ที่เป็นของนายจ้าง” ตามหมายจับศาลจังหวัดนนทบุรี 1038/2566

และ 1039/2566 ลง 26 ธ.ค.2566 เบื้องต้นสามารถจับกุม  น.ส.ศรินทิพย์  มาดำเนินคดีแล้ว แต่ น.ส.จีรวรรณ  ได้หลบหนีออกนอกประเทศก่อนที่ศาลจะมีการอนุมัติหมายจับ และได้ไปกบดานที่ สปป.ลาว  ชุดสืบสวน ภ.1 ได้ประสานมายัง ชุดสืบสวน ตม.จว.หนองคาย เพื่อประสานกับทางการ สปป.ลาว เพื่อกดดันให้กลับมามอบตัว พร้อมกับเฝ้าระวังตามแนวชายแดนป้องกันการลักลอบเข้าทางช่องทางธรรมชาติ จนกระทั่ง วันนี้ (3 ม.ค.2567) เวลาประมาณ 12.30 น. น.ส.จีรวรรณ  ได้เดินทางกลับเข้ามาทางด่านพรมแดน สะพานมิตรภาพไทย – ลาว จ.หนองคาย ร้อยเวรงานตรวจบุคคลและพาหนะ จึงได้ประสานชุดสืบสวน ตม.จว.หนองคาย ควบคุมตัวมาแจ้งข้อกล่าวหาตามหมายจับให้ทราบ เบื้องต้น น.ส.จีรวรรณ รับว่าได้ร่วมกันลักทรัพย์ของโรงรับจำนำตามแผนประทุษกรรมดังกล่าวจริง   โดยเงินที่ได้มาได้นำไปเล่นการพนันออนไลน์จนหมดตัว จากนั้น จนท.ได้ควบคุมตัวนำส่ง พงส.สภ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

สตม. ขอเรียนให้ท่านทราบว่า สตม.มีมาตรการในการตรวจสอบ กวดขัน และปราบปรามการกระทำความผิดในด้านต่างๆ รวมถึงการเฝ้าระวังบุคคลทั้งสัญชาติไทยและสัญชาติอื่นๆ ที่มีหมายจับ และการเดินทางเข้า-ออกประเทศไทย หากประชาชนท่านใดพบเห็นเบาะแสการกระทำความผิดกรุณาแจ้งมายังสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง อาคารเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระชนมพรรษา 60 พรรษาเลขที่ 904 หมู่ที่ 6 ต.บ้านใหม่ อ.ปากเกร็ด จว.นนทบุรี 11120 หรือที่ www.immigration.go.th จักขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่ง