เปิดใจ 'พีระพันธุ์' ทำไมเดินหน้าแก้ปัญหาราคาพลังงานได้ทันใจ เหตุ!! 'นายกฯ' ไฟเขียว!! ไม่ยอมให้ราคาแปรผันเหมือนตลาดหุ้น

เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 66 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการ ‘ฟังหูไว้หู’ ในหัวข้อ ‘The Special คุยกับรัฐมนตรีพลังงาน’ ออกอากาศทาง ช่อง 9 MCOT HD หมายเลข 30 โดยมี ชุติมา พึ่งความสุข และ วีระ ธีรภัทร ดำเนินรายการ

เมื่อถามถึงบรรยากาศในการทำงานระหว่างนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงต่าง ๆ เป็นอย่างไรบ้าง? นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า "บรรยากาศดีครับเมื่อได้เข้าประชุม ครม. กับ ท่านนายกฯ ส่วนที่บอกว่าท่านไปต่างประเทศบ่อย ท่านก็ไปในช่วงที่ไม่มีประชุม ถ้าจำไม่ผิด ท่านลาประชุมเพียงแค่ครั้งเดียวเอง"

เมื่อถามถึงช่วงก่อนหน้านี้ ทำไมรัฐมนตรีท่านอื่นถึงทำเรื่องลดราคาค่าครองชีพด้านพลังงานไม่ได้ โดยเฉพาะค่าไฟ? พีระพันธุ์ กล่าวว่า "ผมขอเรียนตรง ๆ ว่า ตอนที่ผมรู้ว่าต้องรับหน้าที่นี้ ผมหนักใจมาก เพราะผมรู้ว่าภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ ไม่ได้อยู่ที่กระทรวงพลังงานเพียงอย่างเดียว จากที่ผมศึกษากฎหมายมา อำนาจไม่ได้อยู่ที่เราคนเดียวหมด

"เมื่อตอนที่เราหาเสียง เราพูดถึงนโยบายไว้มาก เราหวังว่าเราจะเข้ามาทำให้ได้ แต่พอเข้ามาแล้ว เรามารู้เบื้องหลัง ก็รู้สึกหนักใจ แต่ในเมื่อพูดไว้แล้ว และได้โอกาสเข้ามาทำแล้ว ก็คิดว่าอย่างไรก็จะทำให้สำเร็จ ด้วยว่านิสัยผมเป็นคนแบบนี้ จะทำได้หรือไม่ได้ แต่จะลงมือเลย" นายพีระพันธุ์กล่าว

นายพีระพันธุ์ กล่าวต่อว่า "และผมก็โชคดีที่ท่านนายกฯ ก็มุ่งทำนโยบายนี้เหมือนกัน ท่านประกาศตั้งแต่ช่วงแรก ๆ เลย ผมก็รู้สึกเหมือนได้ยกภูเขาออกจากอก เพราะว่าทำให้หลายเรื่องที่ผมกังวลว่าจะทำอย่างไร กลายเป็นนโยบายของรัฐบาล จึงทำให้ผมแก้ปัญหาและดำเนินนโยบายได้อย่างราบรื่นดี"

"เมื่อผมได้ศึกษาปัญหาแล้ว เรื่องของไฟฟ้าประเด็นหลักคือ ก๊าซ ผมไม่เถียงว่าโครงสร้างมันผิด แต่ถ้ามัวแต่ไปแก้โครงสร้างให้ถูก ผมก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะเสร็จ จึงต้องกลับมาดูว่าภายใต้โครงสร้างแบบนี้ สามารถทำอะไรได้บ้าง ก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย ผมคิดแบบนี้นะ" นายพีระพันธุ์กล่าว

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า "ผมมานั่งดูว่า โครงสร้างของไฟฟ้าในปัจจุบันนี้ อย่างแรกเลยต้องลดก๊าซก่อน ถ้าไม่ลดก๊าซ ก็ไม่มีทางลดค่าใช้จ่ายได้เลย อย่างที่ 2 เมื่อดูจากผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ต้องขยายการชำระหนี้ ก็ต้องขอบคุณทุกคนที่เกี่ยวข้อง เพราะเมื่อผมขอความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา ทุกคนทุกฝ่ายร่วมมือเต็มที่เลย เพื่อให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม"

นายพีระพันธุ์ กล่าวต่อว่า "ผมได้ให้โจทย์ผู้ที่เกี่ยวข้องไปว่า ทำอย่างไรก็ได้ให้ราคาสุทธิต่ำกว่า 4 บาท ตอนแรกทำไม่ได้ เพราะอย่างที่ผมบอกเรื่องนี้ต้องดู 2 ขา ขาแรกคือราคากลาง ขาที่ 2 คือการชำระหนี้ สำหรับการชำระหนี้ มันขึ้นตรงกับเราเลย (กฟผ.) ก็สามารถทำได้ก่อน ทำให้ราคาลงมาอยู่ที่ 4.50 บาท"

นายพีระพันธุ์ กล่าวเสริมว่า "แต่ผมก็ยังไม่ล้มเลิกนะ เดินหน้าต่อในเรื่องก๊าซ (ปตท.) ก็ไปคุยกันจนได้มาเป็นราคาในปัจจุบันนี้ เพราะหากรอให้สะเด็ดน้ำทั้ง 2 ขา ผมก็ไม่รู้ว่าจะเสร็จเมื่อไหร่ ทางท่านนายกฯ ก็ขอมาว่า ภายใน 1 อาทิตย์ จบปัญหาได้ไหม? ผมก็รับปาก และไปพูดคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้อง จนสุดท้ายก็ได้มาที่ราคา 3.99 บาท" 

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า "ส่วนงวดต่อไป (ม.ค. - เม.ย.) ถ้าจะทำก็ทำได้ แต่ต้องบอกตรง ๆ ว่า โครงสร้างพลังงาน ทั้งน้ำมัน ก๊าซ ไฟฟ้า ต้องปรับนะ ถ้าไม่ปรับโครงสร้าง ก็จะกลับมารูปแบบเดิม แต่ผมตั้งใจจะทำ และจะทำให้ได้ด้วย"

เมื่อถามถึงแนวทางในการปรับลดราคาน้ำมัน นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า "ถ้าจะลด ก็ต้องลดในส่วนของภาครัฐ สำหรับโครงสร้างปัจจุบันนะ ซึ่งจะคล้าย ๆ กับของมาเลเซีย รัฐต้องเข้าไปสนับสนุน เพียงแต่มาเลเซียเขามีอีกรูปแบบหนึ่งที่ต่างจากเรา แต่ผลลัพธ์คือรัฐเข้าไปช่วยอุดหนุนเหมือนกัน รัฐบาลมาเลเซียช่วยลิตรละ 10 กว่าบาท จนทำให้ราคาขายเหลือลิตรละ 10 กว่าบาท แต่ตอนนี้รัฐบาลไทยยังไม่สามารถเข้าไปโอบอุ้มได้แบบนั้น แต่ชี้ให้เห็นว่า ถ้ารัฐอุดหนุน 2.50 บาท ราคาก็ปรับลงทันที"

นายพีระพันธุ์ กล่าวต่อว่า "อย่างน้ำมันดีเซล เราลดราคาภาษีสรรพสามิต 2.50 บาท ทำให้ราคาลงมาเหลือลิตรละ 30 บาท จากตอนแรกราคา 35 หรือ 32 บาท ตอนนี้รัฐบาลขีดเส้นไว้ว่าจะลดราคาให้ถึงธันวาคมนี้ (3 เดือน)"

นายพีระพันธุ์ กล่าวต่อไปว่า "ส่วนกรณีน้ำมันเบนซิน ซับซ้อนกว่าดีเซล เพราะมีหลากหลายชนิด ตอนที่เริ่มคุยกัน ก็ต้องศึกษาเยอะมาก ๆ จะให้ลดเหมือนกันหมดก็จะกลายเป็นภาระรัฐบาล ทำให้รัฐบาลแบกภาระมากเกินไปในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ สุดท้ายผมจึงเสนอว่า เลือกมาเลย 1 ตัวที่จะลด เอาเป็นตัวที่คนใช้เยอะ คนใช้ทำมาหากิน จึงเลือกแก๊สโซฮอล์ 91 ลดราคาลงก่อน และใช้ตัวเลขเดียวกับดีเซลคือ 2.50 บาท และยังไม่คิดถึงตัวอื่นเลย เพราะแก๊สโซฮอล์ 91 เป็นสิ่งที่ประชาชนใช้ทำมาหากินกัน"

นายพีระพันธุ์ กล่าวต่อว่า "ระหว่างศึกษาก็ติดขัดหลายเรื่อง แต่ก็บอกทุกคนว่าทำให้ได้นะ ต้องขอขอบคุณทุกคนที่เกี่ยวข้องเลย และพอผมมั่นใจแล้วว่าจะลด แก๊สโซฮอล์ 91 ลง 2.50 บาท ผมก็รายงานท่านนายกฯ ท่านก็ดีใจ แต่พอไปถึงขั้นตอนสุดท้าย ตอนลงรายละเอียด กระทรวงการคลังซึ่งดูแลกรมสรรพสามิตบอกว่า ทำไม่ได้ โดยบอกว่าโครงสร้างภาษีสรรพสามิตไม่ได้แยก แก๊สโซฮอล์ 91 กับ 95 ถ้าลด 2.50 บาท เขาจะไปต่อไม่ได้ ทำให้ต้องลดภาษีฯ ลงได้แค่ 1 บาท แต่เราไม่อยากผิดคำพูดกับประชาชน จึงไปดึงเงินจากกองทุนบริหารน้ำมันเชื้อเพลิงมาอีก 1.50 บาท"

เมื่อถามว่า หาก รมว.คลังไม่ใช่ 'เศรษฐา' การดำเนินการลดน้ำมันจะยากกว่านี้หรือไม่? นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า "ยาก อย่างที่ผมเรียนไปว่า ตอนผมรับตำแหน่งใหม่ ๆ ผมตั้งใจทำอยู่แล้ว แต่เพราะไม่ใช่อำนาจเราคนเดียว แต่พอท่านนายกฯ ประกาศว่าจะทำเหมือนกัน ผมก็โล่งใจเลย เพราะพอประกาศออกมา ทุกคนก็พร้อมใจกันทำเลย"

เมื่อถามถึงในส่วนราคาพลังงานกลุ่มที่เหลืออย่าง NGV / LPG และ LNG จะมีทิศทางปรับลดอย่างไรต่อไป? นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า "ในส่วนของ NGV ผมกำลังศึกษาอยู่ รวมถึงเรื่องก๊าซทั้งระบบด้วย NGV เป็นก๊าซที่ใช้กับรถยนต์ ผมกำลังศึกษาโครงสร้างอยู่ว่าเขาวางระบบกันอย่างไร เห็นว่าช่วงนี้มีการไล่ปิดปั๊มกันอยู่ ผมก็ได้รับเรื่องร้องเรียนมา เช่น กลุ่มแท็กซี่"

นายพีระพันธุ์ กล่าวต่อไปว่า "ผมมองว่า เป็นไปได้อย่างไร? ที่พลังงานคือชีวิตของคน แต่รัฐบาลควบคุมไม่ได้ ผมว่ารัฐบาลควรต้องทำได้ จะเสรีแบบใดก็ทำไป แต่ต้องมีขอบเขต มีการกำกับดูแลตามนโยบายที่ควรจะเป็น วันนี้ผมเป็น รมต.พลังงาน และมีท่านนายกฯ ด้วย แต่เรากำหนดอะไรไม่ได้เลย ถามว่าใครกำหนด ทุกอย่างขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการ ผมว่าแบบนี้ไม่ได้ ทั้ง NGV / LPG เลยนะ ผมว่ามันต้องมีเครื่องมือรัฐเข้ามาบริหารจัดการเรื่องตรงนี้ให้ได้ครับ"

"สำหรับก๊าซ LNG นั้น เพราะความต้องการใช้แก๊สมากขึ้น ที่เรามีในอ่าวไทยไม่เพียงพอแล้ว ผลิตได้แค่ครึ่งหนึ่งของความต้องการเอง ประมาณ 5 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน อีกครึ่งหนึ่งต้องนำเข้า ซึ่งมาจากเมียนมาเป็นส่วนใหญ่" นายพีระพันธุ์กล่าว

นายพีระพันธุ์ กล่าวต่อว่า "ก๊าซ LNG อิงกับราคาตลาดโลก ผมเข้าใจในส่วนนี้นะ แต่ผมมองว่าเราในฐานะรัฐบาล จะมาเล่นราคาพลังงานเหมือนตลาดหุ้นไม่ได้ เพราะพลังงานไม่ใช่สินค้าที่จะนำมาหาจังหวะทำกำไร มันเกี่ยวโยงกับชีวิตคน รัฐบาลจึงต้องวางรูปแบบที่สามารถควบคุมได้ ราคาในตลาดโลกจะเป็นแบบใดก็เป็นไป แต่ราคาในประเทศต้องนิ่ง รัฐต้องควบคุมตรงนี้ให้ได้ จะใช้วิธีการใดก็ได้ และผมกำลังคิดเรื่องตรงนี้ให้ประเทศไทย"

เมื่อถามถึงกรณีปัญหาจากตัวแปรการคำนวณราคาหน้าโรงกลั่น? นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า "ประเด็นนี้ผิดทั้งหมด ต้องรื้อแก้ไขทั้งหมด ราคาหน้าโรงกลั่นคือราคาน้ำมันดิบที่นำเข้ามา บวกค่าการกลั่น ต่อจากนี้ผมจะไม่ให้เรียกว่าค่าการกลั่นแล้ว เพราะคนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นการนำน้ำมันดิบมากลั่น และคือราคาหน้าโรงกลั่น ซึ่งมันไม่ใช่นะ เพราะค่าการกลั่นคือกำไรเบื้องต้นของเขาแล้วนะ ไม่รวมค่าใช้จ่ายในการกลั่น สรุปคือจริง ๆ ไม่ใช่ค่าการกลั่น แต่เป็นกำไร"

นายพีระพันธุ์กล่าวต่อว่า "จะเห็นว่าแค่เริ่มต้นก็ผิดแล้ว ผิดที่ 2 คือราคาที่บอก ๆ กันอยู่นี่ ไม่ใช่ราคาจริง แต่เป็นราคาทิพย์ คิดมาจากสูตรอะไรไม่รู้ ผิดถูกก็มาโต้แย้งกัน หลังจากนั้นก็บวก ๆ และที่น่างงสุด ๆ เลยคือภาษีสรรพสามิต บวกภาษีท้องถิ่น บวกภาษีมูลค่าเพิ่ม บวกกองทุนน้ำมัน บวกกองทุนอนุรักษ์พลังงาน พอจะไปขายให้ปั๊ม ก็บวกภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 7% ต่อมาก็คือค่าการตลาด และค่อยมาเป็นราคาที่ขายหน้าปั๊ม แต่ค่าการตลาดเอามาลบ ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมตรงนี้ถึงเอามาลบ"

"กลายเป็นว่าสุดท้ายปลายทาง เอาภาษี 7% (รอบ 2) มาลบกับราคาที่ขายหน้าปั๊ม ได้เท่าไหร่ก็บอกว่าเป็นค่าการตลาด แบบนี้มันไม่ใช่" นายพีระพันธุ์กล่าว

เมื่อถามถึงการยกเครื่องโครงสร้างราคาพลังงานด้วยการแก้ไขกฎหมายที่มีทั้งความ 'ยาก' และ 'ต้องใช้เวลา' จนอาจไม่ทันใจประชาชน? นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า "สำหรับผมนะ ไม่มีทั้ง 2 คำนั้นเลย ต้องเร็ว และไม่ยาก เพราะผมทำเอง เขียนเอง แต่เนื่องด้วยภาระเยอะ ผมจึงตั้งคณะกรรมการขึ้นมา เพื่อแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับพลังงานทั้งระบบ เมื่อได้คำตอบ ผมก็จะมีคณะของผมยกร่างฯ เองเลย โดยที่ผมเป็นคนกำกับดูแล เพราะฉะนั้น สำหรับผมแล้วร่างกฎหมายไม่ใช่เรื่องยาก เพราะผมร่างกฎหมายมาตลอดชีวิตของผมอยู่แล้ว และเมื่อผมมีทีมงานมาช่วย ก็จะไม่มีความล่าช้า แต่กว่าจะถึงตรงนั้น ต้องศึกษาปัญหากฎหมายให้ละเอียดเสียก่อน"