‘ธนกร’ ค้าน ‘ยุบ กอ.รมน.’ ชี้ ส่งผลต่อความมั่นคงประเทศ ถาม!! ที่เสนอยุบ เพราะต้องการกำจัดศัตรูคู่แค้นหรือไม่?

(1 พ.ย. 66) นายธนกร วังบุญคงชนะ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ สส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่พรรคก้าวไกล เชิญชวนประชาชนแสดงความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ. ยกเลิก พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 หรือร่างกฎหมาย ยุบ กอ.รมน. ว่า เรื่องนี้ตนขอคัดค้าน ไม่เห็นด้วย เนื่องจาก กอ.รมน. เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการปกป้องรักษาความมั่นคงภายในประเทศ จากภัยคุกคามต่าง ๆ เช่น การก่อความไม่สงบ อาชญากรรมข้ามชาติ ภัยพิบัติธรรมชาติ เป็นต้น หากยุบกอ.รมน. ไป อาจทำให้ประเทศไทยสูญเสียความสามารถในการรับมือกับภัยคุกคามเหล่านี้ได้

นายธนกร กล่าวว่า การทำงานของ กอ.รมน.ที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2551 ได้บูรณาการการทำงาน ระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งตอบสนองนโยบายรัฐบาล กระทรวงกลาโหม และแก้ปัญหาให้ประชาชนในสถานการณ์ภัยพิบัติต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญ กอ.รมน. คือหน่วยงานประสานการทำงานในลักษณะองค์กรผสม 3 ฝ่าย คือ พลเรือน-ตำรวจ-ทหาร มี 6 ศูนย์ประสานการปฏิบัติ มีศูนย์ 1 รับผิดชอบด้านยาเสพติด, ศูนย์ 2 แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง, ศูนย์ 3 การก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ, ศูนย์ 4 ด้านความมั่นคงพิเศษ อาทิ ชาวม้งลาว, การค้ามนุษย์, การฟอกเงิน, บุกรุกป่าไม้, ภัยพิบัติระดับชาติ ฯลฯ, ศูนย์ 5 ด้านความมั่นคงเฉพาะพื้นที่ คือจังหวัดชายแดนภาคใต้ และศูนย์ 6 โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและการส่งเสริมสถาบัน

“หากยุบกอ.รมน. ไปอาจทำให้หน่วยงานต่าง ๆ ทำงานแยกส่วนกัน ประสิทธิภาพการบูรณาการ การประสานงานด้านต่าง ๆ ลดลง ตนเห็นด้วยกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม ที่ไม่มีแนวคิดจะยุบ กอ.รมน. แต่จะปรับแนวทางการทำงานให้มีประสิทธิภาพให้มีการทำงานด้านการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อช่วยพี่น้องประชาชนได้มากขึ้น” นายธนกรกล่าว

เมื่อถามว่า การล่ารายชื่อของพรรคก้าวไกลจะมีผลต่อการยื่นร่างกฎหมายนี้ต่อสภาหรือไม่ นายธนกร กล่าวว่า การเสนอกฎหมายเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ตามรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อยื่นวาระเข้าสภาแล้ว ก็ถือเป็นสิทธิ์ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่จะพิจารณาถึงประโยชน์สูงสุดต่อประเทศและประชาชน ตนเชื่อว่าทุกคนจะยึดหลักประโยชน์ส่วนรวม มากกว่าส่วนตน มากกว่าพวกพ้อง หรือ พรรคใดพรรคหนึ่ง   

“ผู้ที่สนับสนุนให้ยุบ กอ.รมน. เขาอาจมองว่า กอ.รมน. มีอำนาจมากเกินไปอาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชน และถูกมองว่าเป็นหน่วยงานที่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่นที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้น ผมขอตั้งข้อสังเกตว่า การให้เหตุผลเหล่านี้ อาจมีเรื่องอื่นแฝงอยู่หรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมาตัวผู้ที่เสนอร่างพ.ร.บ.ยุบ กอ.รมน.เอง รวมถึงพรรคดังกล่าวนั้น ถูก กอ.รมน. แจ้งความเอาผิดในคดีความมั่นคง มาวันนี้ จึงเสนอกฎหมายเพื่อให้ยุบหน่วยงานที่เป็นคู่กรณีของตนเองหรือไม่ จึงขอฝากประชาชนติดตามข่าวสารอย่างมีข้อมูลที่รอบด้าน เพื่อจะได้ทราบถึงที่มาที่ไปและเหตุผลของการขับเคลื่อนล่ารายชื่อในการยื่นกฎหมายดังกล่าวในครั้งนี้” นายธนกรกล่าว และว่า “การตัดสินใจว่าจะยุบ กอ.รมน. หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งควรพิจารณาถึงข้อดีและข้อเสียอย่างรอบคอบ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ และการทำงานเพื่อประชาชนเป็นสำคัญ”