‘อ.อ.ป.’ แนะ ‘หยุดเผา – ลดฝุ่นควัน – รักษาผืนป่า’ แก้ปัญหาฝุ่นยั่งยืน ผ่านการขายคาร์บอนเครดิต

อย่างที่ทราบกันดีว่า พื้นที่ป่า มีประโยชน์อย่างมหาศาล ทั้งผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ ทางด้านสังคม และทางด้านสิ่งแวดล้อม

โดยผลประโยชน์ทางด้านสังคม คือเป็นการสร้างงานนะ สร้างความมั่นคงให้แก่ชุมชนที่อยู่โดยรอบสวนป่าหรืออยู่ในพื้นที่สวนป่า สามารถใช้เป็นแหล่งหาอาหารหรือสิ่งจําเป็นในปัจจัยสี่ได้เช่นกัน
ส่วนทางด้านสิ่งแวดล้อม คือสร้างอากาศที่ดี สร้างสมดุลทางนิเวศนะครับในบริเวณพื้นที่และบริเวณโดยรอบ

และในปัจจุบัน ผืนป่ายังสามารถสร้างรายได้คืนสู่ชุมชนได้ด้วย ผ่านการขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นจากการจัดการสวนป่าอย่างยั่งยืน ที่จะช่วยแก้ปัญหาฝุ่นควันได้ หากทุกชุมชนที่อยู่ใกล้ฝืนป่าช่วยกันดูแลป่าไม้ให้สมบูรณ์และลดการทำลายผืนป่าด้วยการเผา

นายณรงค์ชัย ชลภาพ หัวหน้าฝ่ายธุรกิจคาร์บอน องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.)ให้ข้อมูลเกี่ยวกับคาร์บอนเครดิตว่า คาร์บอนเครดิตเปรียบเทียบได้กับโบนัสจากผืนป่า เหมือนกับคนที่ทํางานมาทั้งปี แล้วได้โบนัสจากผลการทำงานหนัก ซึ่งคาร์บอนเครดิตคือโอกาส ที่จะมาสนับสนุนในกิจการในทุกกิจการที่มีความเกี่ยวข้องกับทั้งการลดปลดปล่อยและการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ยกตัวอย่างในส่วนขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้มีพื้นที่สวนป่าในเขตจังหวัดเชียงใหม่ อยู่จำนวน 12 สวนป่า คิดเป็นพื้นที่รวมประมาณ 70,000ไร่ กระจายอยู่ในทุกอําเภอ ซึ่งเป็นพื้นที่ไม่ถึง 1% ของพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ แต่จากการประเมินพบว่า สามารถที่จะดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อยู่ที่ประมาณ 100,000 ตัน ซึ่งค่าการดูดซับที่ได้สามารถนำไปขายเป็นคาร์บอนเครดิตได้

ในส่วนของการกำจัดตอซังข้าวโพดก็เช่นกัน หากการตรวจวัดการแปลงค่าเป็นการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ก็สามารถนำไปเคลมคาร์บอนเครดิตได้ เพราะการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวโพดเสร็จเรียบร้อยแล้วจะเหลือตอซังอยู่ในพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมาเกษตรกรจะใช้วิธีเผา เพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูกรอบใหม่ แน่นอนว่า เป็นการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นจำนวนมาก แต่หากมีการประเมินว่าในการเผาในแต่ละครั้งนั้นสร้างก๊าซคาร์บอนฯจำนวนเท่าใด ก็จะเข้าโครงการคาร์บอนเครดิตได้ แต่ต้องควบคุมไม่ให้ถูกเผาเลย พร้อมกับพิสูจน์ได้ว่าตอซังข้าวโพดไม่ถูกเผาจริง ๆ เป็นจำนวนเท่าใด ก็จะสามารถเคลมคาร์บอนเครดิตได้เท่านั้น ซึ่งปัจจัยสำคัญคือต้องสร้างการยอมรับจากผู้ซื้อให้ได้

“หากทุกหน่วยงานสามารถรณรงค์ให้เกษตรกรหยุดเผาตอซังข้าวโพดในพื้นที่ภาคเหนือได้ จะเกิดประโยชน์หลายด้านทีเดียว ทั้งการลดฝุ่น PM2.5 ลดโอกาสการเกิดไฟป่า และยังสามารถนำไปเคลมคาร์บอนเครดิตกลับมาเป็นรายได้เพื่อพัฒนาชุมชนได้ด้วย ขณะเดียวกันเกษตรกรยังมีทางเลือกสร้างรายได้ให้กับตนเองเพิ่มขึ้น ด้วยการเก็บตอซังข้าวโพดและเศษใบไม้นำไปขายเข้าโครงการหยุดเผาเรารับซื้อ ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งโครงการที่จะช่วยลดการเกิด PM2.5 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ได้อย่างยั่งยืน”