อย่าปล่อยภาษาชาติตน ถูก 'ทำลาย-ทดแทน' ด้วยภาษาชาติอื่น เพราะนี่คือยุทธศาสตร์ทำลายรากเหง้าของความเป็นชาติ

ถือเป็นอีกเรื่องชวนคิด หลังจากก่อนหน้านี้ นายภัทร เหมสุข นักวิชาการอิสระ โพสต์บทความผ่านเฟซบุ๊ก 'Pat Hemasuk' ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับภาษาไทย ภาษาแห่งชาติ ดังนี้...

ในอดีตนั้นการทำลายรากเหง้า วัฒนธรรม เอกลักษณ์ของชาติ ที่ทรงประสิทธิภาพที่สุดนั้นคือการทำลายภาษานั้นทิ้งครับ เพราะภาษานั้นเป็นสิ่งที่ใช้สืบทอดรากเหง้าของชาตินั้นจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรม ศาสนา เอกลักษณ์ของชาติพันธุ์ จะโดนทำลายไปทั้งหมดภายในสองชั่วรุ่นคน เพราะเมื่อไรที่ไม่เหลือคนที่สามารถอ่านจารึกของบรรพชนได้ ทุกอย่างที่ผ่านมาในอดีตของชนชาตินั้นก็สูญสิ้นไปหมด

วัฒนธรรมของอียิปต์โบราณนั้นสูญหายไปนับพันปีหลังจากที่โรมันเข้าไปยึดครองและยกเลิกไปเสียทุกอย่างแม้กระทั่งภาษาอียิปต์ ทำให้อักษรเฮียโรกลีฟิคไม่มีใครอ่านได้นับพันปี จนกระทั่งมีการเทียบอักษรกับภาษาอื่นบนโรเซตต้าสโตนถึงจะปลุกให้คนรุ่นหลังสามารถอ่านและรู้ถึงประวัติศาสตร์วัฒนธรรมของอียิปต์โบราณได้อีกครั้ง เทพเจ้าของอียิปต์และฟาโรห์พระองค์ต่าง ๆ ก็ฟื้นจากการถูกลืมกลับมามีชีวิตเหมือนอย่างที่เคยเป็นมา

ทิเบตก็เช่นกัน เวลานี้เป็นรุ่นคนที่สองแล้วที่จีนบังคับให้ใช้ภาษาจีนแทนภาษาของตัวเอง และเวลานี้คนรุ่นใหม่ก็อ่านจารึกของตัวเองไม่ได้อีกต่อไป และเวลาอีกไม่กี่ปีที่จะถึงนี้คนที่ยังสามารถอ่านจารึกเก่า ๆ ได้ตายไปหมด คนทิเบตก็จะกลายเป็นคนจีนกลุ่มน้อยไปอย่างสมบูรณ์แบบ ไม่ต่างกับชนกลุ่มน้อยของจีนกลุ่มต่าง ๆ ทางทิศตะวันตก เช่นกลุ่มชาวอุยกรู์ที่เวลานี้อ่านภาษาดั่งเดิมของตัวเองไม่ได้แล้ว

ชาวบาสก์ ชนกลุ่มน้อยที่ชายแดน สเปน-ฝรั่งเศส เองก็โดนทำลายรากเหง้าของตัวเองจากสเปนในสมัยนายพลฟรังโก โดยสิ่งแรกนั้นคือยกเลิกการใช้และสอนภาษาของตัวเองแล้วให้ใช้ภาษาสเปนแทน ซึ่งเวลานี้ก็เกือบจะไม่มีใครอ่านและเขียนภาษาบาสก์ได้แล้ว เพราะการทำลายภาษานั้นรุนแรงมากระดับเผาทำลายหนังสือจนหมดสิ้น จนเวลานี้ชาวบาสก์เกือบจะหมดรากเหง้าของตัวเองในการสืบต่อไปให้ลูกหลาน

จงภูมิใจที่เรายังมีภาษาไทยเถอะครับ และรักษาสิ่งนี้สืบทอดให้ลูกหลานของเรา ผมนั้นเคยคุยกับเพื่อนชาติที่ไม่มีอักษรภาษาของตัวเอง เช่น เวียดนาม, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์ ฯลฯ ที่ต้องใช้ชุดอักษรโรมันในการเขียนที่พัฒนาขึ้นในยุคอาณานิคม เมื่อพวกเขาเห็นผมเขียนอักษรไทย พวกเขาต่างก็บอกผมคล้าย ๆ กันว่าพวกเขาอิจฉาคนไทยที่มีอักษรของตัวเอง และเขียนแล้วดูสวยงามเป็นเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใครในสายตาของพวกเขา

เราอาจจะไม่เห็นความสำคัญของภาษาไทย เพราะเรานั้นเคยชินกับอักษรไทยและภาษาไทยทุกวัน แต่เชื่อเถอะครับว่ากวีและนักเขียนในประเทศอื่นที่ไม่มีอักษรของตัวเองนั้นโหยหาอยู่ในใจลึก ๆ เมื่อเห็นอักษรไทยหรืออักษรของชาติอื่น ๆ ที่มีเป็นของตัวเอง เพราะสิ่งนี้เป็นหลักประกันตัวตนของเราคนไทยที่สืบทอดลงไปสู่รุ่นลูกหลานว่าเราจะไม่มีทางลืมโคตรเหง้าของเราไม่ว่าจะอีกนานเท่าไรก็ตาม

**พ่อกูชื่อศรีอินทราทิตย์ แม่กูชื่อนางเสือง พี่กูชื่อบานเมือง...เมื่อกูขึ้นใหญ่ได้สิบเก้า...กูต่อช้างด้วยขุนสามชน...ขุนสามชนพ่ายหนี พ่อกูจึ่งขึ้นชื่อกูชื่อพระรามคำแหง...เมื่อชั่วพ่อขุนรามคำแหง เมืองสุโขทัยนี้ดี ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว เจ้าเมืองบ่เอาจกอบในไพร่ ลูท่างเพื่อนจูงวัวไปค้า ขี่ม้าไปขาย ใครจักใคร่ค้าช้างค้า ใครจักใคร่ค้าม้าค้า ใครจักใคร่ค้าเงินค้าทองค้า**

สิ่งนี้จะอยู่ต่อไป ลูกหลานภายหน้ายังคงรู้ประโยคในประวัติศาสตร์เหล่านี้ต่อไป ถ้าตราบใดที่เรายังมีภาษาไทยสืบต่อให้ลูกหลานอยู่ครับ