เตือน!! อย่าคาดหวัง นทท. จีน อย่างเดียว ควรกระตุ้นเศรษฐกิจ การลงทุนอื่นเพิ่ม

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่พูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ประจำวันที่ 6 ส.ค.66 ในประเด็นวิกฤตเศรษฐกิจกับการท่องเที่ยวไทย โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

วิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลกเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว ใหญ่บ้างเล็กบ้าง จำกัดอยู่ในระดับประเทศบ้าง ระดับภูมิภาคบ้าง หรือเป็นวิกฤตระดับโลกบ้าง บางวิกฤตมีต้นเหตุมาจากภาคการเงินการธนาคาร ภาคอสังหาริมทรัพย์ ภาคสาธารณสุข หรือจากการก่อการร้ายและสงคราม 

แต่ทุกครั้งที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ภาคเศรษฐกิจจะเกิดการหดตัว การว่างงานพุ่งสูงขึ้น ภาคการเงินจะเกิดหนี้เสียสูงขึ้นมาก เป็นเหตุให้เศรษฐกิจภาพรวมฟื้นตัวได้ช้า และภาคธุรกิจแรก ๆ ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดก็คืออุตสาหกรรมท่องเที่ยว

นับตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อกว่า 25 ปีที่แล้ว ภาคการเงินการธนาคารไทยมีความเข้มแข็งและทนทานขึ้นมาก เมื่อเศรษฐกิจไทยหดตัวจากการระบาดของเชื้อโควิด-19 ระบบการเงินจึงไม่ได้รับความเสียหายอย่างมีนัยสำคัญ และไม่เกิดปัญหาหนี้เสียคงค้าง (Debt Overhang) เหมือนวิกฤตเศรษฐกิจครั้งก่อน ๆ จึงเชื่อกันว่าเมื่อเศรษฐกิจโลกฟื้น ขณะที่ไทยก็น่าจะกลับมาเติบโตได้รวดเร็ว

ยิ่งเมื่อจีนเริ่มเปิดประเทศเมื่อต้นปีนี้ จึงมีความคาดหวังสูงว่าไทยจะฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว เพราะจีนส่งนักท่องเที่ยวมาไทยมากที่สุด ถึงปีละประมาณ 10 ล้านคนก่อนโควิด-19 

แต่เหตุการณ์ต่อไป อาจหาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวแรงแค่ไตรมาสแรกไตรมาสเดียว พอเข้าไตรมาสที่สองก็เริ่มชะลอตัวลงอีก จากภาระหนี้สินคงค้างในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังกลายเป็นตัวถ่วงการฟื้นตัวของการบริโภค 

สังเกตได้ว่านักท่องเที่ยวจีนเข้าไทยเริ่มชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด จนทำให้เกิดความไม่แน่ใจว่าการท่องเที่ยวในปี 2566 จะเป็นไปตามเป้าที่ทางการกำหนดไว้ที่ 28.5 ล้านคนหรือไม่ ภายใต้การคาดการณ์ว่ารัฐบาลจีนกำลังเตรียมการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (Fiscal Stimulus) เร็ว ๆ นี้ เพื่อพยุงเศรษฐกิจจีนไม่ให้ชะลอตัวไปกว่านี้ 

"ไทยไม่ควรฝากความหวังไว้ที่การท่องเที่ยวจากจีนเพียงอย่างเดียว ควรจะกระจายความเสี่ยงไปยังตลาดในภูมิภาคอื่น ๆ ด้วย และอาจเตรียมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดไม่ใหญ่นักที่มุ่งสนับสนุนการบริโภคการลงทุนในประเทศ เพื่อรองรับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกในระยะข้างหน้า" อ.พงษ์ภาณุ ฝากให้คิด