รู้จัก SCO ‘กลุ่มพันธมิตรองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้’ เวทีที่ทำให้ ‘ปูติน’ ไม่ถูกโดดเดี่ยวจากประชาคมโลก

เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 66 ที่ผ่านมา วลาดิมีร์ ปูติน ได้เข้าร่วมงานประชุมออนไลน์ ของกลุ่มพันธมิตร องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organisation: SCO) ซึ่งนับเป็นการปรากฏตัวออกงานในระดับนานาชาติครั้งแรก ตั้งแต่เกิดเหตุความไม่สงบภายในจากการลุกฮือของกองกำลังวากเนอร์ 

การประชุมในครั้งนี้ อินเดีย นำโดยนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดิ เป็นเจ้าภาพ และมีผู้นำชาติพันธมิตรเข้าร่วมประชุมกันพร้อมหน้า รวมถึง สี จิ้นผิง ผู้นำจีนด้วย 

สำหรับการประชุม SCO ในครั้งนี้มีความพิเศษมากขึ้นกว่าปีก่อนๆ เนื่องจาก อิหร่าน ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกหลักอย่างเป็นทางการเป็นปีแรก ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่า และความแข็งแกร่งในด้านตลาดการค้า และ เศรษฐกิจในกลุ่มพันธมิตร SCO มากขึ้นไปอีก และในปีหน้าคาดว่าจะได้ เบลารุส เข้าร่วมเป็นสมาชิกใหม่อีกชาติด้วย 

ทั้งนี้ วลาดิมีร์ ปูติน ได้กล่าวขอบคุณ นเรนทรา โมดิ และ ผู้นำประเทศสมาชิกอื่นๆ ที่จับมือร่วมกันอย่างเป็นปึกแผ่น และยังอยู่เคียงข้างรัสเซีย อีกทั้งยังถือโอกาสนี้ฝากข้อความถึงฝ่ายตะวันตกว่า รัสเซียพร้อมจะตอบโต้การคว่ำบาตร, การกดดัน และการยั่วยุจากภายนอกอย่างเต็มกำลัง โดยที่ยังเดินหน้าพัฒนาประเทศชาติให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน 

จากเวทีประชุมนี้ น่าจะทำให้ ปูติน มั่นใจในความแข็งแกร่งของชาติพันธมิตร SCO ซึ่งตราบใดที่องค์กร SCO ยังต้อนรับรัสเซีย ปูตินก็ไม่ต้องกังวลว่ารัสเซียจะถูกโดดเดี่ยวจากประชาคมโลกอีก

>> คำถาม คือ แล้วอะไรที่ทำให้ปูตินเชื่อมั่นเช่นนั้น?

องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ หรือ SCO มีจุดเริ่มต้นจากกลุ่ม ‘เซี่ยงไฮ้ ไฟฟ์’ (Shanghai Five) ก่อตั้งในปี 1996 โดยสมาชิกหลักเพียง 5 ประเทศ คือ จีน, รัสเซีย, คาซัคสถาน, คีร์กีซสถาน, และทาจิกิสถาน ต่อมามีการขยายสมาชิกเพิ่มเติมเข้ามาเรื่อยๆ จึงมีการเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้

ปัจจุบัน SCO มีชาติสมาชิก 8 ชาติ คือ จีน, รัสเซีย, อินเดีย, คาซัคสถาน, คีร์กีซสถาน, ทาจิกิสถาน, ปากีสถาน และ อุซเบกีซสถาน นับรวมอิหร่านเป็นชาติที่ 9 ในปีนี้ และ เบลารุสจะเป็นชาติที่ 10 ในปีหน้า และยังมีประเทศคู่ค้าที่สำคัญอย่าง ซาอุดีอาระเบีย, ตุรเคีย, กาตาร์, อียิปต์ และอื่นๆ ครอบคลุมพื้นที่เศรษฐกิจที่มีมูลค่าถึง 30% ของ GDP โลก และมีสัดส่วนประชากร 40% ของโลก 

กลุ่ม SCO ย้ำว่า นี่ไม่ใช่การร่วมมือในรูปแบบขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ NATO อีกทั้งไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อต่อต้านองค์กร NATO ด้วย แต่เป็นองค์กรระหว่างรัฐบาลระดับภูมิภาค ให้ชาติพันธมิตรในยูเรเซีย มีพื้นที่ในการสร้างสมดุลระหว่างการรักษาผลประโยชน์ของชาติ กับการรับมือกับความตึงเครียดในด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่กดดันสูงขึ้นในโลก 

หรืออาจจะมองได้ว่า SCO เป็นเหมือนเวทีให้ จีน และ รัสเซีย สามารถกระชับไมตรีในเชิงเศรษฐกิจ การค้าร่วมกับชาติอื่นๆ ได้ง่ายขึ้น แม้แต่กับชาติที่อยู่นอกองค์กร ก็สามารถเข้าร่วมเป็นคู่ค้าของกลุ่มได้อย่างสะดวกใจนั่นเอง 

นอกจากนี้ ยังเป็นหนึ่งในเซฟโซนของปูติน ผู้นำรัสเซียในช่วงเวลาที่ถูกกดดันอย่างหนักจากชาติพันธมิตรตะวันตกทั่วโลกจากสงครามในยูเครน เพราะที่ผ่านมากลุ่มชาติพันธมิตร SCO ไม่มีชาติใดออกมาประณามรัสเซียโดยตรงจากการรุกรานยูเครน อีกทั้งความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซีย กับ จีน และ อินเดีย ยังแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น จากข้อตกลงซื้อขายนัำมันกับรัสเซียในราคาพิเศษ
.
แต่ทั้งนี้ สิ่งที่ท้าทายความเป็นปึกแผ่น SCO คือความบาดหมางกันเองระหว่างชาติพันธมิตร ที่อาจมีแรงเสริมจากการแทรกแซงของชาติตะวันตกได้ อาทิ ข้อพิพาทระหว่าง จีน และ อินเดีย ในเส้นแบ่งเขตแดนในเทือกเขาหิมาลัย  ความบาดหมางระหว่างอินเดีย และ ปากีสถาน  การกดดันของสหรัฐอเมริกาผ่าน นโยบายการคว่ำบาตรของตนต่อทั้งรัสเซีย และ อิหร่าน เป็นต้น

การฝากความหวังของปูติน ไว้กับพันธมิตร SCO จึงเป็นเหมือนจุดวัดใจว่า องค์กรที่เริ่มต้นจากชาติพันธมิตรเพียงแค่ 5 ประเทศ เมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้ว จะมีความแข็งแกร่งเพียงพอที่จะเป็นหนึ่งในดุลย์อำนาจ ที่ปูตินสามารถพึ่งพาได้จนไฟสงครามสงบหรือไม่ 


เรื่อง: ยีนส์ อรุณรัตน์

อ้างอิง: Aljazeera / BBC