27 มิถุนายน พ.ศ. 2475  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานรัฐธรรมนูญ ‘ฉบับชั่วคราว’

วันนี้เมื่อ 91 ปีที่แล้ว เป็นวันประกาศใช้บังคับ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว ซึ่งถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทย

เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญเป็นฉบับแรก ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 โดยเป็นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ซึ่งถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกแห่งราชอาณาจักรสยาม ประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 

โดยเป็นผลพวงหลังการปฏิวัติเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 โดยคณะราษฎร ซึ่งได้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ) ซึ่งในขณะที่เกิดการปฏิวัตินั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประทับ ณ พระตำหนักวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

โดยพระราชบัญญัติธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกในประวัติศาสตร์ไทย ร่างขึ้นโดยแกนนำสำคัญภายในคณะราษฎร โดยในวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ กลับพระนคร และในวันเดียวกันนั้นก็โปรดเกล้าฯ ให้คณะราษฎรเข้าเฝ้าฯ และทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชกำหนดนิรโทษกรรมให้แก่บรรดาสมาชิกคณะราษฎร 

นอกจากนี้คณะราษฎรยังถวายร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามด้วย แต่พระองค์ทรงขอตรวจร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวก่อน ซึ่งพระองค์ก็ทรงลงพระปรมาภิไธยในวันรุ่งขึ้น โดยทรงพระอักษรกำกับต่อท้ายชื่อพระราชบัญญัตินั้นว่า 'ชั่วคราว' สืบเนื่องมาจากพระองค์ทรงเห็นว่าหลักการประชาธิปไตยของผู้ก่อการฯ ไม่พ้องกันกับพระประสงค์ของพระองค์ แต่พระองค์ก็ทรงลงพระปรมาภิไธยเพราะเหตุการณ์ฉุกเฉินในขณะนั้น

พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475 นี้ใช้เพื่อเป็นกติกาในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมืองหลังวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ซึ่งได้ประกาศใช้ถึงวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475เท่านั้น และได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ ลงวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475