ระงับเปลี่ยนป้ายสถานี ‘บางซื่อ’ 33 ล้านบาท หลังผู้ว่าฯ รฟท.ทำหนังสือแจ้ง ‘ยูนิคฯ’

รฟท.สั่งด่วน! ระงับโครงการรื้อย้ายเปลี่ยนป้ายสถานีจาก ‘บางซื่อ’ เป็น ‘กรุงเทพอภิวัฒน์’ งบประมาณ 33 ล้านบาท หลังผู้ว่าฯ รฟท.ทำหนังสือถึง ‘ยูนิคฯ’ เมื่อ 9 ม.ค. 66

รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) แจ้งว่า วันที่ 9 ม.ค. 2566 นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการ รฟท. ได้ทำหนังสือถึงกรรมการผู้จัดการ บริษัทยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) แจ้งขอให้ระงับการรื้อย้าย จัดหา และติดตั้งงานก่อสร้างปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อ กรุงเทพอภิวัฒน์ และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟฯ

โดยในหนังสือระบุว่า ตามที่การรถไฟฯ ได้ลงนามสัญญาจ้างผู้รับจ้าง บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) โครงการปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางชื่อเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ต่อมาการรถไฟฯ ได้มีหนังสือแจ้งวันส่งมอบสถานที่ ก่อสร้างและแจ้งให้เริ่มงานในวันที่ 3 มกราคม 2566 นั้น การรถไฟฯ มีความประสงค์ขอให้ระงับงานรื้อย้าย จัดหา และติดตั้ง งานก่อสร้างปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางชื่อเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทยไปก่อน

ทั้งนี้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ชี้แจงในการตอบกระทู้สด เรื่อง กรณีการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จ้างปรับปรุงป้ายสถานีกลางบางซื่อ มูลค่า 33.169 ล้านบาท ว่า กระทรวงคมนาคมได้ติดตามตรวจสอบขั้นตอนการดำเนินโครงการ ปริมาณงานและข้อเท็จจริง

และจากที่มีกระแสข่าวปรากฏในสื่อมวลชนแขนงต่างๆ รวมทั้งโซเชียลมีเดีย กระทรวงคมนาคมได้มีคำสั่ง ณ วันที่ 4 มกราคม 2566 แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงการก่อสร้างในโครงการปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยมีรองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง เป็นประธานกรรมการ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เป็นรองประธานกรรมการ และผู้แทนจากหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย สภาสถาปนิก สภาวิศวกร และกรมบัญชีกลาง เป็นกรรมการ

โดยให้มีหน้าที่และอำนาจในการรวบรวมข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องที่เห็นว่าเป็นประโยชน์แก่การตรวจสอบข้อเท็จจริง ในกรณีที่ปรากฏว่ามีข้อเท็จจริงใดที่กล่าวอ้างหรือพาดพิงถึงบุคคล เอกสาร หรือวัตถุใดที่จะเป็นประโยชน์แก่การตรวจสอบข้อเท็จจริงให้คณะกรรมการฯ ทำการตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐานนั้นไว้ให้ครบถ้วน ถ้าไม่อาจเข้าถึงหรือได้มาซึ่งพยานหลักฐานดังกล่าว ให้บันทึกเหตุนั้นไว้ด้วย รวมถึงให้คณะกรรมการฯ เรียกบุคคลใดมาเป็นพยานเพื่อชี้แจงหรือให้ถ้อยคำตามวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนดไว้ได้ ตลอดทั้งพิจารณาทำความเห็นเกี่ยวกับเรื่องที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยให้รายงานผลการสอบสวนภายใน 15 วัน 


ที่มา: https://mgronline.com/business/detail/9660000002601