ในหลวง-พระราชินี เสด็จออกทรงรับผู้นำเอเปค - คู่สมรส - แขกพิเศษ ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง

เมื่อวานนี้ (18 พ.ย. 65) เวลา 17.46 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จออกพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง

ทรงรับพระประมุข ประธานาธิบดี และพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายกรัฐมนตรี ผู้นำเขตเศรษฐกิจสมาชิกหรือผู้แทน และแขกพิเศษ พร้อมด้วยคู่สมรส เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ในโอกาสที่เสด็จพระราชดำเนิน และเดินทางมาเยือนประเทศไทย เพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 ระหว่างวันที่ 18-19 พ.ย.2565 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร

เอเปค หรือ ‘ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก’ เป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจเพื่อส่งเสริมการอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน การรวมตัวทางเศรษฐกิจ รวมทั้งความร่วมมือด้านวิชาการ และการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างสมาชิกภายในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2532 มีสมาชิกผู้ร่วมก่อนตั้ง 12 เขตเศรษฐกิจ ซึ่งประเทศไทยเป็น 1 ในเขตเศรษฐกิจผู้ร่วมก่อตั้งด้วย ต่อมามีสมาชิกเพิ่มขึ้นอีก 9 เขตเศรษฐกิจ ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 21 เขตเศรษฐกิจ มีประชากรรวมกว่า 2.9 พันล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรโลก มีผลิตภัณฑ์มวลรวมหรือ GDP รวมกันกว่า 53 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เกินครึ่งของ GDP โลก และมีมูลค่าการค้ารวมกันเกือบครึ่งหนึ่งของมูลค่าการค้าโลก

การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคครั้งนี้ เป็นการประชุมแบบพบหน้ากันเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี เพื่อร่วมขับเคลื่อนการประชุมเอเปค 2022 ภายใต้หัวข้อหลัก ‘Open. Connect. Balance หรือ เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล’ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อคนไทยและภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

โดยประเด็นที่ขับเคลื่อนแบ่งเป็นการเปิดกว้างสู่ทุกโอกาสด้านการค้าและการลงทุน การส่งเสริมการรวมตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคผ่านมุมมองใหม่ที่ได้เรียนรู้จากสถานการณ์โควิด-19 เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่ทุกภาคส่วนในสังคมส่งเสริมความเชื่อมโยงในทุกมิติเพื่อฟื้นฟูการเดินทางระหว่างกันที่สะดวกและปลอดภัย

รวมทั้งเพิ่มความเชื่อมโยงทางดิจิทัลและส่งเสริมการเจริญเติบโตที่เน้นสร้างสมดุลในทุกด้านมากกว่าสร้างกำไร ผ่านการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม การสร้างความมั่นคงทางอาหารและการเกษตรเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน

ทั้งนี้ ไทยได้นำโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว Bio-Circular-Green Economy Model หรือ BCG มาเป็นแนวคิดหลักเพื่อขับเคลื่อนประเด็นที่จะผลักดันการเป็นเจ้าภาพเอเปค

เป็นโอกาสสำคัญที่ไทย จะส่งเสริมนโบาย และทิศทางการพัฒนาที่จะเป็นประโยชน์ทั้งต่อไทยและภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกในหลายมิติ โดยไทยจะได้ประโยชน์จากการฟื้นฟูเศรษฐกิจในยุคหลังโควิด-19 ให้เติบโตอย่างยั่งยืน ยกระดับมาตรฐานทางเศรษฐกิจให้เป็นสากล เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับภาครัฐและภาคเอกชนผ่านการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์จากเขตเศรษฐกิจอื่น ๆ รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยี

นอกจากนี้ ยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะภาคการเดินทางและท่องเที่ยว เป็นการฟื้นฟูการเดินทางและทำธุรกิจแบบพบหน้า และยังเป็นโอกาสให้ไทยได้แสดงความพร้อมว่าไทยสามารถปรับตัวและอยู่ร่วมกับสถานการณ์โควิด-19 ได้ โดยสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปพร้อมกันได้เป็นอย่างดี

การประชุมครั้งนี้ มกุฎราชกุมารและนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย และประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ได้เข้าร่วมการประชุมผู้นำเอเปค ในฐานะแขกพิเศษ เพื่อหารือร่วมกันถึงแนวทางการขับเคลื่อนการค้าและการลงทุนที่ยั่งยืนระหว่างเอเปคกับคู่ค้านอกภูมิภาค และแนวทางการรับมือกับความท้าทายทางเศรษฐกิจ เพื่อให้การหารือของผู้นำสะท้อนมุมมองที่หลากหลายและครอบคลุม

ในโอกาสที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 จะมีเอกสารผลลัพธ์ที่สำคัญ คือ เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ - เศรษฐกิจหมุนเวียน - เศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG เพื่อสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สมดุลและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในระยะยาว