'ก้าวไกล' จัดเต็ม!! เปิดนโยบายสวัสดิการชุดใหญ่ ครอบคลุมทุกวัย ตั้งแต่เกิดจนตาย มีเงินจ่าย ทำได้จริง

(5 พ.ย. 65) บริเวณศูนย์เด็กเล็กในวัดลาดพร้าว พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวเปิดงานแถลงนโยบายชุดที่สอง ‘สวัสดิการไทยก้าวหน้า’ ความตอนหนึ่งว่า ชุดนโยบาย ‘สวัสดิการไทยก้าวหน้า’ เป็นหนึ่งใน 9 ชุดนโยบายของพรรคก้าวไกล เสมือนจิ๊กซอว์ตัวหนึ่งที่ต้องนำมาต่อกับชิ้นอื่นๆ จึงจะกลายเป็นภาพประเทศไทยก้าวหน้าที่สมบูรณ์ จะขาดชิ้นใดชิ้นหนึ่งไม่ได้ โดยเหตุผลที่เลือกบริเวณศูนย์เด็กเล็กและวัดลาดพร้าวเป็นสถานที่เปิดนโยบายสวัสดิการ เพราะเป็นสัญลักษณ์ของวงจรชีวิตที่คนไทยจำนวนมากมาเริ่มที่นี่และจบที่นี่ เสมือนจุดที่สวัสดิการเริ่มต้นและจุดที่สวัสดิการสิ้นสุด

ชุดนโยบายสวัสดิการไทยก้าวหน้านั้น เกี่ยวข้องกับปากท้องโดยตรง แต่ขณะเดียวกันก็เชื่อมโยงกับนโยบายด้านอื่นๆ เช่น การเมือง เพราะการทำสวัสดิการต้องใช้งบประมาณมาก ต้องอาศัยการจัดสรรงบประมาณใหม่ เอางบความมั่นคงมาเป็นงบสวัสดิการ เฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขให้คนส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งจะเป็นเช่นนั้นได้ ประเทศก็ต้องเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ อำนาจต้องเป็นของประชาชน หรือ เช่น เศรษฐกิจ เพราะการทำให้ประชาชนมีความมั่นคง จะทำให้เขากล้าเดินตามความฝันในสายอาชีพที่อาจมีความเสี่ยง แต่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาลให้กับประเทศ อาทิ อุตสาหกรรมสร้างสรรค์

พิธา ยกตัวอย่างสถิติในปี 2564 ที่เป็นปีแรกที่มีจำนวนเด็กเกิดใหม่น้อยกว่าคนเสียชีวิต โดยส่วนหนึ่งสังคมที่สูงวัยขึ้นก็มาจากการที่คนอายุยืนเพราะระบบสาธารณสุขไทยเข้มแข็ง สะท้อนถึงความสำเร็จของประกันสุขภาพถ้วนหน้าซึ่งเป็นสวัสดิการ แต่จำนวนเด็กที่เกิดน้อยลงส่วนหนึ่งก็มาจากความกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายและความมั่นคงของชีวิตในอนาคต ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องแก้ด้วยสวัสดิการเช่นกัน 

บุคคลหนึ่งที่พูดถึงสวัสดิการมานาน ที่เรียกว่า ‘ตั้งแต่ครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน’ คือ ศ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ แต่ผ่านมาหลายสิบปี สังคมไทยวันนี้ยังมีสวัสดิการที่ไม่ครอบคลุม ในวันที่ประชาชนมีความตื่นตัวสูงขึ้นเรื่องสวัสดิการ พรรคก้าวไกลจึงขอใช้โอกาสนี้เพื่อทำให้รัฐสวัสดิการเกิดขึ้นจริงในประเทศไทย 

นโยบายสวัสดิการของเรา เชื่อในการที่คนไทยพร้อมช่วยเหลือกันในยามลำบาก การเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข เพียงแต่ที่ผ่านมายังขาดการออกแบบอย่างเป็นระบบ

นโยบายสวัสดิการของพรรคก้าวไกลจะสร้างประเทศที่ ‘เป็นธรรม’ โดยการลดความเหลื่อมล้ำที่ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น สร้างประเทศที่ ‘ปลอดภัย’ สำหรับทุกคนโดยการวางตาข่ายรองรับคุณภาพชีวิตและโอกาสที่เท่าเทียมกันของประชาชน และสร้างประเทศที่ ‘ปลดปล่อย’ ศักยภาพของคนไทยเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจไปข้างหน้า คนรุ่นใหม่จะกล้าเสี่ยงสร้างธุรกิจหรือไล่ตามความฝันของตัวเองมากขึ้น เพราะรู้ว่าถ้าพลาดไป ล้มแล้วยังลุกได้

“เรามาเสนอรัฐสวัสดิการที่ทำได้จริง ไม่ได้ขายฝัน สามารถหาเงินมาจ่ายรัฐสวัสดิการได้ทุกบาททุกสตางค์ เป็นนโยบายสวัสดิการก้าวหน้า ตั้งแต่เกิดจนตาย” พิธากล่าว

สำหรับชุดนโยบายสวัสดิการไทยก้าวหน้า แบ่งตาม 5 ช่วงวัย และมีทั้งหมด 19 นโยบาย ได้แก่...

>> วัยเกิด ประกอบด้วย...
(1) ของขวัญแรกเกิด 3,000 บาท ให้พ่อ-แม่ซื้อสิ่งของจำเป็นในการเลี้ยงลูก
(2) เงินเด็กเล็กเดือนละ 1,200 บาท
(3) สิทธิลาคลอด 180 วัน พ่อแม่แบ่งกันได้
(4) ศูนย์ดูแลเด็กใกล้บ้านและที่ทำงาน

>> วัยเติบโต ประกอบด้วย...
(5) เรียนฟรี อาหารฟรี มีรถรับส่ง
(6) คูปองเปิดโลก ให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้นอกห้องเรียน
(7) ยกเลิกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มผ้าอนามัยและนำร่องแจกผ้าอนามัยฟรีในโรงเรียน

>> วัยทำงาน ประกอบด้วย
(8) ค่าแรงขั้นต่ำปรับขึ้นทุกปี เริ่มต้นวันละ 450 บาท รัฐช่วย SME 6 เดือนแรก
(9) สัญญาจ้างเป็นธรรม ทำงานไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
(10) แรงงานทุกกลุ่มตั้งสหภาพได้ สอดคล้องหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ
(11) ประกันสังคมถ้วนหน้า เจ็บป่วยได้เงินชดเชยและค่าเดินทางหาหมอ
(12) เรียนเสริมทักษะ-เปลี่ยนอาชีพ ฟรีไม่จำกัดผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์และคูปองเรียนเสริม

>> วัยสูงวัย ประกอบด้วย...
(13) เงินผู้สูงวัยเดือนละ 3,000 บาท สร้างระบบดูแลผู้ป่วยติดเตียง
(14) ค่าทำศพถ้วนหน้า 10,000 บาท

>> ทุกอายุ ประกอบด้วย
(15) บ้านตั้งตัว 350,000 หลัง รัฐช่วยผ่อน-จ่ายค่าเช่า
(16) น้ำประปาดื่มได้ทุกพื้นที่
(17) เติมเงินให้ท้องถิ่น เพิ่มขนส่งสาธารณะ
(18) เน็ตฟรี 1 GB ต่อเดือน
(19) เงินคนพิการเดือนละ 3,000 บาท

ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ทิ้งท้ายด้วยการอธิบายถึงแหล่งที่มาของงบประมาณ 650,000 ล้านบาท ภายในปีงบประมาณ 2570 ที่จะต้องนำมาสร้างระบบสวัสดิการตามข้อเสนอของพรรคก้าวไกล โดยถือเป็นความรับผิดชอบของพรรคที่ต้องแจกแจงที่มารายได้ทั้งหมดอย่างตรงไปตรงมากับประชาชน เพื่อยืนยันว่าสวัสดิการทั้งหมด มีเงินจ่าย ทำได้จริง

ศิริกัญญา กล่าวว่า หลักการสำคัญของพรรคก้าวไกลในการจัดหางบประมาณ คือต้องไม่สร้างผลกระทบต่อคนหมู่มาก โดยการเริ่มต้นที่การตัดลดงบประมาณที่ไม่จำเป็น เช่น ลดขนาดกองทัพและเรียกคืนธุรกิจกองทัพ ลดงบกลาง ลดโครงการที่ไม่จำเป็น การเพิ่มประสิทธิภาพและความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีที่มีอยู่แล้ว เช่น การจัดเก็บภาษีรายได้นิติบุคคลที่เป็นธรรมระหว่างทุนใหญ่กับผู้ประกอบการรายย่อย และการพิจารณาภาษีก้าวหน้าประเภทใหม่ที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ เช่น ภาษีที่ดินรวมแปลงในกรณีที่บุคคลครอบครองที่ดินจำนวนมากที่กระจัดกระจายอยู่เต็มไปหมดทั่วประเทศ และ ภาษีความมั่งคั่ง ด้วยการเก็บภาษีความมั่งคั่งแบบขั้นบันไดจากบุคคลที่มีทรัพย์สินสุทธิเกิน 300 ล้านบาท