กัมพูชาพบกระเบนราหูหนัก 300 กก. ทุบสถิติปลาน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลก

เอเอฟพี - นักวิทยาศาสตร์เผยว่าชาวประมงในแม่น้ำโขงในกัมพูชาจับปลาน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยบันทึกไว้ได้ เป็นปลากระเบนราหูที่มีน้ำหนักมากถึง 300 กิโลกรัม

ปลากระเบนราหูน้ำจืดยักษ์ ที่วัดความยาวจากจมูกถึงหางได้ 4 เมตร ถูกจับได้เมื่อสัปดาห์ก่อน และได้ปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติหลังติดแท็กไว้ที่ตัวปลาเพื่อติดตามพฤติกรรม

ปลากระเบนราหูน้ำจืดตัวนี้ทำลายสถิติปลาน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่บันทึกไว้ก่อนหน้าที่เป็นของปลาบึกที่จับได้ในไทยในปี 2548 ที่มีน้ำหนัก 293 กิโลกรัม โครงการวิจัย Wonders of the Mekong ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสหรัฐฯ ระบุ

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า กระเบนราหูน้ำจืดที่ถูกจับได้ใน จ.สตึงเตรง ทางภาคเหนือของกัมพูชา มีน้ำหนักมากกว่ากอริลลาโดยเฉลี่ยถึง 2 เท่า

“ใน 20 ปีของการวิจัยปลายักษ์ในแม่น้ำและทะเลสาบใน 6 ทวีป นี่เป็นปลาน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เราเคยพบหรือบันทึกไว้จากทั่วโลก” เซป โฮแกน นักชีววิทยาด้านประมงที่เป็นผู้นำโครงการ Wonders of the Mekong ระบุในคำแถลงที่เผยแพร่วันนี้ (21 มิ.ย. 65)

“นี่เป็นการค้นพบที่น่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง และพิสูจน์ให้เห็นถึงความพยายามที่จะทำความเข้าใจความลึกลับที่ล้อมรอบสิ่งมีชีวิตเหล่านี้และแม่น้ำที่ทอดยาวที่พวกมันอาศัยอยู่ให้ดียิ่งขึ้น” คำแถลงระบุ

นักวิจัยได้ติดแท็กที่กระเบนราหูก่อนปล่อยกลับคืนสู่แม่น้ำ เพื่อพยายามที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมที่ยากจะอธิบายของสิ่งมีชีวิตลึกลับนี้

เมื่อเดือนก่อน กระเบนราหูน้ำจืดขนาดใหญ่ใกล้สูญพันธุ์ยาว 4 เมตร หนัก 180 กิโลกรัม ก็ถูกชาวประมงจับได้ในจังหวัดเดียวกัน

ในแม่น้ำโขงมีปลามากกว่า 1,000 สายพันธุ์อาศัยอยู่ และปลากระเบนก็ไม่ได้เป็นเพียงสิ่งมีชีวิตขนาดยักษ์เพียงชนิดเดียวที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำสีโคลนสายนี้ แต่ยังมีทั้งปลาบึกและปลากระโห้ที่มีความยาวถึง 3 เมตร และหนักถึง 270 กิโลกรัม

นักวิทยาศาสตร์เตือนว่าขยะพลาสติกกำลังคุกคามสัตว์ป่า แม้แต่ในส่วนที่ลึกที่สุดของแม่น้ำโขง รวมถึงอวนผีที่ถูกชาวประมงปล่อยทิ้งไว้ ซึ่งยังสามารถดักจับปลาได้

เส้นทางน้ำที่มีชื่อเสียงสายนี้มีจุดเริ่มต้นในประเทศจีนและลดเลี้ยวลงใต้ผ่านพื้นที่บางส่วนของไทย ลาว พม่า กัมพูชา และเวียดนาม หล่อเลี้ยงผู้คนกว่า 60 ล้านคน ผ่านลุ่มน้ำและแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง แต่นักสิ่งแวดล้อมได้แสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับการสร้างเขื่อนตามแนวแม่น้ำโขงว่าจะทำลายแหล่งปลา


ที่มา : https://mgronline.com/indochina/detail/9650000058973