ครบรอบ 85 ปี ‘Golden Gate Bridge’ สะพานแขวนสีส้มแห่งนคร San Francisco

วันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2480 (ค.ศ. 1937) ประธานาธิบดี Franklin D. Roosevelt ทำพิธีกดปุ่มทางไกลเปิดใช้สะพาน Gate Bridge ในนคร San Francisco อย่างเป็นทางการจากกรุง Washington D.C. โดยสะพาน Golden Gate ถูกจัดให้เป็นสิ่งมหัศจรรย์ทางวิศวกรรมของโลกยุคปัจจุบัน ด้วยเคยครองสถิติสะพานแขวนที่ยาวที่สุดในโลกมาก่อน (ปัจจุบันสะพานแขวนที่ยาวที่สุดในโลก คือ สะพาน Akashi-Kaikyo อยู่ที่ญี่ปุ่น) โดยมีระยะทาง 2.7 กิโลเมตร สูง 223.5 เมตร 

สะพาน Golden Gate ทอดข้ามอ่าว San Francisco บริเวณช่องแคบ Golden Gate ทางตอนเหนือของนคร San Francisco กับ เทศมณฑล Marin มลรัฐ California ในตอนก่อนสะพานจะถูกสร้างขึ้น เส้นทางสั้น ๆ ที่ใช้งานได้จริงเพียงเส้นทางเดียวระหว่างนคร San Francisco กับ เทศมณฑล Marin (ในปัจจุบัน) คือ โดยสารเรือ Ferry ข้ามอ่าว San Francisco โดยบริษัท Sausalito Land and Ferry ซึ่งบริษัทนี้เปิดตัวในปี พ.ศ. 2410 ในที่สุดก็กลายเป็นบริษัท Golden Gate Ferry ซึ่งเป็นบริษัทในเครือบริษัทรถไฟสายแปซิฟิกใต้ เรือ Ferry ข้ามฟากของบริษัทรถไฟสายแปซิฟิกใต้ทำกำไรมหาศาลและมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจในพื้นที่ โดย เรือ Ferry ที่ข้ามฟากระหว่างท่าเรือ Hyde Street Pier ในนคร San Francisco กับท่าเรือ Sausalito Ferry Terminal ในเทศมณฑล Marin ใช้เวลาราว 20 นาที และราคาค่าบริการอยู่ที่คันละ  1.00 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ในสมัยนั้น) 

ท่าเรือ Sausalito Ferry Terminal ในเทศมณฑล Marin ก่อนที่จะมีสะพาน Golden Gate

ด้วยเหตุนคร San Francisco เป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกาที่ยังคงไม่มีการเชื่อมโยงถาวรกับชุมชนรอบอ่าว และต้องใช้บริการโดยสารเรือ ferry ข้ามฟากเป็นหลัก จึงทำให้อัตราการเจริญเติบโตของเมืองต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอัตราการเจริญเติบโตของเมืองใหญ่ในสหรัฐฯ 

แต่ในยุคนั้นบรรดาผู้เชี่ยวชาญหลายคนต่างให้ความเห็นว่า เทคโนโลยีขณะนั้นคงไม่สามารถสร้างสะพานข้ามช่องแคบยาว 6,700 ฟุต (2,000 เมตร) ได้ เพราะมีอ่าว San Francisco มีกระแสน้ำที่หมุนวนอย่างแรง ความลึกของน้ำบริเวณใจกลางช่องแคบอยู่ที่ 372 ฟุต (113 ม.) และลมพัดแรงจัดมากอยู่บ่อย ๆ ครั้ง จึงเป็นเหตุให้ผู้เชี่ยวชาญสรุปว่า ลมที่พัดแรงจัด อีกทั้งหมอกลงหนักจะเป็นอุปสรรคขัดขวางการก่อสร้างและการใช้งานสะพาน 

แม้ว่าแนวคิดของเรื่องสะพานทอดข้ามช่องแคบ Golden Gate จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ในที่สุดข้อเสนอก็ถูกตีพิมพ์ใน San Francisco Bulletin ปี พ.ศ. 2459 (ค.ศ. 1916) โดยบทความของ James Wilkins วิศวกรของนคร San Francisco ซึ่งได้ทำการประเมินค่าใช้จ่ายในการสร้างไว้ที่ 100 ล้านดอลลาร์ (ราว 2.5 พันล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน) แล้วก็ยังไม่สามารถทำได้ในขณะนั้น 

แต่ Joseph Strauss ซึ่งเป็นวิศวกรและกวี ผู้มีความทะยานอยาก ซึ่งเคยทำวิทยานิพนธ์เรื่องการออกแบบสะพานรถไฟยาว 55 ไมล์ (89 กม.) ข้ามช่องแคบ Bering และในขณะนั้น Strauss ได้สร้างสะพานแขวนเสร็จสมบูรณ์แล้วราว 400 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสะพานในสหรัฐฯ และไม่มีอะไรที่เขาจะสนใจมากไปกว่าโครงการสร้างสะพานใหม่เพื่อข้ามช่องแคบ Golden Gate ภาพร่างสะพานเริ่มต้นของ Strauss ประกอบด้วยคานแขนขนาดใหญ่ในแต่ละด้านของช่องแคบ ซึ่งเชื่อมต่อกันด้วยส่วนกันสะเทือนกลาง โดย Strauss สัญญาไว้ว่า จะสามารถสร้างได้ด้วยงบประมาณ 17 ล้านดอลลาร์ (เทียบเท่ากับ 423 ล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน)


Joseph Strauss

หลังจากนั้นด้วยมติในสภานิติบัญญัติแห่งมลรัฐ California อนุมัติให้มีการสร้างสะพานและทางหลวงด้วยงบประมาณ 35 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 530 ล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน) เพราะมีความมั่นใจว่า Strauss จะมีการปรับเปลี่ยนแปลงรูปแบบ และยอมรับข้อมูลต่าง ๆ จากผู้เชี่ยวชาญโครงการที่ปรึกษาหลาย ๆ คนว่า การสร้างสะพานแขวนถือเป็นแนวทางที่น่าจะประสบความสำเร็จและสามารถใช้งานจริงได้มากที่สุด การก่อสร้างต้องใช้เวลามากกว่าหนึ่งทศวรรษเพราะโครงการก่อสร้างสะพานนี้ต้องเผชิญกับการต่อต้าน รวมถึงการฟ้องร้องดำเนินคดีจากผู้ที่คัดค้านและเสียผลประโยชน์มากมาย 

อีกทั้งกระทรวงสงครามของสหรัฐฯ เองก็เกรงว่า สะพานนี้จะกลายเป็นอุปสรรคต่อการสัญจรทางเรือ กองทัพเรือสหรัฐฯ กลัวว่า การชนสะพานของเรือหรือการก่อวินาศกรรมอาจเป็นปิดกั้นทางเข้าท่าเรือหลักแห่งใดแห่งหนึ่ง ส่วนสหภาพแรงงานเรียกร้องให้มีการรับประกันว่า คนงานในท้องถิ่นจะได้เข้าทำงานในการก่อสร้างโครงการนี้

นอกจากนั้น บริษัทรถไฟสายแปซิฟิกใต้ หนึ่งในผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ทางธุรกิจที่ทรงอิทธิพลที่สุดในมลรัฐ California คัดค้านการสร้างสะพานนี้เพราะจะเป็นการแข่งขันกับธุรกิจเรือ Ferry ข้ามฟาก และได้ยื่นฟ้องคัดค้านโครงการนี้ ซึ่งนำไปสู่การคว่ำบาตรการใช้บริการเรือข้ามฟาก


 Leon Moisseiff วิศวกรผู้ออกแบบและสร้างสะพาน Manhattan ในมหานคร New York

ในที่สุด Strauss ก็ได้เป็นทั้งหัวหน้าวิศวกรที่รับผิดชอบการออกแบบโดยรวมและการก่อสร้างสะพาน แต่เนื่องจากเขามีความเข้าใจหรือประสบการณ์น้อยในการออกแบบระบบกันสะเทือนด้วยสายเคเบิล ความรับผิดชอบในด้านวิศวกรรมและสถาปัตยกรรมส่วนใหญ่จึงตกอยู่ที่ผู้เชี่ยวชาญคนอื่น ๆ 

ข้อเสนอจากการออกแบบเบื้องต้นของ Strauss (ช่วงเสาเข็มคู่สองช่วงที่เชื่อมโยงกันด้วยระบบกันสะเทือนส่วนกลาง) ไม่เป็นที่ยอมรับอันเนื่องมาจากมุมมองที่สามารถมองเห็นนั้นดูไม่สวยสง่า ทำให้การออกแบบช่วงล่างที่สวยงามขั้นสุดท้ายเกิดขึ้นโดย Leon Moisseiff วิศวกรผู้ออกแบบและสร้างสะพาน Manhattan ในมหานคร New York 
 

สี International Orange

Irving Morrow สถาปนิกด้านที่อยู่อาศัยซึ่งไม่ค่อยมีชื่อเสียงเท่าใดเป็นผู้ออกแบบรูปร่างโดยรวมของหอคอยสะพาน รูปแบบแสง และองค์ประกอบตกแต่งต่าง ๆ เช่น การตกแต่งหอคอย ไฟถนน ราวบันได และทางเดิน รวมทั้งสี International Orange ที่มีชื่อเสียงเป็น สีที่ใช้ทา ซึ่ง Morrow เป็นผู้ที่เลือกเอง (มองไกล ๆ จะเห็นเป็นสีแดง) โดยสามารถให้เหตุผลเอาชนะความเป็นไปได้ในการใช้งานสีอื่น ๆ รวมทั้งข้อเสนอของกองทัพเรือสหรัฐฯ ให้ทาสะพานด้วยสีด้วยแถบสีดำและสีเหลืองเพื่อให้มองเห็นได้ชัดเจนเมื่อเรือแล่นผ่าน


 Charles Alton Ellis วิศวกรอาวุโส

Charles Alton Ellis วิศวกรอาวุโส นักวิชาการและนักคณิตศาสตร์ ซึ่งทำงานทางไกล (ด้วยการส่งโทรเลข) ร่วมกับ Moisseiff เป็นวิศวกรหลักของโครงการ นอกจากนั้นแล้ว Ellis ยังได้รับมอบหมายให้ออกแบบ "สะพานภายในสะพาน" ในส่วนค้ำยันด้านใต้ เพื่อหลีกเลี่ยงความจำเป็นในการรื้อถอนป้อม Point ซึ่งเป็นป้อมปราการก่ออิฐยุคก่อนสงครามกลางเมืองที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ เขาได้ออกแบบซุ้มประตูเหล็กอันสง่างามซึ่งทอดยาวไปตามป้อมและเป็นถนนไปยังฐานรากด้านใต้ของสะพาน 

Ellis ผู้ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมของมหาวิทยาลัยแห่ง Illinois ซึ่งไม่มีปริญญาวิศวกรรมศาสตร์ก็ตาม แต่ที่สุดเขาก็ได้รับปริญญาด้านวิศวกรรมโยธาจากมหาวิทยาลัย Illinois ก่อนที่จะร่วมออกแบบสะพาน Golden Gate และใช้เวลาสิบสองปีสุดท้ายของอาชีพศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัย Purdue เป็นผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบโครงสร้าง โดยเขียนหนังสือการออกแบบโครงสร้างมาตรฐานในยุคนั้น 

Ellis ทำงานด้านเทคนิคและทฤษฎีมากมายในการสร้างสะพานนี้ แต่เขาไม่ได้รับเครดิตใด ๆ เลยในช่วงที่เขายังมีชีวิต ซ้ำร้ายในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2473 (ค.ศ. 1931) Strauss ยังไล่ Ellis ออก และเอา Clifford Paine ลูกน้องเก่ามาทำงานแทน เพราะเห็นว่า Ellis ใช้เงินมากเกินไปในการส่งโทรเลขติดต่อกลับไปกลับมาในการติดต่อกับ Moisseiff แต่ Ellis ผู้หมกมุ่นอยู่กับโครงการ และยังไม่สามารถหางานทำที่อื่นด้วยเป็นช่วงสภาวะทางเศรษฐกิจตกต่ำ ยังต้องยอมทนทำงาน 70 ชั่วโมงต่อสัปดาห์โดยไม่ได้รับค่าจ้าง ในที่สุดก็ต้องใช้สมุดนับสิบ ๆ เล่มคิดคำนวณโครงสร้างต่าง ๆ ด้วยมือ


สะพาน Golden Gate ระหว่างการก่อสร้าง

Strauss เป็นผู้ที่มักจะมองข้ามการมีส่วนร่วมของผู้ทำงานร่วมกันอย่าง Ellis ผู้ซึ่งยอมรับค่าตอบแทนแม้จะเพียงเล็กน้อยก็ตาม และงานส่วนใหญ่แล้ว Ellis เป็นผู้รับผิดชอบโดยเฉพาะรูปแบบขั้นสุดท้ายของสะพาน 

แต่ Strauss กลับประสบความสำเร็จในการทำให้ตัวเองได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้รับผิดชอบการออกแบบและสร้างสะพานมากที่สุด ต่อมาในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2550 สำนักงานสะพาน Golden Gate ได้ออกรายงานอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับ 70 ปีในการบำรุงรักษาดูแลสะพานที่มีชื่อเสียงแห่งนี้ และตัดสินใจที่จะยกย่องเพื่อเป็นเกียรติแก่ Charles Alton Ellis วิศวกรอาวุโสว่าเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการออกแบบสะพาน Golden Gate แห่งนี้

สะพาน Golden Gate ถ่ายจากด้านล่าง

จนถึงปี พ.ศ. 2507 (ค.ศ. 1964) สะพาน Golden Gate เป็นสะพานแขวนที่มีช่วงหลักยาวที่สุดในโลกที่ 4,200 ฟุต (1,300 ม.) แต่ปัจจุบันเป็นสะพานแขวนที่มีช่วงหลักยาวที่สุดเป็นอันดับสองในอเมริกา รองจากสะพาน Verrazzano-Narrows ในมหานคร New York 

ความยาวรวมของสะพาน Golden Gate จากหลักค้ำยันถึงหลักค้ำยันอีกฝั่งคือ 8,981 ฟุต (2,737 ม.) มีระยะห่างจากระดับน้ำสูงเฉลี่ย 220 ฟุต (67 ม.) ในขณะที่หอคอยสูงจากพื้นน้ำ 746 ฟุต (227 ม.) เป็นสะพานแขวนที่สูงที่สุดในโลกจนถึงปี พ.ศ. 2536 (ค.ศ. 1993) และถูกแทนที่ด้วยสะพาน Mezcala ในประเทศเม็กซิโก
 

ภาพความยาวของสะพาน Golden Gate ในมิติต่าง ๆ

ตัวสะพาน Golden Gate ประกอบด้วยหอคอยสองข้าง สูงจากระดับน้ำข้างละ 230 เมตร โดยใช้ลวดเคเบิลเป็นตัวดึงน้ำหนักสะพาน ซึ่งมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 36 นิ้ว ข้างละ 2 เส้น และยังมีเส้นลวดที่ยึดโยงอีก 27,572 เส้น น้ำหนักของถนนแขวนจากเชือกแขวนแนวตั้ง 250 คู่ ซึ่งติดอยู่กับสายเคเบิลหลัก 2 เส้น สายเคเบิลหลักผ่านเสาหลักทั้งสองและยึดด้วยคอนกรีตที่ปลายแต่ละด้าน แต่ละเส้นทำจากลวด 27,572 เส้น 

ความยาวรวมของลวดเหล็กอาบสังกะสีที่ใช้ในการผลิตสายเคเบิลหลักทั้งสองนั้นอยู่ที่ประมาณ 80,000 ไมล์ (130,000 กม.) หอคอยสองแห่งของสะพานแต่ละแห่งมีหมุดย้ำประมาณ 600,000 ตัว โดยใช้หมุดย้ำทั้งหมดประมาณ 1,200,000 ตัว ตัวสะพานแบ่งเป็นช่องทางรถยนต์โดยสาร 6 ช่องทาง รถบรรทุก 3 ช่องทาง และทางรถไฟ 2 ช่องทาง 

Angelo Joseph Rossi นายกเทศมนตรีนคร San Francisco ตัดโซ่เปิดใช้สะพานเมื่อ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2480 (ค.ศ. 1937) และประธานาธิบดี Franklin D. Roosevelt กดปุ่มทางไกลเพื่อเปิดให้ใช้การจราจรบนสะพาน Golden Gate อย่างสมบูรณ์จากกรุง Washington D.C. ในวันต่อมา 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2480 (ค.ศ. 1937)

สะพาน Golden Gate เริ่มสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2476 (ค.ศ. 1932) ใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้น 33 ล้านเหรียญ (ราว 500 ล้านเหรียญในปัจจุบัน) แต่ภายใต้ความสำเร็จของสะพาน Golden Gate กลับต้องมีคนงานเสียชีวิตถึง 11 คน จึงจำเป็นต้องมีการสร้างตาข่ายรองไว้ใต้สะพาน เพื่อความปลอดภัยของคนงานจากการตกจากนั่งร้าน ซึ่งหลังจากนั้นก็ยังมีคนงานตกมาอีก 19 คน แต่ก็ปลอดภัยเนื่องจากมีตาข่ายรองรับป้องกันเรียบร้อยแล้วนั้นเอง 

ภายหลังจากใช้เวลาในการสร้างเกือบ 5 ปี สะพานจึงแล้วเสร็จสมบูรณ์ และมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ โดย Angelo Joseph Rossi นายกเทศมนตรีนคร San Francisco เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2480 (ค.ศ. 1937) ซึ่งเปิดให้เดินเท้าเท่านั้น มีผู้ร่วมเป็นสักขีพยานมากกว่า 2 แสนคน และในวันต่อมา 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2480 (ค.ศ. 1937) ประธานาธิบดี Franklin D. Roosevelt กดปุ่มทางไกลจากกรุง Washington D.C.เปิดให้ใช้การจราจรบนสะพาน Golden Gate อย่างสมบูรณ์ ในปัจจุบันมีรถยนต์ใช้งานสะพาน Golden Gate ราว 110,000 คันต่อวัน ค่าใช้สะพาน คันละ 6-8 ดอลลาร์ (ตามแต่เงื่อนไขที่กำหนด) 

ที่กั้นเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตาย ซึ่งประกอบด้วยตาข่ายสแตนเลสที่ยื่นออกมาจากสะพาน 20 ฟุต และรองรับด้วยเหล็กโครงสร้าง 20 ฟุตด้านข้างต่ำกว่าทางเดิน

สะพาน Golden Gate เป็นสถานที่มีคนใช้ฆ่าตัวตายมากที่สุดในโลก โดยจุดที่สามารถกระโดดลงมาได้จะอยู่เหนือระดับน้ำประมาณ 245 ฟุต (75 ม.) หลังจากโดดลงไปสี่วินาที จะพุ่งกระทบน้ำด้วยความเร็วประมาณ 75 ไมล์ต่อชั่วโมง (120 กม./ชม. หรือ 30 ม./วินาที) ส่วนใหญ่เสียชีวิตจากแรงกระแทก แล้วประมาณ 5% รอดชีวิตจากการกระแทกในครั้งแรก โดยทั่วไปแล้วมักจะจมน้ำหรือเสียชีวิตจากภาวะอุณหภูมิของร่างกายที่ต่ำกว่าปกติ เนื่องจากแช่อยู่น้ำที่เย็นจัด 

หลังจากถกเถียงกันมานานหลายปี และมีผู้ฆ่าตัวตายเสียชีวิตไปแล้วกว่า 1,500 ราย จึงมีการทำที่กั้นเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตาย ซึ่งประกอบด้วยตาข่ายสแตนเลสที่ยื่นออกมาจากสะพาน 20 ฟุต และรองรับด้วยเหล็กโครงสร้าง 20 ฟุตในแต่ละด้านข้างต่ำกว่าทางเดิน ได้เริ่มติดตั้งเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2560 (ค.ศ. 2017) เดิมคาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างราว 4 ปี ด้วยงบประมาณกว่า 200 ล้านดอลลาร์ 

ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2562 (ค.ศ. 2019) มีรายงานว่าการก่อสร้างตาข่ายป้องกันการฆ่าตัวตายล่าช้ากว่ากำหนด ถึง 2 ปี เนื่องจากผู้รับเหมาหลักคือบริษัท Shimmick Construction ถูกขายเปลี่ยนมือในปี พ.ศ. 2560 (ค.ศ. 2017) ส่งผลให้โครงการที่มีอยู่หลายโครงการต้องชะลอตัวลง 

ดังนั้นกำหนดแล้วเสร็จของตาข่ายป้องกันการฆ่าตัวตายของสะพาน Golden Gate ถูกกำหนดใหม่เป็นปี พ.ศ. 2566 (ค.ศ. 2023) และเพื่อเป็นการรำลึกถึง Joseph Strauss วิศวกรผู้บุกเบิกการสร้างสะพานแห่งนี้ จึงมีการสร้างสวนสาธารณะพร้อมกับอนุสาวรีย์ ต่อมาถูกย้ายมาไว้ข้าง ๆ สะพานในปี พ.ศ. 2498 (1955) เพื่อรำลึกถึงเขาผู้ที่มีส่วนสำคัญและบุกเบิกในการสร้างสะพาน Golden Gate จนสำเร็จ และใช้งานต่อมาจนปัจจุบันจนครบ 85 ปี

สวนสาธารณะและอนุสาวรีย์ Joseph Strauss วิศวกรผู้บุกเบิกการสร้างสะพาน Golden Gate


👍 ติดตามผลงาน อาจารย์โญธิน มานะบุญ เพิ่มเติมได้ที่ : https://thestatestimes.com/author/ดร.โญธิน%20มานะบุญ