‘กระทรวงแรงงาน’ เตือนแรงงานต่างด้าวและนายจ้าง อย่าหลงเชื่อนายหน้าเถื่อน หลอกเดินเรื่องทำเอกสารต่อวีซ่า/ขออนุญาตทำงาน พร้อมเผยกระบวนการมีทั้งคนไทยและคนต่างด้าวหลอกลวงกันเอง อาศัยความไม่รู้ข้อมูล และชูความสะดวกสบายเป็นจุดขาย

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และการกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองแรงงานต่างด้าวให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายและมาตรฐานสากล และการเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจแรงงานกลุ่มเสี่ยงและดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิแรงงานอย่างเข้มงวด เพื่อขจัดการค้ามนุษย์ให้หมดสิ้นไปจากประเทศไทยตามเจตนารมณ์ของรัฐบาล และยกระดับประเทศไทยสู่ Tier 1 ในปี 2564

“กระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญในการดูแลคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยทั้งของผู้ใช้แรงงานไทย และแรงงานต่างด้าว อย่างเท่าเทียมกัน จึงขอเตือนให้แรงงานต่างด้าวหาข้อมูลที่ถูกต้องก่อนตัดสินใจใช้บริการนายหน้าที่อ้างว่า สามารถติดต่อกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในประเทศต้นทางของแรงงานต่างด้าว และหน่วยงานราชการไทย เพื่อดำเนินการเรื่องหนังสือเดินทาง การต่ออายุวีซ่า และใบอนุญาตทำงานได้ เนื่องจากปัจจุบันเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ระลอกใหม่ ทำให้ต้องมีมาตรการลดการเดินทางที่ไม่จำเป็น เว้นระยะห่างจากผู้อื่น เพื่อป้องกันการได้รับเชื้อ แรงงานต่างด้าวและนายจ้างจึงหันไปใช้บริการสาย/นายหน้าให้ดำเนินการแทน มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายสูงเกินจริง และอาจถูกหลอกลวงได้ ซึ่งนายจ้างและแรงงานต่างด้าวสามารถตรวจสอบข้อมูลบริษัทนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศที่ถูกกฎหมายกับกรมการจัดหางานได้“ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

ด้านนายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า บริษัทนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ (บริษัทนำเข้า) ที่ได้รับอนุญาตจากกรมการจัดหางาน ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 250 แห่ง เป็นผู้รับอนุญาตฯ ที่บริษัทตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร 75 แห่ง และส่วนภูมิภาค 175 แห่ง (ข้อมูล ณ วันที่ 17 มกราคม 2564)

“กรมการจัดหางาน จะใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างจริงจัง หากพบผู้กระทำผิด จะดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยผู้ที่หลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ หรือสามารถหาลูกจ้างซึ่งเป็นคนต่างด้าวให้กับนายจ้าง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้น ได้ไปซึ่งเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์ อื่นใดจากผู้ถูกหลอกลวง จะต้องระวางมีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 - 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 600,000 - 1,000,000 บาท ต่อคนต่างด้าว 1 คน หรือทั้งจำทั้งปรับ” อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว

ทั้งนี้ สามารถตรวจสอบรายชื่อบริษัทนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานฯที่ได้รับอนุญาตจากกรมการจัดหางาน ได้ที่ www.doe.go.th หรือแจ้งเรื่องราวร้องทุกข์ ที่ถูกสาย/นายหน้าเถื่อนหลอกลวง สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือ สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน ซึ่งมีการจัดล่ามในภาษากัมพูชา เมียนมา และอังกฤษ ให้บริการด้วย