สมาคมคราฟท์เบียร์ ยื่นหนังสือถึงนายกฯ เสนอมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการร้านอาหารที่จำหน่ายคราฟท์เบียร์ เนื่องจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ หลังกทม.ห้ามจําหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อการบริโภคภายในร้าน

ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล ตัวแทนกลุ่มสมาคมคราฟท์เบียร์ประเทศไทยโดย นายอาชิระวัสส์ วรรณศรีสวัวดิ์ ( นายกสมาคม Craft Beer ประเทศไทย) ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เรื่องขอเสนอมาตรการการบรรเทาและเยียวยาผู้ประกอบการร้านอาหารที่จำหน่ายคราฟท์เบียร์ เนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 ระลอกใหม่

นายอาชิระวัสส์ กล่าวว่า เนื่องด้วยคำสั่งของกรุงเทพในการห้ามจําหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อการบริโภคภายในร้านอาหารส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการร้านอาหารทั้งประเทศทางสมาคมฯมีความเข้าใจถึงความปรารถนาดีและกังวลในการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 แต่ผู้ประกอบการและพนักงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งทางตรงและทางอ้อม

โดยปัญหาที่ผู้ประกอบการกำลังเผชิญมีดังต่อไปนี้

1.) ร้านค้าตัวแทนจำหน่ายและผู้นำเข้าไม่สามารถระบายสินค้าเบียร์สดซึ่งเป็นสินค้าที่มีต้นทุนสูงและมีอายุสินค้าสั้นได้

2.) ร้านค้าไม่สามารถจำหน่ายเบียร์สดในบรรจุภัณฑ์อื่นๆเพื่อให้ลูกค้านำกลับไปบริโภคที่บ้านได้เนื่องจากผิด พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตมาตรา 157 ทำให้ต้องสูญเสียสินค้าไปโดยใช่เหตุ

3.) ร้านค้าไม่สามารถจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้เนื่องจากผิดกฎหมายห้ามซื้อขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางออนไลน์แม้แต่กฎหมายนี้จะยังคงมีปัญหามีความคลุมเครือและไม่ชัดเจนเช่นไม่สามารถให้คำนิยามคำว่าอิเล็กทรอนิกส์ได้อีกทั้งยังไม่มีคู่มือให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง

4.) ปัญหามาตรา 32 พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ไม่เพียงห้ามให้ร้านค้าโพสต์ประชาสัมพันธ์หรือขายสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทาง Social Media แต่ยังรวมไปถึงการเขียนถึงสินค้าแม้จะไม่มีรูปประกอบซึ่งอาจจะเข้าข่ายความผิดตามวิจารณญาณของเจ้าหน้าที่

ทั้งนี้มีผู้ประกอบการร้านค้าไม่น้อยกว่า 600 ร้าน และผู้ได้รับผลกระทบไม่ต่ำกว่า 6,000 ราย มูลค่าความเสียหายขั้นต่ำที่เกิดขึ้นเป็นมูลค่าประมาณ 150 ล้านบาท ต่อเดือน