กรมสรรพากร ขยายเวลาการใช้ระบบภาษีหัก ณ ที่จ่ายอิเล็กทรอนิกส์ (e-Withholding Tax) เหลือ 2% ถึงสิ้นปี 2565 คาดทำให้มีกระแสเงินสดหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ กว่า 24,840 ล้านบาท ส่วนการลงทุนระบบใช้สิทธิหักรายจ่ายได้ 2 เท่า

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2564 ได้มีมติเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการใช้ระบบภาษีหัก ณ ที่จ่ายอิเล็กทรอนิกส์ (e-Withholding Tax) โดยลดอัตราภาษีหัก ณ ที่มีอัตรา 5% และ 3% เหลือ 2%

สำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินผ่านระบบ e-Withholding Tax ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 - 31 ธันวาคม 2565 ซึ่งจะช่วยคืนสภาพคล่องให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการ ทำให้มีกระแสเงินสดหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ กว่า 24,840 ล้านบาท

นายเอกนิติ กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะรัฐมนตรี ยังได้เห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถนำรายจ่ายจากการลงทุน และการใช้บริการระบบ e-Withholding Tax หรือระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt) มาหักเป็นรายจ่ายได้ 2 เท่า

ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 - 31 ธันวาคม 2565 ซึ่งจะช่วยให้ภาคเอกชนมีต้นทุน และภาระในการจัดทำ และการจัดเก็บเอกสารรวมทั้งการปฏิบัติหน้าที่ทางภาษีลดลง นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลและการแปลงเป็นดิจิทัลของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน สนับสนุนนโยบายประเทศไทย 4.0 และเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (COVID-19)

สำหรับ ระบบ e-Withholding Tax เป็นหนึ่งในนโยบาย Tax From Home ที่กรมสรรพากรได้นำการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการทำงานด้วยดิจิทัล (Digital Transformation) มาใช้เพื่อให้การปฏิบัติการและชำระภาษีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เป็นเรื่องง่าย สามารถทำได้ทุกที่ ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ปรับเปลี่ยนการลงทุนในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19