นายเเพทย์เอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส.เชียงรายเขต 1 พรรคก้าวไกล แสดงความเห็นเกี่ยวกับการบริหารจัดการสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 เเละการจัดหาวัคซีนเพื่อป้องกันโรคในอนาคต

นายแพทย์เอกภพ กล่าวว่า "ตนมีความรู้สึกหงุดหงิดมากกับการจัดการการระบาดของโควิดโดยรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งสิ่งที่เขาได้ทำมาตลอดได้สรุปให้เห็นหลักคิดหลักการทำงานของเขาชัดเจนว่าไม่เคยให้ค่าประชาชนและไม่เคยแสดงความรับผิดชอบต่อความผิดพลาดของตัวเองและพวกพ้อง ในเรื่องของกระบวนการที่สับสนอลหม่านนี้ผมได้เขียนถึงมาหลายรอบแล้ว วันนี้ผมจะเขียนถึงความมั่วซั่วในเรื่องวัคซีนกันครับ"

"จากที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันมากว่ารัฐบาลมีความล่าช้าเรื่องวัคซีนกว่าประเทศเพื่อนบ้านจนกระทั่งอยู่ดี ๆ ก็มีการเสนอข่าวว่าในเดือนกุมภาพันธ์ประเทศเราจะมีวัคซีนนำเข้าจากจีนของบริษัท Sinovac ซึ่งเหมือนเป็นข่าวดีนะครับ แต่เมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายน คณะกรรมาธิการสาธารณสุขได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงเรื่องความคืบหน้าของการได้วัคซีนมาฉีดให้ประชาชนไทย ในวันนั้นตลอดการชี้แจงไม่มีการพูดถึงการจะซื้อวัคซีนจากจีนเลย

และยิ่งกว่านั้นเมื่อพยายามหาข้อมูลทางวิชาการของวัคซีนตัวนี้พบว่าเจอแค่ผลการทดลองในเฟส 1 และ 2 แต่ยังไม่มีผลการทดลองในเฟส 3 ซึ่งเป็นการทดลองในประชากรกลุ่มใหญ่ที่เรียกว่า Randomized Controlled Trial ออกมาในฐานข้อมูลของวารสารทางการแพทย์เลย มีแต่การนำเสนอวิธีการศึกษาที่ไม่มีผลการศึกษาเท่านั้น การนำวัคซีนที่ยังไม่มีผลการวิจัยเข้ามาแบบนี้ต้องไปดูขั้นตอนการอนุมัติของ องค์การอาหารเเละยา (อย.) ครับว่ามีการอนุมัติอย่างไร จนมีเสียงลือมาถึงหูผมว่าบางทีวัคซีนตัวนี้อาจมาจากบริษัททุนใหญ่บางบริษัทก็ได้"

นพ.เอกภพ ตั้งข้อสังเกตต่อไปว่า ตามการเสนอข่าวของหลายสำนักข่าวจะพบว่าเราจะมีการได้รับวัคซีนมาฉีดทีละชุด ๆ ในเวลาห่างกันพอสมควรและทีร้ายไปกว่านั้นคือจำนวนประชากรที่จะได้รับวัคซีนมีรวมแล้วก็แค่ประมาณ 20% กว่าของประชากรทั้งประเทศเท่านั้น โดยทั้งที่ตามหลักการแล้ว หากจะหยุดการระบาดของโคโรน่าไวรัสตัวนี้ได้ ต้องให้ประชากรมีภูมิต้านทานประมาณถึง 80% ของประชากร ดังนั้นการได้วัคซีนมาเพียง 20% อาจไม่เพียงพอต่อการหยุดการระบาดได้

โดยข้อมูลในปัจจุบันเรายังไม่รู้ว่าหลังฉีดวัคซีนไปแล้วร่างกายจะคงมีภูมิต้านทานต่อไปได้อีกนานเท่าไหร่และวัคซีนของแต่ละยี่ห้อให้ระยะเวลาคุ้มกันได้นานต่างกันมั้ย

ดังนั้น ทางที่ดีที่สุดของการจัดหาวัคซีนมาก็ควรจะจัดหา วัคซีนเพื่อทุกคน และกระจายไปหลากหลายยี่ห้อ หลากหลายเทคโนโลยี รวมทั้งควรมีการระดมฉีดในคราวเดียวกันทั่วประเทศ และเราต้องมาดูว่าหากไม่สามารถจัดหาวัคซีนมาฉีดพร้อมๆ กันได้จะฉีดให้กลุ่มไหนก่อน

แน่นอนว่ากลุ่มเสี่ยงที่สุดคือบุคลากรสาธารณสุขควรเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับการป้องกันเพื่อให้เขายังคงทำงานต่อได้อย่างปลอดภัย แล้วต่อไปเราจะเลือกกลุ่มไหนในสัดส่วนอย่างไรระหว่างกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่จะป่วยหนัก หรือ กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับเชื้อคือคนวัยทำงาน

"ดังนั้นนอกจากการที่ต้องจัดหาวัคซีนให้เพียงพอสำหรับทุกคนแล้ว รัฐบาลยังต้องวางแผนการฉีดวัคซีนที่ใช้หลักการทางวิชาการมาสนับสนุนด้วย"

ทั้งนี้ เอกภพ กล่าวทิ้งท้ายว่า "หากเรารอให้ประเทศอื่นฉีดวัคซีนให้ประชากรจนเขาจัดการการระบาดได้แล้ว ประเทศเหล่านั้นจะเริ่มเดินทางไปมาหาสู่กันได้ เพราะประเทศเขาถือว่าสิ้นสุดการระบาดแล้ว ประเทศเราที่ฉีดวัคซีนให้ประชากรจนประกาศสิ้นสุดการระบาดได้ช้าก็จะเสียโอกาสในการเปิดรับนักท่องเที่ยวที่อัดอั้นมานานได้ช้าด้วย โอกาสฟื้นเศรษฐกิจจากเงินต่างประเทศของเราก็ช้าไป"