'ลุงตู่' ปลื้มกระทรวงเกษตรฯ หลังคุมการแพร่ระบาดโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู (ASF) อยู่หมัด ส่งผลให้ไทยเป็นหนึ่งเดียวในอาเซียนที่ปลอดโรคนี้ และช่วยหนุนการส่งออกสุกรปี 63 พุ่ง 300% มูลค่ากว่า 2.2 หมื่นล้านบาท

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รายงานผลการดำเนินงานการป้องกันการแพร่ระบาดโรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู หรือ African Swine Fever(ASF) ต่อนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้ชื่นชมการทำงานของกระทรวงเกษตรฯและขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมมือกันจนสามารถป้องกันความเสียหายไม่ให้เกิดกับเกษตรกรและอุตสาหกรรมการเลี้ยงหมู ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่ปลอดโรคระบาดนี้เป็นเวลา 2 ปีติดต่อกัน ในขณะที่มี 34 ประเทศทั่วโลกได้รับผลกระทบอย่างมาก

โดยที่ผ่านมารัฐบาลได้ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ มีการยกระดับแผนปฏิบัติการป้องกันโรค ASF ให้เป็นวาระแห่งชาติ สนับสนุนงบกลาง วงเงิน 1,700 ล้านบาท และด้วยความสามารถในการรักษาความปลอดภัยในอุตสาหกรรมเลี้ยงสุกรนี้ ทำให้สุกรไทยเป็นที่สนใจของตลาดต่างประเทศ ตัวเลขการส่งออกเฉพาะปี 2563 มีมูลค่าเกิน 22,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมากกว่า 300% จากปีที่ผ่านมา

สำหรับใน 2564 รัฐบาลมุ่งมั่นเดินหน้าสู่เป้าหมายการเป็นศูนย์กลางสินค้าเกษตรและอาหารคุณภาพของโลกภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา(โควิด-19) โดยยึดถือความร่วมมือด้านความปลอดภัยในอาหารเป็นหัวใจสำคัญ การส่งออกสินค้าปศุสัตว์ โดยเฉพาะ “สุกร” จะเป็น “สินค้าเรือธง” เพราะชื่อเสียงด้านการป้องกันโรคของไทยเป็นที่รับรู้ทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนสบายใจได้ว่าการส่งออกที่จะมีเพิ่มขึ้นนี้ ไม่ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนในประเทศ เพราะปริมาณการผลิตสุกรขุนของไทยในปัจจุบัน อยู่ที่ 55,000 ตัวต่อวัน ขณะที่การบริโภคภายในประเทศอยู่ที่ 50,000 ตัวต่อวัน การผลิตจึงเพียงพอกับการบริโภคภายในประเทศ สำหรับผลผลิตส่วนเกินจะทำการส่งออกในรูปแบบสุกรขุน สุกรพันธุ์ ลูกสุกร ชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์ เป็นรายได้เข้าประเทศอย่างมาก มีคณะกรรมการดูแล ประกอบด้วย 5 หน่วยงานคือ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ สมาคมพัฒนาธุรกิจสุกรไทย และสมาคมผู้ผลิตและแปรรูปสุกรเพื่อการส่งออก ตามมติของคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์

ส่วนเรื่องข้อติดขัดการส่งออกสุกรไปยังกัมพูชาเมื่อเร็วๆ นี้ ทางกระทรวงเกษตร กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ และกลุ่มผู้ประกอบการส่งออกได้หารือร่วมกันจนได้แนวทางการเจรจากับทางการกัมพูชา ซึ่งขณะนี้ปัญหาได้รับการคลี่คลายแล้ว การส่งออกสามารถดำเนินการได้ตามปกติ