Monday, 1 July 2024
NEWS FEED

เช้านี้อากาศเย็นลงต่อเนื่อง ยอดดอยอุณหภูมิลดลงกว่า 0 องศา

ถือเป็นจุดที่ใช้วัดความหนาวเหน็บได้เป็นอย่างดี สำหรับดอยอินทนนท์ ซึ่งเมื่อเช้านี้ อุณหภูมิบนยอดดอยอินทนนท์ ก็ลดต่ำลงถึง 0 องศาเซลเซียส ทั้งนี้ภาพรวมของภูมิอากาศในช่วง 1 - 2 วันนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาได้รายงานว่า บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลความเย็นกำลังแรงจากประเทศจีน ได้แผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นถึงหนาวกับมีลมแรง โดยอุณหภูมิเฉลี่ยจะลดลงอีก 2 - 3 องศาเซลเซียสในภาคเหนือ

ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก อุณหภูมิจะลดลงอีก 1 - 2 องศาเซลเซียส ส่วนบริเวณยอดดอยและยอดภูมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด ประกอบกับมีน้ำค้างแข็งบางพื้นที่ ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลสุขภาพเนื่องจากอากาศที่หนาวเย็นลงไว้ด้วย

โควิด-19 ระบาดระลอดใหม่ในพื้นที่สมุทรสาคร ลามถึงบริการทางการเงิน หลังสาขาธนาคารทยอยปิดสาขาลดความเสี่ยง ด้านสมาคมธนาคารไทย แนะลูกค้าทำธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านเครื่องรับฝาก - ถอนเงินอัตโนมัติ และบริการโอนเงินผ่านพร้อมเพย์

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีประกาศจากคณะกรรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาคร ในการบริหารจัดการเพื่อควบคุมสถานการณ์ระบาดของ COVID-19 ด้วยมาตรการเด็ดขาด และรวดเร็ว โดยการควบคุมการเข้าออกพื้นที่และการจัดกิจกรรมต่าง ๆ อย่างเคร่งครัด ในพื้นที่การระบาดและพื้นที่เสี่ยงตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ.2563 – 3 มกราคม พ.ศ.2564 นั้น

เพื่อความปลอดภัยของลูกค้า พนักงาน และดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรค COVID-19 ของธนาคารสมาชิกเป็นไปมาตรการของรัฐ และแนวปฏิบัติของกรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุขโดยเคร่งครัด ธนาคารสมาชิกของสมาคมธนาคารไทยจึงมีความจำเป็นต้องปิดการทำงานและบริการที่อาคารและสาขาของบางธนาคารภายในเขตพื้นที่ดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ.2563 เป็นต้นไป

อย่างไรก็ตาม ลูกค้าสามารถใช้บริการหลักของธนาคาร ทั้งการถอนเงิน โอนเงินและฝากเงินในเขตพื้นที่ ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น เครื่องรับฝากเงินและถอนเงินอัตโนมัติที่ตั้งกระจายในพื้นที่ และบริเวณหน้าสาขาของธนาคาร รวมถึงการทำธุรกรรมผ่านระบบ PromptPay และบริการสินเชื่อต่าง ๆ ที่อยู่ในกระบวนการของสินเชื่อแล้ว

ทั้งนี้ บริการบางอย่างของธนาคารในเขตพื้นที่ที่มีการปิดสำนักงานและสาขาของธนาคารอาจจะต้องใช้เวลาการดำเนินการมากกว่าเดิม หรือล่าช้ากว่าปกติ ตามข้อจำกัดของแต่ละธนาคารในช่วงเวลานี้ โดยลูกค้าสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Call Center หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมจากทาง website ของแต่ละธนาคาร

ทั้งนี้ จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรค COVID-19 ดังกล่าว สมาคมธนาคารไทยและธนาคารพาณิชย์มีความห่วงใยความปลอดภัยและสวัสดิภาพของพนักงานและลูกค้าเป็นสำคัญ จึงขอให้ดำเนินการตามมาตรฐานด้านสุขอนามัยอย่างเคร่งครัด

เคาะเรียบร้อยแล้ว ! สำหรับงบประมาณก้อนล่าสุดที่จะใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ และเยียวยาความเดือดร้อนของประชาชนในช่วง Covid-19 ในประเทศสหรัฐอเมริกา

หลังจากที่ถกเถียงกันมานานระหว่าง 2 พรรคใหญ่ เดโมแครต และ รีพับลิกัน กว่าจะได้ข้อสรุปลงตัวที่งบประมาณ 9 แสนล้านเหรียญ หรือราวๆ 27 ล้านล้านบาท เคาะผ่านสภาเรียบร้อยเมื่อช่วงค่ำวันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคมที่ผ่านมา

งบประมาณก้อนใหญ่นี้ ทางรัฐบาลกลางสหรัฐต้องการที่จะใช้เยียวยาครอบครัวชาวอเมริกัน เพื่อมีเงินไว้จับจ่ายซื้อของกระตุ้นเศรษฐกิจ ช่วยเหลือผู้ที่ตกงาน ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ เป็นสวัสดิการให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และเร่งการขนส่งวัคซีนไปยังเมืองต่าง ๆ

แนนซี่ เปอโรซี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้กล่าวถึงการผ่านงบเยียวยาระดับชาตินี้ว่า "เราจะไล่ขยี้เจ้าไวรัสและเติมเงินให้กระเป๋าชาวอเมริกันให้อุ่นใจ"

รายละเอียดคร่าวๆของงบเยียวยา Covid-19 ที่จะเป็นของขวัญปีใหม่ของชาวอเมริกันในปีหน้าได้แก่

- จ่ายเบี้ยยังชีพจำนวน 600 เหรียญ ให้ชาวอเมริกันทั้งเด็ก และผู้ใหญ่

- เพิ่มเงินเยียวยาการว่างงานให้อีกสัปดาห์ละ 300 เหรียญเป็นเวลา 11 สัปดาห์

- เพิ่มงบประมาณอีก 2.84 แสนล้านเหรียญใน กองทุนสินเชื่อเพื่อคุ้มครองธุรกิจ เพื่อช่วยเหลือ และปลดหนี้สินบางส่วนให้กับเจ้าของธุรกิจรายย่อยที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก อาทิ ร้านอาหาร โรงภาพยนตร์ และอื่นๆ

- จัดสรรงบประมาณ 82,000 พันล้านให้กับสถาบันการศึกษาให้ปรับปรุงห้องเรียนให้เข้ากับมาตรการเว้นระยะห่าง หรือพัฒนาระบบออนไลน์

- 2 หมื่นล้านแบ่งไปซัพพอร์ทศูนย์รับเลี้ยงเด็ก และโครงการอาหาร

- บางส่วนจัดสรรไปช่วยเรื่องการกระจายวัคซีน และศูนย์บริการเกี่ยวกับ Covid-19

นอกจากนี้ยังช่วยในเรื่องการลดหย่อนภาษี ช่วยเหลือกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ทั้งเจ้าของสินทรัพย์ และผู้เช่า ที่ต่างขาดรายได้ ช่วยแบ่งเบาภาระสวัสดิการของนายจ้าง ลูกจ้าง และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง หรือได้รับผลกระทบจากวิกฤติ Covid-19

อันที่จริง งบประมาณแจกเงินเยียวยาให้ชาวอเมริกันจากวิกฤติ Covid-19 นี้ไม่ใช่ครั้งแรก แต่น่าจะเป็นเฟสขยายของโครงการที่ชื่อว่า CARES Act (Coronavirus Aid, Relief, and Economic Security Act) ที่โดนัลด์ ทรัมพ์ ประธานาธิบดีสหรัฐที่กำลังจะกลายเป็นอดีตผลักดันออกมาสำเร็จ

ช่วงเดือนมีนาคม 2020 ด้วยงบประมาณสูงถึง 2.2 ล้านล้านเหรียญ นับเป็นการผ่านงบประมาณก้อนใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของสหรัฐอเมริกา

และได้แจกเงินให้ชาวอเมริกันคนละ 600 เหรียญไปแล้วรอบหนึ่งแล้ว แต่งบประมาณที่จะช่วยเหลือผู้ตกงาน และสนับสนุนสวัสดิการอื่น ๆ จะสิ้นสุดลงภายในสิ้นปี ดังนั้นสภาคองเกรซต้องประชุมกันเพื่อเคาะงบประมาณในปีหน้า

และได้ลงมติเพิ่มงบเยียวยา Covid-19 เพิ่มอีก 9 แสนล้าน ที่คนอเมริกันจะได้เงินขวัญถุงอีกคนละ 600 เหรียญเพื่อเอาไปจับจ่ายใช้สอยกระตุ้นเศรษฐกิจ

และแน่นอนว่าโดนัลด์ ทรัมพ์ ก็ออกมาเคลมเครดิตเรื่องโครงการ "อเมริกาไม่ทิ้งกัน" เพราะการพิจารณางบประมาณยังอยู่ในสมัยของเขา และเขาก็ต้องเป็นคนเซ็นผ่าน

ก็ถือเป็นเงินของขวัญปลอบใจชาวอเมริกันที่บอบช้ำมาตลอดทั้งปี เพราะ Covid-19 ซึ่งจนถึงปีหน้าก็ยังไม่รู้ว่าจะคลี่คลายได้เมื่อใด แต่อย่างน้อยมีเงินติดกระเป๋าไว้หน่อยก็อุ่นใจกว่าไม่มีนะ


แหล่งข้อมูล

https://edition.cnn.com/2020/12/20/politics/stimulus-latest-shutdown-deadline/index.html

https://www.cnet.com/personal-finance/congress-reaches-a-deal-on-new-stimulus-bill-600-checks-300-unemployment-money-more/

https://thehill.com/homenews/administration/531030-trump-pushes-congress-on-coronavirus-aid-get-it-done

https://www.businessinsider.com/trump-reportedly-will-sign-900-billion-coronavirus-stimulus-package-2020-12

https://en.m.wikipedia.org/wiki/CARES_Act

นักวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่น เจ๋ง! ผนึกองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ เปิดตัวคู่มือ “ทำฟาร์มจิ้งหรีด” โชว์ชาวโลก หนุนประเทศไทยเป็นฮับ แมลงกินได้

ปัจจุบัน “จิ้งหรีด” ได้รับการยอมรับว่า เป็นแมลงเศรษฐกิจที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เรียกได้ว่า เป็นแหล่งโปรตีนราคาถูก ที่แม้แต่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ ยังส่งเสริมให้คนทั่วโลกหันมาบริโภคกันอย่างแพร่หลาย

ศ.ดร.ยุพา หาญบุญทรง หัวหน้าภาควิชากีฏวิทยาและโรคพืช คณะเกษตรศาตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และเป็นที่ปรึกษาด้านแมลงกินได้ ของ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เปิดเผยว่า เมื่อ 25 ปีที่ก่อน มหาวิทยาลัยขอนแก่น นับเป็นแห่งแรกที่เริ่ม การวิจัย และริเริ่มพัฒนาการทำฟาร์มจิ้งหรีดขึ้นมาและถ่ายทอดสู่เกษตรกรทั่วประเทศจนในปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้นำด้านการทำฟาร์มจิ้งหรีดที่ทันสมัยและมีการส่งออกจิ้งหรีดและผลิตภัณฑ์ เป็นมูลค่าหลายพันล้านบาท ต่อปี

จากวัฒนธรรมของคนทางภาคอิสานที่คุ้นเคยกับการกินแมลงเป็นอาหารอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีการเพาะเลี้ยงเป็นฟาร์ม แต่ในช่วงปี พ.ศ. 2540 ประเทศไทยเผชิญกับวิกฤตการทางเศรษฐกิจ หรือวิกฤตต้มยำกุ้ง จึงเป็นที่มาของการพัฒนาเทคนิคการเพาะเลี้ยงแมลง จิ้งหรีด หรือ แมงสะดิ้ง เพื่อใช้บริโภค และเพื่อรายได้ครัวเรือนขึ้น

หลังจากนั้นทาง FAO ซึ่งเป็นองค์การดูแลเรื่องนโยบายอาหารของโลก เห็นความสำคัญของการใช้แมลงเป็นอาหารโปรตีนและต้องการนำองค์ความรู้เรื่องการทำฟาร์มแมลงกินได้ ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นเพื่อใช้เป็นต้นแบบช่วยประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกที่ขาดแคลนอาหารโปรตีนและสร้างรายได้ จึงได้ให้ตนเองเป็นผู้นำทีมถ่ายทอดความรู้การทำฟาร์มแมลงกินได้แก่ประเทศต่าง ๆ เช่น สปป.ลาว ประเทศเคนย่า อูกานดา ใน ทวีปอัฟริกา เป็นต้น

จากนั้น ในปีพ.ศ.2556 ทาง FAO ได้ตีพิมพ์หนังสือที่เขียน โดย ศ.ดร.ยุพา หาญบุญทรง และคณะ เรื่อง ปศุสัตว์หกขา การทำฟาร์มแมลงกินได้ของประเทศไทย หรือ “ Six-legged livestock: Edible insect farming, collection and marketing in Thailand” ทำให้เกิดมีธุรกิจการทำฟาร์มแมลงกินได้ โดยเฉพาะจิ้งหรีดไปทั่วโลก และมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง มีมูลค่าทางธุรกิจของแมลงกินได้ทั่วโลกเป็นจำนวนมาก

จึงเป็นสาเหตุที่ FAO และ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เล็งเห็นถึงการที่ต้องมีคู่มือและข้อแนะนำที่ถูกต้องที่ให้การผลิตจิ้งหรีดที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภคและการประเมินความปลอดภัยในการผลิตฟาร์มแมลงกินได้นี้

ล่าสุด ได้เปิดตัวหนังสือ เรื่อง “คู่มือแนวการปฏิบัติที่ดีในการทำฟาร์มจิ้งหรีดอย่างยั่งยืน สำหรับเกษตรกรและผู้ประเมินฟาร์ม” หรือ “ Guidance on sustainable cricket Farming : A practical manual for farmers and inspectors” ของ FAO ในการประชุม online Webinar ของ FAO ณ สำนักใหญ่ กรุงโรม

ศ.ดร.ยุพา กล่าวว่า หนังสือเล่มนี้ ได้รวบรวมองค์ความรู้จากประสบการณ์การทำฟาร์มเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดในประเทศไทยมากกว่า 25 ปี ที่สามารถใช้เป็นต้นแบบให้ภาครัฐและผู้สนใจในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกใช้เป็นแนวปฏิบัติของเกษตรกรในการทำฟาร์มจิ้งหรีด

อย่างปลอดภัยและยั่งยืนต่อผู้บริโภค พร้อมทั้งสามารถต่อยอดธุรกิจและการตลาด เพื่อเพิ่มผลผลิตการเกษตรให้มีมูลค่ามากขึ้น และ เพื่อใช้เป็นมาตรฐานและมีคำแนะนำสำหรับใช้ของผู้ประเมินฟาร์มจิ้งหรีดเพื่อรับรองมาตรฐานการผลิตที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค

ในการสัมมนาออนไลน์ครั้งนี้ มีผู้สนใจทั่วโลกมากกว่า 120 คน จากทวีปต่าง ๆ เข้าร่วมรับฟังและมีการซักถามข้อมูลของคู่มือนี้ และอยากให้มีการแปลหนังสือคู่มือนี้เป็นภาษาต่าง ๆ อีกด้วย ซึ่งทาง FAO ได้เปิดให้ ผู้สนใจทั่วโลกสามารถ download คู่มือเล่มนี้ได้ที่ http://www.fao.org/3/cb2446en/cb2446en.pdf

ศ.ดร.ยุพา กล่าวเพิ่มเติมว่า "ในปัจจุบัน มีการนำจิ้งหรีด มาพัฒนาเป็นอาหารแปรรูป ชนิดต่างๆ เช่น ในรูปแบบผง (เหมาะกับชาวต่างชาติ) หรือเป็นซอง ที่กินง่าย ปลอดภัย ซึ่งมีการพัฒนาร่วมกับกับคณาจารย์มหาวิทยาลัยขอนแก่นหลายคณะ เช่น คณะเทคโนโลยี สาขาเทคโนโลยีการอาหาร คณะวิศวกรรมศาสตร์

เพื่อพัฒนาการทำฟาร์มจิ้งหรีดแบบ smart farm คณะวิทยาการจัดการ เรื่องการตลาด ตลอดจนสถาบันยุทธศาสตร์เพื่อการวิจัยและพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ส่งเสริมเรื่องการปฏิบัติที่ดีของการทำฟาร์มจิ้งหรีดให้เกษตรกร เพื่อช่วย ให้เกษตรกร และผู้ประกอบด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์ มีการทำฟาร์มจิ้งหรีดที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีการผลิตที่ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค และสามารถแข่งขันและส่งออกต่างประเทศได้"

นอกจากนี้ ทางมหาวิทยาลัยขอนแก่น กำลังพัฒนาการใช้แมลงสำหรับเป็นอาหารสัตว์ ให้เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ อีกทั้ง พยายามที่จะผลักดันให้จังหวัดขอนแก่น เป็นศูนย์กลางแมลงที่รับประทานเป็นอาหารได้ หรือ “Edible Insect HUB” และมีแผนการที่จะจัดงาน “จิ้งหรีดโลก” ขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นครัวโลกด้านแมลงกินได้อย่างแท้จริงและในอนาคต และอยากให้นักวิจัยรุ่นใหม่ ของประเทศไทยร่วมกันศึกษาต่อยอดทางด้านแมลงเพื่อใช้สำหรับเป็นยารักษาโรค ต่อไปอีกด้วย

รัฐบาลเปิดทางการลงทุนในต่างแดนของภาคเอกเชน เป้าหมายเพื่อให้เงินที่อยู่ในระบบออกไปลงทุนในต่างประเทศมากยิ่งขึ้น และชะลอค่าเงินบาทที่กำลังแข็งตัวอ่อนลง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบอร์ดบีโอไอ ว่า ต้องการให้มีการส่งเสริมการลงทุนในประเทศ และให้นักลงทุนไทยออกไปลงทุนต่างประเทศด้วยเช่นกัน

เพื่อให้เงินที่อยู่ในระบบของเราออกไปลงทุนในต่างประเทศมากยิ่งขึ้น และให้ค่าเงินบาทของเราอ่อนลง ส่วนนี้ภาคเอกชนต้องช่วยกัน ซึ่งนี่เป็นข้อมูลและข้อสังเกตจากธนาคารแห่งประเทศไทย และกำลังหามาตรการอยู่โดยเฉพาะการนำเครื่องจักรนำเข้า ซึ่งเรื่องนี้ก็กำลังติดตามอยู่

ด้าน น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบมาตรการกระตุ้นการลงทุนปี 64 เพื่อให้เกิดการลงทุนโดยเร็ว โดยเฉพาะโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งจะส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยมาตรการนี้กำหนดให้สิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เป็นระยะเวลา 5 ปี เพิ่มเติมจากเกณฑ์ปกติ

ทั้งนี้ผู้ที่จะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมครั้งนี้ มีข้อแม้ว่าต้องมีเงินลงทุนจริงอย่างน้อย 1,000 ล้านบาท ภายใน 12 เดือนหลังออกบัตรส่งเสริม และไม่อนุญาตให้ขยายเวลาในขั้นตอนการตอบรับให้การส่งเสริมและการออกบัตรส่งเสริม โดยผู้ประกอบการสามารถยื่นขอรับการส่งเสริมได้ตั้งแต่วันทำการแรกของปีพ.ศ.2564 ถึงวันทำการสุดท้ายของปีพ.ศ.2564

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ สั่งการทูตพาณิชย์ เร่งสร้างความเข้าใจให้กับผู้ซื้อ เน้นย้ำสินค้าอาหารทะเลไทยได้มาตรฐาน ปลอดโควิด-19 ป้องกันผลกระทบการส่งออก

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า ได้ประสานงานและกำชับให้ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) ที่ประจำอยู่ในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในประเทศที่เป็นตลาดเป้าหมายการส่งออกสินค้าอาหารทะเลของไทย ให้เร่งดำเนินการสร้างความเชื่อมั่น

และสร้างความเข้าใจให้กับผู้ซื้อ ผู้นำเข้า ในการสั่งซื้อสินค้าจากไทยว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ มาตรฐาน และมีมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตามนโยบายที่ได้รับจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์แล้ว โดยกรมฯได้หารือร่วมกับผู้ส่งออกและได้ประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้น เพื่อเร่งสร้างความเชื่อมั่น และสร้างความมั่นใจให้กับผู้ซื้อ ผู้นำเข้า

ก่อนหน้านี้ ในการส่งออกสินค้าประมง ได้มีการจัดทำ “หนังสือรับรองการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในกระบวนการผลิตอาหารส่งออก (COVID – 19 Prevention Best Practice)” ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้นำเข้าสินค้าอาหารจากไทย และเพื่อส่งเสริมการส่งออกสินค้าอาหารของไทยให้เพิ่มมากขึ้น

โดยข้อมูลล่าสุดจากกรมประมงรายงานว่า มีผู้ส่งออก โรงงาน ได้ประสานงานติดต่อกับประมง เพื่อขอเข้ากระบวนการออกหนังสือรับรองดังกล่าวแล้ว จำนวน 51 ราย นอกจากนี้ กรมยังได้ผลิตวีดีโอเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์กระบวนการผลิตสินค้าทะเลและปศุสัตว์ จำนวน 10 ภาษา เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้นำเข้าอีกทางหนึ่งด้วย

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจในสินค้าประมง โดยเฉพาะสินค้ากุ้ง ล่าสุดนายจุรินทร์ ยังได้มอบหมายให้นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ประสานสำนักงานพาณิชย์จังหวัดสมุทรสาครและสำนักงานพาณิชย์ในจังหวัดใกล้เคียง ในการทำหน้าที่ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ส่งผลกระทบต่อสินค้าประมงอย่างใกล้ชิด เพื่อนำข้อมูลมาประเมินสถานการณ์และหาวิธีการรับมือต่อปัญหาที่จะตามมาในอนาคตด้วย

ทั้งนี้ ในช่วง 10 เดือนของปีพ.ศ.2563 (ม.ค.- ต.ค.) ไทยมีการส่งออกอาหารทะเลสดแช่เย็นแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป (รวมทูน่ากระป๋องและแปรรูป แต่ไม่รวมกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป) มีมูลค่า 115,912.74 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.09% โดยเฉพาะทูน่ากระป๋องและแปรรูป ส่งออกมูลค่า 63,391.47 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.19% ส่วนกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป (ไม่รวมกุ้งกระป๋อง) ส่งออกมูลค่า 27,347.09 ล้านบาท ลดลง 11.37%

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ออกมาเปิดเผยถึงการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ ยันมีรูรั่ว ไม่ปฏิบัติตามมาตราการ ทุกคนมีส่วนร่วม ขู่ ‘ล็อคดาวน์’ วอนคนไทยช่วยกันหวังสถานการณ์คลี่คลายใน 7 วัน ย้ำหากพบแรงงานผิดกฎหมายสั่งปิดทันที

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้เผยถึงการแก้ไขสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่นี้ ว่า ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ ตนไม่เคยหยุดคิด ไม่เคยหยุดติดตามสถานการณ์ อีกทั้งยังยืนยันทางรัฐยังคงปฏิตามมาตรการอย่างครบถ้วน เพียงแต่ต้องหาข้อมูลให้มากขึ้นจากภาคเอกชน ที่รับแรงงานต่างด้าวที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

“เดิมผมคิดว่าแรงงานต่างด้าวในประเทศค่อนข้างจะปลอดภัย ที่ผ่านมาการแพร่ระบาดควบคุมได้ แสดงว่ามีรูรั่วตรงนี้ รั่วจากใคร จากที่ไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบและมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข ‘ฉะนั้นเราโทษใครไม่ได้ พวกเราทุกคนมีส่วนร่วมทั้งสิ้น’ รัฐบาลมีมาตรการ สาธารณสุขก็มีตรวจติดตาม แต่แน่นอนต้องมีการเล็ดลอด ซึ่งตรงนี้จะทำอย่างไร ดังนั้นสังคมต้องช่วยกัน ถ้ายังทำอย่างนี้กันอยู่มาตรการจะต้องนำไปสู่ล็อกดาวน์แน่นอนต่อไปในอนาคตถ้ามีปัญหา แต่เรายังเดินไม่ถึงจุดนั้น”

“เมื่อช่วงเช้าตนได้ฟังรายงานสรุปจากสาธารณสุข ชี้แจงว่ายังสามารถควบคุมได้อยู่ มีการเตรียมมาตรการไว้ในเรื่องการดูแลรักษา ใครที่สงสัยหรือเข้าไปในพื้นที่ต้องไปพบแพทย์หรือสาธารณสุขจังหวัดเพื่อตรวจหาเชื้อ จะได้ปลอดภัยและไม่เป็นพาหะนำเชื้อไปติดคนอื่น วันนี้ในพื้นที่ก็ได้ล็อกดาวน์ไปแล้ว

นายกฯ กล่าวต่อว่า “ตนขอดูสถานการณ์ในวันนี้ (21ธ.ค.) และจะดูอีก 7 วันข้างหน้าว่าจะมีอะไรขึ้น จากนั้นจะตามมาสู่ช่วงปีใหม่ว่าจะทำอย่างไรกันดี วันนี้ยังไม่ได้พูดไปตรงนั้น ก็อย่าเพิ่งตื่นตระหนกแล้วกัน หวังอย่างยิ่งว่าภายใน 7 วันทุกอย่างจะคลี่คลายลง วันนี้ตรวจสอบยังไงมันต้องพบมากขึ้น เพราะตรวจสอบในพื้นที่คนงานต่างๆ เหล่านี้ นี่คือปัญหาของเรา มีการเล็ดลอด

"คนเหล่านี้ลักลอบหนีกลับไป แล้วกลับเข้ามาใหม่ คนไทยต้องช่วยกันดูแล เจ้าหน้าที่ก็มีจำนวนเท่าที่มี เพิ่มเติมไปก็ได้เท่านี้ คนที่จะรู้จริงๆ คือคนในพื้นที่ เจ้าของโรงงาน วันนี้ผมได้กำหนดมาตรการไปแล้ว จะต้องมีมาตรการติดตามตัวแรงงานทุกคน ถ้าเจอแรงงานผิดกฎหมายจะต้องปิดโรงงานคนทำผิดกฎหมายก็ขยันทำกันจริง” ลุงตู่กล่าว

ลุงตู่ยังกล่าวอีกว่า “ได้ให้ตรวจสอบและมีการรายงานจากหน่วยที่เกี่ยวข้อง จับกุมได้แต่มันก็มีเล็ดลอด กลางคืนมีการลาดตะเวน แต่ระยะทางชายแดน 2,500 กว่ากิโลเมตรเจ้าหน้าที่ทำเต็มที่แล้ว ช่องทางที่เคยออกมาก็ไปเปิดช่องทางใหม่ เพราะมันไม่มีรั้ว เป็นพื้นที่ป่าเขา คนที่จะรู้คือชุมชน ท้องถิ่น ต้องมาบอกเจ้าหน้าที่บ้าง ไม่ใช่ต่างคนต่างอยู่แล้วให้เจ้าหน้าที่ทำงานอย่างเดียว ถ้าไปบอกเจ้าหน้าที่ว่ามีตรงไหนลักลอบ เขาก็จะไปทันที ทำไมไม่ช่วยกันแบบนี้ มาโยนกันไปกันมา ตนไม่ได้ปฏิเสธความรับผิดชอบ ต้องรับผิดชอบด้วยกันสิ มันจะได้ทำสำเร็จทุกเรื่อง”

นอกจากนี้นายกฯ ยังได้สั่งการกระทรวงสาธารณสุขแจ้งไปในทุกจังหวัด ให้ทำการสุ่มตรวจในทุกพื้นที่ที่มีแรงงานต่างชาติ

ทั้งนี้เมื่อถามถึง ปีใหม่ที่จะถึงนี้ยังไม่ยกเลิกกิจกรรมเคาท์ดาวน์ใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “ยัง ขอดูก่อน จะวันไหนก็วันนั้น

ขณะเดียวกันผู้สื่อข่าวได้ถามว่า เสาร์-อาทิตย์ ที่ผ่านมานอนไม่หลับเลยใช่หรือไม่ เพราะจากตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงขึ้นลุงตู่จึงได้กล่าวว่า “มันจะหลับไหมล่ะ ดูตาตนสิ คิดไปด้วย โทรศัพท์อ่านไลน์ อ่านจนตาจะแตกอยู่แล้ว ก็สั่งการมาตลอดทุกวัน ไม่ใช่เพิ่งสั่งวันนี้ สั่งตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ก็ยังไม่หยุด เพราะให้ความสำคัญเป็นอันดับหนึ่งอยู่แล้ว”

‘จับกัง1’ - สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ออกประกาศ ขอความร่วมมือห้ามแรงงานต่างชาติเข้า-ออก พื้นที่เสี่ยงโควิดพร้อมมอบหมายผู้ว่าฯ สั่งการสำนักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศ

Check List สถานประกอบการให้ปฏิบัติตามมาตราการ เพื่อให้แรงงานต่างชาติทำงานโดยปลอดเชื้อ

สุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้เรียกผู้บริหารระดับสูงสังกัดกระทรวงแรงงาน ประชุมเร่งด่วนกรณีการแพร่ระบาดของโควิด - 19 ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา ทั้งได้ออกประกาศกระทรวงแรงงาน เพื่อขอความร่วมมือนายจ้าง/สถานประกอบการทุกแห่งดำเนินการได้แก่

- ห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวในทุกกรณี ทั้งเข้าไปหรือออกจากพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) หากฝ่าฝืนจะมีความผิดและได้รับโทษตามมาตรา 51 แห่งพรบ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และมาตรา 18 แห่งพรก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2558

- จัดให้มีมาตรการเฝ้าระวังและตรวจสอบคัดกรองโรค ได้แก่ วัดอุณหภูมิและสังเกตลักษณะอาการบ่งชี้ หากพบอาการผิดปกติต้องหยุดงานและแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อดำเนินการตามาตรการควบคุมโรคทันที จัดให้มีเจลแอลกอฮอล์เพื่อใช้ในการล้างมือ หรือจัดสถานที่สำหรับล้างมือภายในสถานที่ทำงาน ณ บริเวณทางเข้า - ออก และห้องสุขา ควบคุมให้แรงงานต่างด้าวสวมหน้ากากอนามัยและถุงมือขณะปฏิบัติงานรวมทั้งเว้นระยะห่างในการปฏิบัติงาน 1 – 2 เมตร ตลอดจนทำความสะอาดสิ่งของและอุปกรณ์ที่ใช้งานเป็นประจำ และประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้แก่แรงงานต่างด้าวให้ทราบวิธีการป้องกันโรคโควิด-19 เบื้องต้นด้วยตนเอง รวมทั้งการระงับการให้บริการศูนย์จัดเก็บข้อมูลแรงงานเมียนมาชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2563 จนถึงวันที่ 3 มกราคม 2564

นอกจากนี้ยังได้สั่งให้มีการดำเนินการตามมาตราการ 7 ข้อ ในส่วนของสำนักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศ และสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1- 10 ดังนี้

1.) สำรวจตรวจสอบ (Check List) แรงงานต่างด้าวในสถานประกอบการให้สามารถทำงานได้โดยไม่ให้มีการติดเชื้อโควิด-19 ตามมาตรการที่กรมควบคุมโรคกำหนด

2.) ตรวจสอบคัดกรองวัดอุณหภูมิร่างกายของประชาชนที่มารับบริการ หากพบมีอุณหภูมิร่างกายผิดปกติหรือพบลักษณะอาการผิดปกติอื่นๆ ให้ผู้รับบริการนั้น ๆ รีบติดต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง

3.) จัดหาแอลกอฮอล์สำหรับล้างมือ หรือจัดสถานที่สำหรับล้างมือภายในสถานที่ทำงาน อาทิ บริเวณประตูเข้า-ออก โต๊ะทำงาน หรือห้องสุขา

4.) เพิ่มความตระหนักให้กับบุคลากร เจ้าหน้าที่ และพนักงานทำความสะอาด โดยให้ความสำคัญกับการป้องกันตนเอง การสวมหน้ากากอนามัยและถุงมือขณะปฏิบัติงาน การทำความสะอาดสิ่งของที่ใช้งานบ่อย อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการทำงาน รวมถึงดูแลให้ผู้ใช้บริการทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ใช้บริการ

5.) ประชาสัมพันธ์วิธีป้องกันโรคโควิด-19 เบื้องต้นด้วยตนเองให้ประชาชนตลอดจนแรงงานต่างด้าวได้รับทราบ โดยกรมการจัดหางานได้จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์แนวทางดังกล่าว เป็น 4 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาลาว ภาษาเมียนมา ภาษากัมพูชา

6.) หากเจ้าหน้าที่พบว่าตนเองมีอาการป่วย ให้หยุดพักรักษาตัวที่บ้าน

7.) ติดตามและตรวจสอบสถานการณ์ปัจจุบันที่เว็บไซต์กรมควบคุมโรค

ปตท.สผ. ประสบความสำเร็จในการขยายการลงทุนในตะวันออกกลางอีกครั้ง โดยชนะการประมูลร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจในแปลงสำรวจออฟชอร์ 3

นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า ปตท.สผ. โดยบริษัท พีทีทีอีพี มีนา จำกัด (PTTEP MENA Limited) ซึ่งร่วมทุนกับบริษัท อีเอ็นไอ อาบูดาบี (Eni Abu Dhabi)

บริษัทในเครือของอีเอ็นไอ (Eni) ผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ของประเทศอิตาลี ได้ชนะประมูลในแปลงออฟชอร์ 3 (Block Offshore 3) จากบริษัท อาบูดาบี เนชั่นแนล ออยล์ หรือ แอดนอค (Abu Dhabi National Oil Company หรือ ADNOC) บริษัทน้ำมันแห่งชาติของ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) โดยมีอายุสัมปทานตั้งแต่ระยะการสำรวจ พัฒนา และผลิต รวม 35 ปี

สำหรับแปลงออฟชอร์ 3 ตั้งอยู่นอกชายฝั่งยูเออี และอยู่ติดกับแปลงออฟชอร์ 1 และออฟชอร์ 2 ซึ่ง ปตท.สผ. และอีเอ็นไอ ได้ชนะการประมูลร่วมกันเมื่อปี 2562 โดยเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพปิโตรเลียมสูงอันดับต้น ๆ ของโลก รวมทั้ง เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์การลงทุนที่สำคัญของบริษัทด้วย อีกทั้ง 3 แปลงยังตั้งอยู่ในบริเวณที่โครงสร้างพื้นฐานมีความพร้อมสำหรับการพัฒนาธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ รวมถึง ยังมีตลาดที่พร้อมรองรับการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“การชนะการประมูลร่วมกันอีกครั้งในแปลงออฟชอร์ 3 จะเป็นการกระชับความร่วมมือกันระหว่าง ปตท.สผ. อีเอ็นไอ และแอดนอค ซึ่งเป็นพันธมิตรทางธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญระดับโลกให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น ซึ่งกลุ่มพันธมิตรจะร่วมกันนำความรู้ ประสบการณ์ ความสามารถ เข้ามาพัฒนาแปลงสำรวจทั้ง 3 ให้ประสบความสำเร็จ

เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจปิโตรเลียมในยูเออี ในขณะเดียวกัน ยังเป็นการสร้างการเติบโตและขยายฐานการลงทุนของบริษัทในภูมิภาคตะวันออกกลางตามกลยุทธ์ Execute & Expand ที่จะสามารถเพิ่มปริมาณสำรองและกำลังการผลิตปิโตรเลียมให้กับบริษัทได้ในอนาคต” นายพงศธร กล่าว

ด้าน ดร.สุลต่าน อาห์เหม็ด อัล จาเบอร์ รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีของยูเออี และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แอดนอค กรุ๊ป กล่าวว่า การให้สัมปทานกับอีเอ็นไอและ ปตท.สผ. ในครั้งนี้ ได้ตอกย้ำการเป็นพันธมิตรที่ดีที่พร้อมเติบโตไปด้วยกัน

รวมถึง สะท้อนถึงความร่วมมือที่แน่นแฟ้นมากขึ้นกับประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในตลาดที่สำคัญของยูเออี ซึ่งยูเออียินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะเปิดโอกาสให้พันธมิตรทางธุรกิจเข้ามาลงทุน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียม และสร้างผลตอบแทนในระยะยาว

นายเคลาดิโอ เดสคัลซี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อีเอ็นไอ กล่าวว่า การชนะการประมูลครั้งนี้เป็นความสำเร็จร่วมกันอีกครั้งของกลุ่มผู้ร่วมทุนที่ชนะการประมูลในแปลงสำรวจออฟชอร์ 1 และออฟชอร์ 2 เมื่อปีที่ผ่านมา โดยกลุ่มผู้ร่วมทุนจะนำความเชี่ยวชาญมาใช้ในการสำรวจเพื่อเพิ่มทรัพยากรปิโตรเลียม รวมทั้ง ผสานประโยชน์ในการสำรวจปิโตรเลียมร่วมกันในแปลงสำรวจทั้งหมดที่ได้รับมา

ทั้งนี้ แปลงออฟชอร์ 3 มีขนาดพื้นที่ 11,660 ตารางกิโลเมตร เป็นแปลงสำรวจนอกชายฝั่งที่มีขนาดใหญ่ที่สุดจากที่มีการเปิดประมูลทั้งหมดในยูเออี ซึ่งได้มีการวัดคลื่นไหวสะเทือนแบบ 3 มิติ (3D seismic survey) ในพื้นที่บางส่วนแล้ว พบว่าพื้นที่ดังกล่าวมีศักยภาพเป็นก๊าซธรรมชาติ โดยพีทีทีอีพี มีนา และอีเอ็นไอ ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการ ถือสัดส่วนการลงทุนร้อยละ 30 และ 70 ตามลำดับ

สำหรับสัมปทานแปลงสำรวจออฟชอร์ 1 และออฟชอร์ 2 ปัจจุบัน อยู่ในระหว่างการศึกษาทางธรณีวิทยา ประเมินศักยภาพปิโตรเลียม และเตรียมการเจาะหลุมสำรวจในปี 2564

ทยอยกระหน่ำอย่างต่อเนื่อง กรณีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ล่าสุด 'ทองแดง เบ็ญจะปัก' ส.ส.สมุทรสาคร พรรคก้าวไกล แนะใช้ ‘สิงคโปร์ โมเดล’ แก้ปัญหา พร้อมจี้รัฐหามาตรการเยียวยาผลกระทบล็อคดาวน์

นายทองแดง เบ็ญจะปัก ส.ส.จังหวัดสมุทรสาคร เขต 1 พรรคก้าวไกล สะท้อนปัญหาการจัดการการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร พร้อมเสนอแนวการแก้ไขและการเยียวยาพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการล็อคดาวน์จังหวัดสมุทรสาคร

นายทองแดง กล่าวว่า ขณะนี้พบผู้ติดเชื้อในจังหวัดสมุทรสาครแล้วหลายร้อยคนและมีทีท่าว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในอัตราเร่ง จึงสร้างความกังวลให้กับประชาชนอย่างสูงเพราะเพิ่งฟื้นตัวจากผลกระทบที่ผ่านมาระลอกแรก หากเศรษฐกิจฟุบอีกการสร้างความเชื่อมั่นให้กลับมาคงไม่สามารถมทำได้ง่าย เว้นแต่ครั้งนี้จะมีแนวทางบริหารจัดการที่ดีขึ้นกว่าเดิมและเป็นการจัดการปัญหาอย่างเข้าใจ

ทั้งนี้ ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่พบว่าเป็นแรงงานต่างชาติที่ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในหอพักค่อนข้างคับแคบและแออัด การแพร่ระบาดจึงสามารถเกิดขึ้นได้ง่ายและขยายได้เป็นวงกว้างโจทย์ การยับยั้งการระบาดในกลุ่มแรงงานต่างชาติ จึงต้องเป็นการบริหารจัดการคนหมู่มากในพื้นที่ปิด โดยเราสามารถถอดบทเรียนจากประเทศสิงคโปร์ที่เคยประสบปัญหาเดียวกันและประสบความสำเร็จในการควบคุมได้ค่อนข้างดี

"ในระยะเร่งด่วน รัฐต้องสร้างแรงจูงใจในการให้แรงงานต่างชาติไม่ว่าจะเข้ามาโดยถูกหรือผิดกฎหมายเข้าสู่ระบบการตรวจและรักษาเพื่อลดโอกาสการแพร่กระจายของเชื้อโรค นอกจากนี้ต้องมีการมาตรการในการตรวจโรคที่ดี เพราะขณะนี้ระหว่างรอตรวจพบว่ายังมีการกระจุกตัวจนอาจกลายเป็นจุดแพร่กระจายเชื้อต่อไปอีก มาตรการทางสาธารสุขในการรอตรวจจึงต้องเคร่งครัด มีระยะห่าง

และไม่ควรปล่อยให้พี่น้องแรงงานต่างชาติหรือประชาชนในพื้นที่ ออกไปตรวจรักษากันเองแบบเฮโลกันไปเพราะความตระหนก แต่รัฐควรมีระบบที่ทำให้เกิดการจำกัดวงเพื่อให้สามารถควบคุมโรคได้ ไม่ใช่กลายเป็นว่าไปรับเชื้อหรือไปแพร่เชื้อ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค"

สิ่งที่รัฐจำเป็นต้องทำอย่างเร่งด่วน คือสร้างการรับรู้ของประชาชนทั้งในระดับจังหวัดและระดับประเทศ ไม่สร้างแพะรับบาป เพราะไม่มีใครอยากที่จะป่วยเป็นโรค ต้องไม่สร้างความเกลียดชังระหว่างเชื้อชาติ รวมทั้งต้องสร้างความเชื่อมั่นว่าจะมีระบบการดูแลประชาชน

หากมีการล็อคดาวน์เข้มงวดขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ให้ประชาชนโดยเฉพาะในพื้นที่สมุทรสาครแห่กักตุนสินค้าอุปโภคบริโภคหน้ากาก เจลล้างมือจนกลายเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์เข้าไปอีกเหมือนที่เคยเกิดมาแล้ว

นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องเน้นย้ำเวลานี้คือ ต้องทำความเข้าใจตรงกันด้วยสติว่าเราจะร่วมกันฟันฝ่าสถานการณ์ความยากลำบากครั้งนี้ไปด้วยกันอีกครั้ง โดยทางจังหวัดต้องเตรียมสายด่วน Hotline หรือบริการแชทตอบคำถาม เพื่อสื่อสารให้ประชาชนรับรู้ช่องทางเหล่านี้ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างชาติ

ควรมีระบบการวินิจฉัยโรคทางไกลผ่านแอพพลิเคชั่น เพื่อประเมินคัดกรองตัวเองเบื้องต้น ลดการเสี่ยงเข้ามากระจุกตัวกันภายนอกที่พักอาศัย นอกจากนี้ ต้องรู้ข้อปฏิบัติเมื่อติดเชื้อ เช่นวิธีการสำรวจอาการตนเองหรือวิธีการกักตนเองที่บ้านเมื่อติดเชื้อแต่ไม่มีอาการรุนแรง

รวมทั้งเตรียมความพร้อมในการรักษาพยาบาล โดยกระทรวงสาธารณสุขและรัฐบาลจะต้องไม่ปล่อยให้บุคลากรทางการแพทย์ต้องโดดเดี่ยวหรือต้องออกไปขอรับบริจาคเองจากประชาชนดังที่เริ่มมีข่าวลือกันแล้วในพื้นที่

พร้อมเสนอว่า การจัดการแรงงานต่างชาติ ต้องเริ่มจากการยอมรับว่าพวกเขาคือกลไกสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ ต้องมีการบริหารจัดการให้เข้ามาอยู่ในระบบมีคุณภาพชีวิตและสวัสดิการที่ไม่แตกต่างจากแรงงานในประเทศ

โดยยึดถือหลักสิทธิมนุษยชน ต้องมีการพูดคุยและหารือกันอย่างจริงจังจากหลายภาคส่วนทั้งมาตรการระยะสั้น กลางและยาว เพื่อสามารถจัดการปัญหานี้ให้ได้อย่างยั่งยืนต่อไปแม้ว่าจะไม่มีสถานการณ์โควิดแล้วก็ตาม


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top