Sunday, 2 June 2024
SDGS

‘มอริส ลาครัวซ์’ เปิดตัว ‘นาฬิการักษ์โลก’ ผลิตจากขวดพลาสติก ลวดลายไม่ซ้ำ-ฟังก์ชันครบครัน มั่นใจ!! ยอดขายหมดใน 1 เดือน

(14 ม.ค.67) นายรวิศ เหตานุรักษ์ Manager Area Sales Indochina of Maurice Lacroix เปิดเผยว่า มอริส ลาครัวซ์ เปิดตัวนาฬิกา AIKON #tide Camo (ไอคอน ไทด์ คาโม) ปี 2567 ซึ่งเป็นคอลเลกชันใหม่ล่าสุดเพื่อจัดจำหน่ายทั่วโลก โดยผลิตออกมาเพียงรุ่นละ 1,000 เรือน จำนวน 4 สี ได้แก่ สีฟ้า storm blue, สีเขียว green park, สีน้ำตาลอ่อน frappucino beige และ ชมพู arctic pink ในประเทศไทยนำเข้ามาจัดจำหน่ายเพียงรุ่นล่ะ 30 เรือน ราคาเรือนละ 29,900 บาท

สำหรับนาฬิการุ่นดังกล่าวอยู่ภายใต้คอนเซ็ปต์ที่ต้องการให้โลกยั่งยืน มีคุณสมบัติเดียวกันกับนาฬิการุ่นอื่นๆ ในตระกูล AIKON โดยเฉพาะคุณภาพแบบสวิส มีความเที่ยงตรง สะดวกสบาย และให้ความคุณค่าแก่ผู้สวมใส่สูงสุด สะท้อนผ่านการเปิดตัวเป็นนาฬิการักษ์โลกมาแล้ว 2 ปี นับตั้งแต่ปี 2565-2566 เมื่อครั้งประกาศความร่วมมือกับ #tide ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการใช้ประโยชน์ของขยะพลาสติกในทะเล ทั้งได้เข้าร่วมกับ #tide ในโครงการระยะยาวเพื่อเก็บขยะพลาสติกจากท้องทะเลรอบหมู่เกาะต่าง ๆ ในประเทศไทย รวมถึงในอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ทำให้ตลอด 5 ปีที่ผ่านมาจนถึงปี 2565 อัตราการเติบโตเฉพาะในประเทศไทยเพิ่มขึ้น 400% ถือว่าประสบความสำเร็จสูงสุด

สำหรับนาฬิกา AIKON #tide Camo ต้องใช้ขวดพลาสติกจำนวน 17 ขวดในการผลิตนาฬิกาไอคอน ไทด์ คาโม หนึ่งเรือนพร้อมบรรจุภัณฑ์ จะใช้เทคนิคทำพิเศษด้วยการอัดเม็ดวัสดุ #tide แยกแต่ละสีในการสร้างลวดลายบนสายนาฬิกา ฉะนั้นลายคาโมในแต่ละเรือนจึงไม่ซ้ำกัน ที่สำคัญสุดคือ สีสันและลวดลายไม่ลบเลือนหายไป แม้ผ่านการใช้งานไปตามกาลเวลา บนตัวเรือนมีขนาด 40 มม. หน้าปัดของทุกเรือนมีรายละเอียดบนพื้นผิวเป็นเอกลักษณ์ ที่เรียกกันว่า ‘vagues du Jura’ (วากส์ ดู ฌูรา) เพื่อระลึกถึงที่มาจาก Franches Montagne ส่วนเข็มชั่วโมงและนาทีพร้อมหลักชั่วโมง เคลือบสารเรืองแสง Super-LumiNova ช่วยอ่านค่าในที่แสงน้อยได้ พร้อมแสดงช่องวันที่ในตำแหน่ง 3 นาฬิกา ถือเป็นฟังก์ชันการใช้งานอย่างครบครัน

“กระแสการตอบรับของนาฬิการุ่นนี้ค่อนข้างเป็นไปในทิศทางที่ดี คาดว่าทั้ง 30 เรือนในแต่ละรุ่นในประเทศไทยน่าจะขายหมดโดยใช้เวลาประมาณ 1 เดือน และปีนี้จะได้เห็น มอริส ลาครัวซ์ ผลิตนาฬิกาโดยใช้วัสดุพิเศษมากขึ้น โดย AIKON ยังเป็นตัวหลักที่จะทำการตลาดให้เติบโตต่อไปได้อีก” นายรวิศ กล่าว

นายรวิศ กล่าวเพิ่มเติมว่า นาฬิกาไอคอน ไทด์ คาโม มาพร้อมกับสายนาฬิกายางประทับตัว M มีลวดลายไม่ซ้ำกันในแต่ละสาย ทำให้นาฬิกาแต่ละเรือนมีความโดดเด่นในตัวเอง ยิ่งไปกว่านั้นยังมีระบบ Easy Strap Exchange ของมอริส ลาครัวซ์ ทำให้สามารถสลับสายนาฬิกาได้ง่ายโดยไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์

นายสเตฟาน วาเซอร์ (Stéphane Waser) กรรมการผู้จัดการบริษัทมอริส ลาครัวซ์ กล่าวว่า AIKON #tide Camo เป็นนาฬิกาธีมคาโมที่มีสไตล์อย่างมาก เมื่อได้รวมเอาเทคโนโลยีการผลิต #tide ที่แปลกใหม่เข้าไว้ด้วยกันทั้งหมด และลวดลายผ้าในแบบลายพรางหรือคาโมมักจะนำมาใช้บนแคทวอล์คทั่วโลกเป็นประจำ เป็นสิ่งที่พบเห็นได้บ่อยในเมืองใหญ่หลายเมือง เมื่อได้เห็นลายคาโมแพร่กระจายไปทั่วรู้สึกได้ว่านาฬิกาไอคอน ไทด์ คาโม จะสามารถเสริมลุคผู้สวมใส่ได้อย่างโดดเด่น ยิ่งไปกว่านั้นในการเปิดตัวนาฬิการุ่นนี้ ยังสามารถแสดงถึงวิถีแห่งความยั่งยืนในการผลิตนาฬิกา และความเชี่ยวชาญในการผลิตนาฬิกาแบบสวิสของมอริส ลาครัวซ์

‘บางจาก’ จับมือ ‘บีทีเอส’ เปิดตัว 'PINTO' เสิร์ฟตลาดเช่าซื้อสองล้อพลังงานสะอาด

(12 ม.ค. 67) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในงานเปิดตัวรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า Pinto (ปิ่นโต) โดยบริษัท สมาร์ท อีวี ไบค์ จำกัด (Smart EV Bike) บริษัทร่วมทุนของบริษัท วินโนหนี้ จำกัด (Winnonie) บริษัทสตาร์ทอัพในกลุ่มบริษัทบางจาก และบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ให้บริการเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า สำหรับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง (วินมอเตอร์ไซค์) ในบริเวณใกล้เคียงสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส

เพื่อสร้างบริการขนส่งสาธารณะระบบรอง หรือ Feeder ที่สะดวก ปลอดภัยสำหรับผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับผู้ประกอบอาชีพขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างสาธารณะ

โดยมีนายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และนายกวิน กาญจนพาสน์ และนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา ผู้บริหาร บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ร่วมงาน ณ ลานจอดแล้วจร สถานีบีทีเอสหมอชิต อีกทั้งยังมีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มาเยี่ยมชมการสาธิตการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ในภายหลัง

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า วินโนหนี้เป็นสตาร์ทอัพภายในองค์กรของบางจากเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2563

ด้วยการนำนวัตกรรมพลังงานสีเขียวรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า มายกระดับคุณภาพชีวิตของจักรยานยนต์รับจ้างสาธารณะ ให้เช่ารถจักรยานยนต์ไฟฟ้า พร้อมบริการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่าย ตอบโจทย์การเข้าสู่ธุรกิจรถไฟฟ้าของกลุ่มบริษัทบางจาก และเป็นการสร้าง Net Zero Ecosystem หรือระบบนิเวศเพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของบริษัทในปี 2593

วินโนหนี้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากวันเริ่มต้นดำเนินงานจนถึงปัจจุบัน โดยมีผู้ใช้งานกว่า 1,000 ราย ผ่านเครือข่ายสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่อัตโนมัติจำนวน 120 สถานี ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งถือเป็น Win-Win Solution ใน 3 ด้าน คือ

ช่วยให้ชีวิตผู้ขับขี่วินมอเตอร์ไซค์ดีขึ้น ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย จากการเช่าใช้จักรยานยนต์ ประมาณเดือนละ 4,000 บาท หรือ 48,000 บาทต่อคนต่อปี รวม 48 ล้านบาทต่อปี

โลกดีขึ้น จากการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด วินโนหนี้วิ่งใช้งานแล้วมากกว่า 42 ล้านกิโลเมตร ลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ไปประมาณ 2 ล้านกิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า อีกทั้งยังช่วยลดมลภาวะทางอากาศ ลดการเกิดฝุ่น PM2.5 และมลภาวะทางเสียง

ประเทศดีขึ้น จากการที่วินโนหนี้ พัฒนาโดยคนไทยในประเทศไทย ทำให้เกิดการคิดค้นนวัตกรรม การพัฒนาคนและการสร้างงานในประเทศ

นายชัยวัฒน์กล่าวว่า “ในวันนี้ นับเป็นอีกความก้าวหน้าทางธุรกิจที่สำคัญของวินโนหนี้ ในการร่วมเริ่มต้นธุรกิจให้บริการเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า Pinto กับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างตามแนวรถไฟฟ้าบีทีเอส พร้อมบริการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ผ่านเครือข่ายสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่อัตโนมัติของวินโนหนี้ที่ครอบคลุมทั่วทั้งกรุงเทพฯและปริมณฑล โดยเฉพาะสถานีที่จะตั้งเพิ่มเติมตามแนวรถไฟฟ้าบีทีเอสเพื่อให้เกิดความสะดวกและเพียงพอต่อการใช้งานมากขึ้น

เพื่อให้ผู้โดยสารบีทีเอสมีประสบการณ์การเดินทางแบบ First Mile to Last Mile ด้วยพลังงานสะอาด คือสามารถเดินทางออกจากบ้านจนถึงกลับเข้าบ้านด้วยการบริการขนส่งสาธารณะที่ใช้ไฟฟ้าตลอดเส้นทาง”

“การใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยมีโอกาสเติบโตอีกมาก หากได้รับการสนับสนุนและผลักดันจากหน่วยงานภาครัฐในประเด็นต่าง ๆ อาทิ การสนับสนุนค่าพลังงานไฟฟ้าในราคาพิเศษสำหรับสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ การจัดตั้งหน่วยงานกลางแบบ One Stop Service ในการขออนุมัติการติดตั้งมิเตอร์ หรือ การพิจารณากฎหมาย เช่น กฎหมายขนส่ง การจดทะเบียนป้ายเหลือง การจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า กฎหมายเกี่ยวกับวินเพื่อรองรับการขยายธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับรถไฟฟ้า”

“รวมถึงการสนับสนุนการขึ้นทะเบียนและการทำ Carbon Credit Certificate และมาตรการสนับสนุนอื่นๆ อาทิ การทำประกันภัยสำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า การให้ใช้พื้นที่หน่วยงานภาครัฐหรือกรุงเทพมหานคร เพื่อทำจุดติดตั้งสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ โดยไม่คิดค่าเช่าพื้นที่หรือในอัตราพิเศษ เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และทุนวิจัยและพัฒนา”

สำหรับ วินโนหนี้ ที่มุ่งมั่นเป็นผู้นำการให้บริการแพลตฟอร์มการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ Battery as a Service (BaaS) สำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ได้ตั้งเป้าหมายเพิ่มจำนวนผู้ใช้งานจากกว่า 1,000 รายและสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ 120 แห่ง ณ สิ้นปี 2566 เป็นผู้ใช้งาน 60,000 ราย และสถานี 3,000 แห่งในปี 2573

เดินหน้าส่งเสริมการสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ สนับสนุนการยกระดับคุณภาพชีวิตและสังคม รวมถึงรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มของประเทศและของโลก ผ่านประสบการณ์การขับขี่ที่ดีต่อเราและต่อโลก

‘TCMA’ ชู!! ต้นแบบนิเวศนวัตกรรม บรรลุ Net Zero 2050  พร้อมดัน ‘สระบุรี’ ต้นแบบเมืองคาร์บอนต่ำแห่งแรกในไทย

เมื่อวานนี้ (10 ม.ค.67) ดร.ชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) เปิดเผยว่า TCMA ได้ดำเนินการร่วมกับกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)

ทั้งนี้ เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าดำเนินงานของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ที่ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ มุ่งสู่การลดการปล่อยคาร์บอนอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ 2050 Net Zero Cement and Concrete Roadmap การนำโรดแมปสู่การปฏิบัติการเปลี่ยนผ่าน

อีกทั้งยังได้แลกเปลี่ยนการดำเนินงานภายใต้แนวคิด Climate Partnership Determination นอกจากนี้ TCMA ได้ร่วมกับ Global Cement and Concrete Association (GCCA) องค์กรด้านซีเมนต์และคอนกรีตระดับโลก นำเสนอความก้าวหน้าดำเนินงาน Decarbonization Action และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำงานร่วมกับประเทศสมาชิกในระดับโลก

ดร.ชนะ กล่าวอีกว่า TCMA นำ 2050 Net Zero Cement and Concrete Roadmap มาสู่การปฏิบัติการเปลี่ยนผ่าน เพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero 2050 มีการจัดทำแผนการดำเนินงานที่ลงรายละเอียด และพัฒนานิเวศนวัตกรรมดำเนินงานบูรณาการความร่วมมือเชิงพื้นที่ในจังหวัดสระบุรี ภายใต้ Public-Private-People Partnership (PPP)-Saraburi Sandbox: A Low Carbon City สร้างสระบุรีเป็นต้นแบบเมืองคาร์บอนต่ำแห่งแรกในไทย 

PPP-Saraburi Sandbox เป็นการพัฒนารูปแบบความร่วมมือทำงานในเชิงพื้นที่ (Area Base) โดยใช้แนวทาง 3C คือ Communication - Collaboration - Conclusion step-by-step และ 3P คือ Public - Private - People Partnership นำโดยจังหวัดสระบุรี บูรณาการความร่วมมือและร่วมกันกำกับดูแล ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในทุกระดับ ทั้ง ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ทำงานเชื่อมโยงระหว่างอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ผ่านโครงการต้นแบบที่สอดคล้องกับ Thailand NDC แผนลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ครอบคลุมมิติด้านนโยบาย กฎหมาย กฎระเบียบ (Policy/ Law/ Regulation) 

อีกทั้ง ด้านแหล่งทุน (Climate Funding) ด้านเทคโนโลยี (Technology) และด้านการกำกับดูแล (Governance) การดำเนินงานด้วยวิธีนี้ จะทำให้โครงการที่ทำด้านลดก๊าซเรือนกระจกมีความชัดเจนและวัดผลได้

สำหรับโครงการภายใต้ PPP-Saraburi Sandbox จะประกอบด้วย 

- การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด (Accelerating Energy Transition) เช่น การจัดหาพื้นที่ผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบทุ่นลอยน้ำ (Solar Floating) และระบบผลิตไฟฟ้าจากไฮโดรเจน การพัฒนาสร้างระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Grid Modernization) และการส่งเสริมปลูกพืชพลังงาน เช่น หญ้าเนเปียร์

- การยกระดับเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว (Fostering Green Industry & Green Product) ด้วยการศึกษาเทคโนโลยีดักจับคาร์บอน และส่งเสริมการใช้ปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำ หรือปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก รวมถึงการพัฒนาปูนซีเมนต์ที่ผลิตจากนวัตกรรมใหม่ที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

- การจัดการวัสดุเหลือใช้ (Turning Waste to Value) ด้วยการนำวัสดุเหลือใช้มาเป็นวัตถุดิบทดแทน หรือใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy: CE)

- การทำเกษตรกรรมคาร์บอนต่ำ (Promoting Green Agriculture) ด้วยการปลูกพืชพลังงานตามโมเดล BCG เช่น การทำนาเปียกสลับแห้ง ลดการใช้น้ำ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

- การเพิ่มพื้นที่สีเขียว (Increasing Green Space) สนับสนุนการปลูกป่าชุมชนเพิ่ม 38 แห่งทั่วจังหวัด ช่วยดูดซับคาร์บอน ต่อยอดสู่การซื้อขายคาร์บอนเครดิต และสร้างรายได้ให้ชุมชน

"การนำเสนอดังกล่าวอยู่ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 28 (COP28) ที่เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์" 

ถอดรหัสธุรกิจรักษ์โลก สไตล์ 'รอยัล ภูเก็ต มารีน่า'  ย่างก้าวสู่ท่าจอดเรือปลอดคาร์บอนแห่งแรกในเอเชีย

(11 ม.ค.67) รอยัล ภูเก็ต มารีน่า (RPM) ได้ประกาศตัวในฐานะท่าจอดเรือปลอดคาร์บอนแห่งแรกของเอเชีย ความสำเร็จครั้งสำคัญที่ถูกสร้างขึ้นจากความมุ่งมั่นที่ผ่านมาในการเปลี่ยนแปลงมากมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน การได้รับการรับรองในครั้งนี้ RPM ไม่เพียงแต่ตอกย้ำตัวเองในฐานะผู้นำถึงการพัฒนาด้านความยั่งยืน กำหนดมาตรฐานในการเป็นผู้นำในการสร้างแนวทางปฏิบัติทางเรือที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมไปสู่ทั่วทั้งเอเชียอีกด้วย

RPM เป็นที่รู้จักกันดีในด้านนวัตกรรมเชิงนิเวศน์ที่มีการผสมผสานความหรูหรา ความยั่งยืน และความสง่างาม เข้าไว้ด้วยกันอย่างลงตัว มอบประสบการณ์การใช้ชีวิตที่แตกต่างในสภาพแวดล้อมอันเงียบสงบของจังหวัดภูเก็ต

>> RPM พัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

RPM เปรียบเสมือนประตูสู่อ่าวพังงาและทะเลอันดามัน ท่าเรือมาตรฐานระดับสากล ผู้บุกเบิกด้านการบริการท่าจอดเรือที่ได้รับรางวัลและการรับรองมาตรฐานสูงสุดของภูเก็ต สะอาด ปลอดภัย ทันสมัยท่ามกลางความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ มอบบริการครบวงจร ดั่งสวรรค์ของการใช้ชีวิตริมทะเล

นอกจากบริการที่จอดเรือแล้ว ยังมีที่พักอาศัยระดับ 5 ดาว ตั้งแต่อพาร์ตเมนต์ เพนต์เฮาส์ ไปจนถึงวิลล่าและอความิเนียม (ที่พักพร้อมท่าจอดเรือส่วนตัว) นอกเหนือจากเสน่ห์ในการอยู่อาศัยแล้ว RPM ยังเป็นศูนย์กลางธุรกิจ ด้วยทำเลทองที่ตั้งใจกลางเกาะภูเก็ต จึงเหมาะอย่างยิ่งกับการเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกสำหรับธุรกิจ พื้นที่เช่าสำหรับร้านอาหารหรือสำนักงาน และพื้นที่ในการจัดกิจกรรม อีเวนต์ต่าง ๆ มากมาย

เป็นเวลากว่า 20 ปีที่ RPM บุกเบิกและเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมท่าจอดเรือ ที่ให้ความสำคัญกับความเป็นเลิศในการให้บริการ สิ่งอำนวยความสะดวก สุขภาพ และความปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

โดยตั้งแต่ปี 2559 RPM หันมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์ โดยแผงโซลาร์เซลล์บนอาคารที่จอดเรือในร่ม สามารถจ่ายพลังงานได้มากกว่า 40% ต่อวัน รับการรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกแห่งประเทศไทย หรือ อบก. ในฐานะที่เป็นองค์กรที่มีส่วนช่วยสนับสนุนให้เกิดโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภายในประเทศเพื่อต่อสู้กับปัญหาภาวะโลกร้อน นอกจากนี้ RPM ยังทำงานร่วมกับพันธมิตร ในการลดการใช้ขวดพลาสติกในกิจกรรมการเดินเรือทุกประเภท ตั้งเป้าหากสำเร็จจะสามารถช่วยลดขวดพลาสติกไปได้ราว ๆ กว่า 4 ล้านขวดต่อปี

ในฐานะผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน RPM มีจุดประสงค์ในการสร้างแรงบันดาลใจที่กระตุ้นและเน้นย้ำให้ผู้คนหันมาให้ความสำคัญกับแนวทางปฏิบัติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ท่าจอดเรือควรมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาอย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการบรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ของประเทศไทยมีความสอดคล้องกับแนวทางกับหลักสากลด้วย ความมุ่งมั่นนี้สอดคล้องกับเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ของประเทศไทยในการบรรลุความเป็นกลางของคาร์บอนภายในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2608

RPM ตั้งใจอย่างยิ่งที่จะมีส่วนร่วมในการสร้างภาพลักษณ์ของอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีความรับผิดชอบมากขึ้น พร้อมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและยั่งยืนกับผู้อยู่อาศัยในปัจจุบันและขยายศักยภาพกับนักลงทุนและชุมชนโดยรอบที่กว้างขึ้น ความมุ่งมั่นดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับประเทศไทยในฐานะการเป็นผู้นำด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และสร้างมาตรฐานสำหรับความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมในภาคการท่องเที่ยวทั้งในประเทศไทยและทั่วทั้งเอเชีย

นายกูลู ลัลวานี ประธานบริษัท รอยัล ภูเก็ต มารีน่า (RPM) กล่าวว่านอกเหนือจากบทบาททั่วไปในฐานะท่าจอดเรือแล้ว RPM เป็นเหมือนจุดหมายปลายทางที่ผสมผสานความหรูหราและความยั่งยืนได้อย่างลงตัว ด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกที่มอบไลฟ์สไตล์ที่กลมกลืนกับความงามดั้งเดิมของภูเก็ต ในฐานะท่าจอดเรือปลอดคาร์บอนแห่งแรกและแห่งเดียวในเอเชีย และนี่คือการสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับการใช้ชีวิตที่หรูหราแต่ทว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

เดือนที่ผ่านมา เรายังเป็นองค์กรธุรกิจผสมผสาน (Mixed-use Development) ที่เป็นกลางทางคาร์บอนแห่งแรกและแห่งเดียวในภูเก็ต ก้าวสำคัญในครั้งนี้ส่งผลให้เรากำลังวางแผนที่จะพัฒนาโครงการใหม่ในปีนี้ รวมถึงโรงแรมระดับ 5 ดาว วิลล่าหรู และคอนโดมิเนียม เพื่อตอกย้ำเส้นทางสู่ความสำเร็จของเรา ไม่ว่าจะเป็นการค้นหาพื้นที่สำหรับจอดเรือ พื้นที่เชิงพาณิชย์ เปิดโอกาสให้ได้สัมผัสวิถีชีวิตของท่าเรือที่ผสมผสานความหรูหรา สะท้อนถึงคุณค่าและความมุ่งมั่นของ RPM ได้เป็นอย่างดี

‘ธ.กสิกรไทย’ จริงจัง!! เริ่มใช้ ‘รถแลกเปลี่ยนเงินตรา’ พลังงานไฟฟ้า พร้อมตั้งเป้าผลิตบัตรเครดิต-เดบิตด้วยวัสดุรีไซเคิล 20 ล้านใบใน 7 ปี

(11 ม.ค. 67) นายพิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกสิกรไทยตระหนักถึงความสำคัญเร่งด่วนในการแก้ปัญหาโลกร้อน จึงเดินหน้านโยบายและปรับการดำเนินงานต่าง ๆ ภายในองค์กร รวมถึงส่งเสริมให้คนไทยเข้าถึงไลฟ์สไตล์กรีนเพื่อมุ่งสู่ Net Zero Commitment ตามที่ธนาคารได้ประกาศไว้เมื่อปี 2564

โดยด้านการดำเนินงานเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกภายในองค์กรเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา ได้มีการเปลี่ยนรถยนต์ของธนาคารจากรถยนต์สันดาปเป็นรถยนต์ไฟฟ้าไปแล้วจำนวน 175 คัน และจะทยอยเปลี่ยนจนครบทั้งหมดภายในปี 2573 มีการทยอยติดตั้งแผงโซลาร์ในอาคารสำนักงานหลักและสาขา โดยตั้งเป้าติดตั้งให้ครบทุกสาขาที่มีศักยภาพในการติดตั้งจำนวน 278 แห่ง ภายใน 2 ปี การปรับเปลี่ยนไปใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปรับกระบวนการทำงานและการให้บริการของธนาคารไปสู่ดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น

และให้ความสำคัญกับการจัดการขยะในอาคารสำนักงานหลักเพื่อลดปริมาณขยะที่ไปสู่หลุมฝังกลบเป็นศูนย์ รวมทั้งส่งเสริมพนักงานและบุคลากรของธนาคารให้มีความรู้และเกิดพฤติกรรมที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ธนาคารยังมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมให้ลูกค้ามีส่วนร่วมในการรักษ์โลกได้ง่ายขึ้น ผ่านการใช้บริการของธนาคารที่ใส่ใจเรื่องความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ล่าสุด ธนาคารกสิกรไทยได้เปิดตัวนวัตกรรมบริการที่มีเป้าหมายช่วยลดก๊าซเรือนกระจก 2 โครงการ เป็นธนาคารแรกในไทย ได้แก่ การพัฒนารถยนต์พลังงานไฟฟ้าแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ หรือรถ EV Currency Exchange และการจัดทำและเปลี่ยนบัตรเครดิตและบัตรเดบิตเป็นบัตรที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิล ซึ่งทั้งสองโครงการได้พัฒนาสำเร็จเป็นที่เรียบร้อย และมีการนำไปให้บริการจริงแล้ว

สำหรับรถ EV Currency Exchange เป็นรถแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า 100% ขับเคลื่อนได้สูงสุด 120 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง และใช้แบตเตอรี่ที่ได้พลังงานจากแผงโซลาร์ที่ติดตั้งบริเวณหลังคารถสำหรับการให้บริการแลกเปลี่ยนเงินตราในรถได้ต่อเนื่องสูงสุด 10 ชั่วโมงโดยไม่ต้องเสียบปลั๊กไฟ ปัจจุบันนำร่องเพิ่มความสะดวกสบายในการให้บริการแลกเงินแก่นักท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยเริ่มที่ จ.ภูเก็ต เป็นจังหวัดแรก และมีแผนขยายจำนวนรถให้ครอบคลุมมากขึ้นในอนาคต

ด้านบัตรเครดิตและบัตรเดบิตธนาคารกสิกรไทย มีการเปลี่ยนมาใช้บัตรที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิล ซึ่งช่วยลดการผลิตเม็ดพลาสติกใหม่ สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ใบละ 42 กรัมคาร์บอนฯ หรือลดลง 62% จากการใช้วัสดุแบบเดิม โดยเริ่มมีการทยอยนำบัตรแบบใหม่นี้มาใช้ตั้งแต่เดือน พ.ย. 2566 ให้แก่ลูกค้าที่ออกบัตรใหม่ บัตรทดแทน และบัตรต่ออายุ ทั้งนี้คาดว่าจะสามารถเปลี่ยนบัตรกว่า 20 ล้านใบได้ครบทั้งหมดภายใน 7 ปี ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 770 ตันคาร์บอนฯ เทียบเท่าการปลูกต้นไม้ 51,333 ต้น

นายพิพิธกล่าวตอนท้ายว่า ในปี 2567 ธนาคารยังคงเดินหน้าผลักดันลูกค้าให้ร่วม GO GREEN Together อย่างต่อเนื่อง ด้วยการสนับสนุนเงินทุน องค์ความรู้ และการพัฒนา Innovation ใหม่ ๆ รวมถึงการจับมือกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้าง Green Ecosystem ให้เกิดขึ้นจริง และร่วมกันพาประเทศสู่ Net Zero อย่างยั่งยืนต่อไป

‘บางกอกแอร์เวย์ส’ เดินหน้าสู่ภารกิจ ‘สายการบินรักษ์โลก’ หวังลด ‘มลพิษ-ก๊าซเรือนกระจก’ ที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม

(10 ม.ค. 67) นับเป็นทั้งโอกาสสำคัญและความท้าทายของอุตสาหกรรมการบินในการเปลี่ยนผ่านสู่ ‘สายการบินรักษ์โลก’ 

โดย กัปตันพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการสายการบิน ‘บางกอกแอร์เวย์ส’ ฉายภาพว่า เส้นทางการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนของบริษัทฯ ดำเนินภายใต้แนวคิดการเชื่อมโยงความสุขสานต่อถึงชุมชนและสังคมไทยอย่างยั่งยืน ‘Connect Your Happiness’ ในมิติ ESG

เริ่มด้วย ‘E - Environmental Journey’ การปูเส้นทางการบินสีเขียว ถือเป็นภารกิจใหญ่ที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันผลักดัน เนื่องจาก ‘ECO Friendly’ ได้กลายเป็นโจทย์สำคัญในการแข่งขันทางธุรกิจของทุกวันนี้ โดยเน้นกระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก

“นับเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ของอุตสาหกรรมการบินรวมถึงธุรกิจท่าอากาศยานทั่วโลก ทุกภาคส่วนทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องต่างมีความจำเป็นที่จะต้องร่วมแรงร่วมใจกัน เพื่อรับมือกับปัญหาทางด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและวิกฤติสิ่งแวดล้อม ที่มีแนวโน้มทวีคูณความรุนแรงขึ้นจากหลายปัจจัย”

โดยตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ‘อุตสาหกรรมการบิน’ อาจถูกมองว่าเป็นผู้ก่อมลพิษรายใหญ่ เนื่องจากเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสัดส่วนอันดับ 3 ของภาคการขนส่ง หรือ 11% ของการปล่อยก๊าซทั้งหมด จึงเป็นที่มาของการกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์ของรัฐบาลทั่วโลก รวมถึงกรอบนโยบายของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือ ‘ไออาต้า’ (The International Air Transport Association: IATA) ที่วางแผนจะก้าวเข้าสู่เป้าหมาย ‘Net Zero Carbon Emission’ หรือคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2050

เช่นเดียวกับบางกอกแอร์เวย์สที่ให้ความตระหนักต่อการจัดการกับปัญหาทางสิ่งแวดล้อมผ่านหลายโครงการที่เป็นรูปธรรม อาทิ ‘ด้านการบริหารจัดการความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ’ (Climate Crisis Management) ประกอบด้วย โครงการการวางแผนใช้น้ำมันอากาศยานอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระดับนานาชาติ ซึ่งปัจจุบันได้มีการวางระบบปฏิบัติการสำหรับนักบินประจำสายการบินฯ เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำมันอย่างคุ้มค่า

อีกทั้งยังได้วางแผนศึกษา ‘การใช้เชื้อเพลิงการบินแบบยั่งยืน’ (Sustainable Aviation Fuels: SAF) และบูรณาการเทคโนโลยีกับนวัตกรรมต่างๆ มาช่วยประหยัดพลังงาน พร้อมกันนี้ยังได้เข้าร่วมโครงการ ‘Carbon offsetting and Reduction Scheme for International Aviation’ ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ เพื่อสนับสนุนให้ภาคการบินบรรลุเกณฑ์การรักษาระดับปริมาณการปล่อยคาร์บอนสุทธิอย่างสมดุล

เพื่อตอกย้ำเป้าหมายการสร้างอุตสาหกรรมการบินสีเขียว หรือ ‘Green Aviation’ ที่มุ่งเน้นลดมลพิษและก๊าซเรือนกระจก บางกอกแอร์เวย์สได้เดินหน้าโครงการพัฒนา ‘สนามบินสีเขียว’ นำร่องด้วย 3 สนามบินภายใต้การบริหารของบริษัทฯ ได้แก่ ‘สมุย ตราด สุโขทัย’ เพื่อชูโมเดลการจัดการทรัพยากรและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการปรับปรุงและพัฒนาการออกแบบก่อสร้างอาคารผู้โดยสารให้มีลักษณะเปิดโล่งและจัดให้มีพื้นที่สีเขียวโดยรอบสนามบิน การันตีด้วยรางวัลตราสัญลักษณ์ G - Green จากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ประกาศให้สนามบินสมุยและสนามบินตราดเป็นกรีนแอร์พอร์ต หรือสนามบินที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในปี 2021

“นอกจากนี้ ในอนาคตยังมุ่งกำหนดแนวทางเพื่อปั้นเมกะโปรเจกต์ที่สำคัญระดับประเทศอย่างโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ให้เป็นหนึ่งในสนามบินสีเขียวที่มีผลงานโดดเด่นระดับภูมิภาคอีกด้วย”

และเพื่อเน้นย้ำเป้าหมายการลดคาร์บอนในกระบวนการทำงาน ล่าสุดบริษัทฯ ได้ริเริ่มวางแผนสำหรับโครงการ Low Carbon Skies by Bangkok Airways โดยจะเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมในปี 2567 เพื่อมุ่งสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจภายใต้ความยั่งยืนในมิติต่างๆ ตามแนวทางของ IATA ที่เน้นด้านการจัดสรรการใช้เชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืน (SAF) การกำจัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่แหล่งกำเนิด การชดเชยและการดักจับคาร์บอน การศึกษาการนำเทคโนโลยีใหม่ไฟฟ้าและไฮโดรเจนเข้ามาใช้ และการปรับปรุงด้านโครงสร้างพื้นฐานและประสิทธิภาพการดำเนินงาน

กัปตันพุฒิพงศ์ เล่าถึงอีกมิติของแนวคิด ESG ว่า ‘S - Social Development’ เพราะหัวใจสำคัญของก้าวที่ยั่งยืน คือการก้าวไปพร้อมกับชุมชน ตลอด 55 ปีที่ผ่านมา บางกอกแอร์เวย์สมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนเพื่อเป็นสายการบินที่ดีที่สุดของเอเชีย! โดยคำนึงถึงการสนับสนุนชุมชนและสังคมเป็นหัวใจสำคัญ สะท้อนผ่านพันธกิจของบริษัทฯ ที่มุ่งมั่นให้การสนับสนุนและมีส่วนร่วมในการสร้างคุณค่าที่ยั่งยืนให้กับสังคม

ไม่ว่าจะเป็นชุมชนในเส้นทางที่บริษัทฯ ทำการบินรวมกว่า 11 หมุดหมายแห่งอารยธรรมที่มีความเป็นเอกลักษณ์ ตลอดจนถึงการจัดตั้งชุมชนสัมพันธ์สนามบินจำนวน 3 แห่ง ณ สมุย ตราด และสุโขทัย โดยได้เข้าไปสร้างปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดกับชุมชน ผ่านการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ-เอกชน เพื่อรับรู้ถึงปัญหาและเข้าไปมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือพัฒนาในด้านต่างๆ ที่จะสามารถสานพลังสร้างสรรค์ชุมชนให้น่าอยู่อย่างยั่งยืน

“ผู้โดยสารสายการบินบางกอกแอร์เวย์สจะได้สัมผัสประสบการณ์ความยั่งยืนตั้งแต่ก้าวแรกที่ใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็นบริการเสิร์ฟอาหาร ณ บูทีคเลาจน์ ซึ่งรวบรวมผลิตผลจากชุมชนเกษตรกร สดจากสวน มารังสรรค์เป็นเมนูสุดพิเศษเสิร์ฟตามเทศกาลต่างๆ เช่น เมนูมะยงชิดลอยแก้ว ส่งตรงจากโครงการเกษตรอินทรีย์ สุโขทัย และกาละแมลำไย วัตถุดิบจากเชียงใหม่”

ด้านมิติ ‘G - Good Governance’ ธุรกิจการบินกับมิติธรรมาภิบาล โดยตั้งแต่แรกก่อตั้งสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส บริษัทฯมีเป้าหมายดำเนินงานและพัฒนาระบบการบริหารจัดการ ยึดหลักธรรมาภิบาลและการกำกับดูแลกิจการที่ดี ถ่ายทอดแนวความคิดจากรุ่นสู่รุ่น

เพื่อเป็นการการันตีถึงการดำเนินธุรกิจตามกรอบธรรมาภิบาล และการขับเคลื่อนธุรกิจที่ให้ความสำคัญทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ล่าสุดบริษัทฯ มีความภาคภูมิใจที่ได้รับการพิจารณาคัดเลือกเป็นหนึ่งในรายชื่อหุ้นยั่งยืน ประจำปี 2566 ‘SET ESG Ratings 2023’ ระดับ BBB ในกลุ่มธุรกิจบริการ (Services) จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และได้รับคะแนน CGR บริษัทจดทะเบียนที่มีการกำกับดูแลกิจการระดับ 5 ดาว ‘ดีเลิศ’ (Excellent CG Scoring) จากสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) โดยการสนับสนุนจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สะท้อนถึงการดำเนินธุรกิจที่มุ่งเน้นเรื่องการกำกับดูแลกิจการที่ดี

อีกทั้งยังได้รับการพิจารณาผ่านเกณฑ์ประเมินสำหรับรางวัลการันตี ‘ดาวแห่งความยั่งยืน’ ระดับ 5 ดาว ในโครงการ STAR : Sustainable Tourism Acceleration Rating โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยวยั่งยืน และรางวัลการันตีด้านสิ่งแวดล้อมโดยได้รับประกาศนียบัตร ‘EIA Symposium and Monitoring Awards 2023’ ซึ่งสนามบินสุโขทัย - สนามบินสมุยได้รับรางวัลยอดเยี่ยม - ดีเด่น ในโครงการที่ปฏิบัติตามมาตรการในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ประจำปี 2566 เพื่อสร้างคุณค่าร่วมให้กับผู้มีส่วนได้เสียและสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจพร้อมมุ่งมั่นพัฒนาการดำเนินธุรกิจ สู่การเปลี่ยนผ่านเป็นหนึ่งใน ‘สายการบินรักษ์โลก’ อย่างเต็มขั้นต่อไปในอนาคต

‘คลัง’ เตรียมปล่อยแพ็กเกจอุดหนุน ESG ลงทุนเพื่อ ‘สิ่งแวดล้อม’ ลดหย่อนภาษีได้

(9 ม.ค. 67) นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างการจัดทำมาตรการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) รวมถึงการดำเนินการตามมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมสังคมและธรรมาภิบาล (Environment, Social, Governance: ESG) ซึ่งเป็นไปตามเทรนด์การลงทุนของโลกเนื่องจากธุรกิจที่มี ESG ที่ดีจะสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการแข่งขัน และศักยภาพของการเติบโตในระยะยาว

ปัจจุบันมีมาตรการหลากหลายในการส่งเสริม และจูงใจที่จะพัฒนาประเทศไปสู่ความยั่งยืนซึ่งในส่วนของกระทรวงการคลังนั้นจะพิจารณามาตรการภาษีคาร์บอนเพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุนในธุรกิจสีเขียวใช้พลังงานหมุนเวียน และพลังงานสะอาดมากขึ้น

ขณะเดียวกันต้องมีมาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับการชำระภาษีบุคคลธรรมดา และนิติบุคคลสำหรับการสนับสนุนด้าน ESG ด้วย นอกจากนี้ยังมีมาตรการสินเชื่อธุรกิจสีเขียวดอกเบี้ยต่ำเพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจสีเขียวหรือการติดตั้งแผงโซลาร์ตามบ้านเรือนซึ่งสถาบันการเงินของรัฐได้ดำเนินการไปแล้ว

“มาตรการใดพร้อมก็จะเดินหน้าไปก่อนได้เลยไม่ต้องรอให้ออกมาเป็นแพ็กเกจเพราะหากรออาจใช้เวลาในการดำเนินการ และไม่ทันต่อสถานการณ์ได้”

ด้าน นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า ในปีนี้กรมฯ มีแผนที่จะผลักดันมาตรการทางภาษีเพื่อดูแลสังคม และสิ่งแวดล้อมใน 4 รายการประกอบด้วย 

1.มาตรการสนับสนุนการผลิตและใช้แบตเตอรี่ในรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) และรวมถึงแบตเตอรี่ที่ใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่นโซลาร์เซลล์

2.มาตรการภาษีลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน 

3.มาตรการสนับสนุนการผลิตไบโอพลาสติก 

และ 4.มาตรการภาษีเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุโดยกรมฯ อยู่ระหว่างการศึกษา และเร่งหาข้อสรุปเพื่อเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาต่อไป

สำหรับมาตรการสนับสนุนการผลิต และใช้แบตเตอรี่ BEV จะผูกกับเงื่อนไขกับการมีระบบรีไซเคิลแบตเตอรี่ที่ใช้แล้วเพื่อไม่ให้เป็นปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมในอนาคต

ในปีที่ 2566 ยอดการจดทะเบียนรถ BEV สูงกว่าปีก่อนหน้าถึง 700% และคาดว่าในอีก 10 ปีข้างหน้าการใช้รถ BEV จะสูงขึ้นกว่านี้ดังนั้นจึงจำเป็นต้องวางแผนการกำจัดซากแบตเตอรี่ในอนาคตด้วย ทั้งนี้กรมฯ จะได้วางระบบ Track and Test เพื่อติดตามแบตเตอรี่ลูกนั้น ๆ ว่าปัจจุบันอยู่ที่ไหนด้วย

ทั้งนี้หลักคิดในการจัดเก็บภาษีแบตเตอรี่คือ ปัจจุบันกรมสรรพสามิตเก็บภาษีสรรพสามิตแบตเตอรี่ในอัตรา 8% แต่หากมีการรีไซเคิลแบตเตอรี่ที่ใช้แล้วหรือเป็นแบตเตอรี่ที่มีประสิทธิภาพการให้พลังงานได้สูง และมีน้ำหนักเบา เป็นต้น อัตราภาษีที่กรมฯ จะคิดนั้นก็จะต่ำลงโดยอาจกำหนดอัตราภาษีเป็นหลายอัตราตามประสิทธิภาพของแบตเตอรี่ เช่น 1%, 3%, 5% และ 8%

ขณะเดียวกันกรมฯ อาจต้องทบทวนเงื่อนไขการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับแบตเตอรี่ที่ผูกติดกับเงื่อนไขที่ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจะต้องมีแผนการรีไซเคิลแบตเตอรี่ที่ขายออกไปด้วย เนื่องจากผู้ประกอบการเห็นว่าแนวทางนี้มีความยุ่งยากเพราะเมื่อกรมฯ ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี แก่ผู้ประกอบการไปแล้วจะต้องติดตามไปตลอดอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ลูกนั้นซึ่งอาจนานถึง 20 ปีหากผู้ประกอบการไม่ได้รีไซเคิลตามที่ตกลงกรมฯ จะต้องเรียกสิทธิประโยชน์ทางภาษีคืน และต้องมีค่าปรับทางภาษีด้วย ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นผู้ประกอบการรายดังกล่าวอาจเลิกกิจการไปแล้วก็ได้ การติดตามทวงภาษีคืนก็อาจทำไม่ได้

“กรมฯ จะต้องทบทวนระบบการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ผูกกับการรีไซเคิลซึ่งมีหลายรูปแบบโดยในบางประเทศใช้ระบบ Deposit Refund โดยตั้งเป็นกองทุนเพื่อการนี้ซึ่งเมื่อมีการนำซากแบตเตอรี่ มาคืนกองทุนนี้ก็จะจ่ายเงินให้จำนวนหนึ่งสำหรับแนวทางหนึ่งที่กรมฯ กำลังพิจารณาคือ การมอบให้คนกลางหรือบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านรีไซเคิลแบตเตอรี่มาทำหน้าที่รีไซเคิลแทนผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเป็นต้น”

ส่วนมาตรการภาษีคาร์บอนนั้นหลักคิดคือ นอกเหนือจากมีเป้าหมายจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในประเทศแล้วยังเพื่อรองรับการค้าระหว่างประเทศที่ให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (อียู) แต่ต้องไม่เป็นภาระต่อประชาชนผู้ใช้สินค้า และบริการ

กรมควบคุมมลพิษ หนุนใช้ ‘น้ำมันยูโร 5’ เชื่อช่วยลดฝุ่น PM2.5 ได้กว่า 20-24%

(9 ม.ค. 67) นางสาวปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า พล ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืน ติดตามการดำเนินงานตามมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ (พื้นที่ที่มีปัญหา/พื้นที่เสี่ยงต่อปัญหาฝุ่นละออง) รวมถึงการควบคุมฝุ่นในเมือง สนับสนุนเร่งรัดการจำหน่ายน้ำมันคุณภาพมาตรฐานยูโร 5 ให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ 

ทั้งนี้ เพื่อลดมลพิษจากไอเสียรถยนต์โดยเฉพาะฝุ่นละออง PM2.5 ซึ่งกระทรวงพลังงานได้ดำเนินการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันในกลุ่มน้ำมันเบนซิน –แก๊สโซฮอล์ และกลุ่มดีเซล ให้เป็นมาตรฐาน ยูโร 5 โดยโรงกลั่นน้ำมันทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ ไทยออยล์ บางจาก พีทีทีจีซี บางจากศรีราชา ไออาร์พีซี  และเอสพีอาร์ซี พร้อมจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงมาตรฐานยูโร 5 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567

สำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงมาตรฐานยูโร 5 ทั้งกลุ่มน้ำมันเบนซิน – แก๊สโซฮอล์ และกลุ่มดีเซล จะมีกำมะถันไม่เกิน 10 ppm (10 ส่วนในล้านส่วนโดยน้ำหนัก) ขณะที่มาตรฐานยูโร 4 จะมีกำมะถันไม่เกิน 50 ppm 

โดยน้ำมันเชื้อเพลิงมาตรฐานยูโร5 สามารถใช้ได้กับรถยนต์ทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ และไม่ก่อเกิดปัญหาต่อเครื่องยนต์ จากการทดสอบการปล่อยมลพิษโดยห้องปฏิบัติการตรวจวัดมลพิษทางอากาศจากยานพาหนะของกรมควบคุมมลพิษ  รถยนต์มาตรฐานยูโร

และรถยนต์มาตรฐานยูโร 4 ซึ่งมีการใช้งานมากที่สุด เมื่อมาใช้น้ำมันเชื้อเพลิงมาตรฐานยูโร 5 จะทำให้ค่าฝุ่น PM 2.5 ลดลงถึง 20 – 24%

ในช่วงนี้มีความกดอากาศสูง สภาพอากาศปิด อัตราการระบายอากาศไม่ดี ทำให้ฝุ่นละอองเกิดการสะสมในบรรยากาศจนอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย ซึ่งยานพาหนะเป็นแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 หลักในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

‘EA’ เริ่มส่งมอบคาร์บอนเครดิตโครงการ E-Bus ในกทม. ให้สวิตเซอร์แลนด์  ตามข้อตกลงปารีส Article 6.2 มุ่งขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย NDC

(9 ม.ค.67) บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ได้เริ่มส่งมอบคาร์บอนเครดิตจากโครงการ ‘รถโดยสารประจำทางไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร’ (Bangkok E-Bus Programme) ซึ่งเป็นโครงการซื้อขายคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศโครงการแรกของโลกที่มีการซื้อขายกันเกิดขึ้น ภายใต้ความตกลงปารีส Article 6.2 ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่างไทย-สวิตเซอร์แลนด์ ผ่านกรอบความร่วมมือกันระหว่างประเทศที่มีการระบุชัดเจนว่าจะต้องเป็นโครงการการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจที่อยู่นอกเหนือจากแผนการดำเนินงานของประเทศ (Nationally Determined Contributions : NDC) มีการปฏิบัติตรงตามมาตรฐานด้านคุณภาพต่อสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน โดยมี Klik Foundation เป็นผู้ซื้อ Carbon Credit ที่เกิดขึ้นและนำ Carbon Credit ดังกล่าวไปลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ตามเป้าหมายที่ได้วางไว้

นายฉัตรพล ศรีประทุม ผู้อำนวยการโครงการกลยุทธ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า โครงการแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตภายใต้ข้อตกลงปารีส 6.2 ซึ่งรถโดยสารประจำทาง EV นี้เป็นโครงการอันดับแรก ๆ ของโลกที่มีการแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตสำเร็จ โดยทาง EA มีความมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำในการส่งเสริมความร่วมมือกันระหว่างประเทศในด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม การเดินหน้าของโครงการดังกล่าวจะเป็นการสนับสนุนให้เราก้าวเข้าสู่สังคม เศรษฐกิจแบบปลอดคาร์บอนฯ อีกทั้งสามารถเข้าถึงเงินทุนระหว่างประเทศเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และช่วยเป็นแรงกระตุ้นที่ดีสำหรับภาคเอกชนในการพัฒนาโครงการที่ช่วยรักษาและปกป้องสิ่งแวดล้อม

Mr. Michael Brennwald Head International, Klik Foundation กล่าวว่า “โครงการแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตภายใต้ความตกลงปารีส ของรถโดยสารประจำทาง EV นี้ เป็นโครงการนำร่อง เพื่อการสนับสนุนกิจกรรมการรักษาสิ่งแวดล้อมแบบยั่งยืน การแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตภายใต้ข้อตกลงปารีส 6.2 นั้น มีการร่วมกันพัฒนามาอย่างแข็งขันจากทุกภาคส่วน นอกจากนี้ยังมองหาโอกาสในการร่วมมือกับภาคเอกชนในประเทศไทยและประเทศข้างเคียง เพื่อที่จะสร้างโครงการในการร่วมมือกันระหว่างประเทศกับสวิตเซอร์แลนด์

ทั้งนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของทั้งประเทศไทยและประเทศสวิตเซอร์แลนด์ได้มีการลงนามในความร่วมมือระหว่างประเทศภายใต้ความตกลงปารีส 6.2 เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2565   โดยสัญญาแบบทวิภาคีกำหนดกรอบความร่วมมือกันระหว่างทั้งสองประเทศและสร้างแนวทางสำหรับ การพัฒนาโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อม เพื่อจัดทำกรอบความร่วมมือโดยสมัครใจสำหรับการถ่ายโอนผลการลดก๊าซเรือนกระจกระหว่างประเทศและเป็นส่วนสำคัญในการเร่งให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

‘EXIM’ ผุด 3 ผลิตภัณฑ์สินเชื่อธุรกิจเพื่อความยั่งยืน หนุนธุรกิจ ‘SMEs-ส่งออก’ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

(8 ม.ค. 67) เพื่อนำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนมากยิ่งขึ้น EXIM BANK ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่มุ่งมั่นเดินหน้าสู่การเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาโลกสีเขียว (Green Development Bank) จึงทำงานสานพลังกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อช่วยให้ภาคธุรกิจ รวมถึงคนตัวเล็กหรือ SMEs เข้าถึงบริการด้านความรู้ โอกาส และเงินทุน เพื่อปรับทิศทางการดำเนินงานให้สามารถเริ่มต้นและขยายธุรกิจสู่เวทีโลกได้อย่างยั่งยืน

นำไปสู่การจัดเต็มแพ็คเกจของขวัญปีใหม่ 2567 เพื่อผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึง ESG ด้วยการเปิดตัว 3 ผลิตภัณฑ์ ‘สินเชื่อเพื่อธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม’ ดอกเบี้ยต่ำ 2.99% ต่อปี นาน 3 เดือน และยกเว้นค่าธรรมเนียมแรกเข้า ‘สินเชื่อเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการที่เริ่มต้นส่งออก’ วงเงินหมุนเวียนสูงสุด 3 ล้านบาทต่อราย สำหรับผู้ประกอบการไทย Size S ทุกกลุ่มอุตสาหกรรมที่สนใจเริ่มต้นส่งออกหรือนำเข้าเพื่อส่งออก และ ‘มาตรการช่วยเหลือต่อเนื่องแก่กลุ่ม SMEs ที่เป็น NPLs จากช่วงโควิด-19’ ปรับลดดอกเบี้ยและพักชำระดอกเบี้ย-เงินต้นตามเงื่อนไขของธนาคาร


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top