Sunday, 16 June 2024
คนตัวเล็ก

5 นโยบายเร่งด่วนรัฐ เรื่องไหนกระตุ้น ศก. เรื่องไหนกระตุ้นความกังวล ‘แก้รธน.-ส่งเสริมท่องเที่ยว-แก้หนี้-ลดราคาพลังงาน-แจกเงินดิจิทัล’

คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงต่อรัฐสภา วันจันทร์ที่ 11 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา สรุป 5 ประเด็นสำคัญ ที่ประกาศเป็นนโยบายเร่งด่วน

1.เติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet

2.แก้ปัญหาหนี้สิน เช่น พักหนี้เกษตรกร ช่วยประคองหนี้สิน ลดต้นทุนทางการเงิน

3.ลดภาระค่าใช้จ่ายราคาพลังงาน ค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม ค่าน้ำมัน

4.สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว ตั้งเป้าอำนวยความสะดวก ปรับปรุงขั้นตอนขอ-เก็บค่าธรรมเนียมวีซ่า ปรับปรุงระบบคมนาคม

5.หารือแนวทางนำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ ให้คนไทยมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และไม่แก้ในหมวดพระมหากษัตริย์

จากวันที่แถลงนโยบาย มาจนถึงปัจจุบัน  นโยบายที่เห็นเป็นรูปธรรม ลำดับแรก คงเป็น นโยบายที่ 3 คือ การลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน อันเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตและเศรษฐกิจ ซึ่งมีการปรับลดค่าน้ำมันเชื้อเพลิง เริ่มจากน้ำมันดีเซล ให้ต่ำกว่า 30 บาทต่อลิตร และ ลดน้ำมันเบนซินแก๊สโซฮอล์ 91 ลง 2.50 บาทต่อลิตร จากโครงสร้างราคาเดิม เป็นระยะเวลา 3 เดือน ซึ่ง ครม. ก็ได้ให้ไฟเขียวในการประชุมไปเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ที่ผ่านมา รวมทั้งปรับลดค่าไฟฟ้าเหลือ 3.99 บาท/หน่วย มีผลตั้งแต่รอบบิลเดือนกันยายน 2566 จนถึงรอบบิลเดือนธันวาคม 2566

นอกจากนี้ รัฐบาลจะปรับเปลี่ยนโครงสร้างการใช้พลังงานของประเทศ โดยวางแผนความต้องการและสนับสนุนการจัดหาแหล่งพลังงานอย่างเหมาะสม ส่งเสริมการผลิต และการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เร่งเจรจาการใช้พลังงานในพื้นที่อ้างสิทธิกับประเทศข้างเคียง และสำรวจแหล่งพลังงานเพิ่มเติม รวมถึงการสนับสนุนให้เกิดการจัดหาแหล่งพลังงานใหม่ๆ ภายใต้กลไกตลาด เพื่อให้มั่นใจว่าประเทศไทยจะมีความมั่นคงทางพลังงานที่จะขับเคลื่อนประเทศต่อไป

นโยบายเร่งด่วนถัดมา ที่เริ่มดำเนินการ คือ นโยบายที่ 2 การแก้ปัญหาหนี้สินทั้งในภาคเกษตร ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน รัฐบาลจะลดภาระพี่น้องเกษตรกรด้วยการพักหนี้เกษตรกรตามเงื่อนไขและคุณสมบัติที่เหมาะสม รวมถึงมาตรการช่วยประคองภาระหนี้สินและต้นทุนทางการเงินสำหรับภาคประชาชนที่ครอบคลุม ถึงผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้ได้มีโอกาสในการฟื้นตัวและกลับมาดำเนินธุรกิจได้อีกครั้ง ซึ่งในส่วนการพักชำระหนี้เกษตรกร ระยะเวลา 3 ปี เริ่มเปิดให้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ เมื่อ 1 ตุลาคม ที่ผ่านมา ปัจจุบันมีเกษตรกรที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการผ่าน BAAC Mobile ของ ธ.ก.ส. มากกว่า 2.5 แสนราย

นโยบายอีกด้านที่ลงมือดำเนินการแล้ว คือ นโยบายที่ 4 ผลักดันการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะสั้น และสร้างงานให้กับประชาชน ซึ่งภาคเอกชน ร่วมกันขานรับ ทั้งมาตรการการยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมวีซ่า และมาตรการยกเลิกการออกวีซ่าประเทศเป้าหมายชั่วคราว ซึ่งคาดการณ์ว่าจะกระตุ้นยอดนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าพื้นที่ท่องเที่ยวไม่น้อยกว่า 30-40% โดยเริ่มใช้นโยบายวีซ่าฟรีกับกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนและคาซัคสถาน ตั้งแต่ 25 ก.ย. 2566-29 ก.พ. 2567 รวมระยะเวลา 5 เดือน ซึ่งก็ได้รับการตอบรับจากนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

จากนโยบาย ทั้ง 3 ที่ 'ลด แลก แถม' ในแพ็กเก็จต่างๆ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ หลัง Covid-19 ให้ฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง กระทบฐานะทางการคลังของประเทศไม่มากนัก และส่งเสริมให้ภาครัฐ สามารถจัดเก็บภาษีกลับคืนได้พอสมควร 

แต่ที่ประเด็นใหญ่ ที่ยังหาช่องทางดำเนินการไม่ได้ คงไม่พ้น นโยบาย 'แจก' เงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่นักเศรษฐศาสตร์ของไทยเกือบ 100 คน ลงชื่อคัดค้านไม่เห็นด้วยในการดำเนินการ เนื่องจากจะกระทบกับเสถียรภาพทางด้านการคลังเป็นอย่างมาก โดยมี 2 อดีต ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมคัดค้านในนโยบาย ที่จะ 'ได้ไม่คุ้มเสีย' ฟากรัฐบาลก็ยังไม่มีทีท่าจะยกเลิก โดยพยายามหาแนวทางในการดำเนินการ และจุดสำคัญ คือ จะจัดหาเงินงบประมาณ 560,000 ล้านบาท มาจากที่ไหน อย่างไร เพื่อมาแจกให้กับประชาชน

สำหรับอีก 1 นโยบายเร่งด่วนที่แถลงต่อรัฐสภา คือ การแก้ปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เพื่อให้คนไทยได้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แน่นอนว่า ประเด็นนี้ ไม่ช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นเพียงการแก้ไข ที่จะเปิดช่อง กำหนดกติกาให้นักการเมืองในฝ่ายตน ได้เปรียบในการแข่งขันลงเลือกตั้ง เพื่อถืออำนาจรัฐในมือมากกว่า 

สุดท้าย นโยบายเร่งด่วน ที่รัฐบาลปัจจุบันแถลง ฐานะทางการเงินของประเทศไทย จากที่เคยมีทุนสำรองระหว่างประเทศรวม (Gross Reserves) อยู่ที่ 2.46 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินบาทที่ 8.17 ล้านล้านบาท ณ เดือนตุลาคม 2564 สูงเป็นลำดับที่ 12 ของโลก หลังจากนี้ไป จะเป็นอย่างไร คงต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด

‘พักชำระหนี้เกษตรกร’ นโยบายฮิตใช้โกยคะแนน ชนวนเหตุทำลาย ‘วินัยทางการเงิน’ ของลูกหนี้

หลัง ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้เกษตรกรรายย่อย ตามนโยบายรัฐบาลระยะที่ 1 ย่อมมีเสียงทั้งการสนับสนุน และคัดค้าน ในนโยบายดังกล่าว ว่าจะเป็น ‘การช่วยเหลือ’ อย่างแท้จริง หรือเป็น ‘การซ้ำเติม’ เกษตรกรมากกว่าเดิมกันแน่

มาตรการพักชำระหนี้เกษตรกร ภายใต้หลักการ ‘ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้’ กำหนดให้มีการพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ ธ.ก.ส. ผู้ที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการพักชำระหนี้เกษตรกรระยะเวลา 3 ปี โดยมีรายละเอียดมาตรการ ดังนี้

1. มาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาล โดยเกษตรกรลูกค้ารายย่อย ธ.ก.ส. จำนวน 2.698 ล้านคน ที่มีต้นเงินคงเป็นหนี้คงเหลือทุกสัญญารวมกัน ณ วันที่ 30 ก.ย.2566 ไม่เกิน 300,000 บาท และมีสถานะเป็นหนี้ปกติและ/หรือเป็นหนี้ค้างชำระ (หนี้ 0-3 เดือน และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPLs) ได้รับสิทธิ์ในการพักชำระหนี้ระยะแรกดำเนินการ 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2566 ถึงวันที่ 30 ก.ย.2567

เกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ที่ต้องการรับสิทธิ สามารถแสดงความประสงค์เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ดังกล่าวได้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2566 ถึงวันที่ 31 ม.ค.2567 สำหรับลูกหนี้ที่มีสถานะเป็น NPLs จะสามารถเข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ได้ เมื่อได้ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์ของ ธ.ก.ส.แล้ว

2. การพัฒนาศักยภาพเพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ ธ.ก.ส. ผู้ที่เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ดังกล่าวภายใต้หลักการ ‘ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้’ เพื่อเป็นการบรรเทาภาระหนี้สินเกษตรกรอย่างบูรณาการ ธ.ก.ส. ร่วมกับส่วนงานราชการและหน่วยงานภายนอกดำเนินการอบรมเกษตรกรคู่ขนานไปกับมาตรการพักชำระหนี้ที่ได้เพิ่มโอกาสให้เกษตรกรในการนำเงินไปลงทุนปรับเปลี่ยนหรือขยายการประกอบอาชีพ โดยการอบรมอาชีพเกษตรกรจะช่วยฟื้นฟูเกษตรกรให้สามารถประกอบอาชีพได้อย่างมีศักยภาพ มีความสามารถในการแข่งขัน มุ่งสร้างรายได้ให้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต พร้อมทั้งเพิ่มความสามารถในการชำระหนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมวินัยการเงินซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในระยะยาว

นอกจากนี้ เพื่อให้การกำหนดมาตรการพักชำระหนี้เกษตรกรและผู้ประกอบการ SMEs เป็นไปอย่างบูรณาการและให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม คณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดมาตรการในการพักหนี้เกษตรกรและผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์) เป็นประธาน โดยคณะทำงานมีอำนาจและหน้าที่ศึกษา วิเคราะห์ และกำหนดมาตรการในการพักชำระหนี้เกษตรกรและผู้ประกอบการ SMEs รวมทั้งจัดทำข้อเสนอแนะในการแก้ไขสถานการณ์หนี้เกษตรกรและผู้ประกอบการ SMEs

ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง ‘นโยบายพักชำระหนี้’ จะมีประกาศเป็นนโยบายจากพรรคการเมืองหลาย ๆ พรรค เพื่อที่จะหาเสียงจากกลุ่มเกษตรกร ลูกหนี้รายย่อย ซึ่งนักวิชาการหลาย ๆ ท่าน ก็ได้ให้ความเห็นคล้ายกันว่า นโยบายนี้ จะทำลายวินัยทางการเงินของลูกหนี้ ในวันข้างหน้า และมันก็ค่อย ๆ ปรากฏให้เห็นเป็นระยะ ๆ มาตลอด

การพักชำระหนี้ ถ้าในแง่เพื่อการส่งเสริมกระตุ้นเศรษฐกิจ การนำเงินที่จะต้องมาชำระหนี้ มาใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภค หรือ ลงทุนในกิจกรรมที่ก่อให้เกิดรายได้ ย่อมจะเป็นประโยชน์ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 

โครงการพักชำระหนี้ ‘ไม่ได้ห้ามส่งหนี้’ !! หากลูกหนี้ ที่เข้าร่วมโครงการนี้ สามารถที่จะบริการจัดการการเงินอย่างมีวินัยได้ ย่อมจะส่งผลดี และเกิดประโยชน์กับตัวลูกหนี้ได้ ดอกเบี้ยไม่เดิน จัดสรรเงินที่ไม่ต้องส่งชำระหนี้ มาลงทุนให้เกิดรายได้ แล้วแบ่งชำระหนี้บางส่วน จัดสรรใช้จ่าย อย่างเข้มงวด 3 ปี ย่อมบรรเทาภาระ แต่...จากอดีตที่ผ่านมา หากไม่มีอคติ ย่อมมองเห็นได้ว่า ปัจจุบัน มันเริ่มกลายเป็นการเสพติดพักหนี้ ที่ลูกหนี้ เฝ้ารอคอย ในทุกการเลือกตั้ง

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคบริการ ในพื้นที่อีสานพุ่ง อานิสงส์จากรัฐ-เอกชน ส่งเสริมการท่องเที่ยวต่อเนื่อง

จากบทความก่อนหน้านี้ ที่กล่าวถึง ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจกระทรวงการคลัง ได้ให้ความเห็นไว้ว่า "ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนสิงหาคม 2566 สะท้อนความเชื่อมั่นเศรษฐกิจใน 6 เดือนข้างหน้าที่มีแนวโน้มดีขึ้น โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากเกิดจากปัจจัยสนับสนุนในภาคบริการเป็นสำคัญ” 

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคเกษตร อยู่ที่ระดับ 76.4 
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 75.9 
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคบริการ อยู่ที่ระดับ 83.5 
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคการจ้างงาน อยู่ที่ระดับ 74.5
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคการลงทุน อยู่ที่ระดับ 74.8

แน่นอนว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น ความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้น สาเหตุสำคัญมาจากความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในภาคบริการ เนื่องจากมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในหลายจังหวัดของพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ธุรกิจหลักที่จะได้รับอานิสงจากความเชื่อมั่นนี้ คงไม่พ้นกลุ่มธุรกิจโรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร ที่เริ่มฟื้นตัวหลังสภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (Covid-19) ซึ่งจากข้อมูลกองสถิติเศรษฐกิจ (สศ.) มีจำนวนของสถานประกอบการที่พักแรม ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 4,977 แห่ง น่าจะช่วยให้การหมุนเวียนทางเศรษฐกิจของธุรกิจภาคบริการ ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

รวมถึงการได้รัฐบาลใหม่ มีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี ข้าราชการระดับสูง ของกระทรวงต่าง ๆ พร้อมประกาศนโยบายสำคัญ ‘พักชำระหนี้เกษตรกร 3 ปี’ ย่อมส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจ การอุปโภค บริโภค การจับจ่ายใช้สอย ที่จะถูกกระตุ้นมากยิ่งขึ้น และปฏิเสธไม่ได้เลยว่า พื้นที่ที่ได้รับอานิสงจากโครงการนี้ค่อนข้างมาก ย่อมเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีผู้ประกอบอาชีพเกษตรกร เป็นจำนวนมาก
แต่ก็ยังมีความกังวล ต่อการเกิดหนี้สาธารณะ ที่อาจเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งการประชุมคณะรัฐมนตรี ได้มีการอนุมัติแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2567 เฉพาะในส่วนที่ ครม. ได้มีมติอนุมัติแล้ว ประกอบด้วย 

แผนการก่อหนี้ใหม่ วงเงินรวม 194,434.53 ล้านบาท 
แผนการบริหารหนี้เดิม วงเงินรวม 1,621,135.22 ล้านบาท
แผนการชำระหนี้ วงเงินรวม 390,538.63 ล้านบาท

ซึ่งแน่นอนว่า การดำเนินโครงการ พักชำระหนี้เกษตรกร 3 ปี ย่อมจะต้องตั้งงบประมาณ เพื่อชดเชยดอกเบี้ยให้กับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เจ้าภาพหลักของโครงการ

บทความหน้า กับมุมมองเศรษฐกิจของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ว่ามีธุรกิจอะไรที่น่าสนใจ ประเด็นสำคัญจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ จะส่งผลอย่างไร กับ พื้นที่นี้ รอติดตามมุมมอง จาก ‘The PALM - คนตัวเล็ก’ กันนะครับ

จับจังหวะเศรษฐกิจ ‘อีสานใต้’ หลังดัชนีความเชื่อมั่น ศก.เพิ่มสูง

รากฐานทางเศรษฐกิจ ชาวอีสานใต้ ศักยภาพคนตัวเล็ก ที่ขับเคลื่อนภาคการเกษตร อุตสาหกรรม การบริการ ในพื้นที่นี้ เป็นอย่างไร มาร่วมเปิดมุมมองใหม่ ๆ ในหลาย ๆ ด้าน กันครับ

ก่อนอื่น คงต้องแนะนำตัวก่อน กับ บทความแรก ของคอลัมน์ ‘คนตัวเล็ก’ ที่เราจะนำพาท่าน ไปลองดูมุมมองต่าง ๆ ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง หรือ อีสานใต้ ว่าการใช้ชีวิต ขนบธรรมเนียม ประเพณีของท้องถิ่น กับ กลไกทางเศรษฐกิจ ที่ขับเคลื่อนจังหวัดต่าง ๆ การสร้างงาน สร้างอาชีพ หลังสภาวะการระบาดอย่างรุนแรงของเชื้อไวรัสโคโรน่า (COVID-19) กลับมาพลิกฟื้นในด้านไหนบ้าง หรือยังมีกลุ่มธุรกิจอะไร ที่ยังคงได้รับผลกระทบอยู่ 

คงต้องเริ่มต้นกับภาพใหญ่ก่อน ในส่วนของ ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจกระทรวงการคลัง ได้ให้ความเห็นไว้ว่า ‘ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนสิงหาคม 2566 สะท้อนความเชื่อมั่นเศรษฐกิจใน 6 เดือนข้างหน้าที่มีแนวโน้มดีขึ้น โดยเฉพาะภาคตะวันออก, ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากปัจจัยสนับสนุนในภาคบริการเป็นสำคัญ’

- ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันออก อยู่ที่ระดับ 80.2 
- ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของภาคใต้ อยู่ที่ระดับ 77.2 
- ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ระดับ 77.0 
- ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตของภาคตะวันตก อยู่ที่ระดับ 73.0
- ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจ กทม. และปริมณฑล อยู่ที่ระดับ 72.3
- ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคเหนือ อยู่ที่ระดับ 70.4
- ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของภาคกลาง อยู่ที่ระดับ 69.1

สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น ความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้น โดยมีสาเหตุสำคัญมาจาก
ความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในภาคบริการ เนื่องจากมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในหลายจังหวัดของพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และความเชื่อมั่นเศรษฐกิจภาคเกษตรในอนาคตที่ดีขึ้น เนื่องจากคาดว่าราคาผลผลิตทางการเกษตรจะปรับตัวขึ้น ประกอบกับการมีปริมาณน้ำที่เพียงพอ 

ซึ่งแน่นอนว่า ทั้งด้วยพื้นที่ขนาดใหญ่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระบบโครงสร้างพื้นฐานที่มีการพัฒนาเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก หลายพื้นที่ จึงมีความน่าสนใจจากกลุ่มผู้ประกอบการที่จะเริ่มการลงทุนในธุรกิจใหม่ ๆ ในอนาคตอันใกล้นี้

บทความต่อไป เราจะค่อย ๆ ย่อยลงมาในกลุ่มภาคธุรกิจต่าง ๆ ว่าภาคธุรกิจใด มีดัชนีความเชื่อมั่นในระดับใด ทิศทางการเติบโตมีความน่าสนใจมากน้อยแค่ไหน รอติดตามกันนะครับ

เรื่อง: The PALM


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top