Saturday, 20 April 2024
สงขลา

“นายไพร” ยันศาลชี้ชัด โครงการจัดหาทุนซื้อทองคำ ไม่ใช่เรื่องทุจริต เป็นเรื่องของระเบียน ลั่น ทำไปโดยสุจริตใช้เงินส่วนตัวไปช่วยโครงการหลายล้าน เป็นการปิดทองหลังพระ พร้อมเป็นทน.หาดใหญ่

ที่บ้านพักเขตเทศบาลนครหาด นายไพร พัฒโน อดีตนายกเทศบาลนครหาดใหญ่ ได้กล่าวเปิดใจกับทีมข่าวสื่อมวลชน ที่มาร่วมทำข่าว ถึงกรณีในเรื่องของการถูกกล่าวหาว่า กระทำการโดยทุจริต เกี่ยวกับโครงการจัดหาทุนซื้อทองคำปิดองค์พระพุทธมงคลมหาราช พระประจำเมืองหาดใหญ่

โดยกล่าวว่า ผมมีความตั้งใจที่จะบูรณะพระพุทธมงคลมหาราช องค์พระยืน เนื่องจากตอนผมเข้าไปองค์พระมันมีรอยรั่ว จึงตั้งใจบูรณะให้ดีขึ้น  เมื่อมีเงินแล้วจึงค่อยปิดทอง จึงคิดจะสร้างหลวงปู่ทวดขึ้นมาเพื่อให้คนเช่า ร่วมทำบุญเป็นการหาเงินสัก 60 - 70 ล้านบาทมาบูรณะ  ดังนั้นก็คือจากมูลนิธิสิรินธร ในพระบาทราชูปถัมภ์ซึ่งรับเป็นเจ้าภาพ  ถ้าจะทำขนาดนี้เทศบาลก็ต้องลงทุนถึงเกือบ 40 ล้านถึงจะพอ เพื่อทำพระขึ้นมาชุดหนึ่ง และเมื่อขายแล้วหักต้นทุน ก็จะเหลือให้กำไรประมาณ 70 ถึง 80 ล้าน โดยเห็นว่าถ้าเอามา 30 - 40 ล้านมันดูเยอะ ก็จึงตกลงเอามาเพียงครึ่งเดียวพอ และอีกครึ่งหนึ่งจะไปหาจากยอดจองพระ จึงได้ทำโครงการนี้ขึ้นมา โดยผ่านสภา และผู้ว่าราชการจังหวัดในขณะนั้นก็ให้การอนุมัติ และดำเนินการตามระเบียบถูกต้องทุกอย่าง

เรื่องนี้ถูกนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามร้องเรียนแล้วป.ป.ช.ก็ชี้ว่าผิด ส่งเรื่องให้อัยการและบอกว่าตนดำเนินการโดยทุจริต เพราะไม่จัดประมูล ซึ่งผมก็สู้กันในชั้นศาลว่า เงินอุดหนุนมันไม่ต้องประมูล คนรับเงินอุดหนุนสามารถรับไปได้เลยและทำตามระเบียบของเขา ทั้งเงิน ทั้งของ เป็นของเขาหมด เว้นแต่จะมีข้อตกลงเป็นอย่างอื่น เพียงแต่ส่งรายละเอียดว่าใช้จ่ายอะไรบ้างเท่านั้นพอ เช่นเดียวกับการอุดหนุนการจัดงานตรุษจีนให้แก่องค์กรต่าง ๆ ก็ไม่ต้องประมูล ซึ่งศาลวิเคราะห์ทุกอย่างแล้วดูรายละเอียด ศาลบอกว่าเรื่องนี้ไม่มีทุจริต เพราะเงินก็ไม่อยู่ที่นายกไพร พระก็ไม่อยู่ที่นายกไพร เงินก็ส่งให้มูลนิธิสิรินธร ซึ่งก็ทำไปตามนั้นเพียงแต่ค่าใช้จ่ายอื่นๆเกี่ยวกับบัญชีจองพระนั้น ศาลบอกทำไมไม่ทำตามระเบียบเสีย แล้วขออนุมัติเข้าสภา เลยลงโทษ 157 ซึ่งก็ต้องอุทธรณ์ เงินจองพระ พระก็ยังไม่มีเป็นการจองก่อนล่วงหน้า เงินบัญชีก็ไม่ใช่ของเทศบาลยังไม่ถือว่าเป็นรายได้ของเทศบาล เราจึงประมูลจัดซื้อ จัดจ้างไม่ได้

ดังนั้นต้องชี้แจงและอุทธรณ์เรื่องนี้ไปว่า อย่างนี้มันสุดวิสัย ตรงนี้มันเป็นเพียงเรื่องระหว่างดำเนินการ และต้องหาเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายอีกหลายเรื่องเช่นค่าจัดทำพระให้เพียงพอต่อการคุ้มค่าและได้กำไรตามเป้าหมายที่วางแผนไว้ เกี่ยวกับการโฆษณา ค่าพิธีกรรม ค่าแพ็คกิ้งก็ดี และยังมีค่าอื่นๆอีกหลายล้าน  เอามาจากยอดจอง เทศบาลให้มา เพียง 20 ล้านเท่านั้น ยังมีหนี้สินจากการดำเนินโครงการอีกมาก และทำพระได้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งยอดจองนี้ที่ศาลบอกว่าทำไมไม่ทำแบบเดียวกันกับเงินก้อนแรกจากเทศบาล เลยลงโทษว่าผมไม่ปฏิบัติตามระเบียบให้ครบถ้วน เพราะตรงนี้ทำไมไม่ทำโครงการขึ้นมาไม่จัดซื้อ จัดจ้าง ซึ่งมันทำไม่ได้ และตรงนี้มันเงินข้างนอกไม่ใช่เงินของเทศบาล จึงต้องชี้แจงไปในชั้นอุทธรณ์ต่อไป  .

เพราะเงินยังอยู่กลางอากาศ เงินนี้เมื่อเคลียร์บัญชีกันเสร็จ เหลือพระเท่าไหร่ เหลือเงินเท่าไหร่ มูลนิธิก็จะส่งให้เทศบาลทั้งหมด พระนี่ก็จะเป็นของเทศบาลคนเดียวโดยไม่มีภาระผูกพันใด ๆ อีก ปรากฏว่าจนถึงขณะนี้ส่งเงินไปได้ 10 กว่าล้าน จาก 20 ล้าน  เท่ากับว่าเทศบาลลงทุนเพียง 5 ล้านบาท และยังมีพระรอจำหน่ายอีกเกือบ 100 ล้าน ดังนั้นจึงไม่เสียหายเลย แต่เขาบอกว่าผิดที่ระเบียบ ผิดที่ขั้นตอนการปฏิบัติซึ่งความจริงแล้วขั้นตอนก็ไม่ผิด ระเบียบก็ไม่ผิด และผมก็ไม่ทุจริต ผมได้ทำอย่างดีที่สุด ซึ่งผมเองก็ช่วยด้วยเงินส่วนตัวไปหลายล้านบาท โดยถือว่าเป็นการร่วมทำบุญเป็นการปิดทองหลังพระโดยไม่เคยบอกใครและไม่เคยไปอวดอ้างความดีอะไรกับใคร ทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจผมผิดทั้ง ๆ ที่ผมกล้าเสียสละขนาดนี้ และผมก็หมดไปหลายล้าน ผมจึงไม่ทุจริตแน่นอน และศาลก็บอกแล้วว่าไม่ทุจริตจึงยกฟ้องในข้อกล่าวหาว่าทุจริต นอกจากในเรื่องของระเบียบ

ที่สำคัญที่สุด เทศบาลก็ไม่ได้เสียหาย ซ้ำยังได้ประโยชน์มาก และอีกประเด็นหนึ่งผมยืนยันได้ว่าไม่ผิดระเบียบแน่นอน ดังนั้นการที่ผมจะลงสมัครนายกเทศมนตรีเทศบาลนครหาดใหญ่ครั้งนี้จึงมั่นใจว่า ไม่ต้องมีการเลือกตั้งใหม่อีกแน่นอน

ดังนั้นจึงขอยืนยันว่าเทศบาลนครหาดใหญ่ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย ตนก็จะต้องชี้แจงข้อกฎหมายที่เราไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษา และยื่นอุทธรณ์ ดังนั้นจึงไม่มีประเด็นการทุจริต แต่เป็นเรื่องของการใช้อำนาจหน้าที่ ซึ่งก็ยืนยันว่าดำเนินการโดยถูกต้อง มีเจตนาที่บริสุทธิ์ เทศบาลไม่เสียหายแต่ยังได้ประโยชน์ และได้กำไรจากโครงการนี้มหาศาล


ภาพ/ข่าว : นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ / หาดใหญ่ จ.สงขลา

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดพิธีรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ สำหรับภาคใต้

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  จัดพิธีรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสายสะพาย ประจำปี 2563  สำหรับภาคใต้

โดย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในพิธี ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์  ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวรายงานการจัดพิธี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ร่วมเป็นเกียรติ ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบรอบ ๖๐ ปี  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2564

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้จัดพิธีรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ โดยแบ่งเป็น 4 ภูมิภาค คือ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้  จำนวน 2,367 ราย ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ชั้นสายสะพาย เนื่องในโอกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 28 กรกฎาคม 2563 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ส่วนราชการและหน่วยงานต่างๆจัดพิธีรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ หน้าพระบรมฉายาลักษณ์ในสถานที่ที่เหมาะสม

สำหรับภาคใต้ มีผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ชั้นสายสะพาย จำนวน 150 ราย ประกอบด้วย ราชบัณฑิตและกรรมการ ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง และบุคลากรในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประกอบด้วย

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นมหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.) จำนวน 4 ราย

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นมหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.) จำนวน 28 ราย 

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.) จำนวน 21 ราย

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นประถมาภรณ์มงกุฎไทย (ป.ม.) จำนวน 97 ราย

โดยมีผู้เข้ารับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา มหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช มหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต มหาวิทยาลัยราชภัฎสุราษฎร์ธานี มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย และมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์

กรมประมง เปิดเวทีจัดเสวนา “ความสำเร็จของฟาร์มทะเลและเขตอนุรักษ์สัตว์น้ำ โดยชุมชนมีส่วนร่วมของจังหวัดสงขลา” พร้อมมอบเงินอุดหนุนพัฒนาอาชีพ 15 ชุมชน ประมงท้องถิ่นและปล่อยกุ้งกุลาดำ กว่า 1 ล้านตัว ลงทะเลสาบสงขลา

หาดจันทร์สว่าง (หาดปลาไก่) ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา กรมประมงจัดพิธีเปิดโครงการเสวนาสร้างเครือข่ายองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นระดับจังหวัด ในหัวข้อ “ความสำเร็จของฟาร์มทะเลและเขตอนุรักษ์สัตว์น้ำ โดยชุมชนมีส่วนร่วมของจังหวัดสงขลา” โดย ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้ นายเดชอิศม์ ขาวทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 5 สงขลา เป็นประธาน มีนายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง พร้อมด้วยนายปัญญา จินดาวงศ์ นายอำเภอสิงหนคร ข้าราชการ คณะครูและนักเรียน รวมถึงพี่น้องชาวประมงจาก 15 ชุมชนในพื้นที่ จำนวนกว่า 500 คน เข้าร่วม

นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 มาตรา 25 ว่าด้วยเรื่องของการส่งเสริมการมีส่วนร่วมและสนับสนุนชุมชนประมงท้องถิ่นในการจัดการ การบำรุงรักษา การอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนจากทรัพยากรสัตว์น้ำภายในที่จับสัตว์น้ำในเขตประมงทะเลชายฝั่ง โดยกำหนดให้กรมประมงดำเนินการให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนในเรื่องการมีส่วนร่วม การรวมกลุ่ม การให้คำปรึกษาแก่ชุมชน การเผยแพร่ความรู้ในการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมของชุมชน ฯลฯ ซึ่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กรมประมงได้ดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นด้านชายฝั่งไปแล้วกว่า 459 ชุมชน เช่นโครงการพัฒนาอาชีพและเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนประมงพื้นบ้าน , โครงการสร้างความเข้มแข็งกลุ่มการผลิตด้านการเกษตร , โครงการพัฒนาอาชีพและส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนประมง

กรมประมงจึงกำหนดจัดโครงการเสวนาสร้างเครือข่ายองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นระดับจังหวัด ช่วงระหว่างเดือนมีนาคม - สิงหาคม 2564 ในพื้นที่ 23 จังหวัดชายทะเล เพื่อสร้างเครือข่ายชุมชนประมงท้องถิ่นให้เกิดความเข้มแข็ง องค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์และบทเรียนจากการดำเนินงานพัฒนาอาชีพและเสริมสร้างความเข้มแข็งชองชุมชนประมงชายทะเล และแนวทางการขับเคลื่อนเสริมสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมขององค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นในการบริหารจัดการประมงทะเลอย่างยั่งยืน อีกทั้ง เป็นการกระชับความสัมพันธ์ความร่วมมือระหว่างชุมชนกับเจ้าหน้าที่ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการทรัพยากรชุมชน

สำหรับกิจกรรมในวันนี้ ภายในงานมีการเสวนา ในหัวข้อ “ความสำเร็จของฟาร์มทะเลและเขตอนุรักษ์สัตว์น้ำ โดยชุมชนมีส่วนร่วมของจังหวัดสงขลา” พิธีมอบเงินอุดหนุนพัฒนาอาชีพ 15 ชุมชน กิจกรรมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ ได้แก่ กุ้งกุลาดำ จำนวน 1 ล้านตัว โดยปล่อยในทะเลชายฝั่งบริเวณหาดจันทร์สว่าง และขบวนคาราวานเรือประมงพื้นบ้าน จำนวน 20 ลำ ยังได้นำกุ้งกุลาดำ (500,000 ตัว) ไปปล่อยในเขตอนุรักษ์และเขตสร้างแหล่งอาศัยสัตว์น้ำของชุมชนอีกด้วย อีกทั้งยังมีการมอบพันธุ์สัตว์น้ำให้แก่ผู้แทนองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น จำนวน 10 ชุมชน เพื่อนำไปบริหารจัดการเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติของชุมชนให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์ ชาวประมงพื้นบ้านสามารถเข้าถึงทรัพยากรสัตว์น้ำได้อย่างทั่วถึงทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น มีคุณภาพที่ดีขึ้นจากการประกอบอาชีพประมง และชุมชนประมงเกิดความเข้มแข็งสามารถพึ่งพาตนเองได้

นอกจากนี้ ยังมีการจัดนิทรรศการให้ความรู้ทางการประมงมากมาย อาทิ มาตรฐานประมงพื้นบ้านยั่งยืน มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรในอ่าวไทย เขตทะเลหลวง เขตทะเลชายฝั่ง การบริหารจัดการทรัพยากรประมงโดยใช้แนวทางระบบนิเวศ การตลาด (ปลากะพง) โรคสัตว์น้ำ และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากชาวประมง อีกด้วย

ทั้งนี้ การดำเนินโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์และบทเรียนจากการดำเนินงานพัฒนาอาชีพและส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนประมงชายทะเล เสริมสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมขององค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น ระหว่างภาคประชาชนกับภาครัฐ ภายใต้บริบทและวิถีของชุมชน เกิดความมั่นคงในอาชีพประมงพื้นบ้านอย่างยั่งยืน หวังเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างความเข้มแข็งให้กับพี่น้องชาวประมงพื้นบ้านทั้ง 23 จังหวัด เกิดการมีส่วนร่วมในการบริหารทรัพยากรประมงของชุมชน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยให้เกิดความยั่งยืนของอาชีพประมงภายใต้ความยั่งยืนของทรัพยากร ตามนโยบายที่ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เน้นย้ำให้กรมประมงบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ควบคู่ไปกับคุณภาพชีวิตที่ดีของพี่น้องชาวประมง


ภาพ/ข่าว : นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์  หาดใหญ่ สงขลา

“ประยุทธ์” สั่งเดินหน้า “เมืองต้นแบบที่ 4” หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องละเอียดรอบคอบ ในการ ขับเคลื่อน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี “สั่งการ” ให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เดินหน้า ในการ ผลักดัน “เมืองอุตสาหกรรมแห่งอนาคต” หรือ”เมืองต้นแบบที่ 4” มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ต่อไป ตามมติ ครม. 7 พฤษภาคม 2562 โดยให้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ( ศอ.บต. ) เป็นฝ่ายอำนวยการ

เพราะได้มีการตรวจสอบในประเด็นของการ ร้องเรียนจาก กลุ่ม เอ็นจีโอ ที่ร้องเรียนถึงความไม่ถูกต้องในขบวนการต่างๆ ของหน่วยงานของรัฐ ที่เข้าไปดำเนินการขับเคลื่อนโครงการ “เมืองต้นแบบที่ 4” ตาม มติ ครม. และตามคำสั่งของ นายกรัฐมนตรี และ รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร สุวรรณวงค์ ผู้เป็นประธาน กพต. ที่เป็นผู้เสนอโครงการสรุปว่า

เรื่องที่เอ็นจีโอร้องเรียนต่อ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.กระทรวงเกษตรฯ ก็ดี เรื่องที่ ผู้ช่วยรัฐมนตรีสำนักนายก ที่เดินทางมาตรวจสอบข้อเท็จจริง จากหน่วยงานของรัฐ ทั้งเรื่องของการ เปลี่ยนผังเมือง เรื่องของการออกโฉนดที่ดิน เรื่องของการรับฟังความคิดเห็น และการทำความเข้าใจกับคนในพื้นที่ 3 ตำบล ของ อ.จะนะ ที่เป็นที่ตั้งโครงการ  มีการตรวจสอบแล้ว ว่าอะไรเป็นเรื่องเท็จ อะไรเป็นเรื่องจริง หลังจากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จึงได้สั่งให้ เดินหน้า อย่างไม่ชักช้า

แสดงให้เห็นว่า เรื่องที่ถูก เอ็นจีโอ กล่าวหาต่อ หน่วยงานของรัฐทุกเรื่อง ทุกหน่วยงาน ตั้งแต่ ศอ.บต. ที่ดินอำเภอ ที่ดินจังหวัด สำนักงานโยธาธิการ ไม่มีข้อเท็จจริง และแม้แต่การที่ สส.ฝ่ายค้านนำเรื่องนี้ ไปอภิปราย ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย ว่าเป็นผู้ “เอื้อ” ประโยชน์ ให้กับนายทุน ก็ไม่มีน้ำหนัก

หลังการอภิปราย เอ็นจีโอ และ กลุ่มผู้เห็นต่าง ในพื้นที่ อ.จะนะ ที่ต่อต้านโครงการ”เมืองต้นแบบที่ 4” ถึงขนาด ปล่อยข่าวว่า จะมีการย้าย พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และนายชนธัญ แสงพุ่ม ( ดร.เจ๋ง ) รองเลขาธิการ ศอ.บต. ออกจากพื้นที่ เพราะเชื่อมั่นว่าการ ร้องเรียนเพื่อ เอาผิด กับ ทุกหน่วยงานราชการที่เกี่ยว และการ อภิปรายของฝ่ายค้าน จะเป็น”หมัดเด็ด”นั้น  สลายเป็นอากาศธาตุในทันที ที่ พล.อ.ประยุทธ์ มีการสั่งการเดินหน้า ของ โครงการ”เมืองต้นแบบที่ 4”

และ หลังที่คำสั่งของ พล.อ.ประยุทธ์ ถูก”สื่อ”ส่วนกลาง นำเสนอ เอ็นจีโอ ในพื้นที่ก็มีการ ต่อสายกับ”เครือข่าย” และกลุ่มผู้ที่”เห็นต่าง” ในพื้นที่ เพื่อเตรียมการกำหนดแผนในการ ขับเคลื่อน เพื่อการต่อต้าน โครงการ”เมืองต้นแบบที่ 4” ต่อไป ซึ่งจะต้องติดตามว่า ครั้งนี้ เอ็นจีโอ และกลุ่มผู้เห็นต่าง จะใช้แผนอะไร ในการ ต่อต้าน เพื่อมิให้ โครงการนี้เดินหน้าเพราะเมื่อผลจากการสอบสวนในข้อร้องเรียนไม่เป็นจริง การที่จะต่อต้าน ย่อมขาดความชอบธรรม

วันนี้ กลุ่มผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหว เพื่อการต่อต้าน “เมืองต้นแบบที่ 4” มีอย่างน้อย 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มเก่า ที่เป็นผลผลิตของ เอ็นจีโอ ตั้งแต่การต่อต้าน โรงงานท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย เมื่อ 20 ปีก่อน และกลุ่มที่ 2 ที่ปรากฏตัวแบบชัดเจน ไม่มีการเป็น”อีแอบ”แล้ว ในขณะนี้คือ กลุ่มของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา ซึ่งถือเป็นกลุ่มใหญ่ ที่เกิดขึ้นมา

ซึ่งหน่วยงานที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อรับผิดชอบในเรื่องการทำความเข้าใจ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายมวลชนของ”กลุ่มทุน” ต้องนับหนึ่งใหม่ ในการสร้างความเข้าใจ การให้รายละเอียดของโครงการ การรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะ ข้อเรียกร้อง ให้เป็นไปตาม ขบวนการ เพื่อสร้างความชอบธรรม และต้องทำให้”โปร่งใส” ครบถ้วนทุกขั้นตอน เพื่อสร้างความชอบธรรมให้เกิดขึ้น โดยไม่จำเป็นที่จะต้องรีบร้อนแต่อย่าใด

ส่วนกลุ่มโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา นั้น เป็นกลุ่มใหม่ที่ต่อต้านโครงการนี้ ซึ่งอาจะมีปัญหาของความ”ไม่เข้าใจ” ปัญหาการ ไม่ให้เกียรติกัน ไม่เห็นความสำคัญ และไม่ได้มีส่วนร่วมในโครงการดังกล่าว  ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการทำความเข้าใจ ก็ต้องไปคิดว่าจะดำเนินการอย่างไร เพราะแต่ละกลุ่ม มีความคิด ความเห็น ความต้องการ ที่ไม่เหมือนกัน แต่เชื่อว่า หลังจากการเลือกตั้งท้องระดับเทศบาลผ่านไป สถานการณ์ในพื้นที่อาจจะนิ่งในระดับหนึ่ง เพราะต้องยอมรับว่าเรื่องของการเมืองท้องถิ่น ก็มีส่วนในการสร้าง ก๊ก สร้างกลุ่ม สร้างความขัดแย้งในพื้นที่ โดยมีโครงการ”เมืองต้นแบบที่ 4” เป็น”เหยื่อ” เช่นกัน

บรรทัดนี้ จึงขอแสดงความยินดีกับ กลุ่มประชาชน และ องค์กรต่างๆ ที่สนับสนุนให้”เมืองต้นแบบที่ 4” ที่ อ.จะนะ เดินหน้า เพราะต้องการที่จะเห็นความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง และใกล้เคียง ที่จะได้รับประโยชน์ จากการเกิดขึ้นของ”เมืองต้นแบบที่ 4” แห่งนี้ เพื่อเปิดประตูของภาคใต้ไปสู่โลกภายนอก และนำเงินตราเข้าสู่ประเทศไทย เพราะวันนี้ ภาคใต้จะหวัง”พึ่งพา” อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และ ผลผลิตทางการเกษตร ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว นั่นเอง


ภาพ/ข่าว นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ (หาดใหญ่ จ.สงขลา)

ม.สงขลานครินทร์ ร่วมกับ ปปท.เขต 9 เสริมสร้างธรรมาภิบาลต่อต้านการทุจริตในภาครัฐ

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐเขต 9 (สำนักงาน ปปท.เขต 9) จัดโครงการเสริมสร้างธรรมาภิบาลต่อต้านการทุจริตในภาครัฐ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำปีงบประมาณ 2564 เพื่อเตรียมพร้อมการรองรับการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) ประจำปี 2564 โดยมี ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นประธานเปิดงาน

นางประไพพรรณ รัตนะ ผู้อำนวยการกลุ่มงานป้องกันการทุจริตในภาครัฐ เขต 9 กล่าวรายงาน พันตำรวจเอกกษิดิศ เพิ่มพูนวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ปปท. เขต 9 เป็นวิทยากร ให้ความรู้เกี่ยวกับการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment ) (ITA) และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต รวมทั้งการบริหารความเสี่ยงการทุจริต และมีคณะผู้บริหาร และบุคลากร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จำนวน 100 คน เข้าร่วมงาน ณ โรงแรมสยามออเรียนทัล อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 64

ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นที่เกิดขึ้นในหน่วยงานราชการต่างๆ ที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบในวงกว้าง ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อส่วนรวมของประเทศ ทำให้รัฐต้องสูญเสียงบประมาณในการพัฒนาประเทศแต่ละปีเป็นจำนวนมาก เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมืองในทุกมิติ และส่งผลให้คะแนนระดับดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ของประเทศอยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์ติดต่อกันหลายปี รัฐบาลจึงมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาการทุจริตในระดับประเทศอย่างต่อเนื่องในทุกระดับ

ตั้งแต่การพัฒนากลไก มาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตให้มีความเข้มแข็ง กำหนดเครื่องมือ กลไก และเป้าหมาย แนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจน โดยให้หน่วยงานภาครัฐดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตระยะที่ 3 ซึ่งมุ่งเป้าหมายให้ทุกภาคส่วนในสังคมตื่นตัวและเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตตามบทบาทและหน้าที่ ตลอดจนมีการพัฒนาจิตสำนึกค่านิยมและจรรยาบรรณของเจ้าหน้าที่ในภาครัฐ

การอบรมในครั้งนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งที่เจ้าหน้าที่รัฐ กลุ่มผู้บริหารมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จะได้ทราบถึงรูปแบบและวิธีการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐให้เป็นไปตามหลักธรรมมาภิบาล การพัฒนากระบวนงานบริการภาครัฐให้มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว โปร่งใส และเป็นธรรม ตามหลักมาตรฐานสากล เป็นที่ยอมรับของสาธารณชน ตามหลักพื้นฐานการเป็นธรรมรัฐ (Good Governance) เพื่อพัฒนาก้าวไปสู่การปราศจากทุจริตคอรัปชั่น และการเสริมสร้างเครือข่ายภาครัฐทั้งในระดับองค์กรและตัวบุคคลให้เป็นกลไกเฝ้าระวัง ป้องกันและปราบปรามการทุจริต ในการต่อต้านการุจริตทุกรูปบบ รวมถึงมีการประสานความร่วมมือและการปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจรติ พ.ศ. 2551 ต่อไป

ด้าน นางประไพพรรณ รัตนะ ผู้อำนวยการกลุ่มงานป้องกันการทุจริตในภาครัฐ เขต 9 กล่าวว่า การอบรมในครั้งนี้จัดขึ้นตามยุทธศาสตร์ชาติระยะเวลา 20 ปี ยุทธศาสตร์ที่ 6 ด้านการปรับความสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐยุทธศาสตร์ชาติที่ว่าด้วยการป้องกันและการปราบปรามการทุจริตระยะที่ 3 พ.ศ.2560-2564 เพื่อสร้างวัฒนธรรมการต่อต้านการทุจริต ยกระดับธรรมมาภิบาลในการบริหารจัดการทุกภาคส่วน และปฎิรูปกระบวนการป้องกันและปราบปรามการทุจริตทั้งระบบให้มีมาตรฐานเท่าสากล โดยมีความสอดคล้องกับแผนปฎิบัติในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ สำนักงาน ป.ป.ท. ยุทธศาสตร์ที่ 2 ขับเคลื่อนการทำงานที่มีธรรมมาภิบาลในหน่วยงานภาครัฐ และยุทธศาสตร์ที่ 3 การบูรณาการที่มีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการต่อต้านการทุจริต

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ สร้างค่านิยมและปลูกจิตสำนึกของเจ้าหน้าที่รัฐ ตลอดจนผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องให้มีการปฏิบัติงานเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล เพื่อนำบริการของรัฐที่มีคุณภาพไปสู่ประชาชนผู้รับบริการ ทำให้การบริการราชการมีความถูกต้อง โปร่งใส เป็นที่ยอมรับของสาธารณชน และบทบาทภารกิจของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ซึ่งถือเป็นหน่วยงานที่เป็นกลไกที่สำคัญของฝ่ายบริหารที่มีภารกิจหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ตลอดจนการร่วมเป็นเครือข่ายภาครัฐในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และปราบปรามการทุจริตในทุกรูปแบบ

สส.เดชอิศม์ ทำสงครามบ่อทรายเถื่อน ประกาศจับตามกฎหมาย ไม่ยอมให้มีเจ้าพ่อเพื่อทำลายสิ่งแวดล้อม

ที่สำนักงานประสานงาน ผู้แทนราษฎรเขต 5 นายเดชอิศม์ ขาวทอง หรือ ”นายกชาย” ได้มีการประชุม ผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น  และประชาชน ในพื้นที่ เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาคลองภูมี ซึ่งเป็นลำคลองขนาดใหญ่ ที่คนใน อ.รัตภูมิ และ ควนเนียง ใช้ประโยชน์ในการเกษตร  โดยคลองภูมี มีความยาว 65 กิโลเมตร  ต้นน้ำอยู่ที่ ต.เขาพระ อ.รัตภูมิ และไหลลงทะเลสาบสงขลาที่ อ.ควนเนียง โดยในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมา มีนายทุนดำเนินกิจการ ดูดทรายเถื่อนเป็นจำนวนมาก สร้างความเสียหายให้กับคลองภูมี ทั้งในเรื่องของน้ำเสีย  ,ตะกอนดิน, ตลิ่งพัง และอื่น ๆ สร้างความเดือดร้อนให้กับคนในพื้นที่และน้ำเสีย ตะกอนดินดังกล่าว ไหลลงสู่ทะเลสาบสงขลา ตื้นเขิน และน้ำเน่าเสีย

โดยนายเดชอิศม์ ได้มีการระดมความคิดเห็น จากทุกภาคส่วนเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งในที่ประชุมได้เสนอความคิดเห็นอย่างหลากหลาย เพื่อที่จะทำให้กลับสู่สภาพเดิม โดยที่ไม่มีการทำลายด้วยการดูดทราย และการปล่อยน้ำเสียลงในลำคลอง และพัฒนาคลองให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว การสร้างประโยชน์ร่วมให้คนที่อาศัยริมคลอง เพื่อร่วมกันดูแลอย่าให้ลำคลองถูกทำลาย รวมทั้งการตัดถนนริมคันคลองเพื่อง่ายในการดูแลการถูกบุกรุกและดูดทรายเถื่อน คลองภูมี มี”ธรรมนูญ” ที่ประกาศใช้ เพื่ออนุรักษ์ และมีกรรมการคณะต่าง ๆ ที่ตั้งขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้ว และแนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหาคือ ต้องนำ”ธรรมนูญ” ดังกล่าวมาใช้ และ กรรมการทุกคณะต้องร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว โดยมี ท้องที่ ท้องถิ่น อบจ. และ สส.ให้การสนับสนุน

ซึ่งนายเดชอิศม์ฯ ได้ประกาศกับผู้อยู่ในห้องประชุมกว่า 100 คน ว่า จะดำเนินการตามกฎหมาย แจ้งผู้ว่าราชการจังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด สิ่งแวดล้อม และ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ให้เข้าไปตรวจสอบและจับกุม บ่อทรายเถื่อนทั้งหมด เพราะถ้าปล่อยไว้คลองภูมีต้องยับเยินกว่านี้  คนใน 2 อำเภอจะเดือดร้อนกว่านี้ “ผมไม่กลัวผู้มีอิทธิพล ที่ดูดทรายเถื่อน ผมไม่ยอมให้มีเจ้าพ่อเพื่อทำลายสิ่งแวดล้อม เจ้าพ่อต้องไปอยู่โคนต้นไทรเท่านั้น ไม่ใช่มาทำลายธรรมชาติ ทลายสิ่งแวดล้อม และทำร้ายประชาชนในเขตเลือกตั้งของผม” นายกชายประกาศในห้องประชุม

ภาพ/ข่าว  นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์  (หาดใหญ่ จ.สงขลา)

ชาวประมงบ้านเก้าเส้ง เจอสภาพอากาศแปรปรวนช่วงหน้าร้อน คลื่นลมแรงทำให้ต้องหยุดออกเรืออีกรอบ

หลังกรมอุตุใต้รายงานสภาพอากาศแปรปรวนช่วงหน้าร้อน มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่ และฝนหนักกับลมกระโชกแรง ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

วันนี้ 24 มีนาคม 2564  สภาพอากาศบริเวณชายฝั่งจังหวัดสงขลาทะเลเริ่มมีคลื่นลมแรงซัดเข้าหาฝั่งเป็นระลอก ๆ บริเวณชายหาดบ้านเก้าเส้ง เขตเทศบาลนครสงขลา อ.เมือง จ.สงขลา มีลมกรรโชกแรงตลอดเวลา ทะเลมีคลื่นกำลังแรงพัดเข้าหาฝั่งเช่นเดียวกัน

ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก รายงานสภาพอากาศในวันนี้ว่า บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนเริ่มมีกำลังอ่อนลง บริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่างมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่ และฝนหนักกับลมกระโชกแรงบางแห่งทางตอนล่างของภาค บริเวณจังหวัดสงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ส่วนลมตะวันออกที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังปานกลาง  ขอให้ประชาชนระมัดระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง

สำหรับบริเวณอ่าวไทยตอนล่างทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองทะเลมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง หลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง

ชาวประมงพื้นบ้านเก้าเส้ง จึงจำเป็นต้องหยุดออกเรือจับปลานำเรือขึ้นมาจอดบริเวณชายฝั่ง ปากคลองสำโรงที่ถูกคลื่นซัดทรายขึ้นมาปิดปากคลองสำโรงเป็นสันดอนชายหาด สามารถนำเรือขึ้นไปจอดได้ กว่า 20 ลำ เนื่องจากไม่สามารถนำเรือเข้าไปจอดในคลองสำโรงได้

ในขณะเดียวกัน ก็ต้องคอยระมัดระวัง หมั่นเดินมาดูแลเรืออยู่เป็นระยะ ๆ เนื่องจาก บางครั้ง ช่วงน้ำขึ้น คลื่นมีกำลังแรง จะชัดขึ้นมาถึงบริเวณที่จอดเรือ หากผูกมัดหรือไม่ดีเรืออาจจะลอยตามน้ำลงไปในทะเลได้

เนื่องจากในช่วงนี้ปรกติเป็นหน้าร้อน ทะเลจะเรียบไม่มีคลื่นลม ชาวประมงพื้นบ้านจะออกเรือจับสัตว์น้ำได้ ตลอดช่วงหน้าร้อน แต่ในช่วงนี้สภาพอากาศแปรปรวน ทำให้ชาวประมงพื้นบ้านเก้าเส้ง ต้องหยุดออกเรือทำการประมง มา 2-3 วันแล้วและในวันนี้ก็ยังคงหยุดต่อไปอีก เพื่อรอให้คลื่นลมสงบจึงจะสามารถออกไปทำการประมงได้ตามปกติ

อย่างไรก็ตามชาวประมงพื้นบ้านก็จะต้องดูสภาพอากาศและคลื่นลมในช่วงย่ำรุ่งก่อนออกเรือทุกวัน เพราะสภาพอากาศแปรปรวนไม่แน่นอน  วันนี้ลมตะวันออกความเร็ว 15-35 กม./ชม. ยังคงพัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ อ่าวไทยตอนล่างทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองทะเลมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ภาพ/ข่าว  นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ (หาดใหญ่ จ.สงขลา)

องค์การจัดการน้ำเสีย เร่งจับมือท้องถิ่น แก้น้ำเสีย เพื่อรักษาสมดุลน้ำในการอุปโภคบริโภค พร้อมประสานทุกความร่วมมือ ดำเนินแนวทาง "น้ำเสีย อยู่คู่ชุมชนได้"

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 25 มีนาคม 2564 ที่องค์การจัดการน้ำเสีย (อจน.) สำนักงานใหญ่ กรุงเทพฯ นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมคณะได้เดินทางมาตรวจเยี่ยม เพื่อมอบนโยบายการดำเนินงานขององค์การจัดการน้ำเสีย โดยมี นายพรพจน์ เพ็ญพาส ประธานกรรมการ อจน.พร้อมด้วยคณะกรรมการ นายชีระ วงศบูรณะ ผู้อำนวยการ อจน.ให้การต้อนรับ

นายนิพนธ์ กล่าวว่า "ปัญหาน้ำเสียเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทยและต้องดำเนินการให้เป็นกิจจะลักษณะเป็นปัญหามลพิษทางน้ำที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย และคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมถึงคุณภาพสิ่งแวดล้อมของประเทศ ที่ผ่านมารัฐบาลมีความตั้งใจในการแก้ปัญหาน้ำเสียอย่างจริงจัง คณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงมีมติเห็นชอบกำหนดเขตพื้นที่จัดการน้ำเสียขององค์การจัดการน้ำเสียให้ครอบคลุมทุกจังหวัดของประเทศไทย เพื่อเร่งรัดการพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำเสียของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบูรณาการดำเนินงานร่วมกันระหว่างองค์การจัดการน้ำเสียและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)

นายนิพนธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้เน้นย้ำให้องค์การจัดการน้ำเสีย(อจน.)เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชน รวมถึงการสร้างความตระหนัก ในการช่วยกันลดความสกปรกของน้ำเสียจากแหล่งกำเนิด การมีส่วนร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อมของชุมชน สร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนว่าต้องช่วยกันแก้ไขปัญหาน้ำเสียด้วยกันถึงจะประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาน้ำเสีย พร้อมบูรณาการความร่วมมือหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย โดยมุ่งเน้นการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านต่าง ๆ อย่างจริงจัง และเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เช่น องค์การจัดการน้ำเสีย ในฐานะหน่วยงานในการบริหารจัดการน้ำเสีย การประปาส่วนภูมิภาค และการประปานครหลวง

ในฐานะหน่วยงานที่ผลิตน้ำประปา บูรณาการความร่วมมือระหว่างกันในการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการคุณภาพน้ำอย่างเป็นระบบมีประสิทธิภาพเน้นการดำเนินงานตามกรอบแนวทางการกำกับกิจการที่ดีและตามมาตรฐานสากล ดำเนินงานอย่างโปร่งใส สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน และอีกประการหนึ่งที่สำคัญคือต้องเข้าไปประสานงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ ที่มีความพร้อมดำเนินการเพื่อจัดการแก้ไขปัญหาน้ำเสียที่มีมากถึง 7 ล้านลบ.ม.ต่อวัน โดยน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วสามารถนำมาเป็นนำกลับมาใช้ได้อย่างมีคุณภาพและปลอดภัย ดังนั้น จึงถือว่าแนวทางดังกล่าวเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้การใช้ทรัพยากรน้ำเกิดความคุ้มค่าสูงสุด"

นอกจากนี้ เรื่องบุคลากรถือเป็นกลไกหลักในการสนับสนุนภารกิจขององค์กร ควรมีการเพิ่มศักยภาพความรู้ความสามารถของบุคลากรในองค์กรให้มีทักษะที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับหน่วยงานภายในประเทศและต่างประเทศ พัฒนาเทคโนโลยีในการบำบัดน้ำเสียให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์ ประชาชนในชุมชนสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสม เพื่อสร้างทัศนคติที่ดีต้องทำให้เห็นว่าน้ำเสียสามารถอยู่คู่กับชุมชนได้อย่างเป็นระบบ มุ่งเน้นความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมประยุกต์ใช้พื้นที่ของระบบบำบัดน้ำเสียให้เป็นสถานที่ที่ประชาชน โดยใช้โรงงานน้ำเสียที่บำบัดอยู่ใต้ดิน ส่วนข้างบนเป็นสวนสาธารณะ หรือสนามฟุตบอลตามที่ท้องถิ่นต้องการให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ รวมทั้งมีการนำน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วกลับมาใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสมต่อไป

ภาพ/ข่าว  นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ (หาดใหญ่ จ.สงขลา)

สงขลา - นิพนธ์ เร่ง ศอ.บต. เสนอขอรับงบประมาณ แก้ปัญหาเด็กเล็กพื้นที่ชายแดนใต้มีโภชนาการต่ำ พร้อมติดตามความคืบหน้าการเสนอแนวทางแก้ไขจากทุกภาคส่วน

นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการขับเคลื่อนมติ กพต.ประเด็นการแก้ไขปัญหาสุขภาวะ และโภชนาการต่ำของเด็กเล็กในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ครั้งที่ 2 ณ โรงแรมสยามออเรียนทัล อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยมีนายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการ ศอ.บต. ตัวแทนสำนักงบประมาณ  หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการศึกษา หน่วยงานด้านสาธารณสุข หน่วยงานด้านการปกครองส่วนท้องถิ่น และท้องที่ เข้าร่วมประชุมหารือฯ

โดยประเด็นการแก้ไขปัญหาสุขภาวะและภาวะโภชนาการของเด็กๆในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักประสานงานการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้จากการประชุมหารือแนวทางการดำเนินการดังกล่าวที่ผ่านมา ที่ประชุมมีมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาการจัดทำข้อมูลเด็กและกลุ่มอายุ 0-5 ปีและแนวทางการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาด้านสุขภาวะเชื่อมโยงกับการจัดสวัสดิการภาครัฐในเด็กแรกเกิดรวมถึงการดูแลที่เกี่ยวเนื่องในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสถานศึกษาและสถานรับเลี้ยงเด็กเอกชน โดยให้รายงานผลการปฏิบัติและแนวทางการจัดทำข้อเสนอในการประชุมครั้งถัดไป

ในการนี้ นายนิพนธ์ รมช.มท. ได้กล่าวสรุปถึงแนวทางในการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาในส่วนของการขอรับการสนับสนุนงบประมาณว่า "ต้องให้ ศอ.บต. ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงบประมาณในวงเงิน ประมาณ 165 ล้านบาท โดยเป็นปีงบประมาณ 2565 ซึ่งก็ขอให้ทำเรื่องนี้เข้าในที่ประชุมของคณะกรรมการ กพต.  พร้อมทั้งยื่นต่อคณะรัฐมนตรีในการยื่นขอแปรญัตติ ส่วนหากเป็นไปได้ถ้า covid-19 บรรเทาเบาบางลง ถ้าจะขอใช้งบกลางของท่านนายก ก็ต้องมาดูในเรื่องของความจำเป็น ซึ่งต้องขอให้สำนักงบประมาณดูในส่วนนี้ด้วย เพราะขณะนี้งบประมาณปี 64  ได้เริ่มปีงบประมาณไปแล้ว 6 เดือน และ 6 เดือนที่เหลือในปี 64  ถ้าจะเร่งรัดในการแก้ปัญหานี้เลย ก็ให้ใช้งบประมาณที่เหลือในปี 64 ต้องดูว่าจะใช้ได้หรือไม่อย่างไร ซึ่งคาดว่าจะยังคงมีงบประมาณอยู่ 70 ล้านบาท แต่ถ้าไม่ได้ก็ต้องใช้งบประมาณในปี 65 เริ่มต้นปีงบประมาณใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ คือเดือนตุลาคมปี 64 แต่ถ้าปีงบประมาณ 65 ไม่ได้ ก็ขอให้ตั้งเป็นงบประมาณของปี 66 เอาไว้ โดยให้อยู่ในแผนขอสนับสนุนงบประมาณ"


ภาพ/ข่าว  นายปรีชา สถิตเรืองศักดิ์  (หาดใหญ่ จ.สงขลา)

 

สงขลา - รอง เลขาธิการ ศอ.บต. เผยถึงความคืบหน้าของ”เมืองต้นแบบที่ 4” ความเหมือนและความต่างจาก “eeC” และ “sec “อย่างไร

นายบดินทร์ รัศมีเทศ รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)  เปิดเผยถึงความคืบหน้าของ “เมืองต้นแบบที่ 4 “ ที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ว่า เมืองต้นแบบที่ 4 เป็นแนวทางการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในอนาคต ว่าในแนวคิดการพัฒนาพื้นที่ในโครงการ “สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ ถือเป็นหน้าที่ของภาครัฐ คือการสร้างโอกาสในพื้นที่ สิ่งสำคัญคือเรื่องการสร้างงาน เพื่อให้เยาวชน และคนรุ่นที่จะเรียนจบการศึกษา และผู้ที่จบมาแล้วแต่ยังว่างงาน สามารถมีงานทำ มีอาชีพที่มั่นคง ซึ่งจะส่งผลให้คนในท้องถิ่น ไม่ละทิ้งบ้านเกิด และเป็นกำลังหลักในการเป็นเสาหลักของครอบครัว และการพัฒนาท้องถิ่น และชุมชน

สำหรับโครงการ “เมืองต้นแบบที่ 4 “ที่ อ.จะนะ มีเอกชนให้ความสนใจในการเข้ามาลงทุนเพราะมีการถือครองที่ดินก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งเอกชนก็ยื่นโครงการเข้ามาให้รัฐบาล แม้ว่ารัฐบาลจะเห็นชอบ แต่ก็ยังต้องมีขั้นตอนมากมาย กว่าที่จะสำเร็จลุล่วง  เช่นการขออนุญาตเรื่องเปลี่ยนผังเมือง เพื่อประกอบกิจกรรมอุตสาหกรรม   หน่วยงานของรัฐจะดำเนินการเองไม่ได้ ต้องมีการทำประชาพิจารณ์ รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ และรอบด้าน แม้แต่ในเรื่องการสร้างความเข้าใจกับคนในพื้นที่ ถึงโครงการดังกล่าว ก็ต้องมีการดำเนินการอย่างเข้มข้นต่อไป

แต่...อย่างไรก็ตามในส่วนของโครงการ”เมืองต้นแบบ ที่ 4 “ ที่ อ.จะนะ การพัฒนาอุตสาหกรรมที่จะนะ  เป็นกรอบที่ชัดเจนจากรัฐบาล และจากเอกชนว่า จะไม่มีอุตสาหกรรมหนัก เช่น  ปิโตรเคมี และ อุตสาหกรรมเหล็ก แต่จะพัฒนาเป็นพื้นที่ ที่เป็นเมืองแห่งอนาคต เป็นเมืองน่าอยู่ มีความทันสมัย เป็นศูนย์กลางในการพัฒนา อีเลคโทรนิกส์ที่ทันสมัย ซึ่ง ศอ.บต. ได้มีการ ประสานงานกับ เอกชนผู้มาลงทุน รวมถึงสถาบันการศึกษา ในการเตรียมความพร้อมของบุคลากร ซึ่งจะเป็นการช่วยยกระดับฝีมือ แรงงาน  และ ทักษะ ของคนในพื้นที่ ให้สอดคล้องกับ อุตสาหกรรม จะเกิดขึ้นในพื้นที่ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกมีการพัฒนาที่ชื่อว่า” eec”ส่วนภาคใต้แบ่งเป็น 2 ส่วน เช่น เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ หรือ “sec”  แต่ “sec” เป็นโครงการของการพัฒนาภาคใต้ตอนบน 4 จังหวัด ที่ไม่เกี่ยวกับ การพัฒนาพื้นที่ชายแดนภาคใต้ หรือ “sbec”  ซึ่งในพื้นที่นี้ จะเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่ครอบคลุม 4 อำเภอ ของ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้  ได้แก่ อ.สุไหงโก-ลก อ.หนองจิก อ.เบตง และ อ.จะนะ

แนวคิดของ “sbec” นั้น  มีความเหมือนและต่างกับ “eec”  เพราะ “eec” มีการพัฒนาอุตสาหกรรมที่หลากหลาย แต่ “ sbec “ เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมทันสมัย  ที่ต้องมีการสร้างที่ อ.จะนะ เพราะจะต้องมีการสร้างท่าเรือขนาดใหญ่ เป็นท่าเรือฝั่งอ่าวไทย ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ และการส่งออกของประเทศ ซึ่งขณะนี้ “พณ”ท่าน นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งให้ หน่วยงานที่รับผิดชอบ โครงการนี้ ขับเคลื่อนโครงการต่อไป ในกรอบของ กฎหมาย โดย ศอ.บต. จะเป็น ส่วนในการ สนับสนุนทุกภาคส่วนที่เข้ามา ขับเคลื่อน โครงการนี้ ให้สามารถ เดินหน้าอย่างเป็นรูปธรรม รอง เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวท้ายสุด


ภาพ/ข่าว  นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์  (หาดใหญ่ จ.สงขลา)

 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top