Thursday, 25 April 2024
วิกฤตเศรษฐกิจ

รัฐมนตรีพม่า โทษบ่อนทำลายจากต่างชาติ ตัวการทำเศรษฐกิจพม่าเข้าสู่ภาวะวิกฤต

รอยเตอร์ - เจ้าหน้าที่ที่ได้รับการแต่งตั้งโดยกองทัพของพม่ากำลังพยายามอย่างสุดความสามารถที่จะรักษาเสถียรภาพของค่าเงินจ๊าตและสนับสนุนเศรษฐกิจที่โกลาหลวุ่นวายนับตั้งแต่การรัฐประหารในเดือนก.พ. รัฐมนตรีพม่าเผยกับรอยเตอร์ โดยกล่าวโทษว่าส่วนหนึ่งของวิกฤติเป็นผลจากผู้สนับสนุนต่างชาติของฝ่ายตรงข้าม

ค่าเงินจ๊าตอ่อนลงมากกว่า 60% ในเดือนก.ย. หลังประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เผชิญกับการชุมนุมประท้วง การผละงาน และเศรษฐกิจเป็นอัมพาตนานหลายเดือนหลังการรัฐประหาร

อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นเป็น 6.51% นับตั้งแต่กองทัพเข้ายึดอำนาจจาก 1.51% ก่อนหน้านี้ และทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ที่ 11 ล้านล้านจ๊าต หรือ 6,040 ล้านดอลลาร์ ที่เป็นอัตราทางการของธนาคารกลาง อ่อง นาย อู รัฐมนตรี กล่าวให้สัมภาษณ์

นับเป็นครั้งแรกที่พม่าเปิดเผยระดับของเงินตราต่างประเทศของตัวเองนับตั้งแต่การรัฐประหาร และเปรียบเทียบกับตัวเลขของธนาคารโลกที่มีมูลค่าอยู่ที่ 7,670 ล้านดอลลาร์ ณ สิ้นปี 2563

รัฐมนตรีกระทรวงการลงทุนของรัฐบาลทหารกล่าวว่าพม่ากำลังประสบปัญหาเช่นเดียวกับประเทศส่วนใหญ่ จากผลกระทบของการระบาดของโควิด-19

แต่เขาให้เหตุผลว่าปัญหาเศรษฐกิจของประเทศเกิดจากการบ่อนทำลายโดยฝ่ายตรงข้ามของรัฐบาลทหาร ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์กรต่างประเทศ

“การระบาดก่อให้เกิดภัยคุกคามร้ายแรงในพม่า นำไปสู่การชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ที่เลวร้ายลงจากการบ่อนทำลายและการอารยะขัดขืนที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ” อดีตผู้กำหนดนโยบายคนสำคัญในรัฐบาลที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพ ที่ปกครองพม่าหลังสิ้นสุดการปกครองของทหารโดยตรงนานครึ่งศตวรรษในปี 2554 กล่าว

เมื่อถูกถามว่าประเทศใดสนับสนุนการบ่อนทำลายทางเศรษฐกิจและมีสิ่งใดเป็นหลักฐาน รัฐมนตรีปฏิเสธที่จะระบุ และตอบเพียงว่า “เราได้รับหลักฐานจำนวนหนึ่งเกี่ยวกับวิธีที่พวกเขาแทรกแซง”

อ่อง นาย อู กล่าวว่า สื่อต่างชาติรายงานเกินจริงเกี่ยวกับวิกฤติ แต่อย่างไรก็ตาม เขากล่าวเสริมว่า “หวังว่าในอีกไม่กี่เดือน เราจะสามารถฟื้นกลับสู่สถานการณ์ปกติของเราได้”

บริษัทต่างชาติ 6 แห่ง ได้ยื่นขออนุญาตที่จะออกจากพม่านับตั้งแต่การรัฐประหาร และหลายแห่งได้ระงับธุรกิจของพวกเขา

บริษัทเหล่านั้นยังรวมถึงหนึ่งในนักลงทุนรายใหญ่ที่สุด คือ เทเลนอร์ บริษัทโทรคมนาคมสัญชาตินอร์เวย์ ที่ประกาศในเดือนก.ค. ว่าบริษัทกำลังขายกิจการในพม่าให้กับบริษัท M1 Group จากเลบานอน เป็นมูลค่า 105 ล้านดอลลาร์

‘นักเรียนศรีลังกา’ หลายล้านอดสอบ เหตุวิกฤตศก.ครั้งใหญ่ ทำกระดาษขาดแคลน

ศรีลังกาประกาศยกเลิกการสอบของนักเรียนหลายล้านคน หลังประเทศประสบปัญหาไม่มีกระดาษพิมพ์ เพราะไม่มีเงินดอลลาร์ที่จะนำไปจ่ายในการนำเข้ากระดาษ

หน่วยงานด้านการศึกษาของศรีลังกาเผยว่า การสอบของนักเรียนซึ่งจะเริ่มต้นในวันจันทร์ที่กำลังจะมาถึงต้องถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนกระดาษอย่างฉับพลัน หลังศรีลังกากำลังเผชิญกับวิกฤตการเงินที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ได้รับเอกราชเมื่อปี 2491

‘รัฐมนตรีศรีลังกา’ ลาออกจากตำแหน่งทั้งคณะ หลังปชช. ลุกฮือประท้วงวิกฤตข้าวยากหมากแพง

บรรดารัฐมนตรีของศรีลังกา ยกเว้นประธานาธิบดี และนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นพี่ชายของเขา ลาออกจากตำแหน่งทั้งคณะในวันอาทิตย์ (3 เม.ย.) ขณะที่กลุ่มการเมืองฝ่ายรัฐบาลพยายามหาทางคลี่คลายวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังหนักหนาสาหัสมากขึ้นเรื่อยๆ

ประเทศเอเชียใต้แห่งนี้กำลังเผชิญกับภาวะขาดแคลนอาหาร เชื้อเพลิงและข้าวของที่จำเป็นอย่างรุนแรง เงินเฟ้อพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์และถูกตัดไฟ ในภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจครั้งเลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักรในปี 1948

คณะรัฐมนตรีทั้ง 26 คนในรัฐบาล ยกเว้นประธานาธิบดีโกตาบายา ราชปักษา และพี่ชายของเขา นายกรัฐมนตรีมาฮินดา ราชปักษา ยื่นหนังสือลาออกในที่ประชุมช่วงกลางดึก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเปิดเผยกับพวกผู้สื่อข่าว

ความเคลื่อนไหวครั้งนี้เปิดทางให้ประธานาธิบดีแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ในวันจันทร์ (4 เม.ย.) และบางคนที่ลาออกจากตำแหน่งอาจได้รับการแต่งตั้งกลับมาใหม่

การลาออกของคณะรัฐมนตรี มีขึ้นในขณะที่ประเทศแห่งนี้อยู่ภายใต้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หลังฝูงชนพยายามบุกบ้านประธานาธิบดีในกรุงโคลอมโบ เมืองหลวงของประเทศ และประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศมีผลบังคับใช้ไปจนถึงช่วงเช้าวันจันทร์ (4 เม.ย.)

ก่อนหน้านี้ ซามากี จายา บาลาวีกายา พันธมิตรฝ่ายค้ายหลักของศรีลังกา ประณามการตัดสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งมีเป้าหมายสยบการประท้วงของประชาชนที่หนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ และบอกว่าถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลต้องลาออก

อิรัน วิกรัมมารัตน์ (Eran Wickramaratne) ส.ส.คนหนึ่ของพรรคซามากี จายา บาลาวีกายา ประณามการประกาศภาวะฉุกเฉินและการสั่งทหารเข้าประจำการบนท้องถนนสายต่างๆ "เราไม่อาจปล่อยให้ทหารเข้ามายึดอำนาจ" เขากล่าว "พวกเขาควรรู้ว่าเรายังคงเป็นประชาธิปไตย"

บรรดาผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตได้รับคำสั่งให้ปิดกั้นการเข้าถึงเฟซบุ๊ก WhatsApp ทวิตเตอร์ และแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์อื่นๆ แต่มาตรการดังกล่าวไม่สามารถขัดขวางการชุมนุมขนาดเล็กอีกหลายจุดตามเมืองอื่นๆ ในศรีลังกา

ตำรวจต้องยิงแก๊สน้ำตาสลายการชุมนุมของบรรดานักศึกษามหาวิทยาลัยในเมืองเปราดินิยา ทางภาคกลาง แต่การประท้วงในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศยุติลงโดยปราศจากเหตุการณ์ใดๆ

สื่อมวลชนรายงานว่า ประธานคณะผู้ควบคุมกฎระเบียบอินเทอร์เน็ตของศรีลังกาตัดสินใจลาออก หลังคำสั่งแบนมีผลบังคับใช้ อย่างไรก็ตาม มาตรการปิดกั้นเข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์ถูกยกเลิกในเวลาต่อมา หลังคณะกรรมาธิการด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศ ตัดสินว่ากระทรวงกลาโหมไม่มีอำนาจที่จะดำเนินการเช่นนั้น

ท้องถนนสายต่างๆ ของกรุงโคลอมโบ ส่วนใหญ่แล้วยังคงว่างเปล่าในวันอาทิตย์ (3 เม.ย.) นอกเหนือจากการประท้วงของฝ่ายค้านขนาดเล็กๆ และยานยนต์ที่ต่อแถวยาวเหยียดเพื่อรอเติมน้ำมัน

เดิมทีพวกผู้ชุมนุมมีแผนประท้วงใหญ่ในวันอาทิตย์ (3 เม.ย.) ก่อนมาตรการปิดกั้นการเข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์มีผลบังคับใช้ แต่แกนนำตัดสินใจเลื่อนการชุมนุม โดยรอให้ประกาศเคอร์ฟิวถูกยกเลิกไปก่อนในวันจันทร์ (4 เม.ย.)

'ดร.สมเกียรติ' แง้ม!! สถานการณ์ล่าสุดจากอเมริกา โจรชุม-คนไร้บ้านเพิ่ม-คนแก่ไม่มีงานอยู่ไม่ได้

ดร.สมเกียรติ เผยสถานการณ์บ้านเมืองอเมริกาล่าสุด ส่อเค้าวิกฤต โจรผู้ร้ายชุกชุม คนไร้บ้านเพิ่ม จากสภาพเศรษฐกิจเริ่มแย่ ค่าอาหาร ค่าครองชีพแพงสุด ๆ

ดร.สมเกียรติ โอสถสภา อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊ก ถึงสถานการณ์บ้านเมืองในสหรัฐ อเมริกา ว่า ข่าวจากอเมริกา ล่าสุด ตกใจนะเนี่ย

ตอนนี้ตำรวจที่นั่นไม่รับแจ้งความมูลค่าต่ำกว่า 100 เหรียญแล้ว คือ โจรชุมมาก ไปแจ้งความตำรวจบอกเป็นเรื่องปกตินะยู

ชุมชนคนไร้บ้านขยายตัวแรงมากที่ซานฟราน มีจัดตั้งด้วย คุมกันไม่อยู่ คนที่เคยเรียนที่นั่นตกใจและเศร้าที่เห็นเมืองที่เปลี่ยนไป

โจรชุม อย่าทิ้งของไว้ในรถจะถูกทุบกระจก เอาของไป อาการนี้แบบที่แอฟริกาที่เคยเห็นที่นั่นเอายางรถไปหมดเลย อันตรายกับนักท่องเที่ยวมาก

บ.เทคยักษ์ใหญ่มะกันแตะเบรคจ้างงานใหม่ หลังเห็นพ้องวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่กำลังมา

สัญญาณเศรษฐกิจส่อเค้าไม่ดี! ‘แอปเปิล-กูเกิล-ไมโครซอฟท์’ พร้อมใจเลิกรับคนเข้าทำงานชั่วคราว เชื่อวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่กำลังมา

เอเจนซีส์ - กระแสความกลัวเศรษฐกิจถดถอยจากสงครามยูเครน และภาวะเงินเฟ้อที่เกิดจากวิกฤตโรคติดต่อระดับโลกที่ยังคงส่งผล ล่าสุด โรคฝีดาษลิงถูก WHO ประกาศเป็นภาวะฉุกเฉินทั่วโลกแล้ว สิ่งเหล่านี้กลายเป็นปัจจัยทำให้บริษัทไฮเทคชื่อดังสหรัฐฯ ล่าสุด รวม "กูเกิล" "ไมโครซอฟท์" และ "แอปเปิล" รวมกลุ่มบริษัทใหญ่อื่นๆ ประกาศยกเลิกจ้างงานใหม่ชั่วคราว และสั่งประกาศลดตำแหน่งงานที่มีอยู่เดิม

สื่อมินท์ของอินเดียรายงาน เมื่อวันศุกร์ (21 ก.ค.) ว่า ดูเหมือนพนักงานอินเดียบริษัทไฮเทคยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ จากทั้งกูเกิล ไมโครซอฟท์ และแอปเปิล จะรอดจากกระแสการประกาศลดตำแหน่งงานเดิม แต่บรรดาผู้เชี่ยวชาญของอุตสาหกรรมชี้ว่า มาตรการหยุดการจ้างงานใหม่ชั่วคราวและการสั่งปลดพนักงานที่ออกมาจากบรรดาบริษัทไฮเทคสหรัฐฯ เชื่อจะกระทบในระดับทั่วโลกอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ บลูมเบิร์กรายงานวันพุธ (20) ว่า ทั้งกูเกิล ไมโครซอฟท์ และแอปเปิลเดินตามรอยบริษัทไฮเทคสหรัฐฯ ยักษ์ใหญ่ก่อนหน้าที่ชะลอการจ้างงานใหม่ ปลดพนักงานเดิมออกบางส่วน และให้ความสนใจไปที่การเพิ่มประสิทธิผลแทน

บลูมเบิร์กชี้ว่า แอปเปิล (Apple Inc.) มีนโยบายสั่งลดต้นทุนและการเติบโตตำแหน่งงานลงในบางแผนก ขณะที่สื่ออื่นรายงานว่า ไมโครซอฟท์อาจสั่งปลดพนักงานออกถึง 1% ของจำนวนพนักงานทั้งหมด 180,000 คน ด้านกูเกิล (Google Inc.) จะมีการจ้างงานใหม่ช้าลงภายในปี 2022 อ้างอิงบันทึกภายในบริษัทที่ออกมาจากผู้บริหารระดับสูง ซันดาร์ พิชัย (Sundar Pichai)

บลูมเบิร์กชี้ว่า อีลอน มัสก์ ซึ่งก่อนหน้าเคยออกมาแสดงความวิตกและย้ำว่าเทสลา (Tesla) จำเป็นต้องประกาศเลิกจ้างพนักงานลง โดยเฉพาะพนักงานแผนกขับขี่อัตโนมัติ (Auto pilot) ลง 200 คน จากการที่โรงงานเทสลาในเมืองซานเมเทโอ (San Meteo) รัฐแคลิฟอร์เนียปิดลง

ซึ่งในการให้สัมภาษณ์กับบลูมเบิร์ก มัสก์ยืนยันว่าพนักงานกินเงินเดือนจำนวนราว 10% จะต้องตกงานภายใน 3 เดือน ซึ่งบริษัทเทสลามีพนักงานทั่วโลกสิ้นสุดปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 100,000 คน

ทวิเตอร์ อิงค์ (Twitter Inc.) ซึ่งกำลังมีปัญหาทางกฎหมายกับมัสก์ เรื่องดีลการซื้อขายบริษัทที่เดินหน้าสู่ชั้นศาลแล้วได้ประกาศเริ่มการหยุดการจ้างงานชั่วคราวเช่นกัน และเริ่มต้นการสั่งปลดพนักงานในเดือนพฤษภาคม โดยอ้างอิงจากบันทึกภายในบริษัทเมื่อปี 2021 ซึ่งพบว่าบริษัทมีพนักงานทั้งหมด 7,500 คน

เมตา อิงค์ (Meta Inc.) บริษัทแม่ของเฟซบุ๊กของผู้ก่อตั้งมาร์ค ซักเกอร์เบิร์ก ยกเลิกแผนการจ้างวิศวกรภายในไม่ต่ำกว่า 30% โดยซักเกอร์เบิร์ก ได้บอกกับพนักงานเมตา อิงค์ว่า เขาคาดการณ์ว่ากำลังจะเกิดวิฤตทางเศรษฐกิจครั้งร้ายแรงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ที่จำเป็นทำให้บริษัทต้องสั่งถอยการจ้างงานลง

สื่อบารอนรายงานเมื่อวันที่ 3 ก.ค.โดยอ้างอิงรายงานของหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์สว่า ซักเกอร์เบิร์ก กล่าวผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ในวันพฤหัสบดี (30 มิ.ย.) กับพนักงานเมตา อิงค์จำนวน 77,800 คน ประกาศคำเตือนวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ครั้งนี้ สื่อรีพับบลิกเวิลด์ของอินเดียรายงานวันที่ 3 ก.ค.ว่า โพลสำรวจของไฟแนนเชียลไทมส์รายงานกว่า 70% ของนักเศรษฐศาสตร์โลกชั้นนำลงความเห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในต้นปี 2024 และบริษัทต่างๆ จำเป็นต้องเตรียมพร้อมเพื่อเผชิญหน้าเศรษฐกิจขาลงครั้งใหญ่ที่คาดว่ากำลังจะเริ่มภายในสิ้นปี 2022

นอกเหนือจากซักเกอร์เบิร์ก พบว่า ผู้บริหารเมตา อิงค์คนอื่นออกมาแสดงคำเตือนคล้ายกันว่า บริษัทกำลังเผชิญหน้าต่อช่วงเวลาที่ร้ายแรง และปัจจัยภายนอกกระทบทางเศรษฐกิจนั้นรุนแรง

ด้านแอมะซอน อิงค์ (Amazon Inc.) แถลงก่อนหน้าเมื่อเมษายนว่า บริษัทมีจำนวนพนักงานมากเกินความต้องการหลังก่อนหน้าช่วงวิกฤตโควิด-19 ทางบริษัทได้เพิ่มกำลังในกระบวนการและปัจจุบันทางบริษัทของผู้ก่อตั้ง เจฟฟ์ เบโซส (Jeff Bezos) ต้องการลดกำลังพนักงานลง

‘นพดล’ ลั่น ไม่มีจับมือพรรคใดพา ‘ทักษิณ’ กลับบ้าน เย้ย!! ไอโอกุเรื่องบิดเบือน ไม่กระทบแลนด์สไลด์

เพื่อไทยเชื่อมั่น ประชาชนต้องการรัฐบาลใหม่มาแก้วิกฤตเศรษฐกิจ ปฎิบัติการไอโอจับคู่เพื่อไทยกับพรรคอื่นหรือบิดเบือนแลนด์สไลด์เพื่อนำอดีตนายกฯ กลับบ้านไม่กระทบแลนด์สไลด์

(29 ม.ค.66) นายนพดล ปัทมะ รองประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขณะนี้ทุกพรรคเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง ปี่กลองการเมืองดังขึ้น การปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารเริ่มทำงาน ยิ่งกระแสพรรคเพื่อไทยแลนด์สไลด์แรงขึ้น ก็เป็นปกติที่ต้องเผชิญแรงเสียดทานทางการเมืองมากขึ้น เพราะที่นั่ง ส.ส.มี 500 ที่นั่ง เมื่อมีคนได้ที่นั่ง ก็จะมีคนเสียที่นั่ง

อย่างไรก็ตาม ก็มีผู้วิเคราะห์กันไม่หยุดว่าเพื่อไทยจะจับมือกับพรรครัฐบาลปัจุบันตั้งรัฐบาล และพรรคเดินหน้าแลนด์สไลด์เพื่อเอาอดีตนายกฯ ทักษิณกลับบ้าน ซึ่งในประเด็นนี้ พรรคเพื่อไทยก็มีแถลงการณ์ยืนยันชัดเจนว่าไม่จับมือกับพรรคการเมืองใดโดยมุ่งเดินหน้าแลนด์สไลด์ เพื่อขอโอกาสตั้งรัฐบาลที่เข้มแข็งแก้ปัญหาให้ประชาชน และการเดินหน้าแลนด์สไลด์ก็เพื่อมีเสียง ส.ส.มากพอที่จะเอาชนะเสียง ส.ว.ตอนโหวตตัวนายกฯ ในรัฐสภาและผลักดันนโยบายพรรคได้เต็มที่โดยไม่ต้องพะวงการเจรจาต่อรองนโยบายรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง ไม่ใช่แลนด์สไลด์เพื่อเอาอดีตนายกฯ กลับบ้านตามที่มีคนพยายามด้อยค่าความตั้งใจดีของพรรคอย่างต่อเนื่อง

Amazon เตรียมปลดพนักงานอีก 9 พันคน ท่ามกลางความกังวลเศรษฐกิจถดถอย

Amazon ประกาศเลิกจ้างงานรอบสองอีก 9,000 คน รวม 2 รอบ ยอดรวมเป็น 27,000 คน

บริษัท Amazon Inc แถลงเมื่อวันจันทร์ (20 มีนาคม) ว่า จะเลิกจ้างงาน 9,000 ตำแหน่ง ซึ่งทำให้เป็นบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่รายล่าสุดที่ประกาศเลิกจ้างรอบสอง ท่ามกลางความเป็นไปได้ที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย 

บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่หลายแห่ง ซึ่งรวมทั้ง Microsoft Corp, Salesforce Inc และ Alphabet and Meta Platforms ต่างปรับลดตำแหน่งงานหลายพันในช่วงไม่กี่เดือนมานี้ หลังมีการจ้างงานมากเกินไป ส่วน Amazon ตามรอย Meta บริษัทแม่ของ Facebook กลายเป็นบริษัทที่ประกาศลดพนักงานรอบสอง โดยก่อนหน้านี้ได้ปลดไปแล้ว 18,000 คน เมื่อเดือนมกราคม 2566 ที่ผ่านมา

แอนดี แจสซี กรรมการบริหาร หรือซีอีโอ ของ Amazon กล่าวว่า ทางบริษัทได้เพิ่มพนักงานจำนวนมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่สภาพเศรษฐกิจผันผวนไร้ความแน่นอน ทำให้บริษัทต้องเลือกลดต้นทุนและลดพนักงานลง โดยการลดพนักงานมุ่งเน้นไปในส่วนของการบริการคลาวด์ โฆษณาและทวิตช์

‘ชาวอียิปต์’ เดือด!! รัฐบาลแนะกิน ‘ตีนไก่-กีบเท้าวัว’ บรรเทาจน ขัดวัฒนธรรมผู้คนที่มองเป็นเศษอาหารเหลือทิ้งให้หมาแมวกิน

ไอเดียบรรเจิดหรือไม่...ไม่รู้? แต่ไอเดียแก้ปัญหาของรัฐบาลอียิปต์ ด้วยการออกคำแนะนำให้ประชาชนหันมาบริโภค ‘ตีนไก่-กีบเท้าวัว’ ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศ ก็ดูจะสร้างความไม่พอใจต่อประชาชนในประเทศอย่างมากเลยทีเดียว

ปัญหาความยากจนและภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูง เป็นสถานการณ์ที่ประชาชนในหลายประเทศต้องแบกรับ หนึ่งในนั้น ก็รวมถึงในประเทศอียิปต์ ที่เงินเฟ้อทะยานขึ้นแตะ 30% จนทำให้ราคาสินค้าหลายประเภท พุ่งขึ้น 2-3 เท่า

ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ค่าเงินปอนด์อียิปต์ร่วงลงกว่าครึ่งหนึ่ง เมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้รัฐบาลต้องประกาศลดค่าเงินหลายครั้ง ครั้งล่าสุดเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงกับการนำเข้าสินค้า

ราคาอาหารคนและอาหารสัตว์ ที่พุ่งสูงขึ้น ทำให้หลายครอบครัวไม่สามารถซื้อ แม้แต่วัตถุดิบง่าย ๆ อย่างน้ำมันพืช หรือชีสได้

ปีที่แล้ว วีแดด (Wedad) คุณแม่วัยเกษียณชาวอียิปต์ ใช้ชีวิตอย่างไม่ขัดสนแบบคนชนชั้นกลาง อาศัยเงินบำนาญประมาณ 5,500 บาท ที่ได้รับทุกเดือน แต่ปัจจุบัน เธอเผชิญชะตากรรมแบบเดียวกับทุก ๆ คน คือ ใช้เงินแบบเดือนชนเดือน

วีแดด บอกว่า เธอต้องลดการกินเนื้อ เหลือแค่เดือนละครั้ง บางเดือนก็ไม่กินเลย แต่ก็ยังซื้อไก่กินอาทิตย์ละครั้ง โดยราคาไก่ทั้งตัว ปัจจุบันอยู่ที่ กก.ละเกือบ 78 บาท จากเดิมอยู่ที่ กก.ละ 33 บาทในปี 2021 ส่วนราคาไข่ไก่ทุกวันนี้ พุ่งขึ้นไปอยู่ที่ฟองละเกือบ 6 บาทแล้ว

***จากสภาวะความยากลำบากที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้รัฐบาลอียิปต์ผุดไอเดียออกคำแนะนำให้ประชาชนหันมาบริโภค ‘ตีนไก่’ และ ‘กีบเท้าวัว’ ที่มีราคาถูก ในช่วงที่ภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 

พลันที่รัฐบาลบอกแบบนี้ ก็เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เพราะแม้ ‘ตีนไก่’ จะเป็นวัตถุดิบที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ หลายประเทศนิยมรับประทานโดยนำมาต้มหรือตุ๋นในน้ำซุป แต่ในบางวัฒนธรรม เช่น อียิปต์ มองว่าตีนไก่ไม่ใช่วัตถุดิบที่นำมาทำอาหารได้ เป็นแค่เศษอาหารเหลือทิ้ง ที่มักให้สุนัขหรือแมวกินเท่านั้น คนจำนวนมากจึงรู้สึกไม่พอใจกับคำแนะนำนี้ เพราะมองว่ารัฐบาลควรพยายามหาทางแก้วิกฤตนี้ให้ได้ แทนที่จะขอให้ประชาชนหันไปกินอาหารที่เป็นสัญลักษณ์ของความยากจน

สำหรับอียิปต์เป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของอาหรับ และมีศักยภาพทางเศรษฐกิจเหนือกว่าหลายประเทศในภูมิภาค

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากรัฐบาลชี้ว่า ประชากรในประเทศราว 30% มีรายได้อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน ขณะที่ธนาคารโลกประเมินในปี 2019 ว่า ชาวอียิปต์ประมาณ 60% มีฐานะยากจนหรืออยู่ในกลุ่มเปราะบาง

ด้านประธานาธิบดีอับดุล ฟัตตาห์ อัล-ซีซี ระบุว่า ปัญหาเศรษฐกิจของอียิปต์เริ่มขึ้นตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ชุมนุมอาหรับสปริงในปี 2011 ประกอบกับจำนวนประชากรในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนแตะ 109 ล้านคน ยิ่งซ้ำเติมปัญหาด้านทรัพยากรที่มีจำกัด รวมถึงความมั่นคงทางสังคมและเศรษฐกิจ และในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ยังมีปัจจัยลบเข้ามาเพิ่มเติม ทั้งวิกฤตโรคระบาด ซึ่งทำให้นักลงทุนโยกย้ายเงินลงทุนกว่า 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ออกจากอียิปต์ในปี 2020 นอกจากนี้ ยังมีวิกฤตสงครามในยูเครนด้วย

แต่ละปี จะมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากจากรัสเซียและยูเครนเดินทางมาที่อียิปต์ แต่จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงไปมากนับตั้งแต่เกิดสงคราม จนทำให้รายได้ในภาคการท่องเที่ยว ซึ่งคิดเป็น 5% ของ GDP ติดลบอย่างหนัก


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top