Saturday, 20 April 2024
ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

‘ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ’ เป็นประธานปล่อยเรือตรวจการณ์ 1301 เสริมศักยภาพดูแลความมั่นคง ตามแนวชายฝั่งทะเล

พล.ต.ต. ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า วันอังคาร ที่ 5 ต.ค. 64 เวลา 10.00 น. พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีปล่อยเรือตรวจการณ์ขนาด 130 ฟุต (เรือตรวจการณ์ 1301) ลงน้ำ ณ บริษัท ซีเครสท์ มารีน จำกัด ต.ท้ายบ้าน อ.เมือง จ.สมุทรปราการ โดยมี คุณรัตนาภรณ์ สีวลีพันธ์ นายกสมาคมแม่บ้านตำรวจ ในฐานะภริยาผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นสตรี

ผู้ประกอบพิธีปล่อยเรือลงน้ำ พร้อมกล่าวเชิญมิ่งขวัญและมงคลสู่เรือ โดยมีผู้บังคับบัญชาระดับสูงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และคณะสมาคมแม่บ้านตำรวจเข้าร่วมพิธีฯ

สำหรับ เรือตรวจการณ์ 1301 เป็นเรือที่มีขนาดความยาวตลอดลำ 42 เมตร (137.76 ฟุต) ความกว้างกลางลำ 7.9 เมตร (25.91 ฟุต) กินน้ำลึก 1.5 เมตร (4.92 ฟุต) ความเร็วสูงสุดไม่ต่ำกว่า 30 นอต กำลังพลประจำเรือ 23 นาย มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในภารกิจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ดูแลรักษาความมั่นคงตามแนวชายฝั่งทะเล การป้องกันและปราบปรามแก้ไขปัญหาอาชญากรรมต่าง ๆ รวมถึงการให้ความช่วยเหลืออำนวยความสะดวกแก่พี่น้องประชาชนและนักท่องเที่ยวที่สัญจรทางน้ำ เป็นต้น

‘ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ’ กำชับทุกหน่วย!! เตรียมพร้อมขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล ปราบปรามแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย มีโทษทั้งนายจ้างและลูกจ้าง

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีที่ผู้บัญชาการตำรวจ แห่งชาติกำชับหน่วยงานในสังกัดขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลในการปราบปรามแรงงานต่างด้าว ตามมติ ครม. เมื่อ 28 ก.ย. 64 ให้นายจ้างและแรงงาน 3 สัญชาติ(ลาว กัมพูชา เมียนมา) ดำเนินการเข้าสู่กระบวนการจ้างงานตามกฎหมาย ภายในวันที่ 1-30 พ.ย.64 รวมถึงประสานงานกับหน่วยที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมกลุ่มแรงงาน MOU นั้น

เนื่องด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้มีนโยบายให้บริหารจัดการแรงงานต่างด้าวในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเป็นระบบ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของนายจ้างและสถานประกอบการที่ขาดแคลนแรงงาน พร้อมกับควบคุมมิให้เกิดการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ อีกทั้งได้มีมติให้มีการตรวจสถานที่ประกอบการต่าง ๆ เพื่อให้คำแนะนำการปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขแก่นายจ้างและแรงงานต่างด้าว รวมถึงให้นำแรงงานต่างด้าวที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมายเข้าสู่ระแบบการจ้างงานตามกฎหมายประเทศไทย เพื่อให้ได้รับการดูแลตามสิทธิที่พึงมี ภายในวันที่ 30 พ.ย. 64 หลังจากนั้นทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการตรวจสอบ ปราบปราม จับกุม และดำเนินคดีกับแรงงานต่างด้าวทำงานผิดกฎหมายอย่างจริงจัง

พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้สนองนโยบายรัฐบาลโดยได้กำชับและสั่งการไปยังหน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้อง ให้ทำการประสานการปฎิบัติกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการประชาสัมพันธ์พร้อมสร้างการรับรู้ให้กับนายจ้างและแรงงาน 3 สัญชาติ( ลาว กัมพูชา เมียนมา) เพื่อให้มาดำเนินการภายในกำหนดตาม มติ ครม.  โดยหลังจาก 30 พ.ย.64 ให้ประสานการปฎิบัติกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำการตรวจสอบสถานประกอบการ โรงงาน ที่พักคนงาน และพื้นที่สุมเสี่ยง ทำการสืบสวนปราบปราม จับกุมแรงงานต่างด้าวที่ทำงานโดยผิดกฎหมายและนายจ้างที่เกี่ยวข้อง  เพิ่มการกวดขันการตรวจตราการลักลอบนำเข้าแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย การลักลอบหลบหนีเข้าเมือง โดยให้ปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยร่วมปฏิบัติต่าง ๆ ในพื้นที่อย่างเข้มงวด จริงจัง และต่อเนื่อง ตลอดจนขยายผลไปยังเครือข่ายผู้ร่วมกระทำความผิดทุกราย  พร้อมให้เจ้าหน้าที่ทุกนายปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวังตามหลักยุทธวิธีตำรวจและถือปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ได้กำหนด

หากตรวจพบว่าพื้นที่ใดหย่อนยาน ปล่อยปละละเลย หรือมีความผิดพลาดเกิดขึ้น จะถือว่าเป็นความบกพร่อง ต่อหน้าที่ อีกทั้งเน้นย้ำให้ผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้น ควบคุม กำกับดูแล การปฏิบัติของผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างใกล้ชิด ห้ามเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตหรือเรียกรับผลประโยชน์ทุกกรณี ไม่ว่าจะโดยตรงหรือทางอ้อมก็ตาม หากพบจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายและดำเนินการทางวินัยอย่างเด็ดขาดทุกราย

ผู้ที่ให้การช่วยเหลือหรือนำพาบุคคลต่างด้าวลักลอบข้ามพรมแดน จะมีโทษฐานเป็นบุคคลที่นำพาบุคคลต่างด้าวลักลอบหลบหนีเข้าเมืองซึ่งจะมีโทษจำคุก 10 ปี ปรับ 100,000 บาท แต่ถ้าเกิดมีการช่วยเหลือซ่อนเร้นคือบุคคลต่างด้าวนั้นเข้ามาหลบอยู่ในบ้านท่านหรือมีการอำนวยความสะดวกให้ขึ้นรถหรือว่ามีการหลบหลีกด่านตรวจต่างๆ โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีปรับไม่เกิน 50,000 บาท

 

ปูนบำเหน็จ “ตำรวจกล้า” เลื่อนยศเป็น พลตำรวจตรี พร้อมเงินเยียวยาครอบครัวกว่า 1,500,000 บาท ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กำชับดูแลสิทธิประโยชน์อย่างดีที่สุดและรวดเร็ว

พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เผยว่า จากเหตุการณ์อันน่าสลดใจ ข้าราชการตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่เพื่อพี่น้องประชาชนเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ โดยเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อเจ้าหน้าที่สืบสวน สภ.หนองปลิง สังกัดตำรวจภูธรจังหวัดนครสวรรค์ ได้ออกติดตามคนร้ายผู้ก่อเหตุ เมื่อถึงที่เกิดเหตุแล้วคนร้ายได้คลุ้มคลั่งยิงใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ส่งผลให้ ร.ต.อ.ชัยปติณญา แสงปาน รองสารวัตรสืบสวน สถานีตำรวจภูธรหนองปลิง ถูกยิงได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตในเวลาต่อมา

พล.ต.ต.ยิ่งยศฯ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า หลังจากที่ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้รับรายงานเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวแล้ว จึงได้กำชับผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นของ ร.ต.อ.ชัยปติณญาแสงปาน รองสารวัตรสืบสวน สถานีตำรวจภูธรหนองปลิง ให้ดูแลสวัสดิการต่าง ๆ แก่ครอบครัวของนายตำรวจผู้เสียสละอย่างดีที่สุดและรวดเร็ว

โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวต่อว่า ครอบครัวของ ร.ต.อ.ชัยปติณญา แสงปาน รองสารวัตรสืบสวน สถานีตำรวจภูธรหนองปลิง จะได้รับสิทธิประโยชน์เบื้องต้น ดังนี้ 

- เลื่อนยศจาก ร้อยตำรวจเอก เป็นพลตำรวจตรี

- การบรรจุทายาทเข้ารับราชการตำรวจ

- เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

- เงินกองทุนสวัสดิการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

- เงินบำเหน็จตกทอด และเงินสิทธิประโยชน์อื่น ๆ เบื้องต้นรวมประมาณ 1,500,000 บาท

‘ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ’ ขานรับนโยบาย! ‘นายกรัฐมนตรี’ สั่งการตำรวจทั่วประเทศ เร่งปราบปรามพนันออนไลน์!!

พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีความห่วงใย กรณีมีการลักลอบเปิดให้เล่นพนันออนไลน์ ซึ่งพี่น้องประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย จึงได้มอบนโยบายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เร่งรัดปราบปรามอย่างเร่งด่วน

พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทั่วประเทศเร่งรัดปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เพิ่มความเข้มในการตรวจสอบเว็บไซต์พนันออนไลน์ รวมทั้งการลักลอบเล่นการพนันทุกรูปแบบ หากพบเห็นให้ดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ที่ผ่านมาสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีความมุ่งมั่น ตั้งใจ ที่จะปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีโดยเฉพาะเว็บไซต์พนันออนไลน์ และได้มีการจับกุมมาโดยตลอด โดยในปี 2564 จนถึงปัจจุบัน มีผลการจับกุมไปแล้วกว่า 1,300 คดี ผู้ต้องหากว่า 1,600 ราย

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้สืบสวนขยายผลจากการจับกุมจนทราบว่า เว็บไซต์พนันออนไลน์ ส่วนหนึ่งมีที่ตั้งของเซิร์ฟเวอร์อยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน และมีการทำธุรกรรมผิดกฎหมายในประเทศไทย ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จึงได้สั่งการให้ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะ อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) เดินทางไปที่ประเทศกัมพูชาพร้อมคณะทำงานของ ศปอส.ตร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประสานการปฏิบัติแลกเปลี่ยนข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ของทางการประเทศกัมพูชา ซึ่งได้รับความร่วมมือจากประเทศเพื่อนบ้านเป็นอย่างดี คาดว่าจะนำไปสู่การจับกุมผู้กระทำความผิดรายใหญ่ในเร็ววันนี้

“บิ๊กโจ๊ก” เดินหน้า!กวาดล้าง ‘มาเฟียน้ำมันเขียว’ จับกลางอันดามัน เวียนเทียนใช้รหัสเรือจม โผล่เติมน้ำมัน

จากกรณีที่ประเทศไทยได้ถูกลดอันดับการรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์จากทางการสหรัฐฯ ลงเป็นอันดับประเทศที่ต้องจับตามอง (Tier 2 Watch List) โดยมีข้อสังเกตในเรื่องการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการค้ามนุษย์อย่างจริงจังในทุกภาคส่วน ปัญหาการบังคับใช้แรงงานและแรงงานข้ามชาติซึ่งเกิดขึ้นในหลายอุตสาหกรรมรวมถึงภาคการประมง รวมทั้งปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ตามที่ทราบแล้ว นั้น

จากกรณีดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย เพื่อแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย และการบังคับใช้แรงงานในภาคการประมง โดยมี พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานคณะทำงานเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบ ควบคุม เฝ้าระวังการทำการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งได้แต่งตั้งชุดปฏิบัติการตรวจสอบและเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาการประมง เพื่อการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวและประสานการปฏิบัติร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ในการนี้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. จึงได้สั่งการให้ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ /ผู้อำนวยการ ศพดส.ตร. และ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ / รองผู้อำนวยการ ศพดส.ตร. /รองประธานอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) โดยเร่งด่วน

โครงการน้ำมันเขียว เป็นโครงการที่ภาครัฐจัดน้ำมันดีเซลที่เติมสารสีเขียวเพื่อให้แยกแยะจากน้ำมันบนฝั่งได้ และได้รับยกเว้นภาษีสรรพสามิต ทำให้มีราคาถูกกว่าน้ำมันดีเซลบนบกประมาณลิตรละ 6 บาท ซึ่งรัฐบาลจัดให้มีขึ้นเพื่อลดภาระต้นทุนการทำประมงให้กับชาวประมงพาณิชย์ตามมติคณะรัฐมนตรีตั้งแต่ 18 กันยายน 2555 ในการบริหารจัดการมีอธิบดีกรมสรรพสามิตทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการ ปัจจุบันมีเรือสถานีบริการ (Tanker) 51 ลำ ให้บริการพี่น้องชาวประมงพาณิชย์ทั่วเขตทะเลไทย

ต่อมาประเทศไทยได้รับ “ใบเหลือง” การทำประมง IUU จากสหภาพยุโรปเมื่อปี 2558 รัฐบาลดำเนินการจัดระเบียบการทำประมงประเทศไทยใหม่ทั้งระบบ ทำให้เรือประมงพาณิชย์ที่ได้รับสิทธิเติมน้ำมันเขียวลดลงจาก 10,459ลำ ในปี 2559 เหลือ 8,445 ลำ ในปี 2564 แต่ทว่าขณะที่เรือประมงพาณิชย์ที่เติมน้ำมันเขียวลดจำนวนลง แต่ปริมาณการจำหน่ายกลับมิได้ลดลงตามสัดส่วนจำนวนเรือ กลับ “คงที่อยู่ประมาณปีละ 610 ล้านลิตร” คิดเป็นภาษีที่รัฐบาลยกเว้นถึงปีละประมาณ 4,000 ล้านบาท หรือเท่ากับเรือประมงพาณิชย์ทุกลำที่เติมน้ำมันเขียว ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในการยกเว้นภาษีที่ควรจะเสียประมาณ 471,717 บาท/ลำ/ปี

นอกจากนั้น การอุดหนุนภาคประมงพาณิชย์ด้วยการ “ยกเว้นภาษี” น้ำมันดีเซลให้ต่ำกว่าราคาตลาดลิตรละ 6 บาท หรือน้ำมันเขียว ได้กลายเป็นประเด็นสำคัญที่องค์การการค้าโลก (WTO) ให้ประเทศไทยชี้แจงว่า เป็นการอุดหนุนที่มีการบริหารจัดการอย่างเข้มงวดหรือไม่ เพื่อมิให้เป็นการสนับสนุนการทำประมง IUU การทำประมงทำลายล้างทรัพยากรสัตว์น้ำ Over Fishing ซึ่งหากประเทศไทยไม่มีแนวทางการบริหารจัดการ ก็มีความเสี่ยงสูงมากที่องค์การการค้าโลกจะประกาศให้ประเทศไทยต้องยกเลิกการอุดหนุนภาคประมงพาณิชย์ด้วยการยกเลิกโครงการน้ำมันเขียวทั้งหมด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเรือประมงพาณิชย์ประเทศไทยอย่างกว้างขวาง

คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 จึงอนุมัติกรอบการชี้แจงกับองค์การการค้าโลก (WTO) โดยยืนยันว่าประเทศไทยมีการกำกับดูแลที่ดีในการทำประมงไม่ให้เป็น IUU ทำลายล้างสัตว์น้ำ และมีระบบควบคุมดูแลการสนับสนุนการทำประมงอย่างดีมีประสิทธิภาพ ทำให้หน่วยงานภาครัฐโดยกรมสรรพสามิต ได้ประสานขอการสนับสนุนจาก พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในฐานะประธานคณะทำงานเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบ ติดตาม ควบคุม เฝ้าระวังการทำประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เข้าตรวจสอบ สืบสวน เพื่อ “จัดระบบ” ควบคุมดูแลโครงการน้ำมันเขียว ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์อย่างเคร่งครัด ไม่ให้ถูกนำไปใช้ในการทำประมง IUU การทำประมงทำลายล้างสัตว์น้ำ และการค้ามนุษย์ แรงงานบังคับ บนเรือประมง

จากการตรวจสอบข้อมูลเรือประมงที่มีสิทธิเติมน้ำมันเขียว ซึ่งต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนตามประกาศกรมศุลกากร ที่ 68/2561 ลงวันที่ 10 เมษายน 2561 ประกอบด้วย

1) ต้องเป็นเรือประมงที่ได้รับใบอนุญาตทำการประมงจากกรมประมง 

2) ต้องเป็นเรือประมงที่ผ่านการรับรองจากสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย 

3) ต้องเป็นเรือประมงที่มีรหัสและรับรองจากสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย

โดยสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยส่งให้กับกรมสรรพสามิต เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2564 จำนวน 8,445 ลำ พบข้อมูลว่า มีเรือที่ไม่มีคุณสมบัติตามประกาศกรมศุลกากร แต่สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ออกรหัสและรับรองให้เติมน้ำมันเขียว ถึง 791 ลำ ประกอบด้วย เรือประมงพาณิชย์ไม่มีทะเบียนเรือ เรือประมงพาณิชย์ไม่มีใบอนุญาตประมงพาณิชย์จากกรมประมง เรือประมงพาณิชย์ที่แจ้งจมหรือทำลายไปแล้ว เรือประมงพาณิชย์ที่เปลี่ยนประเภทไปเป็นเรือบรรทุกสินค้า เรือลากจูง และเรือประมงพื้นบ้านที่มีขนาดถังน้ำมันตั้งแต่ 1,500 - 10,000 ลิตร ซึ่งเกินกว่าขนาดตัวเรือที่สามารถบรรทุกได้

เมื่อนำรายชื่อเรือพร้อมรหัสเติมน้ำมันเขียวจากสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ไปสอบยันกับข้อมูลการเติมน้ำมันเขียวที่ตำรวจน้ำได้รับจากเรือสถานีบริการ (Tanker) พบว่า มีเรือประมงที่ใช้รหัสของเรือประมงที่ขาดคุณสมบัติข้างต้น “ไปเติมน้ำมันเขียว” จำนวนหลายลำ และยิ่งไปกว่านั้นยังพบว่ามีเรือประมงอีกจำนวน 599 ลำ ใช้รหัสเติมน้ำมันไม่ตรงกับรหัสเติมน้ำมันที่สมาคมการประมงแห่งประเทศไทยออกให้และรับรอง “เข้ามาเติมน้ำมันเขียว” ด้วย เช่นเดียวกัน ทำให้จำนวนเรือที่เกี่ยวข้องในการกระทำผิด “เติมน้ำมันเขียว” โดยขาดคุณสมบัติตามประกาศกรมศุลกากร ซึ่งออกตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มีจำนวนถึง 1,390 ลำ

พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วย ผบ.ตร. จึงบูรณาการกำลังออกปฏิบัติการร่วมกัน ระหว่าง กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร กรมประมง กรมเจ้าท่า ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) และเจ้าหน้าที่ตำรวจ เข้าจับกุมเรือประมง ชื่อ ช.ศรีพลนภา 5 ขนาด 122 ตันกรอส ขณะทำการประมงบริเวณทะเลอันดามัน พื้นที่รอยต่อจังหวัดพังงาและระนอง โดยให้เข้าเทียบท่าที่ อ.คุระบุรี จ.พังงา มีพฤติกรรมวนเวียนเติมน้ำมันจากเรือสถานีบริการ (Tanker) หลายลำ ในช่วงเวลาต่าง ๆ กัน โดยใช้รหัสเติมน้ำมันของ “เรือประมงที่แจ้งทำลายเรือ” ไปเรียบร้อยแล้ว ก่อนวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 และขยายผลเข้าตรวจค้นเอกสารหลักฐานต่าง ๆ จากผู้เกี่ยวข้อง คือ เรือสถานีบริการน้ำมันเขียว บริษัทเข้าของเรือสถานีบริการน้ำมันเขียว รวมถึงสมาคมประมงที่ให้การรับรอง เพื่อดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560มาตรา 189 ขนถ่ายน้ำมันในเขตต่อเนื่องโดยไม่มีคุณสมบัติ มีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือปรับเป็นเงินสองเท่าของราคาน้ำมันที่อยู่ในเรือ หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งเรือประมงที่ถูกจับกุมวันนี้บรรทุกน้ำมันประมาณ 30,000 ลิตร และได้เติมน้ำมันเขียวโดยใช้รหัสเติมน้ำมันเขียวจากเรือประมงลำอื่นที่แจ้งกับกรมเจ้าท่าว่า ถูกทำลายไปแล้ว จำนวน 6 ครั้ง จะต้องโดนปรับ 4,320,000 บาท นอกจากนั้น ยังเข้าข่ายกระทำความผิดพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 มาตรา 203 ฐานนำน้ำมันที่ยังไม่เสียภาษีสรรพสามิตเข้ามาในราชอาณาจักร มีโทษปรับสองถึงสิบเท่าของภาษี จึงจะต้องเสียค่าปรับอีก 12,600,000 บาท รวมค่าปรับทั้งสองกฎหมาย รวม 16,920,000 บาท ทั้งนี้ยังไม่รวมการดำเนินคดีจากกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 พระราชบัญญัติเรือไทย พ.ศ. 2481 เป็นต้น และจะมีการจับกุมดำเนินคดี กับเรือประมงที่กระทำความผิดในลักษณะเดียวกันตามมาอีกจำนวนมากในทุกจังหวัดชายทะเล ซึ่งชุดปฏิบัติการได้กำหนดเป้าหมายไว้เรียบร้อยหมดแล้ว ตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นไป

นอกจากจะมีการดำเนินคดีกับกลุ่มเรือประมงที่ไม่มีคุณสมบัติเติมน้ำมันเขียวแล้ว ในส่วนของเรือสถานีบริการ (Tanker) และสมาคมการประมง ที่ให้การรับรองคุณสมบัติและออกรหัสเติมน้ำมันเขียว ก็จะถูกดำเนินคดีด้วยทั้งหมดเช่นเดียวกัน

“ผมขอเรียนว่า ปฏิบัติการครั้งนี้ไม่มีผลกระทบต่อพี่น้องชาวประมงที่ประกอบอาชีพโดยสุจริตแต่อย่างใด ทุกท่านยังสามารถเติมน้ำมันเขียวได้ตามปกติเหมือนเดิมทุกประการ ผมขอย้ำว่าการทำงานของผมคือการแยกน้ำเสียออกจากน้ำดี ให้คนดีมีที่ยืนอย่างภาคภูมิใจในสังคม คนไม่ดีต้องได้รับการลงโทษ ซึ่งผมมั่นใจว่า พี่น้องชาวประมง 95% เป็นคนดี หน้าที่ของผมคือ นำคนไม่ดี 5% ไม่ให้ปะปนกับคนดีและทำให้คนดีได้รับความเสียหาย การบูรณาการการทำงานร่วมกันหลายหน่วยงานครั้งนี้ เป็นการสร้างความเป็นธรรมในระบบภาษีของประเทศในภาวะที่ประชาชนกำลังได้รับความลำบาก แต่มีบางพวก บางกลุ่ม แสวงหาผลประโยชน์จากสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ภาครัฐดูแลสนับสนุนไป เพื่อประโยชน์ส่วนตัว สร้างความเสียหายจากมูลค่าภาษีที่รัฐควรจะได้ถึงปีละ 700 ล้านบาท อย่างไรก็ตามผมจะประสานงานหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร กรมประมง ในการเร่งรัดปรับปรุงกระบวนการควบคุม ดูแลการบริหารจัดการน้ำมันเขียวไม่ให้เกิดการกระทำความผิดเช่นนี้อีก โดยเร็วที่สุด ไม่เช่นนั้นประเทศของเราจะอยู่ในความเสี่ยงสูงที่จะถูกองค์การการค้าโลก (WTO) พิจารณายกเลิกมาตรการอุดหนุนการทำประมงโดยโครงการน้ำมันเขียว ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพี่น้องชาวประมงทุกคนอย่างร้ายแรง อีกทั้งโดนประชาคมโลกกล่าวหาว่าสนับสนุนการทำประมง IUU ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสินค้าประมงไทยที่กำลังเป็นรายได้หลักของประเทศในขณะนี้”

 

ผบ.ตร. รับใช้กระสุนจริงคุมสถานการณ์ ยัน 'สารวัตรคลั่ง' ไม่ได้เครียดจากเรื่องงาน

ผบ.ตร.ยอมรับ ชุดปฏิบัติการใช้กระสุนจริงระงับเหตุ “สว.กานต์” คลุ้มคลั่ง เนื่องจากมีการตอบโต้ด้วยกระสุนจริง ลั่น ยืนยันปฏิบัติตามแผนยุทธวิธี ยืนยันไม่ได้เครียดจากเรื่องงานคาดเป็นสภาวะทางจิตที่ผิดปกติ

(16 มี.ค. 66) พลตำรวจเอกดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยถึงการเข้าควบคุมสถานการณ์พันตำรวจโทกิตติกานต์ แสงบุญ ที่คลุ้มคลั่งในบ้านพักย่านซอยสายไหม 46 และเสียชีวิตที่โรงพยาบาลภูมิพล เมื่อวานที่ผ่านมา พร้อมแสดงความเสียใจกับญาติของผู้เสียชีวิต และยืนยันว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นยากต่อการเจรจา ตำรวจได้พยายามทุกวิถีทางในการระงับเหตุแล้ว แต่ทางพันตำรวจโทกิตติกานต์ ไม่มีท่าทีสงบ และไม่ยอมวางอาวุธ ชุดปฏิบัติการจึงตัดสินใจเข้าจับกุม

พลตำรวจเอกดำรงศักดิ์ ยอมรับว่าชุดอรินทราช 26 ได้มีการใช้กระสุนจริงในการปฏิบัติการ เนื่องจากพันตำรวจโทกิตติกานต์ มีอาวุธที่เป็นกระสุนจริงอยู่ด้วย และมีการโต้ตอบเจ้าหน้าที่ตลอดเวลา ทำให้ชุดปฏิบัติการจำเป็นต้องมีอาวุธที่เท่าเทียมกับผู้ก่อเหตุ แต่ก็มีทั้งกระสุนยาง และปืนไฟไฟ้ ใช้ร่วมปฏิบัติด้วย โดยขั้นตอนการปฏิบัติตามแผนกรกฎ ได้มอบหมายให้ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 2 เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์อยู่ตลอดเวลา

ส่วนกรณีที่พบว่ามีรอยกระสุน 6 จุด ตามร่างกาย ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างให้แพทย์ชันสูตรศพให้ละเอียดก่อนว่าเป็นการเสียชีวิตจากสาเหตุใด

ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติร่วมกับรักษาราชการแทนเลขาธิการ กสทช. ลงพื้นที่แนวชายแดนจังหวัดเชียงราย วางมาตรการป้องกัน การกระทำผิดคดีออนไลน์ คุมเข้ม ซิมม้า-บัญชีม้า แก็งคอลเซ็นเตอร์

วันนี้ (5 พ.ค.66) พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วย นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาราชการแทนเลขาธิการ กสทช. เดินทางลงพื้นที่จังหวัดเชียงราย ประชุมวางมาตรการแนวทางการสืบสวน ป้องกันการกระทำผิดคดีออนไลน์ ในพื้นที่จังหวัดชายแดน โดยมี พล.ต.ท.ธนธัช น้อยนาค ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปฏิบัติราชการตำรวจภูธรภาค 5 , พล.ต.ต.พิเชษฐ์ จีระนันตสิน รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5, พล.ต.ต.อำนาจ ไตรพจน์ รองผู้บัญชาการ ตำรวจสืบสวนสอบสวนอาจมีความทางเทคโนโลยี หรือ สอท., พล.ต.ต.ฐิตวัฒน์   สุริยฉาย ผู้บังคับการ สอท.4, พ.ต.อ.แมน รัตนประทีบ รองผู้บังคับการตรวจคนเข้าเมือง 5 พ.ต.อ.พงษ์สวัสดิ์ ไชยบาล รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย, ร้อยตรี ชัยทัศน์ กรานเลิศ ผู้อำนวยการส่วนบริการศุลกากร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม ด่านศุลกากรแม่สาย จุดผ่านแดนถาวรสะพานข้าม แม่น้ำสายแห่งที่ 2

ก่อนการประชุม พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ และนายไตรรัตน์ พร้อมคณะ ได้เดินทางไปสำรวจเสาสัญญานโทรศัพท์ตามแนวชายแดน ซึ่งเป็นต้นเหตุให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์อาศัยพื้นที่ประเทศเพื่อนบ้านในการกระทำความผิด เนื่องจากสัญญานที่ส่งออกจากเสาสามารถส่งไปถึงประเทศเพื่อนบ้านด้วย โดยช่วงหนึ่งในการประชุมได้มีการหารือในประเด็นนี้ด้วย ทั้งนี้ ที่ประชุม ได้นำเสนอสภาพปัญหาอาชญากรรมคดีหลอกลวงทางโทรศัพท์ที่เป็นขบวนการ call centerในลักษะของการเปิดซิมม้า และบัญชีธนาคารม้า ในลักษณะของขบวนการ ลักลอบเข้ามาตามแนวชายแดน เพื่อเปิดซิมม้า บัญชีม้าไปใช้ในการกระทำผิด หรือนำไปขายต่อให้แก็งอาชญากรรมออนไลน์ รวมทั้งตัวแทนจำหน่าย จุดให้บริการของการจำหน่ายซิมต่างๆ ที่จะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ ได้เน้นย้ำแนวทางการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กสทช., สถาบันการเงิน และ ปปง. ให้เป็นไปตามเจตนารมย์ ของพระราชกำหนดมาตราการ ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และการบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิด ให้ตำรวจ สอท.ที่มีฐานข้อมูล ส่งต่อข้อมูลกลุ่มเสี่ยงให้ตำรวจพื้นที่เข้าตรวจสอบ ส่วนตำรวจตรวจคนเข้าเมืองให้นำบุคคลกลุ่มเสี่ยง ทำผิดกฎหมายขึ้นบัญชีบุคคลเฝ้าระวัง (watchlist) เพื่อตรวจความเข้มในการเดินทางเข้าออก

ด้าน นายไตรรัตน์ ฯ กล่าวว่า จากการที่ได้ตรวจดูเสาสัญญานตามแนวชายแดน พบว่ามีเสาที่ส่งสัญญานไปถึงประเทศเพื่อนบ้านจริง โดยอาจจะมีการยกเลิก หรือปรับย้ายจุดตั้ง โดยการขยับเสาให้ออกมาห่างจากแนวชายแดน ทั้งนี้ต้องไม่ให้กระทบกับผู้ใช้บริการตามแนวชายแดนด้วย 

ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมอบรางวัล “บุคคลต้นแบบทางการเงิน และบุคคลต้นกล้าทางการเงิน” โครงการ Money Management & Investment ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสมาคมแม่บ้านตำรวจ ประจำปี 2566 สร้างโอกาสแห่งความภาคภูมิใจ

วันนี้ (13 ก.ย.66) เวลา 10.00 น. พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานพิธีมอบรางวัล “บุคคลต้นแบบทางการเงิน และบุคคลต้นกล้าทางการเงิน” โครงการ Money Management & Investment ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสมาคมแม่บ้านตำรวจ ประจำปี 2566 ณ ห้องศรียานนท์ ชั้น 2 อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยมีคุณสุมนา กิตติประภัสร์ นายกสมาคมแม่บ้านตำรวจ , ผู้บังคับบัญชาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสมาคมแม่บ้านตำรวจ ร่วมพิธี

ทั้งนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติตระหนักถึงความเดือดร้อนและความจำเป็นในปัญหาหนี้สินของข้าราชการตำรวจและลูกจ้างประจำ จึงได้ดำเนินนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้สินขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2566 สมาคมแม่บ้านตำรวจได้เสนอให้โครงการ Money Management & Investment เป็นโครงการระดับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้ลงนาม MOU ระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 รวมทั้งบรรจุเป็นหลักสูตรเสริม และอบรมให้แก่ข้าราชการตำรวจ ทุกระดับชั้นในทุกสังกัดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติทั่วประเทศ เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ที่เป็นมาตรฐานเดียวกันจากผู้เชี่ยวชาญ เป็นการให้ความรู้ คำแนะนำ การให้คำปรึกษา การวางแผนในการบริหาร จัดการเงิน และเพื่อการแก้ปัญหาหนี้สินข้าราชการตำรวจได้อย่างทั่วถึง มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และยั่งยืน

นอกจากนี้ ในปี 2566 นี้ สมาคมแม่บ้านตำรวจ ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้วางแผนการดำเนินโครงการเป็น Model การสร้าง “บุคคลต้นแบบ” พัฒนาทักษะการบริหารการเงินและจัดการหนี้สิน หลักสูตร Happy Money in Action เส้นทางสร้างสุขทางการเงิน “1 โรงพัก 1 บุคคลต้นแบบ” ซึ่งเป็นการปลูกฝังแนวคิดและทักษะเรื่องการบริหารเงินและจัดการหนี้สิน พร้อมต่อยอดความรู้ผ่านการฝึกปฏิบัติจริงผ่าน Happy Money App. รับคำปรึกษากับวิทยากรเพื่อให้เห็นการเปลี่ยนพฤติกรรมการเงินของข้าราชการตำรวจและบุคคลในครอบครัว ให้สามารถบริหารจัดการเงินและหนี้ได้อย่างยั่งยืน สร้างบุคคลต้นแบบ Success Case ขององค์กร  เริ่มต้นนำร่องรุ่นที่ 1 ที่ตำรวจภูธรจังหวัดจันทบุรี เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2565 ได้บุคคลต้นแบบทางการเงิน จำนวน 1 คน และบุคคลต้นกล้าทางการเงินจำนวน 7 คน ,

รุ่นที่ 2 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาด้านหนี้สินอย่างต่อเนื่อง จึงได้จัดการอบรมให้กับข้าราชการตำรวจในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติทั่วประเทศ ที่ได้มีการจัดแบ่งกลุ่มเป็น กลุ่มสีแดง ผู้มีหนี้ และเป็นกรณีที่ถูกฟ้องร้องบังคับคดี ถูกฟ้องล้มละลาย กลุ่มสีเหลือง ผู้มีหนี้ แต่ไม่สามารถชำระได้ตามปกติ แต่ยังไม่ถูกฟ้องร้อง กลุ่มสีเขียว ผู้มีหนี้แต่สามารถชำระหนี้ได้ตามปกติ ไม่กระทบต่อการดำรงชีวิต เจ้าหน้าที่การเงิน และผู้ที่สนใจเข้าร่วมอบรม เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 ได้บุคคลต้นแบบทางการเงินจำนวน 1 คน บุคคลต้นกล้าทางการเงินจำนวน 8 คน และจัดการอบรมรุ่นที่ 3 ที่ตำรวจภูธรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 ได้บุคคลต้นแบบทางการเงินจำนวน 1 คน บุคคลต้นกล้าทางการเงิน 2 คน โดยการอบรมแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จในการประหยัดค่าใช้จ่ายได้เพิ่มขึ้นกว่า 76,000 บาท มีเงินออมเพิ่มขึ้นกว่า 150,000 บาท และมีหนี้สินลดลงกว่า 580,000 บาท ทำให้               ในปีนี้มี บุคคลต้นแบบทางการเงินทั้งสิ้นจำนวน 3 คน และบุคคลต้นกล้าทางการเงินทั้งสิ้นจำนวน 17 คน ซึ่งได้เข้าร่วมพิธีมอบรางวัลในวันนี้

คุณสุมนา กิตติประภัสร์ นายกสมาคมแม่บ้านตำรวจ กล่าวว่า การดำเนินโครงการ Money Management & Investment ของสมาคมแม่บ้านตำรวจ ที่ได้รับการยกระดับให้เป็นนโยบายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยได้มีการลงนาม MOU ร่วมกันระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสมาคมแม่บ้านตำรวจ กับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2566-2568 เพื่อให้การดำเนินโครงการมีความต่อเนื่องและชัดเจน ในนามของสมาคมแม่บ้านตำรวจ ต้องขอขอบคุณตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่อยู่เคียงข้างช่วยให้ครอบครัวตำรวจ ได้รับโอกาสดีๆ มีความหวัง มีพลังชีวิต โดยบุคคลต้นแบบและต้นกล้าทุกคนคือตัวแทนของความสำเร็จที่เกิดขึ้นแล้วในระดับหนึ่ง ซึ่งในอนาคตสมาคมแม่บ้านตำรวจมีแผนที่จะพัฒนาต่อยอดบุคคลกลุ่มนี้ ให้สามารถมีบทบาทในการสร้างศรัทธา เป็นพี่เลี้ยงประจำโครงการ ช่วยส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับเพื่อนข้าราชการตำรวจได้

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. กล่าวว่า ตนดีใจและยินดีที่ได้เห็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สมาคมแม่บ้านตำรวจ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในการจัดโครงการอบรมส่งเสริมความรู้ทางการเงินและการการจัดการหนี้สินให้กับข้าราชการตำรวจและครอบครัว ทำให้ข้าราชการตำรวจและครอบครัวรู้จักวางแผนบริหารการเงิน รู้วิธีจัดการหนี้สิน วางแผนชีวิตของตนเอง ได้แบบมีทิศทาง เป็นเส้นทางที่จะทำให้มีชีวิตที่มั่นคงขึ้นเรื่อยๆ ขอให้ผู้บังคับบัญชาทุกท่าน โดยเฉพาะหัวหน้าหน่วย ได้ช่วยกันดูแลและเข้าถึงปัญหาของผู้ใต้บังคับบัญชาด้วย จะได้ช่วยกันหาทางแก้ไขบรรเทา วันนี้ข้าราชการตำรวจโชคดีที่ได้รับการสนับสนุนจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เราต้องเห็นคุณค่าของโอกาสนี้ และช่วยกันขยายโอกาส ขยายโครงการนี้ไป ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่เพื่อให้ลูกน้องเรามีชีวิตที่ดีขึ้น ส่งผลให้มีกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ให้ดีต่อไป

ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เดินหน้าสร้างวัคซีนไซเบอร์ให้ประชาชน ลงนาม MOU  สร้างหลักสูตรการเรียนรู้ตลอดชีวิต ป้องกันภัยไซเบอร์

วานนี้ (13 ก.ย.66) เวลา 16.00 น. พลตำรวจเอกดำรงศักดิ์  กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ ศาสตราจารย์ ดร. บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) เรื่อง การพัฒนากิจกรรม/หลักสูตร/รายวิชาศึกษาทั่วไปเกี่ยวกับความรู้ด้านอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ณ ห้องประชุม 202 อาคารจามจุรี 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี พลตำรวจโท ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, รองศาสตราจารย์ ดร. สุวิธิดา  จรุงเกียรติกุล  ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาทั่วไปจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  พร้อมคณะทำงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี  จากหน่วยงานในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้แทนจากภาคเอกชน ร่วมเป็นเกียรติในพิธีฯ

ทั้งนี้ ตามนโยบาย พลตำรวจเอก ดำรงศักดิ์  กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ  ที่ตระหนักถึงความสำคัญโดยสั่งการบูรณาการความร่วมมือ และผนึกกำลังทุกภาคส่วนเร่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งสร้างปัญหาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน นั้น พลตำรวจเอก สมพงษ์ ชิงดวง ที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พร้อมด้วยพลตำรวจโท ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จึงเร่งดำเนินการประสานงานไปยังทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง เพื่อผนึกกำลังสร้างเสริมภูมิคุ้มกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยีให้ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของสถานบันการศึกษาต่างๆ เพื่อเป็นการสร้างเสริมความรู้ ความเข้าใจ ไปยังกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป

สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กำหนดจัดพิธีลงนามดังกล่าว เพื่อร่วมกันออกแบบกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต พัฒนาหลักสูตรและการจัดอบรมองค์ความรู้ด้านอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีและการพัฒนาบุคลากรทุกภาคส่วนให้มีความรู้ความสามารถรับมือกับความเสี่ยงและภัยคุกคามจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนทางวิชาการ

‘สุพิศาล’ แนะ ‘นายกฯ’ ดัน ‘บิ๊กรอย อิงคไพโรจน์’ นั่ง ‘ผบ.ตร.’ ชี้!! ยึดตามหลักอาวุโส หากยังเลือกไม่ได้ ให้ใช้วิธีรักษาการแทน

(27 ก.ย. 66) ที่รัฐสภา พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในฐานะอดีตผู้บังคับการกองปราบปราม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่วันนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ที่จะมีการประชุมโดยมีวาระสำคัญ เพื่อเลือกผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ว่า นายกฯ มีอำนาจตามมาตรา 77 ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตำรวจแห่งชาติ โดยเลือกรองผบ.ตร. ที่มีอาวุโส ประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถ ในการสืบสวนปราบปราม ซึ่งเป็นมาตราที่บังคับให้นายกฯ ใช้ดุลยพินิจ ในฐานะผู้นำองค์กรในการคัดเลือก

พล.ต.ต.สุพิศาล กล่าวต่อว่า ส่วนปัจจุบันที่มีเหตุการณ์โอนย้ายถ่ายอำนาจของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ที่เป็นแคนดิเดต ผบ.ตร. แต่มีการตรวจค้นบ้าน และพบว่าลูกน้องมีความเกี่ยวข้องเส้นเงินเว็บพนันออนไลน์นั้น ก็เป็นเรื่องประจวบเหมาะ แต่ไม่เกินคาดเดา เพราะเป็นแคนดิเดตที่คนเฝ้ามองอยู่แล้ว ที่มีการคาดเดาว่านายกฯ จะเสนอ

อย่างไรก็ตาม วันนี้เร็วที่สุดคือการเลื่อนออกไป แต่หากจะพิจารณาต้องชี้แจงเหตุผลของบุคคลที่เลือกมา และหากให้นิ่งที่สุดคือการเลือกหมายเลข 1 จากคุณลักษณะเฉพาะ มองว่าจะไม่มีคลื่นใต้น้ำ

“เชื่อว่าจะเป็นที่ยอมรับของสังคมตำรวจ เพราะ พ.ร.บ.ตำรวจฯ ฉบับนี้ มุ่งเน้นอาวุโส ประสบการณ์ ความรู้ ซึ่งแคนดิเดตฯ คนที่ 1 มีครบถ้วนแน่นอน แต่คนอื่นๆ ก็มี อยู่ที่นายกฯ จะชี้แจงเหตุผลอย่างไร ซึ่งจะมีคณะกรรมการ 6 ตำแหน่งจะเป็นตัวชี้ จากการนำเสนอวิสัยทัศน์ของแคนดิเดต รอง ผบ.ตร. ถ้านำเสนอคนที่มีเหตุผลน้อยที่สุด นายก ก็ต้องชี้แจง และฟันธง” พล.ต.ต.สุพิศาล กล่าว

เมื่อถามว่า การตั้งผบ.ตร.รอบนี้มีข้อแคลงใจเยอะ ควรต้องเลื่อนการประชุมวันนี้เพื่อเคลียร์ปัญหาก่อนหรือไม่ พล.ต.ต.สุพิศาล กล่าวว่า หากประชุมคงมีผลกระทบในที่ประชุมถึงข้อครหา ดีที่สุดคือชักออกจากบัญชี และพิจารณาแค่ 3 คน แต่ถ้าไม่ชักออกแล้วต้องการดันต่อ ก็เลื่อนการพิจารณาออกไป แต่ก็มีความจำเป็นต้องเอาเบอร์ 1 มารักษาการ แต่ถ้านายกฯ ใช้อำนาจเลือกเบอร์ 4 มารักษาการ ก็จะมีรักษาการยาวเหยียดไม่ผ่านการประชุมของ ก.ตร.

“มีกระแสคลื่นใต้น้ำแน่นอน เพราะมีการเขียนคำร้อง เนื่องจากเบอร์ 1 มีสิทธิฟ้องร้องคณะกรรมการฯ ที่เกี่ยวข้องกับการร้องเรียน ซึ่งใช้เวลา 30 วัน คงรู้ผลแพ้ชนะ” พล.ต.ต.สุพิศาล กล่าว

เมื่อถามว่า หากมีคลื่นใต้น้ำเป็นไปได้หรือไม่ที่จะได้ ผบ.ตร.ส้มหล่น พล.ต.ต.สุพิศาล หัวเราะ ก่อนกล่าวว่า ก็เป็นไปได้ แต่ตามสิทธิก็ถือว่าไม่ได้ส้มหล่น

เมื่อถามว่า การที่นายกฯ เป็นพลเรือนจะทำให้ตัดสินใจยากขึ้นหรือไม่ พล.ต.ต.สุพิศาล กล่าวว่า เป็นพลเรือนก็ง่ายขึ้น มีความสะดวก ถ้าการพิจารณาไม่ไปตามอาณัติใคร

เมื่อถามว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ยังมีโอกาสที่จะได้เป็น ผบ.ตร.ในอนาคตหรือไม่ พล.ต.ต.สุพิศาล กล่าวว่า ถ้ายังอยู่ก็ต้องได้เป็น ครั้งหน้าถ้าตั้งใจทำงาน ไม่มีข้อครหา เขาก็ต้องได้ แต่แน่นอนว่าต้องมีกระบวนการเตะตัดขาอยู่แล้ว เพราะเป็นพวกเหาะเหินเดินอากาศได้

เมื่อถามว่า มองว่าสุดท้ายการประชุมวันนี้จะเป็นอย่างไร พล.ต.ต.สุพิศาล กล่าวว่า ตนอ่านเกมว่าดีที่สุดคือเบอร์ 1 ได้ ยึดตามกฎหมาย ระบบอาวุโส ความรู้ ความสามารถ ผ่านงานสืบสวนสอบสวน เบอร์ 1 จึงน่าจะเหมาะสมที่สุด เพราะอาวุโสกว่าคนอื่นๆ คลื่นใต้น้ำน้อยสุดหรือแทบจะไม่มีเลย เพราะอยู่อีกแค่ปีเดียว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top