Friday, 19 April 2024
ธรรมชาติ

ต้นไม้หลักร้อย มูลค่าหลักล้าน!! | LOCK LENS GURU EP.58

LOCK LENS GURU รายการที่จะพาทุกคนมาเจาะลึกประเด็นที่น่าสนใจ ไปกับ ‘กูรู’ ตัวจริง 

🔍 พบกับ 2 กูรู ‘คุณวสันต์ รัตนวงศ์’ เจ้าของเพจ วสันต์พรรณไม้ nature plant 
และ ‘คุณทิภาคร สุนทรวัฒน์’ วัยรุ่นพันธุ์ไม้ 

🖥 ดำเนินรายการโดย หมิว THE STATES TIMES

🎥 ช่องทางรับชม 
YouTube: THE STATES TIMES
Facebook: THE STATES TIMES

ติดตามผลงานเพิ่มเติมได้ที่ : https://thestatestimes.com/category/weekly/columnist

.

.

'วราวุธ' สั่งล่าตัวนักท่องเที่ยว-คนขับเรือ ตกปลานกแก้ว ใกล้หมู่เกาะพีพี

วันที่ 11 สิงหาคม นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ตามที่มีการโพสต์คลิปวิดีโอลงบนสื่อออนไลน์ (TikTok) บัญชี @ roslanofficial ช่องทาง https://www.tiktok.com/@roslanofficial ในคลิปปรากฏว่าเจ้าของบัญชี TikTok พร้อมกัปตันเรือ ยืนถือปลานกแก้ว 3 ตัว ปลาไม่ทราบชนิด 2 ตัว และใช้มีดแทงหัวปลาไหลทะเล 1 ตัว นั้น ตนได้สั่งการลงไปในพื้นที่ ให้หาตัวคนขับเรือ และนักท่องเที่ยวต่างชาติคนดังกล่าวให้ได้โดยเร็วเพื่อนำตัวเอามาลงโทษให้ได้ เพราะเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องซีเรียสอย่างมาก 

ทั้งนี้ ทช. ได้ประสานไปยังกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ให้เร่งดำเนินการในเรื่องนี้ด้วย เพราะพื้นที่เกิดเหตุน่าจะเกิดในบริเวณอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี

นายโสภณ กล่าวว่า ล่าสุดนั้น ทางกรมอุทยานฯ แจ้งมาว่าได้ดำเนินการตรวจสอบกรณีดังกล่าว ปรากฏว่าที่เกิดเหตุอยู่บริเวณเกาะพีพีเล พิกัด 47N 0474172E 0850966N ในเขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี คณะเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการรวบรวมหลักฐานเปรียบเทียบพิกัดที่เกิดเหตุตามคลิปวิดีโอเพื่อแจ้งความกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเกาะพีพี ตามระเบียบและกฏหมายที่เกี่ยวข้อง เจ้าหน้าที่สืบทราบว่าเรือที่ก่อเหตุชื่อเรือ 'เอวาริน' อยู่ระหว่างติดตามผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมาย

'ผศ.ดร.ธรณ์' แจง!! เมฆดำทะมึน เปลี่ยนเช้าให้เหมือนกลางคืน ผลพวงลมฟ้าอากาศสุดโต่งจากมนุษย์ ที่จะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

จากเฟซบุ๊ก 'Thon Thamrongnawasawat' โดย ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม ได้ไขข้อกระจ่างเมฆดำทะมึนบนท้องฟ้ากรุงเทพฯ เมื่อช่วงเช้าของวันที่ (29 ส.ค. 65) ไว้ว่า...

ภาพเมฆดำทะมึน เปลี่ยนกรุงเทพตอนเช้าให้เป็นเหมือนตอนกลางคืน คงเป็นสิ่งที่ทำให้เพื่อนธรณ์ตกใจ

นั่นคือเมฆโลกร้อน เกิดจากทะเลร้อน น้ำระเหยเยอะ อากาศร้อน จุไอน้ำได้มากขึ้น กลายเป็นเมฆจุน้ำมหาศาล พร้อมจะเททะลักลงมากลายเป็นฝนห่าใหญ่

เคราะห์ดีที่หนนี้ลมพัดผ่านไป ฝนตกไม่มาก แต่ยังมีหนหน้าและหนต่อไป เพราะนี่คือการเริ่มต้นของยุค Extreme Weather (ลมฟ้าอากาศสุดโต่ง)

สภาพภูมิอากาศสุดขั้วเกิดจากความแปรปรวนของโลก หลังจากที่มนุษย์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปสะสมกันมานาน และยังคงปล่อยต่อไป

กลายเป็นภัยพิบัติที่จะสร้างผลกระทบสาหัส โดยเฉพาะประเทศที่กำลังเปราะบางทางเศรษฐกิจ

ตัวอย่างเห็นชัด ปากีสถาน เจอมหาอุทกภัย จากสภาพอากาศเช่นนี้

ไม่ใช่เพียงฝนตกหนัก 8 สัปดาห์รวด ปริมาณน้ำจากฟ้ามากกว่าค่าเฉลี่ยเป็นเท่าๆ ยังรวมถึงธารน้ำแข็งบนหิมาลัยที่ละลายแบบไม่เคยเกิดมาก่อน

ปากีสถานเป็นประเทศที่มีธารน้ำแข็งมากที่สุดในโลก (ไม่นับแถบขั้วโลก) น้ำจากยอดเขาไหลทะลักมารวมน้ำฝน เกิดเป็นอุทกภัยทำให้ผู้เสียชีวิตนับพัน คน 33 ล้านคนเดือดร้อน แหล่งเกษตรเสียหายยับเยิน 

ความเสียหายที่เกิดขึ้นนับว่าเกินความสามารถประเทศที่กำลังอยู่ในสถานการณ์ทางการเงินไม่ดี จะรับมือได้ 

เมืองไทยเองก็กำลังเกิดน้ำท่วมใหญ่หลายแห่ง น้ำทางเหนือกำลังมา

ในขณะที่ลำธารและน้ำตกใกล้ภูเขา บางแห่งเจอน้ำป่าฉับพลัน ต้องปิดการท่องเที่ยวบางจุด

รวมไปถึงเมฆสีดำทะมึน ฝนตกรุนแรงในพื้นที่เล็กๆ เกิดน้ำท่วมรวดเร็ว 

คนเมืองเหนื่อยเหลือเกินกับการไปทำงาน/กลับบ้าน รถติด/น้ำเข้าบ้าน

นั่นคือบางตัวอย่างของ Extreme Weather ที่เราเจอและจะเจอต่อไป

พบ 'โลมาอิรวดี' ตายเกยตื้นที่บางขุนเทียน ด้าน จนท. เข้าตรวจสอบ แต่ระบุสาเหตุการตายไม่ได้

เมื่อไม่นานมานี้ เพจ 'กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง' ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเกี่ยวกับการพบซากโลมาอิรวดีตายเกยตื้น บริเวณคลองสะพานรักษ์ทะเล บางขุนเทียน แต่ไม่สามารถระบุสาเหตุการตายได้เนื่องจากสภาพเน่ามาก โดยระบุว่า...

วันที่ 17 มกราคม 2566 ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันออก (ศวบอ.) ได้รับการประสานจากสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 8 กรณีเครือข่ายช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายาก คุณโสภิณ จินดาโฉม พบซากโลมาเกยตื้น บริเวณคลองสะพานรักษ์ทะเล บางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร 

‘บิ๊กป้อม’ ย้ำ ‘ทส.’ ดูแล-ปกป้องสิ่งแวดล้อม คืนอากาศบริสุทธิ์ หนุนยกระดับท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

(9 ส.ค. 66) พล.ท.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผู้ช่วยโฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

ที่ประชุมได้มีการพิจารณา เห็นชอบประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม 3 พื้นที่ (จ.กระบี่, จ.พังงา และ จ.สุราษฎร์ธานี) เพื่อควบคุมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสม และให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดอย่างเท่าเทียม และได้เห็นชอบรายงาน EIA งานก่อสร้างระบบจำหน่ายไฟฟ้า จ.กาญจนบุรี ตามโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้า เพื่อรองรับการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษระยะที่ 2 รวมทั้งงานก่อสร้างสายส่งไฟฟ้ารองรับนิคมอุตสาหกรรม จ.กาญจนบุรี และเห็นชอบ EIA โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ปาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ลำปาง เพื่อจัดหาแหล่งน้ำให้กับราษฎร บรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับการเกษตร และอุปโภคบริโภค

นอกจากนั้น ยังได้เห็นชอบ (ร่าง) มาตรการเฝ้าระวังป้องกัน และแก้ไขปัญหามลพิษอันเกิดจาก พีเอ็ม 2.5 ตั้งแต่ระยะเตรียมการ ระยะเผชิญเหตุ และระยะบรรเทา รวมถึงมาตรการตลอดทั้งปี เพื่อให้ทุกหน่วยงานบูรณาการแก้ปัญหาพีเอ็ม 2.5 ในอนาคตอย่างมีประสิทธิภาพในปีต่อไป

พล.อ.ประวิตร ยังได้กำชับให้ ทส.และผู้เกี่ยวข้อง กำกับ ติดตามการดำเนินงานของเจ้าของโครงการที่ผ่านความเห็นชอบรายงาน EIA แล้ว โดยให้มีการปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด เพื่อรักษาธรรมชาติไว้ให้มากที่สุด พร้อมได้กล่าวชื่นชม ทส.และเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ได้ทุ่มเท เสียสละการทำงานอย่างเต็มที่ที่ผ่านมา ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นที่ยอมรับในด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานสากล มีธรรมชาติที่สะอาดบริสุทธิ์ ปราศจากมลพิษที่เป็นภัยต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมถึงเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศได้เดินทางมายังประเทศไทยซึ่งมีจำนวนมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยจะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจ จากรายได้เข้าประเทศเป็นจำนวนมากในขณะนี้

‘ภูมิธรรม’ เปิดงาน ‘คูคลองใส ปี 66’ พร้อมเร่งฟื้นฟูสภาพดิน-น้ำ ย้ำ!! สิ่งแวดล้อมที่ดีถือเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศ

(24 ก.ย. 66) ที่ตลาดน้ำขวัญเรียม นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานเปิดในพิธี ‘งานคูคลองใส’ ประจำปี 2566 เนื่องในวันอนุรักษ์และรักษาแม่น้ำคูคลองแห่งชาติ และวันเยาวชนแห่งชาติ โดยมีนายวิชาญ มีนชัยนันท์ ประธานมูลนิธิคนรักเมืองมีน นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร เข้าร่วมพิธี โดยมีการตักบาตรพระสงฆ์ทางน้ำ ก่อนจะเดินข้ามฝั่งจากวัดบำเพ็ญเหนือไปเปิดพิธียังวัดบำเพ็งใต้

โดยนายภูมิธรร กล่าวภายหลังมอบโล่สนับสนุนการจัดงานและมอบเกียรติบัตร ‘เด็กและเยาวชนดีศรีเมืองมีน’ ว่า ในนามของรัฐบาลและนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งมอบหมายให้ตนมาปฏิบัติภารกิจสำคัญ ขอแสดงความยินดีกับนักเรียนและเยาวชนที่ได้รับยกย่องให้เป็นเต็กดีศรีเมืองมีนในปีนี้ ขอแสดงความชื่นชมต่อผู้มีเกียรติและหน่วยงานที่ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณ ในการส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมดีๆ ของสังคม และขอชื่นชมมูลนิธิคนรักเมืองมีน ที่ได้พยายามจัดงาน คูคลองน้ำใสมาอย่างต่อเนื่องถึง 11 ปี โดยมุ่งหวังให้สภาพชุมชนริมฝั่งคลอง และคุณภาพน้ำในคลองแสนแสบสะอาดขึ้น หลายคนคงทราบดีว่าคูคลองในอดีตใช้ประโยชน์ได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นด้านคมนาคม ขนส่ง อุปโภคบริโภคเป็นที่รองรับหรือระบายน้ำฝน น้ำเสีย เป็นแหล่งผลิตอาหารแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรและอุตสาหกรรม

นายภูมิธรรม กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ แม่น้ำคูคลองยังเป็นแหล่งรวมของศิลปวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณี วิถีชีวิตที่สั่งสมกันมาตั้งแต่โบราณ แต่สถานการณ์ปัจจุบัน ทำให้บทบาทของแม่น้ำคูคลองลดความสำคัญลงเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต และวัฒนธรรมในการเป็นอยู่ ทำให้มีการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำคูคลองลดน้อยลง แต่ที่หนักกว่านั้นคือ การบุกรุกคลองและเห็นคูคลองเป็นที่รองรับน้ำทิ้ง ขยะ สภาพแม่น้ำ คูคลองหลายแห่งจึงเป็นอย่างที่เห็น รัฐบาลตระหนักดีว่าทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมที่ดีของประเทศ เป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาของประเทศ และส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน ภาครัฐจึงมีนโยบายสำคัญในการส่งเสริมและเร่งฟื้นฟูความสมบูรณ์ของดินและน้ำคืนสู่ธรรมชาติ ขณะเดียวกัน ภาคเอกชน ทุกคนทุกฝ่ายก็ต้องช่วยเหลือร่วมมือกันด้วย

จากนั้นนายภูมิธรรม ได้ติดป้ายตลาดต้องชม และร่วมกิจกรรมต่างๆ อาทิ เทน้ำ EM ปล่อยพันธุ์ปลา 200,000 ตัว ชมขบวนเรือบุปผชาติ ขบวนเรือสุวรรณหงษ์ (จำลอง) เยี่ยมชมนิทรรศการ และเป็นประธานจับรางวัล Lucky Draw และมอบรางวัลให้กับประชาชนที่จับจ่ายใช้สอยในงานธงฟ้า

‘ซีพีเอฟ’ ขับเคลื่อนกิจกรรมสร้างสมดุลเพื่อธรรมชาติ ปลูกจิตสำนึก ‘พนักงาน-คู่ค้า’ คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม

(4 ธ.ค. 66) นางกอบบุญ ศรีชัย ผู้บริหารสุงสุด สายงานกิจการองค์กรและลงทุนสัมพันธ์ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า วันที่ 4 ธันวาคม เป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก  ทาง ซีพีเอฟ ซึ่งให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่ทั่วโลกต้องร่วมมือกันลดผลกระทบจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ  (Climate Change) การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และมลพิษด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อมุ่งสู่การเติบโตบนพื้นฐานของความยั่งยืน ตามแนวทาง ESG (Environment Social Governance) และคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน ความเสมอภาคที่ประชาชนทุกคนในการเข้าถึงสิ่งแวดล้อมที่ดี ทั้งทรัพยากรป่า ไม้ น้ำ และได้รับอากาศที่บริสุทธิ์ตามสิทธิขั้นพื้นฐาน  สนับสนุนความมุ่งมั่นในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

"เราตระหนักดีว่า ในการดำเนินธุรกิจ ต้องทำทุกวิถีทาง เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ซีพีเอฟ มุ่งมั่นขับเคลื่อนองค์กรสู่ธุรกิจสีเขียว (Green Business) คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ทั้งน้ำ อากาศต้นไม้ ความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อสร้างธรรมชาติที่ดีให้กับสังคม และสร้างพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศ " นางกอบบุญ กล่าว

ซีพีเอฟ กำหนดประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม เป็นส่วนหนึ่งของแนวทางสู่ความยั่งยืนของบริษัทฯ อาทิ  การบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ (Water Management) การปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ ( Biodiversity and Ecosystem) การจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Climate Change Management and Net-Zero)

การดำเนินธุรกิจของซีพีเอฟคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการผลิต พัฒนามาตรฐานฟาร์มสีเขียว (Green Farm) บริหารจัดการฟาร์มสุกรรักษ์โลกที่เน้นลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เลี้ยงสุกรในโรงเรือนระบบปิดที่ทำความเย็นด้วยการระเหยของน้ำหรือระบบอีแวป (EVAP) ใช้ระบบบำบัดน้ำด้วยไบโอแก๊ส (Biogas) ช่วยลดกลิ่น กระบวนการผลิตอาหารสัตว์ ลดผลกระทบต่อชุมชนรอบข้าง โดยนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย และระบบอัตโนมัติมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการผลิตอาหารสัตว์ กระบวนการผลิตอาหาร ให้ความสำคัญกับการออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ยั่งยืน โดยร่วมมือกับ กลุ่ม SCG พัฒนาบรรจุภัณฑ์อาหารเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

นอกจากนี้  บริษัทฯได้จัดทำนโยบายด้านการจัดหาอย่างยั่งยืน  โดยตั้งเป้าหมายร้อยละ 100 ของการจัดหาวัตถุดิบหลัก ได้แก่ ข้าวโพด  ปลาป่น น้ำมันปาล์ม กากถั่วเหลือง และมันสำปะหลัง ต้องไม่มาจากแหล่งที่มีการตัดไม้ทำลายป่า เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยึดแนวทาง ‘ไม่เขา ไม่เผา เราซื้อ’ พัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับข้าวโพดมาใช้ในการจัดหาผลผลิต รวมทั้งการถ่ายทอดความรู้ให้แก่เกษตรกร ส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเพิ่มผลผลิต ปลอดการเผาตอซัง แก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5  บรรเทาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เกษตรกรได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สุขภาพ ความปลอดภัย

ซีพีเอฟ ยังได้ส่งเสริมความตระหนักของพนักงาน รู้คุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ และสร้างการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ ปกป้องและดูแลสิ่งแวดล้อม ผ่านการดำเนินโครงการต่างๆ อาทิ โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำและป๋าชายเลน โครงการปลูกต้นไม้ในสถานประกอบการทั้งกิจการในประเทศไทยและกิจการต่างประเทศ กิจกรรมกับดักขยะทะเล ในโครงการ CPF Restore the Ocean  ที่นำแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาประยุกต์ใช้ ด้วยการนำฝาขวดน้ำพลาสติกที่ไม่ใช้แล้วมาแปรรูปเป็นอุปกรณ์ที่ใช้งานได้ อาทิ  กระถางต้นไม้ และถาดใส่ของ ซึ่งโครงการดังกล่าว สร้างผลกระทบเชิงบวกทั้งด้านเศรษฐกิจ คือ สร้างรายได้เสริมให้กับชุมชน จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ด้านสังคม สร้างการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาขยะ และด้านสิ่งแวดล้อม แก้ปัญหามลพิษจากขยะพลาสติก รักษาระบบนิเวศทางทะเล

นางกอบบุญ กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทฯ ส่งเสริมให้คู่ค้าตลอดห่วงโซ่คุณค่า โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เสริมสร้างความรู้ให้คู่ค้า SMEs ช่วยพัฒนากระบวนการผลิต เพื่อให้ผู้ประกอบการนำส่วนของผลประหยัดที่เกิดขึ้น  มาลงทุนกับโครงการลดการปล่อยคาร์บอนฯของตัวเอง ขณะเดียวกัน ได้จัด โครงการ ‘ปันรู้ ปลูกรักษ์’ โดยร่วมมือกับโรงเรียนในพื้นที่ที่ซีพีเอฟเข้าไปดำเนินโครงการด้านสิ่งแวดล้อมให้ความรู้กับเยาวชนเข้าใจในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ร่วมมือกันอนุรักษ์และดูแลสิ่งแวดล้อมไปด้วยกัน

‘จีน’ เผย ‘ท่องเที่ยวเชิงอุตุนิยมวิทยา’ เทรนด์ตลาดเกิดใหม่มาแรง ชู ‘การท่องเที่ยว-ภูมิอากาศ-ภูมิทัศน์-วัฒนธรรม’ ดึงเม็ดเงินเข้าประเทศ

(21 ธ.ค. 66) สำนักข่าวซินหัว, เจิ้งโจว รายงานจากสถาบันพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอุตุนิยมวิทยาแห่งประเทศจีน ระบุว่า การท่องเที่ยวเชิงอุตุนิยมวิทยาในจีนเติบโตอย่างต่อเนื่องช่วงไม่กี่ปีมานี้ และจะรักษาแนวโน้มการเติบโตที่รวดเร็วในปีต่อๆ ไป จนเกิดเป็นตลาดการท่องเที่ยวเกิดใหม่

รายงานว่า ด้วยการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอุตุนิยมวิทยาจากสถาบันฯ ที่เผยแพร่ในการประชุมการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงอุตุนิยมวิทยาแห่งประเทศจีน ครั้งที่ 2 ระยะ 2 วัน เผยว่า การพัฒนาที่รวดเร็วของการท่องเที่ยวดังกล่าวในจีน มีปัจจัยหลักมาจากการแสวงหาประสบการณ์ด้านอุตุนิยมวิทยาอันเป็นเอกลักษณ์ที่เพิ่มขึ้นของประชาชน รวมถึงนวัตกรรมและการยกระดับอย่างต่อเนื่องของการท่องเที่ยว

รายงานที่เผยแพร่ในการประชุมฯ ซึ่งปิดฉากลงเมื่อวันพุธที่ 20 ธ.ค.ที่ผ่านมา ในมณฑลเหอหนานทางตอนกลางของจีน คาดการณ์ว่า อุตสาหกรรมบริการเชิงอุตุนิยมวิทยาของจีนจะมีมูลค่าสูงกว่า 3 แสนล้านหยวน (ราว 1.5 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2025

‘ชวีหย่า’ เลขาธิการสมาคมอุตุนิยมวิทยาแห่งประเทศจีน กล่าวว่า ดวงอาทิตย์ขึ้นที่สวยงาม พายุฝนฟ้าคะนองที่งดงาม ผืนฟ้าที่เต็มไปด้วยดวงดาว น้ำแข็งและหิมะ น้ำค้างแข็ง และป่าฝนล้วนเป็นทรัพยากรการท่องเที่ยวเชิงอุตุนิยมวิทยา

อนึ่ง ทรัพยากรการท่องเที่ยวเชิงอุตุนิยมวิทยา แบ่งแบบกว้างออกเป็น 3 หมวดหมู่ ได้แก่

1.) ทรัพยากรภูมิทัศน์และสภาพอากาศ อาทิ เมฆ ฝน หิมะ แสงสว่าง และปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่พบได้ยาก

2.) ทรัพยากรภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม อาทิ การรักษาสุขภาพ ประสบการณ์ และวัตถุโบราณภูมิอากาศบรรพกาลที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศ

3.) ทรัพยากรเชิงอุตุนิยมวิทยาแนวมนุษยนิยม อาทิ อุตุนิยมวิทยาและประวัติศาสตร์ ภูมิทัศน์ที่มนุษย์สร้างขึ้น ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกและสิ่งก่อสร้างที่มนุษย์สร้างขึ้น

‘สว.วีระศักดิ์’ ร่วมเวทีสนทนา ‘มรดกจากธรรมชาติ การสืบทอดและรักษา’ พร้อมร่วมชมภาพยนตร์ ‘มหัศจรรย์เมล็ดพันธ์ุเหนือมิติ The Magic Seeds’

เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 67 นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมเวทีสนทนาในหัวข้อ ‘มรดกจากธรรมชาติ การสืบทอดและรักษา’ ร่วมกับ พ่อคำเดื่อง ภาษี ปราชญ์ ชาวบ้านจากแดนอีสาน ผู้สร้างตำนานการปลูกป่าในนาข้าว, ปาน ธนพร, โอ อนุชิต, จ้ะจ๋า แดนดาว ยมาภัย ดารานักแสดง, คุณวันเพ็ญ มีศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี และคุณพวงเพชร สุพาวานิชย์ ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ ‘มหัศจรรย์เมล็ดพันธ์ุเหนือมิติ The Magic Seeds เมล็ดพันธ์ุมหัศจรรย์เหนือมิติ สู่มหัศจรรย์ความยั่งยืน’ ภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นเพื่อถ่ายทอดความรู้และความรักในธรรมชาติของวัยรุ่นหนุ่มสาวผ่านการเรียนรู้จากกลุ่มปราชญ์ชุมชนที่ทำเกษตรธรรมชาติ รักษาความหลากหลายและการสร้างความยั่งยืนให้แก่ชีวิตและชุมชน ตลอดถึงคืนความสมบูรณ์แก่นิเวศสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่

จากนั้นร่วมกับผู้บริหารของ เพลาเพลิน เดอะเจอนีย์ บริการกิจกรรมชุมชนด้วยการฉายหนังกลางแปลง เรื่อง ‘มหัศจรรย์เมล็ดพันธ์ุเหนือมิติ’ ความยาว 120 นาที ในบริเวณ แคมปิ้งมาร์เก็ต ลานกลางหมู่ต้นจามจุรีใกล้อุทยานแห่งชาติ มรดกโลกแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี

สำหรับองค์กรหรือสถาบันการศึกษา ตลอดจนชุมชนที่สนใจขอนำภาพยนตร์เรื่องนี้ไปฉายเพื่อการเรียนรู้ สามารถติดต่อได้ผ่านกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กระทรวงวัฒนธรรม หรือติดต่อได้ที่ 092-271-2494 คุณพวงเพชร หัวหน้าโครงการภาพยนตร์

 

‘สว.วีระศักดิ์’ เตือนแรง!! ระบบนิเวศโลกหนีไม่พ้นการดิ่งเหว หากยังหลงคิดว่าวัฒนาการอันน้อยนิด จัดการกับธรรมชาติได้

(8 มี.ค.67) นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ กรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ได้ออกบทความในหัวข้อ ‘ระบบนิเวศในธรรมชาติของโลก กับเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม’ (ตอนที่ 1) มีเนื้อหา ระบุว่า...

มนุษย์เรียนรู้เพิ่มทุกวันว่ากระบวนการธรรมชาติซับซ้อนมาก แต่มนุษย์มักถูกกิเลสพาให้หลงคิดไปว่ามีวิวัฒนาการที่ไม่เพียงไล่ทัน แต่ยังสามารถจัดการกับระบบของธรรมชาติได้

บัดนี้ แม้แต่ผู้นำประเทศที่ก้าวหน้าที่สุดรวมตัวกัน ก็ยอมรับว่าวิวัฒนาการที่มนุษยชาติได้สั่งสมมาทั้งหมด ไม่พอที่จะรักษาให้พวกเขามั่นใจได้เลยว่า หลาน ๆ ของเขาจะมีเผ่าพันธุ์สืบต่อไปได้อีกกี่รุ่น

ผู้นำชาติต่าง ๆ ไม่อาจการันตีกับประชากรได้ ว่าหลาน ๆ ของประชากรของเขาจะได้มีชีวิตอย่างไม่แร้นแค้น

ที่จริง ผู้นำโลกเดินทางไปพบกันเรื่อง โลกร้อน ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ภาวะเรือนกระจก และสภาวะแวดล้อมต่าง ๆ มาหลายสิบหนแล้ว

ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงจนเข้าขั้นวิกฤตินี้ ยากจะมีคำปลอบขวัญที่ยืนยันได้ว่าจะควบคุมได้

ข้อเขียนนี้ ถูกผูกขึ้นด้วยเป้าประสงค์เพื่อช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจว่า ทำไม การแก้ปัญหาระดับวิกฤติการณ์ต่อมวลมนุษยชาติหนนี้ ต้องอาศัยความกล้าหาญอย่างยิ่งใหญ่ของคนยุคเราขนาดไหน

เราทุกคนของยุคนี้ ไม่ว่าท่านจะเจนเนอเรชันอะไร โอกาสรอดจากการถูกประวัติศาสตร์จารึกว่า เราพากันขับรถพุ่งลงเหว ทั้งที่ยังเลี้ยวหลบหรือเบรกกันได้ทันยากเต็มที

จริงอยู่ ว่าเราไม่ใช่ชนรุ่นแรกที่พารถโดยสารวิ่งมาในเส้นทางนี้ แต่ในโศกนาฏกรรมทุกครั้ง ไม่ค่อยมีใครถามหรอกว่า มันเริ่มตอนใครควบคุมอยู่  แต่จะสนใจว่ามันจบตอนไหน และใครคือผู้ถือพวงมาลัยสุดท้ายก่อนตกเหวดับทั้งคัน

หรือจมลงทั้งลำ!!

แม้มีข่าวสารให้เราอ่านได้มากมายในอินเตอร์เน็ตว่า ภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง มายังไง แต่ผมก็อยากพยายามสื่อสารกับผู้อ่านสักหน ว่ามันคืออะไร มายังไง และ เราต้องทำอะไร เพื่อชะลอหรือให้ดีกว่านั้น หยุดมันให้ได้

ขอเริ่มจากสภาพของโลกใบนี้ ก่อนที่จะเกิดปัญหาขนาดนี้นะครับ

ภาวะเรือนกระจกของโลก

เราเรียนมาตั้งแต่เด็กว่า โลกมีชั้นบรรยากาศห่อหุ้มอยู่หลายชั้น มองด้วยตาเปล่าก็ไม่เห็น แต่มันทำหน้าที่ของมันตามระบบที่ธรรมชาติจัดสรรมาให้อย่างซับซ้อนในการปกป้องสิ่งมีชีวิตบนโลก

ดวงอาทิตย์ส่งคลื่นความร้อนทะลุทุกชั้นบรรยากาศได้ และพื้นผิวโลกก็สะท้อนความร้อนออกไปบางส่วน กักเก็บความร้อนไว้บางส่วน ซึ่งเกิดจากการดูดซับความร้อนนั้นไว้โดยก๊าซเรือนกระจก ที่มีอยู่หลายชนิด อย่างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซมีเทน ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ก๊าซเรือนกระจกจึงทำหน้าที่ควบคุมความอบอุ่นของโลกอยู่ให้ในสภาวะที่สมดุล เกิดสภาพอากาศและฤดูกาลที่เหมาะสมสำหรับเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต ซึ่งสัดส่วนของก๊าซเรือนกระจกต่างๆ ในชั้นบรรยากาศที่ผ่านมาในอดีต มีค่อนข้างสม่ำเสมอ 

ดังนั้น ภาวะเรือนกระจกจึงมีข้อดีของมันมานับล้านปี

แต่บัดนี้ ประชากรมีกิจกรรมต่างๆ เพื่อการพัฒนาประเทศ ต้องการผลิตไฟฟ้า ต้องการขนส่ง ผลิตขยะและน้ำเสียออกมาในปริมาณมาก อย่างต่อเนื่อง ใช่ครับ เราจึงปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ออกสู่ชั้นบรรยากาศมากจนเกินสมดุล ความร้อนที่ถูกกักเก็บไว้ในชั้นบรรยากาศจึงมากเกินกว่าที่ควร ผลก็จะเหมือนเรานั่งรถปิดกระจกดับแอร์ ต่อแม้จะเป็นกลางคืน เราก็จะรู้สึกอบอ้าว อึดอัด

และความอึดอัดนี้จะมีทั่วห้องโดยสารไม่ว่าจะนั่งอยู่เบาะหน้าหรือหลัง จะเอนตัวลงนอน หรือลุกขึ้นยงโย่ยงหยก ก็จะ อึดอัด อบอ้าว อยู่ดี

วันนี้ โลกมีประชากรถึง 8พันล้านคน ยังไม่นับปศุสัตว์ที่เราขุนเลี้ยงกันไว้บริโภคอีก จนเยอะกว่าสัตว์ป่าทุกชนิดรวมกัน แม้จะนับนกในธรรมชาติหมดทุกตัวด้วยก็ตาม

ภาวะของเรือนกระจกจึงเป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันรักษาสมดุล ไม่ให้มีก๊าซใดลอยขึ้นไปอยู่มากหรือน้อยจนเกินไป นี่จึงเป็นที่มาของชื่อองค์การมหาชนของไทย ที่เรียกชื่อว่า องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก

ภาวะโลกร้อน ช่วงแรกเราสังเกตได้จากการละลายของน้ำแข็งที่ยอดเขาและขั้วโลก ว่ามันละลายหนักกว่าเดิม และละลายนานกว่าฤดูที่มันเคยเป็น

แปลว่าโลกอุ่นขึ้น ศัพท์คำว่า Global warming จึงถูกใช้มาเรื่อย

แต่พอสังเกตนานเข้าก็พบพื้นที่ ๆ ไม่ได้อุ่นขึ้น แต่กลับเย็นหนาวจนหิมะตก ทั้งที่ ๆ นั่นไม่เคยเจอหิมะมาก่อน

ทีนี้ ผู้คนก็เริ่มเห็นภาพของ สภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง หรือ Climate Change

แต่น้อยคนจะตระหนักว่า เพดานฟ้าของขั้วโลกนั้น ต่ำกว่าเพดานฟ้าที่เขตอบอุ่น หรือพื้นที่สี่ฤดู

ส่วนเพดานฟ้าที่เขตศูนย์สูตรจะสูงกว่าที่อื่น ๆ ของโลก 

ดังนั้นในวันที่ขั้วโลกเหนือใต้อุ่นขึ้นแล้ว ถึง 5 องศาเซลเซียส คนในพื้นที่อื่นกลับไม่ค่อยรู้สึกตามไปด้วย

เพราะเพดานฟ้าของเขตตัวยังสูงมาก อะไร ๆ ยังเปลี่ยนแปลงไปน้อยเกินจะเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิต

จากนั้น ก็มีภัยจากพายุรุนแรง แห้งแล้งยาวนาน น้ำท่วมหนัก และระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น กัดเซาะชายฝั่งรุนแรงขึ้น การเกษตรเสียหาย กระทบต่อรายได้ประชาชน เกิดโรคอุบัติใหม่ อุบัติซ้ำ

แต่เราเรียกมันว่าภัยธรรมชาติเหมือนเดิม ไม่ทำให้เราเปลี่ยนพฤติกรรมที่ก่อสิ่งนี้บ่อยขึ้นแต่อย่างไร

เราแก้ไขด้วยการพยายามพยากรณ์เตือนภัยล่วงหน้าให้ได้แม่นขึ้น จัดทีมกู้ภัยให้เร็วขึ้น

“เราถนัดจะแก้ที่ผล ไม่ใช่ที่เหตุ…”

ภายหลังมีคนลองขยับคำเรียกไปเป็น Climate Crisis หรือ วิกฤติสภาพภูมิอากาศ ที่จ๊าบหน่อยก็มีคำเรียกเพิ่มขึ้นว่า ภาวะโลกรวน ด้วยซ้ำ แล้วคำนั้นก็จางหายไป

จนกระทั่งกลางปี2023 เลขาธิการสหประชาชาติประกาศว่า ภาวะโลกร้อนได้ผ่านไปแล้ว บัดนี้เราได้มาพึงยุคภาวะโลกเดือด (Global Boiling) แล้ว

มีข่าวออกสื่อ แต่ไม่มีความเปลี่ยนแปลงตอบสนองต่อคำนี้ที่ต่างไปจากคำเรียกสภาพการณ์ก่อนหน้านี้แต่อย่างไร

สปีดการแก้ไข ก็ดูจะเดิม ๆ

ส่วนมากเป็นการเอ่ยถึงปัญหา แล้วก็ทำแผนจุ๋ม ๆ จิ๋ม ๆ ซึ่งก็ไม่ได้จริงจังตั้งใจเปลี่ยนแปลงสักเท่าไหร่

ในทางวิทยาศาสตร์ ก๊าซเรือนกระจกมีหลายอย่างมาก แต่ผู้ร้ายที่สำคัญ ๆ ที่เราท่านพอจะมีส่วนร่วมในการลดมันลงได้ ได้แก่...

อันดับ 1 ไม่ใช่เพราะมันร้ายกาจพิเศษ แต่เพราะสะสมในชั้นบรรยากาศโลกเยอะมากที่สุด คือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (จากการเผาไหม้ทุกชนิด) อันนี้เป็นก๊าซที่เราท่านรู้จักค่อนข้างดี

อันดับ 2 คือ ก๊าซมีเทน มีเทนเป็นส่วนประกอบหลักของก๊าซชีวภาพ ซึ่งเกิดขึ้นตามธรรมชาติโดยการย่อยสลายแบบไม่ใช้ออกซิเจน ของซากพืช ซากสัตว์ที่ทับถมมาเป็นเวลานาน การปศุสัตว์ ถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ระดับของก๊าซีเทนเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะการเลี้ยงสัตว์เคี้ยวเอื้องเช่น วัว ควาย ที่เป็นสัตว์กินหญ้า เกิดก๊าซมีเทน และปล่อยออกมาด้วยการเรอ ก๊าซมีเทนนี้ มีพลังในการเป็นผู้กักเก็บความร้อนในชั้นบรรยากาศที่ร้ายกาจสูงกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 28 เท่าตัว มันมีอายุอยู่ในชั้นบรรยากาศได้ราว 12 ปี

และบัดนี้ น้ำแข็งที่ทับบนแผ่นดินแคนาดาและไซบีเรีย รัสเซีย ซึ่งทับซากพืชซากสัตว์มาตั้งแต่หลายแสนหลายล้านปีเริ่มละลายออกมาอย่างน่าตกใจ ได้ปลดปล่อยทั้งคาร์บอนไดออกไซด์ และมีเทนจากใต้ดินชั้นน้ำแข็งที่เราเคยรู้จักในนามชั้นดิน Permafrost ขึ้นไปในชั้นบรรยากาศทุกฤดูร้อน

ก๊าซเรือนกระจก 2 รายการข้างต้น จึงเติมขึ้นสู่ท้องฟ้าอีกทาง

และเป็นที่ทราบว่า Permafrost นี้กักเก็บก๊าซทั้งสองนี้ไว้มากเสียยิ่งกว่าที่มี ๆ อยู่จนเป็นปัญหาในชั้นบรรยากาศอยู่แล้ว

แปลว่า ยิ่งเร่งและยิ่งเพิ่มก๊าซเรือนกระจกขึ้นไปทำให้โลกร้อนมากขึ้นอีก

ส่วนอันดับ 3 ก๊าซไนตรัสออกไซด์ ซึ่งมนุษย์มักใช้ในเวลาผ่าตัด เวลาทำฟัน เพื่อให้มีอาการชา จะได้ไม่รู้สึกเจ็บปวดชั่วคราว ไนตรัสออกไซด์นี้เกิดจากภาคเกษตรกรรมถึง 65% เพราะใช้ปุ๋ยไนโตรเจน ส่วนภาคอุตสาหกรรม ก็เป็นผู้ปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์ราว 20% จากการผลิตพลาสติกบางกลุ่ม การผลิตเส้นไนลอน การผลิตกรดกำมะถัน การชุบโลหะ การทำวัตถุระเบิด และการผลิตไบโอดีเซล !!

ไนตรัสออกไซด์มีอายุในชั้นบรรยากาศได้ราวร้อยปี ดีที่ว่า ไนตรัสออกไซด์สะสมในชั้นบรรยากาศยังไม่มาก แต่ที่เราพึงต้องระวังเพราะมันสามารถส่งผลต่อภาวะโลกร้อนได้มากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่มีปริมาณเดียวกันได้ถึง 265 เท่านี่แหละ

ไนตรัสออกไซด์จึงนับเป็นผู้ร้ายลำดับ 3 ที่เราต้องรู้ไว้ เพราะถ้ามันลอยไปสะสมในชั้นบรรยากาศมาก มันจะพาเราพังได้เร็วกว่าคาร์บอนไดออกไซด์มาก

ทีนี้เหลืออีกตัวการภาวะโลกร้อนจากภาคอุตสาหกรรมแท้ ๆ ได้แก่ พวกสาร CFC ซึ่งอยู่ในสารทำความเย็นในเครื่องปรับอากาศและตู้เย็นมายาวนานจนเพิ่งถูกเลิกใช้ไปเมื่อไม่นานมานี้ ตามพิธีสารมอนทรีออล แต่สารประกอบหมวดนี้ของ CFC มีอายุยืนได้นับร้อยปีจนถึงสามพันปี !!

CFC ก่อให้เกิดรูโหว่ในชั้นโอโซนทำให้รังสียูวีของดวงอาทิตย์ทะลุลงมาก่อมะเร็งผิวหนัง

ดังนั้น เท่าที่ปล่อย ๆ ไปก็นับว่าเพียงพอจะไปทำลายความสมดุลมากพอควรแล้ว และมันจะยังคงทำลายต่อไปตราบที่มันยังไม่เสื่อมสลายไปเองตามอายุของมัน

มีคนเคยถามเหมือนกันว่า แล้วทำไมคาร์บอนมอนอกไซด์ ไม่ติดท็อป 5 ของผู้ร้ายในเรื่องภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ทั้งที่ยานยนต์ทุกคัน ในเกือบร้อยปีที่ผ่านมาทั่วโลก ต่างก็ปลดปล่อยมาโดยตลอดมิใช่หรือ?

นักวิทยาศาสตร์อธิบายว่า แม้คาร์บอนมอนอกไซด์จะอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์มาก ๆ ตอนที่มันออกมาจากท่อไอเสีย แต่พอมันเจอชั้นบรรยากาศในธรรมชาติ ออกซิเจนจะค่อย ๆ เข้าไปผสมเอง และผลคือมันจะสลายเองในเวลาไม่กี่เดือน

มันจึงไม่ทันได้แสดงฤทธิ์มากนักต่อภาวะเรือนกระจกอย่างก๊าซอื่นที่มีช่วงชีวิตยาวนานมาก ๆ ที่ติดท็อป 4 ข้างต้นของข้อเขียนนี้


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top