Tuesday, 16 April 2024
ความสัมพันธ์

จีนยก ‘การทูตปิงปอง’ ร่วมมือกันได้ แม้แตกต่าง สูตรเติมสัมพันธ์ ‘จีน-สหรัฐฯ’ ขจัดมิติสงครามเย็น

กระทรวงการต่างประเทศจีน เน้นย้ำ ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ไม่มีแนวคิดแบบสงครามเย็นมาเกี่ยวข้อง พร้อมยก ‘การทูตปิงปอง’ เป็นตัวอย่างการทูตครั้งประวัติศาสตร์สองประเทศ ร่วมมือกันได้ แม้แตกต่าง

สถานีวิทยุและโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีน (CMG) รายงานว่า เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 จ้าว ลี่เจียน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน แถลงการณ์ถึงวาระครบรอบ 50 ปี การทูตปิงปองระหว่างจีน-สหรัฐอเมริกา โดยระบุว่า...

“จีนและอเมริกาเริ่มต้นสัมพันธ์ทางการทูตฉันมิตรผ่านการแข่งขันกีฬาปิงปอง เมื่อ 10 เมษายน ค.ศ. 1971 หรือกว่า 50 ปีที่แล้ว โดยจีนได้เชิญทีมนักกีฬาปิงปองจากสหรัฐอเมริกาไปเยือนจีนเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อปี 1949 ซึ่งเหตุการณ์นี้ถือเป็นเครื่องเตือนใจให้สหรัฐฯ ทราบว่าความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ไม่ควรถูกครอบงำด้วยความคิดแบบสงครามเย็นและจะต้องไม่มีการวาดเส้นทางอุดมการณ์แบบแบ่งพรรคแบ่งพวก”

32 ปี ที่รอคอย!! 'ไทย' ได้อะไรคืนมา หลังความสัมพันธ์ 'ซาอุดีอาระเบีย' กลับมาหวานชื่น

สัมพันธ์ไทย - ซาอุดีอาระเบีย แตกร้าวยาวนานกว่า 30 ปี 

ตลอด 3 ทศวรรษ ทุกรัฐบาลพยายามลบปมร้าว
แต่...ไม่สำเร็จสักรัฐบาล

ส่งผลให้ไทยสูญเสียโอกาสอย่างมหาศาล โดยเฉพาะในด้านแรงงาน และการค้า - การลงทุน จากการที่ซาอุดีอาระเบียลดระดับความสัมพันธ์ ทั้งการลดระดับตัวแทนทางการทูตเป็นระดับอุปทูต, ห้ามชาวซาอุดีอาระเบียเดินทางมาไทย และเปิดรับคนไทยไปทำงานในซาอุดีอาระเบีย 

ความสัมพันธ์ 'ไทย-ฝรั่งเศส' จากอดีตถึงปัจจุบัน สู่การยกระดับหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ในปี 2024

จากภาพปรากฏตั้งแต่ นายเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ก้าวเท้าเข้าสู่ทำเนียบและเข้าทักทายนายกรัฐมนตรีของไทย ด้วยความจริงใจและดูนอบน้อม ในฐานะแขกรับเชิญคนสำคัญจากประเทศไทยเพื่อร่วมการประชุม APEC 2022 หนนี้

ยิ่งทำให้รู้สึกถึงแนวโน้มอันดีงามในการหารือแบบทวิภาคีของ ‘ไทย-ฝรั่งเศส’ โดยเฉพาะในแง่ของความคืบหน้าการยกระดับสถานะความสัมพันธ์สู่การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ (Strategic Partner) ระหว่างกันภายในปี ค.ศ. 2024 

โดยเชื่อว่า ‘ไทย-ฝรั่งเศส’ จะได้มีการเผยแพร่ถ้อยแถลงข่าวร่วม (Joint Press Statement) ซึ่งมีสาระสำคัญเกี่ยวกับความร่วมมือเร่งด่วนที่ทั้งสองฝ่ายจะดำเนินการก่อนตามแผนการ (Roadmap) สำหรับการดำเนินความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศส (2022-2024) ที่ได้ลงนามเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ กรุงปารีส ภายใต้ 5 เสาหลัก ได้แก่... การเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจ ประชาชน และประเด็นระดับโลก 

ภาพความสัมพันธ์ในอนาคตระหว่าง ‘ไทย-ฝรั่งเศส’ จะเป็นเช่นไร อาจจะยังตอบแบบชัดๆ ได้ยาก แต่ถ้าย้อนไปตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ต้องขอบอกว่า ไทยและฝรั่งเศส มีการเจริญสัมพันธไมตรีอันดีต่อกันในหลายด้านแล้วด้วย

>> ด้านการทูต : พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ได้ส่งราชทูตมาเจริญสัมพันธไมตรีในปี 2228 ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและฝรั่งเศสพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทั้ง 2 ประเทศได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต โดยการลงนามในสนธิสัญญาทางไมตรีทางการค้าและการเดินเรือ (Treaty - of Friendship, Commerece and Navigation) เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2399 

>> ด้านการเมือง : ดำเนินไปด้วยความราบรื่น ไม่มีปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างไทยและฝรั่งเศสได้รับการยกระดับเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกัน โดยมีแผนปฎิบัติการร่วมไทย - ฝรั่งเศส ความร่วมมือทั้ง 2 ฝ่ายมีผลประโยชน์ร่วมกัน และสามารถปฎิบัติได้จริงในช่วง 5 ปี ครอบคลุมทั้งด้าน เศรษฐกิจ การเมือง และความร่วมมือระหว่างประเทศ ฯลฯ

>> ด้านเศรษฐกิจ : มีการส่งออกของไทย และสินค้าที่นำเข้าจากฝรั่งเศสหลายประการ ได้แก่...
- สินค้าส่งออกของไทย ได้แก่ เลนส์แว่นตา เครื่องนุ่งห่ม อัญมณี เครื่องประดับ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ข้าว
- สินค้านำเข้าจากฝรั่งเศส ได้แก่ เครื่องบินแอร์บัส เครื่องร่อน อุปกรณ์การบินและส่วนประกอบ เครื่องสำอาง

>> ด้านการร่วมมือด้านการค้า : ในภาครัฐ มีคณะทำงานร่วมด้านการค้าไทย-ฝรั่งเศส และมีการจัดทำข้อตกลงการหารือของเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยกับฝรั่งเศส (The High Level Economic Dialogue between Thailand and France) ปี 2553-2557 ภายใต้แผนปฏิบัติการร่วมไทย-ฝรั่งเศส ฉบับที่ 2 เพื่อเป็นกรอบความร่วมมือและส่งเสริมผลประโยชน์ด้านการค้าและการลงทุน ระหว่างสองประเทศทั้งในกรอบทวิภาคี ภูมิภาค และพหุภาคี รวมทั้งเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความเห็นเพื่อแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนระหว่างกัน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้รับผิดชอบ

>> ด้านการทหารและความมั่นคง : ไทยและฝรั่งเศสมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดผ่านกิจกรรมและโครงการที่สำคัญ เช่น ความร่วมมือด้านการฝึกปฎิบัติการร่วมทางเรือ การแลกเปลี่ยนการเยือนของนายทหารในระดับผู้นำเหล่าทัพและผู้บังคับบัญชาระดับสูง และการลงนามข้อตกลงด้านการป้องกันประเทศระหว่างรัฐบาลไทย กับรัฐบาลฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2556 ซึ่งครอบคลุมความร่วมมือด้านการวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ การวิจัยและการพัฒนา การทหาร การส่งกำลังบำรุง และความร่วมมือด้านยุทโธปกรณ์

จากอดีต มาสู่ปัจจุบัน ซึ่งหากลองพิจารณาถึงการยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างไทยและฝรั่งเศส (2022 - 2024) ที่ลงนามไว้เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา ภายใต้ 5 เสาหลัก ได้แก่ ด้านการเมืองและความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจ ด้านประชาชน และประเด็นประดับโลกนั้น จะมีความน่าสนใจใดให้ติดตามต่อบ้าง...

>> ด้านการเมืองและความมั่นคง : ทั้ง 2 ฝ่ายพร้อมจัดตั้งกลไกการเจรจา 2+2 (กระทรวงการต่างประเทศ + กระทรวงกลาโหม) การสนับสนุนความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ รวมถึงการจัดทำความตกลงการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางราชการระหว่างไทยกับฝรั่งเศสโดยเร็ว เพื่อสนับสนุนการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูง สำหรับด้านความมั่นคง นายกรัฐมนตรียินดีกับความร่วมมือทางการทหารที่ใกล้ชิด บนพื้นฐานของความเชื่อมั่นและไว้วางใจ ตลอดจนยินดีที่ฝรั่งเศสให้ความสำคัญกับภูมิภาคอินโด -แปซิฟิกรวมถึงไทย โดยนายกรัฐมนตรีพร้อมเร่งรัดการจัดตั้งกลไกการหารือ 2+2 dialogue ไทย - ฝรั่งเศส เพื่อหารือในประเด็นท้าทายด้านความมั่นคง ด้านประธานาธิบดีฝรั่งเศสเห็นว่า ไทยกับฝรั่งเศสมีศักยภาพที่จะเพิ่มพูนความร่วมมือด้านความมั่นคง โดยเฉพาะการส่งเสริมความเชื่อใจและความใกล้ชิดระหว่างทหารของทั้งสองฝ่าย การสร้างฐานอุตสาหกรรมในประเทศไทยการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการวิจัยทางทะเล เป็นต้น

>> ด้านเศรษฐกิจ : ทั้ง 2 ฝ่ายยินดีกับความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง โดยเห็นพ้องกันว่า ทั้ง 2 ฝ่ายยังมีศักยภาพที่จะขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกันได้อีกมาก ซึ่งรัฐบาลไทยได้ปรับนโยบายที่เน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ผ่านโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งสอดคล้องกับแผนปฏิรูปสีเขียวของ EU จึงเป็นโอกาสดีที่ทั้งสองฝ่ายจะสนับสนุนการส่งออกสินค้าสิ่งแวดล้อมและการลงทุนในธุรกิจสีเขียว ไทยร่วมกับสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปกลดอัตราภาษีนำเข้าทั่วไปสำหรับรายการสินค้าสิ่งแวดล้อมจำนวน 54 รายการ นายกรัฐมนตรีจึงเชิญชวนให้ฝรั่งเศสใช้ประโยชน์จากนโยบายดังกล่าว ด้านประธานาธิบดีฝรั่งเศสพร้อมมีความร่วมมือกับไทยในด้านการผลิตและพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และเกษตรกรรม ตลอดจนพร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการพัฒนา EEC

>> ด้านประชาชน : ทั้ง 2 ฝ่ายย้ำความสำคัญของการเดินทางที่ปลอดภัยโดยส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งในภูมิภาค การเพิ่มพูนการฝึกอบรมวิชาชีพและการศึกษาให้บุคลากรไทยเพื่อรองรับการขยายตัวทางธุรกิจของฝรั่งเศส และยินดีที่ปีหน้ากำหนดให้เป็นปีแห่งนวัตกรรมไทย - ฝรั่งเศส ค.ศ. 2023 (พ.ศ. 2566)

>> ด้านการศึกษาและวิชาการ : ไทยกับฝรั่งเศสมีความร่วมมือในด้านการศึกษามาอย่างยาวนาน โดยประธานาธิบดีฝรั่งเศสพร้อมสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนนักศึกษา นักวิชาการ และนักวิจัยระหว่างกันมากขึ้น ซึ่งในปีหน้าคาดว่าทั้งสองฝ่ายจะสามารถลงนามในความตกลงด้านการศึกษาระหว่างกันได้ ซึ่งจะทำให้ความร่วมมือของทั้งสองประเทศมีความใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น

>> สำหรับประเด็นเร่งด่วนระดับโลก : เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ การรับมือกับโรคระบาดรวมถึงย้ำความเป็นหุ้นส่วนที่จะร่วมมือกับประชาคมโลกในการแสวงหาทางออกที่สันติผ่านการหารือต่อความขัดแย้งในภูมิภาคต่างๆ รวมถึงสถานการณ์ในยูเครนและในเมียนมา เพื่อลดผลกระทบที่มีต่อความมั่นคงด้านอาหารและพลังงานของโลกรวมถึงการเร่งบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยังยืนของสหประชาชาติภายในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573)

‘บิ๊กตู่’ ปลื้ม!! ฟื้นสัมพันธ์ไทย-ซาอุฯ สำเร็จในรอบ 32 ปี ขึ้นแท่นคู่ค้ารายใหญ่ ขยายโอกาสทางเศรษฐกิจรอบด้าน

(22 มี.ค. 66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีกับความสำเร็จหลังการฟื้นความสัมพันธ์ประเทศไทยและราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย เปิดโอกาสความร่วมมือ เพิ่มตัวเลขการค้าระหว่างกัน โดยในปี 2565 มีมูลค่าการค้ารวม 323,113.42 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 37.64%

ทั้งนี้ ช่วงต้นปี 2565 รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ ฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตกับราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการเป็นผลสำเร็จ เปิดโอกาสความร่วมมือระหว่างกัน 9 ด้าน ได้แก่ ด้านการท่องเที่ยว, ด้านแรงงาน, ด้านอาหาร รวมถึงความร่วมมือใน ด้านสุขภาพ, ด้านพลังงาน, ด้านการศึกษาและศาสนา, ด้านความมั่นคง, ด้านกีฬา และด้านการค้าและการลงทุน ทั้งภาครัฐและเอกชนของทั้ง 2 ฝ่าย โดยภาคเอกชนไทยสนใจลงทุนธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหาร สินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าตกแต่งภายใน ส่วนซาอุดีอาระเบียสนใจลงทุนด้านพลังงานในพื้นที่ EEC ซึ่งซาอุดีอาระเบียพร้อมลงทุนสูงถึง 300,000 ล้านบาทใน EEC

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามความร่วมมือ (MOU) ขยายความร่วมมืออีกหลายฉบับ จับคู่เจรจาธุรกิจระหว่างภาครัฐซาอุดีอาระเบีย และภาคเอกชนไทย มากกว่า 500 คู่ ซึ่งคาดว่าจะเกิดมูลค่าการค้าใหม่ 3 หมื่นล้านบาท และสร้างการลงทุนระหว่างกันมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท ภายในปี 2566

ในช่วงต้นปี 2566 ซึ่งเป็นโอกาสครบรอบ 1 ปีฟื้นความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดีอาระเบีย ตัวเลขการค้าของสองฝ่ายมีมูลค่ารวมกว่า 323,113.42 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขทางการค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เพราะเพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 37.64% ทำให้ซาอุดีอาระเบียกลายเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 17 ของไทยในตลาดโลก และอันดับที่ 2 ในภูมิภาคตะวันออกกลาง

ย้อนไทม์ไลน์ความสัมพันธ์ ‘ไทย-ซาอุดีอาระเบีย’ รอยร้าวฉานที่กำลังถูกผสานให้เชื่อมต่อกันอีกครั้ง

หากย้อนอดีตกลับไป จุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ที่ร้าวฉาน กรณีความสัมพันธ์ไทย – ซาอุดีอาระเบีย คือ การที่เจ้าหน้าที่ทูตซาอุดีอาระเบียถูกลอบสังหารกลางเมืองกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2532 โดยที่ตำรวจไทยไม่สามารถสืบสวนจับคนร้ายมาดำเนินคดีได้

ต่อมาในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2533 คนร้ายได้ลงมือฆ่าเจ้าหน้าที่การทูตซาอุดีอาระเบียอีก 3 ศพรวดในเวลาเดียวกัน และในเดือนเดียวกัน ‘นายมูฮัมหมัด อัลรูไวลี’ นักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบียและเป็นสมาชิกราชวงศ์ของตระกูลอัล-ซะอูด ได้หายตัวไปอย่างลึกลับ จนทำให้มีการจับกุมเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาลชุดหนึ่ง ข้อหา ‘อุ้ม’ นายอัลรูไวลีไปเค้นข้อมูล เพราะเชื่อเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการตายของเจ้าหน้าที่การทูตของซาอุดีอาระเบียที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้

กรณีนี้ ทำให้ทางการซาอุดีอาระเบียไม่พอใจอย่างยิ่ง จนถึงขั้นลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูต ออกข้อจำกัดเกี่ยวกับแรงงานไทย ห้ามประชาชนของซาอุดีอาระเบียเดินทางมาประเทศไทย และลดระดับความร่วมมือระดับสูงในทุกด้านลงมาอยู่ระดับต่ำสุด

ความสัมพันธ์ระหว่างไทย - ซาอุดีอาระเบียไม่ได้เลวร้ายลงเพียงเพราะคดีฆาตกรรมเท่านั้น แต่ยังเกิดจากกรณีที่คนงานไทย ‘นายเกรียงไกร เตชะโม่ง’ ซึ่งไปทำงานในวังของเจ้าชายแห่งซาอุดีอาระเบีย แล้วได้ลักลอบโจรกรรมเพชรกลับประเทศไทย แต่ตำรวจไทยก็ยังไม่สามารถติดตามเพชรของกลางหลายรายการส่งกลับคืนให้ซาอุดีอาระเบียได้ทั้งหมด โดยเฉพาะเพชร ‘บลูไดมอนด์’ ซึ่งเป็นเพชรเม็ดใหญ่ที่สุด

ความสัมพันธ์กลับเลวร้ายลงไปอีก เมื่อของกลางส่วนหนึ่งที่ติดตามกลับมาได้ มีการเอาไปปลอมแปลงก่อนนำกลับไปคืนให้ซาอุดีอาระเบีย ทั้งหมดจึงเป็นเหตุที่ทำให้ความสัมพันธ์ของไทยกับซาอุดีอาระเบียสะบั้นลงทันที

และในสมัยรัฐบาลของ ‘นายกทักษิณ ชินวัตร’ จะหมดอำนาจ เขาได้เสนอเงินจำนวน 2 หมื่นล้านบาท ให้แก่รัฐบาลซาอุฯ เพื่อฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ และเพื่อให้แรงงานไทยกลับไปทำงานได้ตามปกติ แต่ยังไม่ทันได้รับการตอบรับหรือปฏิเสธก็มีการเปลี่ยนแปลงอำนาจในประเทศไทยเสียก่อน

และเมื่อปี 2563 ประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ซาอุดีอาระเบีย กลับมาเป็นกระแสอีกครั้ง หลังจากที่รัฐมนตรีต่างประเทศของไทย ‘นายดอน ปรมัตถ์วินัย’ ให้สัมภาษณ์ระหว่างเดินทางไปร่วมประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ณ ประเทศเวียดนาม ระหว่างวันที่ 11-13 มกราคม 2563 ว่าตนเองได้เดินทางเยือนประเทศบาห์เรน ซาอุดีอาระเบีย และโอมาน พร้อมทั้งกล่าวว่า การเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียนั้น เป็นการเดินทางเยือนตามคำเชิญของฝ่ายซาอุดิอาระเบีย ซึ่งมีการนัดหมายกันไว้ล่วงหน้าและยังถือเป็นการเดินทางเยือนซาอุดิอาระเบียครั้งแรกของรัฐมนตรีต่างประเทศของไทยในรอบ 30 ปี

ระหว่างการเยือนได้มีการหารือกับ ‘เจ้าชายฟัยศ็อล บิน ฟัรฮาน อัลซะอูด’ รัฐมนตรีต่างประเทศซาอุดีอาระเบีย กับ ‘นายอาดิล บิน อะหมัด อัล-นูบีร’ รัฐมนตรีแห่งรัฐด้านกิจการต่างประเทศและอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศซาอุดีอาระเบีย  โดยประเด็นหลักที่ได้มีการพูดคุยกันคือ การฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ รัฐมนตรีดอน ปรมัตถ์วินัย ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “การเยือนครั้งนี้ได้รับการตอบรับจากซาอุดีอาระเบียเป็นอย่างดี และถือเป็นพัฒนาการในทางบวกที่จะเป็นประโยชน์สำหรับทั้งสองประเทศต่อไป”

และในปี 2565 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้เดินทางไป เยือนซาอุฯ ตามคำเชิญของ เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมานฯ มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแห่งซาอุดีอาระเบีย การฟื้นความสัมพันธ์ครั้งนี้ ถือเป็นความสัมพันธ์ทางการทูตที่พัฒนาขึ้นสู่ระดับสูงสุด หลังจาก 32 ปี ไทยมีตัวแทนซาอุฯ แค่ระดับอุปทูต ซึ่งจะส่งผลให้ความสัมพันธ์ทุกด้านยกระดับตามไปด้วย เช่น ด้านแรงงาน, การท่องเที่ยว, วัฒนธรรม, การลงทุน, การส่งออกอาหารฮาลาล การเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ของชาวมุสลิมในไทย การสนับสนุนการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขของชาวมุสลิมในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ ความสัมพันธ์กับองค์การความร่วมมืออิสลาม หรือ ‘โอไอซี’ แม้การส่งแรงงานไปซาอุฯ อาจไม่ได้มากเท่าเดิม แต่ก็รับทราบว่า ซาอุฯ ยืนยันจะใช้แรงงานไทย

วันนี้ (22 มี.ค. 66) ด้านโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายอนุชา บูรพชัยศรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยินดีกับความสำเร็จหลังการฟื้นความสัมพันธ์ประเทศไทยและราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ช่วงต้นปี 2565 เป็นผลสำเร็จ เปิดโอกาสความร่วมมือระหว่างกัน 9 ด้าน ได้แก่ ด้านการท่องเที่ยว, ด้านแรงงาน, ด้านอาหาร รวมถึงความร่วมมือใน ด้านสุขภาพ, ด้านพลังงาน, ด้านการศึกษาและศาสนา, ด้านความมั่นคง, ด้านกีฬา และด้านการค้าและการลงทุน ทั้งภาครัฐและเอกชนของทั้ง 2 ฝ่าย โดยภาคเอกชนไทยสนใจลงทุนธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหาร สินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าตกแต่งภายใน

‘รมว.กต.ไทย-ซาอุฯ’ เร่งสานต่อพลวัตรความร่วมมือทวิภาคี ส่งเสริมด้านการศึกษา-ท่องเที่ยว หนุนความสัมพันธ์ภาค ปชช.

เมื่อวันที่ 22 ก.ย. 66 ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พบหารือกับเจ้าชายฟัยศ็อล บิน ฟัรฮาน อาล ซะอูด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศซาอุดีอาระเบีย ในระหว่างการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 78 (UNGA 78)

ทั้งสองฝ่ายยืนยันความมุ่งมั่นที่จะสานต่อพลวัตความร่วมมือทวิภาคีไทย-ซาอุดีอาระเบีย ภายหลังการฟื้นฟูความสัมพันธ์เมื่อปี 2565 โดยยินดีที่จะได้มีโอกาสพบหารือกันอีกในห้วงการประชุม ASEAN – GCC Summit ครั้งที่ 1 ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนตุลาคม ที่กรุงริยาด และการประชุมสภาความร่วมมือซาอุดีฯ – ไทย (STCC) ครั้งที่ 1 ซึ่งจะจัดขึ้นที่ประเทศไทย

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือแนวทางการ ส่งเสริมความสัมพันธ์ระดับประชาชน อาทิ การใช้ระบบ e-Visa ของซาอุดีอาระเบีย การสนับสนุนทุนการศึกษาแก่นักศึกษาไทย และการพิจารณาความเป็นไปได้ในการเพิ่มเที่ยวบินตรงระหว่างซาอุดีอาระเบียกับภูเก็ต

กองทัพเรือไทย ต้อนรับทัพเรือแคนนาดา เยือนประเทศไทย เสริมสร้างความสัมพันธ์

เมื่อวันที่ 29 ก.ย.66 พลเรือโท สุทิน หลายเจริญ ผู้บัญชาการฐานทัพเรือสัตหีบ มอบหมายให้ นาวาเอก มาฆะพงศ์ ดาราพันธุ์ หัวหน้าท่าเรือจุกเสม็ด การท่าเรือสัตหีบ ฐานทัพเรือสัตหีบ ให้การต้อนรับ เรือ HMCS OTTAWA เนื่องในโอกาสเดินทางมาเข้าจอดตามกิจวัตรปกติ ระหว่างวันที่ 29 กันยายน 2566 - 6 ตุลาคม 2566  ณ ท่าเรือจุกเสม็ด การท่าเรือสัตหีบ ฐานทัพเรือสัตหีบ จังหวัดชลบุรี

สำหรับ เรือหลวงของประเทศแคนาดา ที่ชื่อว่า "ออตตาวา" (Ottawa) เป็นหนึ่งในเรือฟริเกต ชั้นฮาลิแฟ็กซ์ ของกองทัพเรือแคนาดา ซึ่งมีทั้งหมด 12 ลำ จะจอดเทียบท่าที่ประเทศไทย อันเป็นส่วนหนึ่งของการเสริมสร้างความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ที่มีอย่างต่อเนื่อง เรือหลวงออตตาวา และเฮลิคอปเตอร์ ประจำการบนเรือ รุ่นไซโคลน ซีเอช-148 (CH-148 Cyclone) ที่พร้อมปฏิบัติการ มีทหารเรือ ทหารบก และนักบิน ซึ่งล้วนได้รับการฝึกฝนขั้นสูงและมีความเป็นมืออาชีพ ประจำเรือ รวม 250 นาย  

เรือหลวงออตตาวา มีการติดตั้งระบบอาวุธและเซนเซอร์สำหรับการปราบเรือดำน้ำ การรบผิวน้ำ

‘สีจิ้นผิง’ เดินทางถึง ‘เวียดนาม’ เริ่มต้นการเยือนอย่างเป็นทางการ พร้อมถกประเด็นเชิงยุทธศาสตร์รอบด้านกับคณะผู้นำเวียดนาม

(12 ธ.ค. 66) สำนักข่าวซินหัว, ฮานอย รายงานว่า ทางเวียดนามได้ปูพรมแดงต้อนรับ ‘สี จิ้นผิง’ ประธานาธิบดีจีน และเลขาธิการใหญ่คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งเริ่มต้นการเดินทางเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการ ด้วยเป้าหมายส่งเสริมสายสัมพันธ์และความร่วมมือทวิภาคี

โดยก่อนหน้านี้ ‘วัง เหวินปิน’ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน เปิดเผยว่า ทั้งสองฝ่ายจะหารือการยกระดับความสัมพันธ์ ‘จีน-เวียดนาม’ พร้อมกับทำงานเพื่อส่งเสริมและพิสูจน์ความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์รอบด้านระหว่างสองประเทศ ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นระหว่างการเยือนระยะสองวันนี้

สำหรับการเดินทางในครั้งนี้ของ สี จิ้นผิง ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจาก ‘ฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์’ นายกรัฐมนตรีเวียดนาม และผู้แทนภาคส่วนต่างๆ รวมถึงประชาชนจากจีนและเวียดนามกว่า 400 คน ร่วมโบกธงของทั้งสองพรรคการเมืองและสองประเทศเพื่อต้อนรับคณะผู้นำของจีน ณ ท่าอากาศยาน รวมถึงประชาชนตลอดเส้นทางจากท่าอากาศยานไปยังโรงแรมที่พัก

ทั้งนี้ ประธานาธิบดีจีน แสดงความคาดหวังจะแลกเปลี่ยนมุมมองเชิงลึกกับคณะผู้นำของเวียดนาม ในประเด็นเชิงยุทธศาสตร์รอบด้านอันสำคัญต่อทิศทางความสัมพันธ์ของ 2 พรรคการเมืองและ 2 ประเทศ

รายงานระบุว่า สี จิ้นผิง มีกำหนดหารือกับ ‘เหงียน ฟู้ จ่อง’ เลขาธิการใหญ่คณะกรรมกลางพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม, ‘หวอ วัน เถือง’ ประธานาธิบดีเวียดนาม รวมถึงพบปะกับ ‘ฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์’ นายกรัฐมนตรีเวียดนาม และ ‘เวือง ดิ่งห์ เหวะ’ ประธานสภาแห่งชาติเวียดนาม ระหว่างการเยือนอย่างเป็นทางการ ระยะ 2 วัน

อนึ่ง การเยือนครั้งนี้นับเป็นการเยือนเวียดนาม ครั้งที่ 3 ของสีจิ้นผิง นับตั้งแต่เขาดำรงตำแหน่งเลขาธิการใหญ่คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน และประธานาธิบดีจีน

ทั้งนี้ ได้มีการเผยถึงสุนทรพจน์ฉบับลายลักษณ์อักษรของ สี จิ้นผิง ซึ่งเผยแพร่หลังจากเขาเดินทางถึงเวียดนามด้วยว่า คณะผู้นำของทั้งสองฝ่ายจะหารือประเด็นระหว่างประเทศและระดับภูมิภาคที่มีความสนใจร่วมกัน

จีนถือว่าความสัมพันธ์กับเวียดนามเป็นพันธกิจสำคัญในการทูตประเทศเพื่อนบ้านของจีน และสีจิ้นผิงคาดหวังว่าการเยือนครั้งนี้จะเป็นโอกาสส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีสู่ระดับใหม่

จีนและเวียดนามที่เชื่อมต่อด้วยภูเขาและแม่น้ำมีมิตรภาพเก่าแก่ยาวนาน ซึ่งสั่งสมและบ่มเพาะร่วมกันโดยคณะผู้นำรุ่นเก่าก่อนของ 2 ประเทศ และถือเป็นสมบัติล้ำค่าของประชาชน 2 ประเทศ

สีจิ้นผิงในนามพรรคคอมมิวนิสต์จีน รัฐบาลจีน และประชาชนชาวจีน ขอกล่าวทักทายและอวยพรให้กับพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม รัฐบาลเวียดนาม และประชาชนชาวเวียดนามอย่างจริงใจ

ทั้งนี้ เวียดนามเป็นประเทศสำคัญในเอเชียและสมาชิกสำคัญของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ประชาชนชาวเวียดนามได้ก้าวสู่วิถีทางการพัฒนาอันเหมาะสมกับเงื่อนไขของประเทศ และเดินหน้าการเปลี่ยนผ่านทุกด้านตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทำให้มีอิทธิพลในระดับโลกและระดับภูมิภาคเพิ่มขึ้น


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top