Thursday, 25 April 2024
ก้าวข้ามความขัดแย้ง

3 สมาคมท้องถิ่น ผนึกกำลังก้าวข้ามความขัดแย้ง มุ่งพัฒนาประเทศ เพื่อคุณภาพชีวิตประชาชนในทุกมิติ

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ เวลา ที่ห้องประชุมใหญ่ สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย ได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ (MOU)“ท้องถิ่นรวมพลังเป็นหนึ่ง ก้าวข้ามความขัดแย้ง เป็นกลไกพัฒนาประเทศ เพื่อคุณภาพชีวิตประชาชนในทุกมิติ”

โดย 3 สมาคม องค์กรปกครองท้องถิ่น ประกอบด้วย นายบุญชู จันทร์สุวรรณ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุพรรณบุรี สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย นายสมชาย รังสิวัฒนศักดิ์ นายกเทศมนตรีเมืองสนั่นรักษ์ นายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และ ผศ.(พิเศษ) ดร.วิระศักดิ์ ฮาดดา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลคลองสาม สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ (MOU) “ท้องถิ่นรวมพลังเป็นหนึ่ง ก้าวข้ามความขัดแย้ง เป็นกลไกพัฒนาประเทศ เพื่อคุณภาพชีวิตประชาชนในทุกมิติ” ร่วมกัน เพื่อเป็นการสร้างความร่วมมือและผนึกกำลังระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในทุกมิติ รวมทั้งการแก้ไขปัญหาความเป็นอยู่ของประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำ ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม มุ่งทำงานตอบสนองต่อเป้าหมายของประเทศ ร่วมมือทำหน้าที่เป็นกลไกและหน่วยงานหลักในการจัดทำบริการสาธารณะ หรือกิจกรรมสาธารณะในพื้นที่ สนับสนุนการทำงานของรัฐบาลตามหลักการกระจายอำนาจเพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของรัฐบาล

‘ท่านใหม่’ เผย!! ได้คุยกับ ‘ลุงป้อม’ หลายเรื่อง ปลื้ม!! ไม่ดึงฟ้า มาแตะการเมือง เหมือนพรรคอื่น

(4 มี.ค. 66) ‘ม.จ.จุลเจิม ยุคล’ หรือ ‘ท่านใหม่’ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า...

การเมืองผมไม่ยุ่งเกี่ยว เป็นหน้าที่ของนักการเมือง เพียงแต่ผมขอร้องว่าอย่าเอามือ (พรรคการเมือง) ไปปิดพระอาทิตย์ พระอาทิตย์ทำคุณประโยชน์ให้เราเหลือคณานับ

ผมได้คุยกับลุงป้อมหลาย ๆ เรื่อง ซึ่งเป็นบรรยากาศที่ดีมากครับ ในหลาย ๆ เรื่อง ผมดีใจที่ได้คุยในสิ่งที่อยู่ในใจผม เรื่องหนึ่ง คือ ขอให้ลุงป้อม มองขึ้นไปบนฟ้าบ้าง อย่าดึงฟ้ามาเล่น แล้วอย่าเอามือไปปิดพระอาทิตย์ เหมือนบางคน บางพรรคการเมือง ไม่ดีหรอกครับลุง

ลุงป้อมรับปากว่า เรื่องนี้ต้องทำ และอยู่ในใจตลอดแน่นอน (ไม่ว่าได้เป็นนายกฯ หรือไม่) เพราะในฐานะเป็นทหารเก่า ตั้งแต่ร้อยตรี ถึงพลเอก ย่อมจะมีความจงรักภักดี และทำเพื่อ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว 

เชื่อผมสักครั้ง!! ‘บิ๊กป้อม’ โพสต์ เข้าใจโครงสร้างอำนาจประเทศ ขอ ก้าวข้ามความขัดแย้ง มั่นใจ!! ทำได้และทำได้ดีกว่าใคร

(8 มี.ค 66) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก ‘พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ’ เรื่อง ‘บทที่ 2 ก้าวสู่วิถีประชาธิปไตย’ ระบุว่า…

“การที่เป็นนายทหาร เติบโตจาก ชั้นผู้น้อย จนมาเป็น ผู้บัญชาการทหารบก อยู่เป็นผู้หนึ่งในศูนย์กลางอำนาจรัฐ ประกอบกับการคบหาสมาคมกับคนในทุกวงการตามโอกาสที่อำนวยให้มากมาย ทำให้ผมเข้าใจ ‘โครงสร้างอำนาจของประเทศ’ เป็นอย่างดี เป็นโครงสร้างที่ส่งผลต่อการช่วงชิงและจัดสรรอำนาจจริง ไม่ใช่แค่โครงสร้างในรูปแบบที่โฆษณาประชาสัมพันธ์ให้คนทั่วไปได้รับรู้

ตลอดระยะเวลาอันยาวนาน การต่อสู้ของ 2 ฝ่าย 2 แนวความคิด เป็นไปอย่างเข้มข้น ฝ่ายหนึ่งมองเห็นแต่ความเหลวแหลกของพฤติกรรมนักการเมือง แต่ความไม่รู้ ความไม่มีความสามารถของประชาชนที่จะเลือกคนมีความรู้ความสามารถเข้ามาบริหารจัดการประเทศ เห็นแต่ ‘นักธุรกิจการเมือง-การลงทุนทางการเมืองเพื่อค้ากำไร แสวงหาผลประโยชน์-นักการเมืองที่มาจากผู้มีบารมีในท้องถิ่น เข้ามาขยายแหล่งผลประโยชน์จากอำนาจส่วนกลาง’
ผู้ประสบความสำเร็จในตำแหน่ง หน้าที่การงาน ทั้งที่เป็นข้าราชการ และภาคเอกชน ทั้งนักธุรกิจ นักลงทุนที่ทำงานขับเคลื่อนประเทศ ส่วนใหญ่ทนกับความรู้สึกของตัวเองที่มีต่อนักการเมืองในคุณสมบัติข้างต้นไม่ไหว

การสนับสนุนให้ก่อร่างโครงสร้างอำนาจนิยม เกิดขึ้นจากความเหลือทนต่อพฤติกรรมดังกล่าวของนักการเมือง

ผมรับรู้ถึงกระแสสนับสนุน ‘การปฎิวัติรัฐประหาร’ ที่ไม่เคยหมดไปจากโครงสร้างอำนาจประเทศเรามาตลอด และมองความเป็นไปทั้งหมดอย่างเข้าใจ ว่าทำไมกลุ่มผู้มีอิทธิพล ในการกำหนดความเป็นไปของประเทศจึงพากันคิดและร่วมกันลงมือเช่นนั้น

อย่างไรก็ตาม เหมือนชะตาชีวิตเอื้อให้ผมมีโอกาสเข้ามาทำงานในฐานะนักการเมือง ตั้งแต่ในฐานะรัฐมนตรีในรัฐบาลที่นำโดยนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ได้ทำงานร่วมกับผู้ที่มาจากการเลือกตั้ง ทั้งรัฐมนตรี และ ส.ส. จนมาถึงได้ร่วมก่อตั้งพรรค และขยับมาเป็นหัวหน้าพรรคด้วยเหตุผลที่กล่าวไปในบทที่แล้ว

ด้วยประสบการณ์ใหม่ และอุปนิสัยเดิมของผม ที่รักในการคบหาสมาคมกับผู้คน ทำให้ผมได้เรียนรู้ชีวิต และความคิดของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนมากขึ้น
.
นักการเมืองในประเทศที่ประชาชนยังต้องการความช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ มากมาย ด้วยโครงสร้างการบริหารจัดการประเทศไม่เอื้อให้ประชาชนพึ่งพาตัวเองได้ ขณะที่การบริหารจัดการของระบบราชการยังบกพร่องและเป็นปัญหาอยู่มาก

นักการเมืองที่ถูกหมิ่นแคลนจากชนชั้นที่มีอิทธิพล กำหนดความเป็นไปของประเทศที่ผมได้กล่าวถึงข้างต้น กลับเป็นผู้ที่เข้าอกเข้าใจปัญหา เป็นที่พึ่งที่หวังได้ในทุกเรื่องของประชาชน มากกว่าคนกลุ่มอื่นในโครงสร้างอำนาจ

ผมเริ่มเข้าใจอย่างลึกซึ้งขึ้นเรื่อย ๆ ว่า การตัดสินว่า “ประชาชนไม่มีความสามารถในการเลือกคนดี มีความสามารถเข้ามาเป็นผู้แทน” นั้นเป็น ‘ความคิดที่ไม่ถูก’ เพราะมองการตัดสินใจเลือกของประชาชนส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นผู้ถูกเอารัดเอาเปรียบในโครงสร้างอำนาจแบบนี้ เพียงมุมเดียว และเป็นมุมมองที่ไม่เคยเข้าใจความรู้สึกนึกคิดชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่เป็นส่วนใหญ่ของประเทศ

เมื่อชีวิตนักการเมืองของผม ได้เรียนรู้จากการลงพื้นที่สัมผัสการทำงานของนักการเมืองพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งด้วยภารกิจราชการอย่างเช่นการลงไปแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำในพื้นที่ต่างๆ และลงไปร่วมหาเสียง สร้างความนิยมให้สมาชิกพรรคในจังหวัดต่าง ๆ

ผมได้รับรู้ว่า การปลูกฝังสำนึกประชาธิปไตยให้กับประชาชนนั้น ไปไกลแล้ว ทั้งที่ผ่านบทบาทของนักการเมืองส่วนกลาง และนักการเมืองท้องถิ่นที่มีการเลือกตั้งกันทุกระดับ ทำให้ผมกลับมาย้อนมองผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา ด้วยความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ว่าทำไม ‘พรรคที่สนับสนุนอำนาจนิยม’ จึงพ่ายแพ้ต่อ ‘พรรคที่เดินในแนวทางประชาธิปไตยเสรีนิยม’ ทุกครั้ง

ประชันนโยบาย 'สนธิรัตน์' ย้ำจุดยืน 'พปชร.' ก้าวข้ามความขัดแย้ง โว!! ‘ลุงป้อม’ นั่งนายกฯ ค่าครองชีพลด ศก.ฐานรากฟื้น

(13 มี.ค.66) ที่โรงแรมพลูแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ประธานยุทธศาสตร์การเมือง พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ร่วมแสดงนโยบายในงาน มติชน: เลือกตั้ง’66 บทใหม่ประเทศไทย ประชันนโยบาย ‘ย้ำจุดยืน ชูจุดขาย ประกาศจุดแข็ง’ ที่จัดขึ้นโดยบริษัทในเครือมติชน

โดย นายสนธิรัตน์ ได้กล่าวถึงจุดยืนของพรรคพลังประชารัฐต่อคำถามเรื่องหากได้เป็นรัฐบาลจะแก้ไขร่างใหม่ หรือดำเนินการอย่างไรกับรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ที่เป็นข้อถกเถียงในปัจจุบัน ว่า รัฐธรรมนูญต้องแก้ไขได้ เมื่อบังคับใช้ไประยะเวลาหนึ่งแล้วจะเห็นจุดอ่อนจุดแข็ง หากเรื่องใดไม่สามารถขับเคลื่อนตามเจตนารมย์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญ หรือเกิดข้อถกเถียงในเรื่องมุมมองความคิดก็สามารถแก้ไขได้ และหัวใจสำคัญของการแก้ไขรัฐธรรมนูญคือประโยชน์ของประชาชน

"ขอย้ำว่าจุดยืนของพรรคคือเราไม่ใช่พรรคของการสืบทอดอำนาจอย่างที่หลายคนกล่าวถึง พรรคพลังประชารัฐดำเนินการภายใต้กติกา และกฎเกณฑ์เดียวกันทุกอย่าง สิ่งที่พรรคยึดมั่นได้แสดงออกผ่านจดหมายน้อยของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค ว่าเคารพในหลักการของประชาธิปไตย และเคารพเรื่องของประเทศต้องมีการเปลี่ยนผ่าน เราเชื่อมั่นว่าประชาธิปไตยที่แท้จริงต้องนำไปสู่รัฐบาลที่ดี และสร้างรัฐบาลที่ไม่ก่อเกิดความขัดแย้ง" นายสนธิรัตน์ กล่าว

นายสนธิรัตน์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่พรรคเป็นห่วงมากที่สุดคือไม่อยากเห็นการเลือกตั้งครั้งนี้ มีการหยิบจุดอ่อนของรัฐธรรมนูญ และพรรคการเมืองมาสร้างความแตกแยก ทำให้บรรยากาศการเลือกตั้งไปสู่ความขัดแย้ง พรรคจึงพยายามทำทุกอย่างเพื่อก้าวข้ามความขัดแย้ง

นอกจากนี้ นายสนธิรัตน์ ยังได้ตอบคำถามในเรื่องการกระจายอำนาจ ว่าคิดอย่างไรที่ประเทศไทยมีทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายอำเภอ และผู้ว่าราชการจังหวัดจากการแต่งตั้ง นอกจากนี้ยังมีอบต. เทศบาล และอบจ. และจำเป็นหรือไม่ที่ต้องมีผู้ว่าฯ จากการเลือกตั้ง ว่า หนึ่งในหัวใจที่นำไปสู่ความมั่นคงของประเทศคือการกระจายอำนาจ แต่ทำได้ไม่เต็มที่ เนื่องจากส่วนกลางทั้งกระทรวง ทบวง กรมมีข้อจำกัดในการบริหารจัดการ ต้องยอมรับว่าคนที่อยู่ใกล้พี่น้องประชาชน และเข้าใจปัญหาพื้นที่ได้ดีที่สุดคือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ขอเรียนว่าพรรคพลังประชารัฐเห็นด้วยกับการกระจายอำนาจ เพราะทำให้ท้องถิ่นแข็งแรงขึ้น แต่การเปลี่ยนผ่านไปสู่การกระจายอำนาจ การรวมศูนย์ต้องลดบทบาทลง พร้อมกับเพิ่มศักยภาพให้ท้องถิ่น ทั้งในด้านงบประมาณ กฎหมายและอัตรากำลัง ขณะที่การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดนั้น เป็นโมเดลสำคัญในการเปลี่ยนแปลงประเทศ บางจังหวัดที่มีสภาพเศรษฐกิจที่โต และมีรูปแบบพร้อมต่อการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ได้ ก็เช่น จ.ภูเก็ต ซึ่งจะทำให้พี่น้องประชาชนได้มีบทบาทในการดูแลจังหวัดของเขามากยิ่งขึ้น

จากนั้น นายสนธิรัตน์ ได้ร่วมดีเบตกับพรรคประชาธิปัตย์ ในหัวข้อนโยบายเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และซอฟต์พาวเวอร์ ว่า ประเทศไทยมีต้นทุนทางวัฒนธรรมที่สูงมาก นักท่องเที่ยวมาไทย เพราะเรามีทุนทางวัฒนธรรม และนิสัยใจคอของคนไทย ซึ่งทุนทางวัฒนธรรม สามารถทำให้กลายเป็นเครื่องจักรเศรษฐกิจที่สำคัญได้ โดยการขับเคลื่อนมีหลายมิติ 5 ด้าน ได้แก่ 1.อาหาร ต้องมีการผลักดันอาหารไทย 2.เฟสติวัล เรามีเสน่ห์ และความหลากหลายทางวัฒนธรรม 3.แฟชั่น ประเทศไทยต้องเป็นศูนย์กลางแฟชั่น 4.ฟิล์ม และ 5.มวยไทย

โดยการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ 1.นโยบายต้องชัดเจน ไม่เป็นนโยบายที่เป็นวาทกรรม 2.งบประมาณ ต้องมีเพียงพอในการขับเคลื่อน และ 3.กลไกรัฐ องค์กรที่เกี่ยวข้อง กระทรวงต่างๆ ที่ต้องบูรณาการ และปรับแผนงาน สามสิ่งนี้คือหัวใจสำคัญของการเปลี่ยนผ่านสู่ซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทย

ทั้งนี้ ในช่วงสุดท้ายเป็นการเปิดโอกาสให้แสดงวิสัยทัศน์ นายสนธิรัตน์ กล่าวในตอนหนึ่งว่า หากเลือกพรรคพลังประชารัฐ ได้ พล.อ.ประวิตร เป็นนายกฯ และจะมีหลายสิ่งเกิดขึ้นในประเทศไทย ได้แก่…

1.ไม่มีความขัดแย้ง นี่คือจุดยืนสำคัญของพรรค จะสร้างสมดุลทางการเมือง ไม่เข้าสู่กลไกความขัดแย้ง เพราะ พล.อ.ประวิตร เปิดใจแล้วว่าอยากนำพาคนไทย และการเมืองไทยก้าวข้ามความขัดแย้ง 

2.ค่าครองชีพลดทันที จะปฏิรูปราคาน้ำมัน สร้างรายได้ให้ประชาชน โดยโซล่าเซลล์ และ Net metering 

3.ปรับโครงสร้างราคาแก๊ส โดยดูโครงสร้างแก๊สในอ่าวไทย 

4.ประชาชนจะมีรายได้เพิ่มจากบัตรสวัสดิการ 700 บาท และต่อยอดสิ่งเหล่านี้ด้วยกลไกสร้างอาชีพ ให้โอกาส และเพิ่มทักษะ 

5.คนไทยทุกช่วงวัยได้รับการดูแล เบี้ยยังชีพ 3,000 - 5,000 บาท ตามช่วงอายุ 60 - 80 ปี 

6.เศรษฐกิจฐานรากต้องฟื้น จะนำพาทุกคนสร้างงาน เราประกาศนโยบายมีที่ทำกิน ไม่มีแล้ง รวมถึงโรงไฟฟ้าชุมชนกระจายสู่ฐานราก

'บิ๊กป้อม' ยันการเมืองไม่ต้องมีผู้ชนะเด็ดขาด-ไม่มีฝ่ายต้องแพ้ราบคาบ  ลั่น!! พร้อมแปรรูปนโยบายทุกพรรคที่ดีมาสานต่อหากได้เป็นรัฐบาล

(15 มี.ค.66) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้โพสต์เฟซบุ๊ในหัวข้อ ‘บทสรุปสู่ก้าวข้ามความขัดแย้ง’ ระบุว่า ทีมงานได้วิเคราะห์ให้ผมฟังว่าจดหมายทั้ง 5 ฉบับ ไม่มีใครโต้แย้งในสาระสำคัญในเรื่องของเนื้อหา จากสื่อและสังคม แต่ก็มีสื่อบางท่านตั้งคำถามว่า จะทำได้หรือไม่ ซึ่งนั่นก็แปลว่าหากทำได้ก็จะเป็นผลดีต่อประเทศ สื่อบางท่านบ่นว่า ยาวไปหน่อย ก็ต้องตอบว่าสังคมโดยทั่วไป มีทั้งผู้เข้าใจและไม่เข้าใจ รวมทั้งสื่อเองก็อาจจะมีความเข้าใจแตกต่างกัน ระหว่างสื่อที่ทำข่าวการเมือง กับสื่อเศรษฐกิจหรือสื่อกีฬา ทีมงานจึงต้องระมัดระวังเป็นที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมโดยทั่วไป

ด้วยเหตุนี้ทีมงานจึงขอให้ผมใช้วิธีการสื่อสารด้วย Facebook จะอธิบายได้ดีกว่า ชัดเจนกว่า เพราะหากผมทำในสิ่งที่ผมไม่ถนัด คือการให้สัมภาษณ์ ซึ่งผมเป็นคนพูดไม่เก่งอยู่แล้ว อาจจะถูกตีความหมายผิดไปจากที่ผมต้องการสื่อสาร และจะต้องมาตามแก้ไขในภายหลัง ซึ่งไม่เป็นผลดีแต่อย่างใดสำหรับการเมือง และสำหรับความคิดของผมที่ต้องการให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้า

จดหมายฉบับนี้ จั่วหัวว่า เป็นบทสรุป สู่ ‘ก้าวข้ามความขัดแย้ง’ ซึ่งผมได้อธิบายไปแล้ว ในหลายฉบับที่ผ่านมาว่าปัญหาความไม่เข้าใจในเรื่องของแนวคิด ของฝ่าย ‘อนุรักษ์นิยม’ กับ ‘ฝ่ายประชาธิปไตยเสรีนิยม’ มีมาอย่างยาวนาน แล้วก็ยังวนเวียนอยู่ในสังคมไทยในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีเรื่องความไม่เข้าใจในเรื่องที่มาของปัญหา ว่าเกิดมาจากอะไร ทีมงานจึงถือโอกาสนี้อธิบายให้เข้าใจ ว่าประเทศไทยของเรานั้นเลือกที่จะปกครองในระบอบประชาธิปไตย นั่นก็คือการปกครองด้วยเสียงข้างมาก กล่าวคือผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด ที่ได้รับเสียงข้างมากจากประชาชน ก็จะถือว่า เป็นมติของประชาชน อันจะส่งผลให้ผู้สมัครท่านนั้นได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และหากพรรคใดรวมเสียงข้างมากได้ก็จัดตั้งรัฐบาลในสภา ซึ่งเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ในหลักการแล้ว นับได้ว่า สภานี้เป็น ‘สภาของประชาชน’ ไม่ใช่เป็น ‘สภาของนักการเมือง’

เมื่อสภาเป็นของประชาชน การใช้เสียงข้างมากเพื่อหาข้อยุติในความเห็นต่าง บนผลประโยชน์ของส่วนรวมนั้นจึงเป็นเรื่องปกติ ซึ่งไม่นับว่าเป็นความขัดแย้ง ความขัดแย้งจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ มีการใช้มติของเสียงข้างมากในสภาบนผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องแล้วก็ไปอ้างว่าเป็นมติพรรค จึงไปฝืนความรู้สึกของ มติประชาชนที่เห็นต่าง และมีการทักท้วงจากสื่อและสังคมในกรณี ที่ขัดแย้งกันซึ่งถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ แต่สภาก็ไม่ฟังทำให้ประชาชนมีความรู้สึกว่า สภาไม่ใช่เป็นของประชาชนอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นสภาของนักการเมือง จะเอาเป็นที่พึ่งต่อไปไม่ได้แล้ว และประชาชนก็ตัดสินใจออกมาต่อต้าน มติของสภาและขับไล่รัฐบาล โดยไม่คิดแก้ไขตามกลไกของประชาธิปไตยคือ รอให้มีการเลือกตั้ง จึงทำให้เหตุการณ์ลุกลามกลายเป็นวิกฤติที่ทำให้ฝ่ายทหารต้องนำกำลังออกมาเพื่อยุติปัญหา ซึ่งเท่ากับว่าฝ่ายอนุรักษ์นิยมกลับเข้ามาควบคุมอำนาจอีกครั้งหนึ่ง

นี่คือสิ่งที่ทีมงานพยายามอธิบาย ครั้งแล้วครั้งเล่าให้ผมฟังเพื่อให้เข้าใจว่า ที่มาของปัญหาเกิดจากภายในสภาแต่มาจบกันนอกสภา หลังจาก ‘ฝ่ายอนุรักษ์นิยม’ ควบคุมอำนาจได้แต่ก็พ่ายแพ้ทุกครั้ง เมื่อการได้อำนาจต้องผ่านการเลือกตั้งในทางตรงข้าม ‘ฝ่ายประชาธิปไตย’ แม้จะได้รับการสนับสนุนจากประชาชน ที่เป็นเสียงส่วนใหญ่เสมอ แต่ก็พิสูจน์แล้วว่าไม่มีพลังพอที่จะต้านทานการเข้ามาควบคุมจากกลไกที่มีอำนาจอย่างแท้จริง ต่อโครงสร้างอำนาจของประชาชน เมื่อประเทศต้องอยู่ในสถานะที่ ‘ผู้ล้มเหลวทั้งสองฝ่าย’ ต่างก็ผลัดเข้ามาควบคุมอำนาจอาการหมดสภาพที่จะก้าวต่อไปสู่ความเจริญจึงเกิดขึ้นกับประเทศของเรา

นโยบายของแต่ละประเทศย่อมแตกต่างกัน ผู้นำทั่วโลกของแต่ละยุคแต่ละสมัยต่างก็ปรับเปลี่ยนนโยบาย ขึ้นอยู่กับสถานะการณ์ ในช่วงเวลานั้นๆ การเมืองไทยก็เช่นกัน นโยบายในการบริหารประเทศของแต่ละพรรค การเมืองที่ต่างก็กำลังเสนอออกมาในขณะนี้ นับได้ว่าเป็นนโยบายที่ดีเพราะกลั่นกรอง มาจากบุคลากรชั้นนำของแต่ละพรรค แต่เป็นที่น่าเสียดายหากนโยบายเหล่านั้นจะไม่ได้รับการนำไปใช้เพราะ ต้องไปเป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล

ผมตั้งใจว่าเมื่อ พรรคผมเป็นรัฐบาล ผมจะตั้งคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือก นำนโยบายดีๆ ของทุกพรรค ที่ใช้ในการรณรงค์หาเสียง เอามาทำและปฏิบัติให้เกิดขึ้นได้จริง โดยไม่ได้มีความรังเกียจหรือแบ่งแยก หากนโยบายเหล่านั้นเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน เพื่อให้ประเทศชาติเดินหน้าไปได้ นี่คือการเมืองที่อยู่ในใจผม การเมืองที่ไม่ต้องมี ‘ผู้ชนะเด็ดขาด’ ‘ไม่มีฝ่ายใดต้องแพ้ราบคาบ’ ทุกคนทุกฝ่ายต้องตระหนัก ถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องช่วยกัน ร่วมมือกันฟื้นฟู และพัฒนาประเทศให้เดินไปข้างหน้าอย่างเท่าทันความเปลี่ยนแปลงของโลก

ผมขอยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่า ‘ผมพูดไม่เก่ง’ แต่ ‘ผมมีหัวใจ’ หัวใจที่ใหญ่พอจะยอมรับความแตกต่างทางความคิด เพื่อนำพาให้ ‘ก้าวข้ามความขัดแย้ง’ วิธีที่ผมคิดไว้คือให้ความเคารพอย่างแท้จริงต่อ ‘ประชาชนเสียงส่วนใหญ่’ ด้วยความเชื่อมั่นว่า ‘ประเทศจะเดินหน้าไปได้ด้วยการปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย’ เท่านั้น

เพียงแต่ว่าเป็น ‘ประชาธิปไตยที่เปิดกว้างให้คนทุกกลุ่มเข้ามาร่วมมีบทบาท’ เคารพใน ‘เสียงส่วนใหญ่’ แต่ ‘เปิดใจรับฟังเสียงส่วนน้อยที่มีความรู้ ความสามารถด้วยเจตนาดีต่อความเป็นไปของประเทศ’

‘เศรษฐา’ นำทัพ พท. ลุยแฟลตคลองจั่น พร้อมย้ำชัด เห็นพ้อง ‘บิ๊กป้อม’ ไม่ขัดแย้งใคร

‘เพื่อไทย’ ลุยแฟลตคลองจั่นหนุนด้านกีฬาเยาวชน ‘เศรษฐา’ ย้ำชัด พท.ไม่ขัดแย้งใคร ชี้ ครม.เทกระจาดเยอะไป ต้องดูวินัยการคลังด้วย ชี้นิมิตรหมายดี ‘บิ๊กป้อม’ ข้ามความขัดแย้ง ก่อนร่วมเตะฟุตซอลกับเยาวชนที่มาร่วมพูดคุย 

เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 15 มี.ค. ที่ลานกีฬาสมาพันธ์แฟลตคลองจั่น เขตบางกะปิ นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด ประธานคณะกรรมการประสานงานด้านการเมืองพื้นที่กรุงเทพฯ นายวิชาญ มีนชัยนันท์ นายดนุพร ปุณณกันต์ กรรมการประสานงานด้านการเมืองพื้นที่กรุงเทพฯ พร้อมด้วย ส.ส.กทม.และว่าที่ผู้สมัครส.ส.กทม. เขตบางกะปิ พรรคพท.ลงพื้นที่ล้อมวงคุยกับตัวแทนสภาเยาวชน 10 เขต เพื่อถาม-ตอบประเด็นเกี่ยวกับปัญหาด้านการกีฬา และรับฟังเสียงสะท้อนจากเยาวชน

โดยตัวแทนเยาวชน เสนอว่าอยากให้ช่วยสำหรับการรวมกลุ่มพัฒนากีฬาชนิดต่างๆ และอยากรู้ว่าพรรค พท.มีนโยบายเรื่องนี้อย่างไร นายเศรษฐา กล่าวว่า พรรค พท.ให้ความสำคัญกับกีฬา เราตั้งคณะกรรมการด้านนี้โดยเฉพาะ และเชื่อว่าเยาวชนแต่ละคนอยากก้าวหน้าไปสู่จุดที่สูงสุด เราจะช่วยส่งเสริมให้เยาวชนที่มีศักยภาพได้มีโอกาสในการคัดตัว เพื่อสร้างความหวัง 

จากนั้นเวลา 17.00 น. นายเศรษฐาให้สัมภาษณ์หลังการพูดคุยกับกลุ่มเยาวชนว่า การกีฬาเป็นเรื่องที่พรรคให้ความสำคัญ เพราะเป็นเรื่องของสุขภาพร่างกาย เป็นหนทางในการประกอบอาชีพด้วย แม้บางคนจะไม่มีความสามารถสูง แต่การที่เราจัดพื้นที่ให้เหมาะสมและครอบคลุม ไม่ว่าจะเป็นเพศอะไร ก็ต้องทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง และไม่ไปหมกมุ่นกับยาเสพติดและการพนัน ทั้งนี้ จากการที่ฟังปัญหาก็ครอบคลุมหลายกระทรวง แน่นอนว่าเรามีพื้นที่อยู่แล้ว แต่เรื่องของงบประมาณก็เป็นเรื่องสำคัญ เราต้องจัดสรรให้เหมาะสม 

เมื่อถามว่า มองอย่างไรกรณีที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ระบุว่าจะก้าวข้ามความขัดแย้ง และมีการออกจดหมาย ความว่าหากได้เป็นรัฐบาล จะนำนโยบายแต่ละพรรคมาจัดทำ นายเศรษฐา กล่าวว่า ตนยังไม่ได้อ่านจดหมายของท่าน แต่ได้ยินคำว่าก้าวข้ามความขัดแย้ง ก็เป็นนิมิตหมายอันดี และท่านก็พูดหลายครั้งแล้วเรื่องนี้ ทางพรรคพท.ไม่ได้ขัดแย้งกับใคร เรามีข้อขัดแย้งกับความยากจน ความไม่เสมอภาคและความไม่เท่าเทียม ซึ่งจากนี้ไปจนถึงช่วงมีการเลือกตั้ง เราก็จะเร่งกลั่นนโยบายที่โดนใจประชาชนออกมา

เมื่อถามว่า การที่ พล.อ.ประวิตรระบุจะก้าวข้ามความขัดแย้ง ทำให้เห็นพรรคพลังประชารัฐเป็นทางออกของประเทศหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ตนยังไม่ได้คิดถึงตรงนั้น ดูแต่พรรคพท.อย่างเดียวว่าเราต้องไปสู่จุดมุ่งหมายที่ได้คะแนนเยอะที่สุด

‘อัษฎางค์’ เผย ‘ลุงป้อม’ ก้าวข้ามความขัดแย้งสำเร็จ หลัง ‘มายด์ คณะราษฎร’ เข้าพบ-ได้พูดคุย

(25 มี.ค. 66) สืบเนื่องจากกรณี น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือ ‘มายด์’ แกนนำกลุ่มคณะราษฎร 2563 หรือ ‘ชาวสามนิ้ว’ เข้าพบ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร. เพื่อสอบถามถึงจุดยืนทางการเมือง

ล่าสุด นายอัษฎางค์ ยมนาค นักเคลื่อนไหวบนโลกโซเชียล ได้ทำการโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ชื่อ “เอ็ดดี้ อัษฎางค์ ยมนาค” ระบุว่า…

I don't mind.
ลุงป้อมทำสำเร็จ
ประสานทุกฝ่าย ละลายความบาดหมาง
เด็กสามนิ้วเปลี่ยนมานิยมการหมอบคลานและกราบไหว้


โดยหลังจากนั้น ได้มีการเผยแพร่ส่งต่อ และได้มีชาวเน็ตเข้ามาแสดงความคิดเห็นกันเป็นจำนวนมาก


ที่มา : https://www.thaipost.net/x-cite-news/348347/

‘ชัยวุฒิ’ ขอไม่โต้ ‘โทนี่’ ยึดสโลแกนก้าวข้ามความขัดแย้ง  ยัน พปชร. ไม่ขัดแย้งกับใคร ชี้ทำงานบางเรื่องก็ต้องตัดสินใจร่วมกัน

(28 มี.ค.66) พรรคพลังประชารัฐ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ ในฐานะรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ถึงกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีออกมาตอบโต้นายวิรัช รัตนเศรษฐ ผ่านทวิตเตอร์ว่า พรรคเพื่อไทยไม่โง่พอที่จะยกตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้กับ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐว่า พปชร.มีนโยบายก้าวข้ามความขัดแย้ง และไม่ขัดแย้งกับทุกพรรค จึงไม่อยากตอบโต้เรื่องนี้ ซึ่งการทำงานในทางการเมืองมันก็ทำงานตามสถานการณ์ บางครั้งไม่ได้ฉลาดทุกครั้ง ต้องมีบางเรื่องที่ต้องตัดสินใจร่วมกัน 

เมื่อถามว่า มองว่าการปรามาสครั้งนี้ ให้รอวันที่ผลการเลือกตั้งออกเลยใช่หรือไม่ นายชัยวุฒิกล่าวว่า การเลือกตั้งเป็นเรื่องของประชาชน ยืนยันว่า แต่ละพรรคต่อสู้กันเต็มที่ เสนอนโยบายและลงพื้นที่เข้าหาพี่น้องประชาชน ผู้สมัครแต่ละเขต แข่งกันเต็มที่ไม่มีการจับมือกัน หรือ ตกลงกันว่า ใครจะเป็นรัฐบาลหรือเป็นนายกรัฐมนตรี ทุกอย่างเป็นไปตามกรอบประชาธิปไตย 

เมื่อถามว่า แสดงว่าไม่ปฏิเสธที่จะจับมือร่วมรัฐบาลกับใครใช่หรือไม่ นายชัยวุฒิกล่าวว่า พรรคพลังประชารัฐก้าวข้ามความขัดแย้ง ฉะนั้นไม่มีเงื่อนไขที่จะต้องขัดแย้งกัน อะไรที่เป็นประโยชน์หรือประชาชนยอมรับเราเราก็ทำงานร่วมกันได้ อะไรที่เป็นความขัดแย้งหรือเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องก็ก้าวข้ามไป 

‘ธรรมรักษ์’ นำทัพลุย ‘อุดรฯ’ ชู บัตรประชารัฐ-ก้าวข้ามความขัดแย้ง ปลื้ม!! ประชาชนเห็นด้วย เผย อยากเห็นคนไทยหยุดแตกแยก

(29 มี.ค. 66) ที่ศูนย์ประสานงานพรรคพลังประชารัฐ จังหวัดอุดรธานี พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) รับผิดชอบดูแลพื้นที่ภาคอีสาน ลงพื้นที่พบประชาชน จังหวัดอุดรธานี เพื่อรับฟังปัญหาจากในพื้นที่และให้กำลังใจว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคฯ พร้อมเน้นย้ำนโยบายก้าวข้ามความขัดแย้งของ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)

โดย พล.อ.ธรรมรักษ์ กล่าวว่า การลงพื้นที่ในวันนี้ ได้รับการตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดี และส่วนใหญ่เห็นด้วยกับนโยบายของพรรค พปชร. โดยเฉพาะเรื่องการก้าวข้ามความขัดแย้ง เพราะไม่อยากเห็นคนไทยกลับมาทะเลาะกันเหมือนเดิมอีก และนโยบายบัตรประชารัฐ 700 บาทต่อเดือน ที่จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของประชาชนได้

“ผมเชื่อว่า วันนี้ คนไทยรู้ดีว่าประเทศบอบช้ำจากการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย แบ่งขั้ว แบ่งสี ทำให้คนไทยต้องมาทะเลาะกันเองยาวนานเป็น 10 ปีแล้ว ทุกคนอยากเห็นสังคมไทยกลับมามีแต่รอยยิ้มอีกครั้ง ดังนั้น หลายคนจึงมองว่า นโยบายก้าวข้ามความขัดแย้งจะช่วยให้ประเทศชาติเดินหน้าไปสู่ความเจริญ รุ่งเรืองได้อย่างยั่งยืน หากคนในชาติเกิดความสามัคคีขึ้น” พล.อ.ธรรมรักษ์ กล่าว

‘ชัยวุฒิ’ ชี้ ระบบเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด ทำคนไทยแตกแยก ชู ‘พปชร.’ เดินหน้าก้าวข้ามความขัดแย้ง ยัน!! ม.112 แก้ไม่ได้

เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 66 ที่บริเวณสวนสาธารณะใต้สะพานพระราม 8 พรรคพลังประชารัฐ ที่เปิดเวทีปราศรัยย่อยโซนธนบุรีเหนือ ‘พลังใหม่ พลังกรุงเทพ พลังประชารัฐ’ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวปราศรัยเรื่อง การก้าวข้ามความขัดแย้ง โดยได้กล่าวถึงประเด็นการแบ่งแยกเลือกตั้งผู้ว่าในแต่ละจังหวัด ว่า…

“การแบ่งแยกเลือกตั้งผู้ว่าทุกจังหวัด ทำให้เกิดความไม่เป็นหนึ่งเดียวกัน จังหวัดนี้ของพรรคนี้ เสื้อสีนี้ จังหวัดนี้ของบ้านใหญ่พรรคนี้ เข้าใจคำว่า ‘บ้านใหญ่’ ใช่ไหมครับ แล้วจะทำงานร่วมกันได้อย่างไร แบบนี้ก็ทะเลาะกันทั้งจังหวัด แล้วจะไปปกครองบริหารราชการแผ่นดินได้อย่างไร ประเทศไทยก็แตกออกเป็นจังหวัด ๆ ราชอาณาจักรไทยก็ไม่เป็นหนึ่งเดียวกัน เราจะยอมให้ประเทศเป็นแบบนั้นไม่ได้ และพรรคพลังประชารัฐ ขอยืนยันกับทุกคน ว่าเราจะต้องก้าวข้ามความขัดแย้ง ดูแลประเทศไทยให้ดีที่สุด เพื่อให้คนไทยอยู่ดีกินดี เราต้องรักษาสถาบันหลักของชาติ คือ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ต้องคงอยู่อย่างมั่นคงสืบต่อไป”

นอกจากนี้ นายชัยวุฒิ ยังพูดถึงกรณีมาตรา 112 อีกว่า ตนไปฟังมาหลายเวทีแล้วบอก 112 เป็นคดีการเมือง มันเป็นการเมืองตรงไหน มันเป็นคดีอาญา สมัยก่อนก็ไม่เคยมี มามียุคนี้นี่แหละ เพราะมีคนไปยุยงปลุกปั่น เอาเรื่องนี้มาเป็นเรื่องการเมือง ก็เลยวุ่นวายทั้งที่ความจริงไม่มีปัญหา

“ผมขอบอกเลยมาตรา 112 แก้ไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญ โดยศาลรัฐธรรมนูญตัดสินแล้ว การแก้หรือยกเลิกมาตรา 112  ทำไม่ได้แน่นอน เพราะถือว่าเป็นการล้มล้างการปกครองในระบบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” นายชัยวุฒิ กล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top