Saturday, 15 March 2025
Oreshnik

ทำความรู้จัก Oreshnik มิสไซล์เร็วเหนือเสียงรุ่นใหม่ ปูตินตอบโต้ส่งทะลวงยูเครน 5,500 กม.

(25 พ.ย.67) หลังจากที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน อนุมัติให้ยูเครนใช้อาวุธจรวดนำวิถี ATACMS โจมตีเป้าหมายในรัสเซีย ล่าสุด รัสเซียได้ตอบโต้ทันทีด้วยการอนุมัติการใช้ขีปนาวุธนำวิถีความเร็วเหนือเสียงรุ่นใหม่ 'Oreshnik' ซึ่งมีพิสัยยิงไกลถึง 5,000 กิโลเมตร โดยประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ยืนยันว่าขีปนาวุธดังกล่าวไม่ได้ติดหัวรบนิวเคลียร์  

พาเวล อัคเซนอฟ ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารจาก BBC เปิดเผยว่า ขีปนาวุธ Oreshnik ยังไม่มีข้อมูลในสารบบของนาโต้ โดคาดว่าเป็นอาวุธรุ่นใหม่ที่รัสเซียพัฒนาสำเร็จ ขีปนาวุธนี้สามารถมองเห็นได้ชัดเจนระหว่างการบินผ่านเปลวไฟจากเครื่องยนต์ ซึ่งตรวจจับได้ด้วยดาวเทียมและเครื่องบินลาดตระเวน  

จากคำกล่าวของปูติน เขาระบุว่า "หัวรบที่มีความเร็วเหนือเสียงที่ไม่ใช่แบบนิวเคลียร์" และหัวรบของมัน "โจมตีเป้าหมายด้วยความเร็ว 10 มัค ซึ่งอยู่ระหว่าง 2.5-3 กม./วินาที"

ขณะที่ข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญด้านทหารระบุว่า ขีปนาวุธนี้ติดตั้งหัวรบที่โจมตีด้วยความเร็วสูงถึง 10 มัค หรือ 2.5-3 กม./วินาที ซึ่งทำให้ยากต่อการสกัดกั้น อีกทั้งยังสามารถบรรทุกหัวรบแบบหลายหัวเพื่อโจมตีเป้าหมายได้พร้อมกัน ครอบคลุมพื้นที่ในยุโรปเกือบทั้งหมดและบางส่วนของฝั่งตะวันตกของสหรัฐ  

บีบีซียังเผยว่า มีความเป็นไปได้มากว่า Oreshnik ที่ปูตินกล่าวถึงนั้น ได้รับการพัฒนาโดยสถาบันเทคโนโลยีความร้อนแห่งกรุงมอสโก (MIT) หรือไม่ก็ ศูนย์ขีปนาวุธเมเคเยฟ  เนื่องจากศูนย์ทั้งสามแห่งนี้มีศักยภาพในการพัฒนาขีปนาวุธพิสัยกลาง-ไกล

สำหรับศูนย์ขีปนาวุธเมเคเยฟ  จะมุ่งเน้นไปที่ขีปนาวุธเชื้อเพลิงเหลวซึ่งยิงจากไซโล มีน้ำหนักมากและมีพิสัยการยิงที่ไกลมาก ตัวอย่างเช่น พิสัยของขีปนาวุธซาร์มัตอ้างว่าสามารถไปได้ไกลถึง 18,000 กม. ส่วน

ขณะที่ศูนย์สถาบันเทคโนโลยีความร้อนแห่งกรุงมอสโก ความเชี่ยวชาญในการสร้างขีปนาวุธขนาดเล็กพร้อมเครื่องยนต์เชื้อเพลิงแข็งที่ปล่อยจากฐานยิงเคลื่อนที่ โดยเฉพาะขีปนาวุธเหล่านี้มีน้ำหนักเบากว่า มีหัวรบที่เล็กกว่า และมีพิสัยการบินได้ที่สั้นกว่า ตัวอย่างเช่น ขีปนาวุธยาร์ส (Yars) มีพิสัยการบินได้ 12,000 กม.

การเคลื่อนไหวดังกล่าวสะท้อนถึงความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นในสงครามยูเครน-รัสเซีย ขณะที่ทั้งสองฝ่ายเดินหน้าพัฒนาอาวุธล้ำสมัยเพื่อตอบโต้กันในสมรภูมิระหว่างประเทศ

ส่องคลังแสงปราการป้องมอสโก เทคโนโลยียุคโซเวียต ระบบป้องกันขีปนาวุธที่ปูตินสั่งเตรียมพร้อมสูงสุด

(25 พ.ย.67) ดูเหมือนสถานการณ์ความรุนแรงในยูเครนจะคุกรุ่นมากขึ้น จากการที่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วประธานาธิบดีโจ ไบเดน ทิ้งทวนคำสั่งก่อนหมดวาระการดำรงตำแหน่งด้วยการมอบขีปนาวุธแบบ ATACMS  ซึ่งเป็นสุดยอดขีปนาวุธโจมตีพิสัยกลางให้แก่ยูเครน 

ส่งผลให้ล่าสุดประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ออกคำสั่งใช้ขีปนาวุธ Oreshnik ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นขีปนาวุธเหนือเสียง เดินทางเร็วกว่าเสียง 10 เท่า พิสัยการยิง 5,000 กิโลเมตร ซึ่งสามารถโจมตียุโรปได้ทั้งหมด และรวมไปถึงบางส่วนของฝั่งตะวันตกของสหรัฐ โดยเป้าหมายแรกที่ปูตินสั่งให้ขีปนาวุธ Oreshnik คือเมือง Dnepropetrovsk ของยูเครนซึ่งเป็นเมืองที่ตั้งของ สถานประกอบการด้านการป้องกันยูเครน

คำสั่งโจมตีดังกล่าวของผู้นำมอสโก ทำให้กระทรวงกลาโหมรัสเซียต้องออกมาเปิดเผยถึงความพร้อมในการรับมือโจมตีระรอกใหม่ หากว่ายูเครนใช้อาวุธที่นาโต้มอบให้ โจมตีแผ่นดินรัสเซียด้วยการออกมาเปิดเผยระบบป้องกันขีปนาวุธที่รัสเซียเตรียมพร้อมรับมือ

พล.ท. Aytech Bizhev อดีตรองผู้บัญชาการระบบป้องกันภัยทางอากาศร่วมของ CIS กองทัพอากาศรัสเซีย กล่าวกับสำนักข่าว Sputnik โดยให้ความเห็นเกี่ยวกับวิธีการที่มอสโกว์มีไว้เพื่อรับมือกับภัยคุกคามจากขีปนาวุธของนาโต้ว่า รัสเซียมีระบบป้องกันขีปนาวุธหลายรูปแบบที่เตรียมพร้อมรับมือ อาทิ 

S-300V ซึ่งถูกนำมาใช้ตั้งแต่ปี 1988 เป็นการอัปเกรดระบบขีปนาวุธพื้นสู่อากาศระยะไกล S-300 ที่เปิดตัวครั้งแรกในปี 1978 มีระยะยิงต่อเป้าหมายขีปนาวุธ 30-40 กิโลเมตร S-400 ขีปนาวุธที่พัฒนาในช่วง1980-1990 เปิดตัวในปี 2007 สามารถตรวจจับเป้าหมายขีปนาวุธได้ไกลถึง 200 กิโลเมตร และทำลายได้ในระยะ 60 กิโลเมตร

S-500 ระบบขีปนาวุธพื้นสู่อากาศรุ่นล่าสุดของรัสเซีย เริ่มใช้งานในปี 2021 สามารถตรวจจับเป้าหมายได้ไกลถึง 600 กิโลเมตร และทำลายได้ในระยะ 200 กิโลเมตร นอกจากนั้นยังมี A-135 Amur และ A-235 Nudol ระบบสกัดกั้นขีปนาวุธแบบฐานยิง ถูกออกแบบมาเพื่อจัดการกับภัยคุกคามจากขีปนาวุธความเร็วสูงและอวกาศ ใช้งานตั้งแต่ปี 1995 และ 2019 ตามลำดับ มีระยะตรวจจับสูงสุด 6,000 กิโลเมตรด้วยเรดาร์ Don-2N และระยะยิงประมาณ 350-900 กิโลเมตร

อีกหนึ่งระบบคือ Tor ระบบขีปนาวุธระยะสั้น เริ่มใช้งานในปี 1986 ถูกออกแบบมาเพื่อจัดการกับเครื่องบิน เฮลิคอปเตอร์ ขีปนาวุธร่อน และโดรน รวมถึงขีปนาวุธระยะสั้น ระยะตรวจจับและติดตาม 25 กิโลเมตร ระยะยิงสูงสุด 16 กิโลเมตร

และสุดท้าย Buk ระบบขีปนาวุธระยะกลาง พัฒนาตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1970 ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ถูกนำมาใช้ในกองทัพตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1990 สามารถโจมตีขีปนาวุธยุทธวิธี ขีปนาวุธร่อน และขีปนาวุธต่อต้านเรือในระยะ 3-20 กิโลเมตร และที่ระดับความสูงสูงสุด 16 กิโลเมตร

Bizhev กล่าวว่า ระบบป้องกันภัยทางอากาศของรัสเซียล้ำหน้ากว่าวิธีการโจมตีที่มันถูกออกแบบมาป้องกันอยู่ประมาณ 5-10 ปี ขาเล่าถึงยุคปลายทศวรรษ 1980 ที่สหภาพโซเวียตเริ่มพัฒนาระบบป้องกันขีปนาวุธเป็นครั้งแรก ในขณะที่ NATO กำลังติดตั้งอาวุธขีปนาวุธยุคใหม่ที่มีความแม่นยำสูง ในยุคนั้น ภารกิจหลักของระบบป้องกันขีปนาวุธของโซเวียต (และรัสเซียหลังปี 1991) คือการป้องกันมอสโกและภูมิภาคอุตสาหกรรมตอนกลาง

เผยมิสไซล์ Oreshnik บึ้มฐานสหรัฐในอาหรับเพียง 15 นาที ยิงถึงฐานเพิร์ลฮาร์เบอร์-แผ่นดินใหญ่สหรัฐใน 25 นาที

(27 พ.ย.67) สำนักข่าวสปุตนิกเปิดเผยว่า หลังจากประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน เปิดตัวขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงรุ่นใหม่ 'Oreshnik' ที่ใช้ตอบโต้ยูเครน ซึ่งก่อนหน้านั้นยูเครนได้ใช้ขีปนาวุธ ATACMS จากสหรัฐโจมตีพื้นที่รัสเซีย ชาตินาโต้เริ่มแสดงความกังวลเกี่ยวกับศักยภาพของขีปนาวุธดังกล่าว  

Oreshnik มีพิสัยการยิงครอบคลุมทั่วยุโรปและยังสามารถโจมตีฐานทัพสหรัฐในตะวันออกกลางได้ในเวลาเพียง 15 นาที นักวิเคราะห์รัสเซียเผยว่า ขีปนาวุธนี้สามารถเข้าถึงฐานทัพในตะวันออกกลาง แปซิฟิก อลาสกา และไซโลขีปนาวุธในสหรัฐได้อย่างรวดเร็ว  

หากยิงจากฐาน Kapustin Yar ในแคว้นอัสตราฮัน ทางตอนใต้ของรัสเซีย จะสามารถโจมตี ฐานทัพสหรัฐในคูเวต ระยะทาง 2,100 กม. ใน 11 นาที  ฐานทัพเรือที่ 5 ในบาห์เรน ระยะทาง 2,500 กม. ใน 12 นาที  ฐานทัพอากาศในกาตาร์ ระยะทาง 2,650 กม. ใน 13 นาที ฐานทัพในจีบูติ แอฟริกา ระยะทาง 4,100 กม. ใน 20 นาที  

สำหรับแถบแปซิฟิกและอลาสกา หากยิงจาก Kamchatka ในไซบีเรีย จะโจมตีฐานทัพในอลาสกา ระยะทาง 2,400 กม. ใน 12 นาที  เกาะกวม ระยะทาง 4,500 กม. ใน 22 นาที เพิร์ลฮาร์เบอร์ ระยะทาง 5,100 กม. ใน 25 นาที  

ขณะที่จากฐาน Chukotka ในรัสเซีย ขีปนาวุธ Oreshnik สามารถยิงถึง ฐานปล่อยขีปนาวุธข้ามทวีปในมอนทานา ระยะทาง 4,700 กม. ใน 23 นาที ไซโลขีปนาวุธในนอร์ทดาโกตา ระยะทาง 4,900 กม. ใน 24 นาที

‘เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ’ รมต.ต่างประเทศรัสเซีย เผยกับ ‘นักข่าวอเมริกัน’ เงื่อนไขที่สำคัญที่สุด 4 ประการในการยุติ!! สงครามยูเครน

เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2024 มีการเผยแพร่บทสัมภาษณ์ระหว่างนายเซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียกับนายทัคเกอร์ คาร์ลสันนักข่าวชาวอเมริกัน ที่เคยสัมภาษณ์ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซียเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2024 ที่ผ่านมาโดยได้พูดคุยกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินเกี่ยวกับสาเหตุของการเริ่มปฏิบัติการพิเศษทางทหารในยูเครนและความสัมพันธ์กับตะวันตก ครั้งนี้นักข่าวชาวอเมริกันรายนี้เดินทางกลับมายังมอสโกเพื่อพูดคุยกับนายเซอร์เกย์ ลาฟรอฟรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของรัสเซีย การสัมภาษณ์ของนายทัคเกอร์ คาร์ลสันครั้งนี้เกิดขึ้นในขณะที่การทูตเกี่ยวกับการหยุดยิงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นนับตั้งแต่นายโดนัลด์ ทรัมป์ได้รับเลือกตั้งและในขณะที่รัสเซียยังคงเดินหน้าในสนามรบทางตะวันออกของยูเครน การสัมภาษณ์ใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมงครึ่ง ภายใน 3 ชั่วโมง มีผู้เข้าชมเกือบ 2.3 ล้านครั้ง โดยรัฐมนตรีเซอร์เกย์ ลาฟรอฟได้ตอบคำถามเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียและสหรัฐอเมริกา ความขัดแย้งในยูเครน และเงื่อนไขที่สำคัญที่สุดสำหรับประเทศรัสเซียในการยุติปัญหานี้ โดยสามารถสรุปประเด็นการสัมภาษณ์ดังกล่าวที่สำคัญได้ 4 ประเด็น ดังนี้

ประเด็นแรก ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับสหรัฐอเมริกา
- รัสเซียต้องการมีความสัมพันธ์ตามปกติกับทุกประเทศโดยเฉพาะประเทศที่ยิ่งใหญ่เช่นสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินแสดงความเคารพต่อชาวอเมริกันและความสำเร็จของพวกเขาหลายครั้ง เราไม่เห็นเหตุผลว่าทำไมรัสเซียและสหรัฐอเมริกาจึงไม่สามารถร่วมมือกันได้
- สำหรับมอสโกสิ่งสำคัญคือการหลีกเลี่ยงสงครามกับสหรัฐอเมริกา เนื่องจากสงครามอาจลุกลามบานปลายกลายเป็นสงครามนิวเคลียร์ได้
- โดนัลด์ ทรัมป์เป็นมิตร แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาจะโปรรัสเซีย
- สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในยูเครนถูกเรียกว่าสงครามลูกผสม ยูเครนจะไม่สามารถทำสิ่งที่พวกเขากำลังทำอยู่ด้วยอาวุธสมัยใหม่ที่มีพิสัยไกลได้เลยหากไม่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ซึ่งมีบทบาทอย่างแข็งขันในการจัดหาอาวุธให้กับทางเคียฟ 
โดยเขากล่าวว่า “ผมจะไม่พูดว่าในวันนี้รัสเซียและสหรัฐอเมริกากำลังทำสงครามกัน เราไม่ได้ทำสงครามอย่างเป็นทางการ และนี่ไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการ เราอยากจะมีความสัมพันธ์ตามปกติกับทุกประเทศ”

ประเด็นที่สอง ความเสี่ยงจากสงครามนิวเคลียร์
- ทางการรัสเซียมีความกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่สงครามนิวเคลียร์จะลุกลาม
- หลักคำสอนทางทหารของเรากล่าวว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการหลีกเลี่ยงสงครามนิวเคลียร์
- แนวคิดของชาติตะวันตกที่มองว่ารัสเซียไม่มี ‘เส้นแดง’ นั้นถือเป็นความผิดพลาดร้ายแรง หลายครั้งที่ตะวันตกประกาศเส้นแดงเองและเปลี่ยนเส้นแดงนั้นไปมา โดยเขากล่าวว่า “นี่เป็นเกมที่อันตรายมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ทางตะวันตกมีการเรียกร้องภายในเพนตากอนและ NATO ให้ชิงโจมตีก่อนโดยมองว่าการโจมตีเป็นการป้องกันที่ดีที่สุด รวมถึงการโจมตีด้วยนิวเคลียร์อย่างจำกัด ซึ่งเป็นการก่อให้เกิดหายนะที่เราไม่ต้องการ

ประเด็นที่สาม การทดสอบขีปนาวุธ ‘Oreshnik’
- รัสเซียไม่ต้องการให้สถานการณ์เลวร้ายลง แต่เนื่องจากขีปนาวุธ ATACMS และอาวุธระยะไกลอื่น ๆ ถูกใช้กับแผ่นดินรัสเซีย ทางการรัสเซียหวังว่าการทดสอบขีปนาวุธ 'โอเรชนิก' จะเป็นการส่งสัญญาณไปยังสหรัฐฯ เพื่อให้ได้รับการพิจารณาอย่างจริงจัง
- รัสเซียจะทำทุกอย่างเพื่อปกป้องผลประโยชน์อันชอบธรรมของตน สหรัฐอเมริกาและผู้ที่จัดหาอาวุธพิสัยไกลให้กับเคียฟต้องเข้าใจว่าเราจะพร้อมที่จะใช้วิธีการใด ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ชาติตะวันตกประสบความสำเร็จในการสร้าง ‘ความพ่ายแพ้ทางยุทธศาสตร์’ ให้กับเรา 

ประเด็นสุดท้าย ปฏิบัติการพิเศษทางทหารในยูเครน
- เราไม่ได้เริ่มสงคราม ในทางตรงกันข้าม เราได้เปิดปฏิบัติการพิเศษทางทหารเพื่อยุติสงครามที่ระบอบการปกครองของเคียฟได้ปลดปล่อยต่อประชาชนใน Donbass ซึ่งสิทธิมนุษยชนของประชากรรัสเซียและที่พูดภาษารัสเซียในยูเครนถูกละเมิดอย่างร้ายแรงรัสเซียเริ่มปฏิบัติการพิเศษทางทหารเพื่อยุติสงครามที่ระบอบเคียฟกำลังดำเนินการกับประชาชนของตนเองในพื้นที่ดอนบาส 
- ชาวตะวันตกกำลังต่อสู้เพื่อรักษาอำนาจของตนในโลก แต่เรากำลังต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ด้านความปลอดภัยที่ถูกต้องตามกฎหมายและต่อสู้เพื่อผู้คนที่อาศัยอยู่ในดินแดนเหล่านี้
- เราไม่มีเจตนาที่จะทำลายชาวยูเครน พวกเขาเป็นพี่น้องกันกับชาวรัสเซีย
- รัสเซียเรียกร้องหลายครั้งในปี 2014 และ 2017 ให้ในระดับข้อตกลงอนุญาตให้บางส่วนของ Donbass และ Novorossiya พูดและเรียนเป็นภาษารัสเซียได้ ประการแรกมีข้อตกลงมินสค์ซึ่งกำหนดไว้เพื่อบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครนยกเว้นไครเมียแต่ข้อตกลงเหล่านี้ถูกทำลายตั้งแต่เริ่มแรก และเราถูกบังคับให้เปิดปฏิบัติการพิเศษทางทหาร จากนั้นข้อตกลงอิสตันบูลในปี 2022 พูดถึงการที่ยูเครนไม่เข้าสู่ NATO เพื่อแลกกับการรับประกันความปลอดภัย แต่ถูกล้มหลังจากการมาถึงของนายบอริส จอห์นสันนายกรัฐมนตรีอังกฤษ 
- อย่าคิดว่ารัสเซียและสหรัฐฯ กำลังตัดสินใจประเด็นของยูเครนแทนทุกคนเพราะนี่ไม่ใช่สไตล์ของมอสโก
- เมืองหลวงบางแห่งเบื่อหน่ายกับความขัดแย้งในยูเครน มีการพูดคุยกันว่าสหรัฐฯ ต้องการปล่อยให้เรื่องนี้ตกเป็นหน้าที่ของยุโรป
- รัสเซียพร้อมสำหรับสถานการณ์ต่าง ๆ แต่ต้องการการเจรจาอย่างสันติ โดยตั้งใจที่จะดำเนินการเจรจาตามหลักการที่ตกลงกันในอิสตันบูล และต้องคำนึงถึงพื้นฐานความเป็นจริงที่ว่าขณะนี้มีสาธารณรัฐใหม่สี่แห่งในรัสเซีย แต่ข้อตกลงเหล่านี้ถูกตะวันตกปฏิเสธ

โดยรัฐมนตรีเซอร์เกย์ ลาฟรอฟกล่าวว่า ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกีสั่งห้ามการเจรจากับรัสเซีย และทางรัสเซียก็พร้อมสำหรับการเจรจา หากคำนึงถึงความสมดุลทางผลประโยชน์ 

ซึ่งทั้ง 4 ประเด็น ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากบรรดานักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ถึงท่าทีและการส่งสัญญาณของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของรัสเซียต่อทางสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรตะวันตกผ่านทางนายทัคเกอร์ คาร์ลสันซึ่งผู้กำหนดนโยบายจากชาติตะวันตกจำเป็นจะต้องศึกษาและถอดความหมายจากการให้สัมภาษณ์ครั้งนี้ต่อไป

ปูตินลั่นนาโต้สกัดมิสไซล์ Oreshnik ไม่ได้ ท้าชาติตะวันตกลองดวลกัน แล้วจะรู้ฤทธิ์

(19 ธ.ค.67) ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ได้กล่าวในตอนหนึ่งของการแถลงข่าวช่วงสิ้นปีต่อบรรดาผู้สื่อข่าวในกรุงมอสโก โดยหนึ่งในผู้สื่อข่าวได้ถามผู้นำรัสเซียว่า รู้สึกกังวลหรือไม่ที่บรรดาชาติตะวันตกสมาชิกนาโต้ นำขีปนาวุธหลากชนิดเข้ามาประจำการทางตอนเหนือของโปแลนด์และโรมาเนีย

เรื่องดังกล่าวผู้นำรัสเซียตอบว่า "สมมติว่าระบบ Oreshnik ของเราตั้งอยู่ห่างจากพิกัดขีปนาวุธของพวกเขา 2,000 กิโลเมตร (1,243 ไมล์)  แม้แต่ขีปนาวุธต่อต้านที่ตั้งอยู่ในโปแลนด์ก็จะไม่สามารถทำลายมันได้" ผู้นำรัสเซียกล่าวโดยนัยว่า ยังไม่มีระบบขีปนาวุธชนิดใดของตะวันตกที่สามารถยิงไกลและมีความเร็วมากพอจะสกัดขีปนาวุธ Oreshnik ของรัสเซียได้

ปูตินยังกล่าวอีกว่า "งั้นลองให้พวกเขา (นาโต้) ลองใช้เทคโนโลยีจากตะวันตกหรือสหรัฐ มาดวลกับ Oreshnik ซึ่งเป็นเทคโนโลยีแห่งศตวรรษที่ 21 ให้พวกเขา (นาโต้) ลองระบุเป้าหมายของเราดู แล้วรวมสรรพกำลังโจมตี ส่วนเราจะตอบกลับด้วย Oreshnik แล้วดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น" 

นอกจากนี้ในการแถลงข่าว ผู้นำรัสเซียยังได้ยกย่องอาวุธมิสไซล์ความเร็วเหนือเสียงนี้ว่า "Oreshnik นี้เป็นอาวุธใหม่ที่ทันสมัยมาก ระบบขีปนาวุธนี้ถูกสร้างขึ้นโดยอ้างอิงการออกแบบขีปนาวุธทุกรูปแบบที่รัสเซียเคยใช้" เมื่อถามว่าเหตุใดถึงตั้งชื่อว่า Oreshnik ปูตินตอบเชิงติดตลกว่า แม้เขาจะอนุมัติสร้าง แต่ก็ไม่ทราบเหมือนกันเหตุใดจึงชื่อนี้


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top