Wednesday, 4 December 2024
Info

🔎ส่องราคาน้ำมันเฉลี่ยในประเทศอาเซียน ราคา ณ วันที่ 27 พ.ค. 67

รายงานราคาน้ำมันเฉลี่ยในอาเซียน ประจำวันที่ 27 พฤษภาคม 2567 โดยราคาขายน้ำมันแต่ละประเทศ มีปัจจัยทางด้านราคา ดังนี้

1.แต่ละประเทศมีมาตรการภาษี และระบบการเก็บเงินเข้ากองทุนหรืออุดหนุนราคาพลังงานที่แตกต่างกัน

2.ในหลายประเทศเพื่อนบ้านยังมีการอุดหนุนราคากันอยู่

3.ประเทศไทยสนับสนุนการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ ให้การอุดหนุนราคาโดยกองทุนน้ำมันฯ จึงทำให้ราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ถูกกว่าเบนซิน

หมายเหตุ : ราคา ณ วันที่ 27 พฤษภาคม 2567 อัตราแลกเปลี่ยน (อัตรากลาง) ณ วันที่ 24 พฤษภาคม 2567 *ประเทศไทย อ้างอิงราคาจาก ปตท. และ บางจาก และเป็นราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95E10 ซึ่งมีสัดส่วนการใช้มากที่สุด

สามารถดูราคาย้อนหลังได้ที่ EPPO - Energy Data Visualization หรือคลิกที่ https://public.tableau.com/app/profile/epposite/viz/EPPO_Inter_OilPrice/SUMMARYOILPRICING 

📌'รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง' ราคาเชื้อเพลิงพลังงานของไทยต้องเป็นธรรม 'SPR' คือ คำตอบสุดท้ายของ 'พีระพันธุ์' คนไทยจะได้อะไร❓️

ปัญหาเกี่ยวกับราคาพลังงานของบ้านเรานั้นมีมาต่อเนื่องยาวนานหลายสิบปีมาแล้ว ทั้งอย่างสร้างผลกระทบอย่างสำคัญต่อชาติโดยรวมอย่างกว้างขวางในทุก ๆ มิติ ไม่ว่าจะเป็น เศรษฐกิจ สังคม การเมือง จนกระทั่งเรื่องของความมั่นคง ฯลฯ และปัญหาราคาพลังงานยิ่งส่งผลกระทบมากยิ่งขี้นเมื่อภาครัฐต้องเริ่มวางมือจากรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ลดลงทุนสร้างโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย แล้วให้เอกชนเข้ามาทำหน้าที่แทน เพื่อนำงบประมาณไปใช้จ่ายในด้านอื่น ๆ แทน 

ทั้งยังมีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานซึ่งเป็นองค์กรอิสระมาทำหน้าที่กำกับดูแลแทน และด้วยความฉ้อฉลของฝ่ายการเมืองที่ทำให้ ‘การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย’ รัฐวิสาหกิจที่ทำหน้าจัดการน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซของชาติแปรรูปจนกลายเป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ จึงทำให้ต้องสูญเสียจุดยืนในการเป็นหน่วยงานด้านพลังงานของรัฐ 

โดยแทนที่จะดำเนินกิจการเพื่อเป็นบริการในลักษณะที่ช่วยเหลือประชาชนได้ แปรเปลี่ยนเป็นบริษัทเอกชนที่ให้ความสำคัญกับประโยชน์ขององค์กรอันได้แก่ผลกำไรเป็นตัวตั้งแรก ทำให้แนวคิดตลอดจนวิธีในการดำเนินการแปลกแยกไปจากวัตถุประสงค์แรกตั้งไปเป็นอย่างมาก

เรื่องราวต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่ทำให้รัฐค่อย ๆ หมดอำนาจและบทบาทในการควบคุมราคาพลังงานไปเรื่อย ๆ มิหนำซ้ำรัฐมนตรีที่ดูแลรับผิดชอบด้านพลังงานส่วนใหญ่เป็นอดีตผู้บริหารของบริษัทพลัง ดังนั้นการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงของไทยเกิดความเป็นธรรมแก่พี่น้องประชาชนคนไทยได้นั้นจึงเป็นความยากยิ่งและถูกปล่อยปละละเลยมาโดยตลอด 

เมื่อ ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ อดีตผู้พิพากษา อดีต สส. 7 สมัย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ มากำกับดูแลกระทรวงพลังงาน ภารกิจในการ 'รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง' เพื่อทำให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงพลังงานสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยถูกต้อง เหมาะสม และเป็นธรรมจึงได้กำเนิดเกิดขึ้นเป็นนโยบายและนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน 

ด้วยมาตรการเข้ม 6 เดือนแรกเพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนไทย 

1) พลังงานไฟฟ้า ได้ผลักดันให้มีการลดค่าไฟฟ้าให้แก่ประชาชนจนกระทั่งสามารถตรึงราคาค่าไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องไม่ให้สูงขึ้นตามที่มีการคาดการณ์เอาไว้ 

2) น้ำมันเชื้อเพลิง ได้ทำการช่วยเหลือประชาชนผู้ใช้น้ำมันด้วยการใช้กลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและกลไกทางภาษีด้วยความร่วมมือจากกระทรวงการคลัง และเร่งรัดในการจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันและก๊าซเพลิงยุทธศาสตร์ (SPR : Strategic Petroleum Reserve) เพื่อความมั่นคงด้านพลังงานและสร้างเสถียรภาพราคาเชื้อเพลิง ออกประกาศให้ผู้ค้าน้ำมันแจ้งข้อมูลต้นทุนน้ำมันทุก ๆ เดือนเพื่อป้องกันการค้ากำไรเกินควร 

3) ก๊าซ มีการปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ (Pool gas) เพื่อให้ต้นทุนก๊าซธรรมชาติในภาพรวมลดลง และเพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซ เร่งรัดติดตามการขุดเจาะและผลิตก๊าซจากอ่าวไทยเพื่อลดต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า ให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบผู้ใช้ NGV โดยเฉพาะกลุ่มรถแท็กซี่ กลุ่มรถโดยสาร และรถบรรทุก

นโยบายด้านพลังงานที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนที่ ‘พีระพันธุ์’ นำมาใช้เพื่อให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงของไทยมีความถูกต้องและเป็นธรรมคือ 

(1) การประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่อง การแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการนำเข้าและส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2567 ให้ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543 ต้องรายงานข้อมูลรายละเอียดราคาและต้นทุนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการนำเข้าและการส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิงต่ออธิบดีกรมธุรกิจพลังงานทราบภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่มีการบันทึกบัญชีรายวัน ทำให้หน่วยงานภาครัฐสามารถรับรู้ต้นทุนที่แท้จริงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงทั้งระบบ เพื่อเป็นข้อมูลในการกำกับดูแลราคาน้ำเชื้อเพลิงในประเทศ และช่วยให้กรมสรรพกรสามารถคำนวณภาษีจากข้อมูลที่แท้จริงและมีความเป็นปัจจุบันได้อย่างถูกต้องและครบถ้วน 

(2) การจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันและก๊าซเพลิงยุทธศาสตร์ (SPR : Strategic Petroleum Reserve) นอกจากจะเกิดขึ้นเพื่อความมั่นคงด้านพลังงานและสร้างเสถียรภาพราคาเชื้อเพลิงแล้ว และหาก SPR เกิดขึ้นจริงในไทยเราได้จริง รัฐจะเป็นผู้ถือครองน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองซึ่งมีเพียงพอใช้ในประเทศได้ถึง 90 วันเลยทีเดียว 

ในขณะที่ปัจจุบันทุกวันนี้เอกชนผู้ค้าน้ำมันเป็นผู้ถือครองน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองในปริมาณที่สามารถรองรับการใช้งานได้เพียง 25-36 วันเท่านั้นเอง ซ้ำร้ายหากเกิดเหตุฉุกเฉินที่ภาครัฐต้องการเข้าควบคุมเพื่อจัดการน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองจะทำไม่ได้ เพราะไม่มีกฎหมายให้อำนาจเว้นแต่จะใช้กฎหมายพิเศษบังคับ อาทิ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือกฎอัยการศึก 

น้ำมันเชื้อเพลิงสำรองใน SPR นั้นไม่ใช่การถือครองโดยภาครัฐล้าเก็บสำรองเอาไว้อย่างเดียว เพราะจะต้องมีการหมุนเวียน เข้าและออก มีการจำหน่ายถ่ายโอนให้โรงกลั่นและบริษัทที่จำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงตลอดเวลาอีกด้วย 

ดังนั้น SPR ซึ่งเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองในการดูแลของรัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานจะทำให้ภาครัฐมีอำนาจในการต่อรองและเพิ่มการถ่วงดุลให้กับระบบการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศอีกด้วย อันจะทำให้ภาครัฐสามารถรู้ต้นทุนที่แท้จริงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่นำเข้ามาในประเทศได้ตลอดเวลา จึงสามารถกำกับดูแลราคาจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศที่สะท้อนต้นทุน ณ เวลาที่ซื้อมาหรือจำหน่ายออกไปได้อย่างแท้จริง และจะเป็นประโยชน์อย่างมากมายต่อพี่น้องประชาชนคนไทยเป็นที่สุด

 📌หากโลกเกิดวิกฤตด้านพลังงาน ‘SPR’ คือ คำตอบ ‘ความมั่นคงด้านน้ำมันเชื้อเพลิง’ ที่รองรับได้ถึง 90 วัน โดยไม่กระทบต่อคนไทย

นับตั้งแต่การถือกำเนิดเกิดขึ้นของ ‘The Benz Patent-Motorwagen’ รถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมคันแรกของvโลกซึ่งออกแบบโดย Carl Friedrich Benz นักออกแบบเครื่องยนต์และวิศวกรยานยนต์ในปี 1886 ก็มีพัฒนาการ การออกแบบ และการผลิตรถยนต์ซึ่งใช้น้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมเพื่อการใช้งานในหลากหลายภารกิจมาโดยตลอดจนปัจจุบันเป็นปีที่ 139 แล้ว รถยนต์ถูกใช้งานอย่างมากมายในหลากหลายรูปแบบและครอบคลุมแทบทุกมิติจนกลายเป็นความจำเป็นกระทั่งทุกวันนี้จัดว่าเป็นปัจจัยที่ 5 ของมนุษยชาติไปแล้ว

ขนานกันไปกับการพัฒนา การออกแบบ และการผลิตรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมก็คือ การบริโภคน้ำมันเชื้อเพลิง นอกจากจะใช้สำหรับภาคขนส่งทั้งบก-เรือ-อากาศแล้ว น้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมยังถูกนำไปผลิตพลังงานอื่น ๆ อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นพลังงานไฟฟ้าหรือพลังงานความร้อน ฯลฯ เมื่อปริมาณพลโลกเพิ่มขึ้น ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีก็มากขึ้น ย่อมทำให้การบริโภคน้ำมันเชื้อเพลิงมากขึ้นตามไปด้วย

ในยุคต้น ๆ ของการใช้งานรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียม พื้นที่ที่เป็นแหล่งน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมส่วนใหญ่จะเป็นดินแดนอาณานิคมของมหาอำนาจตะวันตก อาทิ ตะวันออกกลาง การสัมปทานขุดเจาะและดูดน้ำมันเชื้อเพลิงออกมาบริโภคอยู่ภายใต้อำนาจและอิทธิพลของประเทศเจ้าอาณานิคม ราคาของน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมจึงค่อนข้างถูกเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของบรรดาประเทศเจ้าอาณานิคมและบริวารตลอดจนคู่ค้าของประเทศเหล่านั้นด้วย กระทั่งทศวรรษ 1950 ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศเจ้าอาณานิคมถูกแรงกดดันมากมาย รวมทั้งการต่อต้านจากพลเมืองของดินแดนอาณานิคม จึงต้องทยอยให้เอกราชแก่อาณานิคมต่าง ๆ และค่อย ๆ หมดอำนาจและบทบาทในกิจการน้ำเชื้อเพลิง 

กระทั่งเกิดการรวมตัวของกลุ่มพันธมิตรประเทศผู้ผลิตน้ำมันเพื่อประสานงานและรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันในตลาดโลกด้วยการก่อตั้ง องค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันออก (Organization of Petroleum Exporting Countries : OPEC) ขึ้นเมื่อวันที่ 14 กันยายน 1960 ณ กรุงแบกแดด ประเทศอิรัก OPEC มีประเทศสมาชิกผู้ก่อตั้ง ได้แก่ อิหร่าน, อิรัก, คูเวต, ซาอุดีอาระเบีย และเวเนซุเอลา ปัจจุบัน โอเปกมีสมาชิกเพิ่มอีก 8 ประเทศ คือ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ไนจีเรีย แอลจีเรีย ลิเบีย กาบอง (ต่อมาถอนตัวในปี ค.ศ. 2008 แล้วกลับมาในปี ค.ศ. 2016) แองโกลา อิเควทอเรียลกินี และล่าสุดสาธารณรัฐคองโก รวมเป็น 13 ประเทศ  

การเกิดขึ้นของ OPEC ทำให้เกิดวิกฤติน้ำมันขึ้นหลายครั้ง ในแต่ละครั้งส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ การเงิน และการคลังของประเทศต่าง ๆ อย่างมหาศาล วิกฤตน้ำมัน (Oil Shock หรือ Oil crisis) เป็นการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันอย่างมากจนเป็นสาเหตุให้เศรษฐกิจโลกถดถอยลงอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้น้ำมันนับเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจมวลรวม แต่เป็นทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไปและใช้เวลาในการเกิดใหม่ยากมาก ปัจจุบันมีความต้องการใช้น้ำมันมากขึ้นขณะที่ความสามารถในการผลิตกลับยังคงเท่าเดิมจึงทำให้เกิดภาวะวิกฤตได้ วิกฤตน้ำมันไม่ได้เพียงแต่เกิดจากความไม่สมดุลของความต้องการในการใช้น้ำมันกับปริมาณน้ำมันที่มีอย่างจำกัดเพียงอย่างเดียว ยังมีปัญหาการเมืองระหว่างประเทศเป็นอีกสาเหตุหนึ่งของวิกฤตอีกด้วย

วิกฤตน้ำมันครั้งที่ 1 เกิดขึ้นในปี 1973 ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่เศรษฐกิจโลกเริ่มขยายตัว วิกฤตน้ำมันในปี 1973 เกิดขึ้นพร้อมกับสงครามตะวันออกกลางครั้งที่ 4 อียิปต์และพันธมิตรร่วมมือกันเพื่อจะยึดคาบสมุทรซีนายและที่ราบสูงโกลันของอิสราเอล แต่ประเทศตะวันตกที่นำโดยสหรัฐอเมริกานั้นสนับสนุนอิสราเอล ทำให้องค์กรส่งออกน้ำมันแห่งชาติอาหรับ (ไม่ใช่ OPEC) จึงตัดสินใจใช้มาตรการห้ามส่งน้ำมัน ประเทศที่ถูกกำหนดเป็นเป้าหมายไม่ส่งน้ำมันดิบให้ในขั้นต้น ได้แก่ แคนาดา ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ต่อมาได้ขยายการห้ามส่งไปยังโปรตุเกส โรดีเซีย และแอฟริกาใต้ ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบที่นำเข้ามาในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจาก 3 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรลเป็น 12 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล หลังจากที่มีการห้ามส่งน้ำมัน วิกฤติดังกล่าวยังทำให้สหรัฐฯ เริ่มให้ความสนใจกับปัญหาอุปทานน้ำมันส่วนใหญ่ หลังจากที่ปรากฏว่าประเทศอื่น ๆ สามารถระงับสินค้าสำคัญที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ  

วิกฤตน้ำมันครั้งที่ 2 ในปี 1979 เกิดขึ้นจากการปฏิวัติของอิหร่าน ซึ่งทำให้โคมัยนีกลายเป็นผู้นำสูงสุดของประเทศหลังจากโค่นล้มระบอบกษัตริย์ราชวงศ์ปาห์ลาวี โคมัยนีได้เปลี่ยนรูปแบบการปกครองให้เป็นสาธารณรัฐอิสลามหลังขึ้นเป็นผู้นำสูงสุด การปฏิวัติอิหร่านมีความคล้ายคลึงอย่างมากกับการปฏิวัติของจีนในปี 1911 ที่โค่นล้มราชวงศ์ชิงซึ่งสิ้นสุดการปกครองของจักรพรรดิและสถาปนาสาธารณรัฐจีนขึ้นหลังจากการโค่นล้มสถาบันกษัตริย์ ดังนั้น การปฏิวัติจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์ของอิหร่าน ในช่วงการปฏิวัติอิหร่าน การผลิตและการส่งออกน้ำมันของประเทศลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดช่องว่างอุปทานน้ำมัน 500,000 บาร์เรลต่อวันในตลาดน้ำมันดิบระหว่างประเทศ ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 32-34 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล

วิกฤตน้ำมันครั้งที่ 3 ในปี 1990 อิรักยกกำลังบุกเข้ายึดคูเวต ซึ่งกินเวลาเพียงเก้าเดือน ราคาที่พุ่งสูงขึ้นมีความรุนแรงน้อยลงและมีระยะเวลาสั้นกว่าวิกฤตน้ำมัน 2 ครั้งก่อนร แต่ยังคงส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วงต้นทศวรรษ 1990 เมื่อกองกำลังพันธมิตรที่นำโดยสหรัฐฯประสบความสำเร็จทางทหารในการสู้รบกับกองกำลังอิรัก ความกังวลเกี่ยวกับการขาดแคลนอุปทานในระยะยาวก็ผ่อนคลายลง และราคาก็เริ่มลดลง

แน่นอนว่าทุกครั้งที่เกิดวิกฤตน้ำมันประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ ประเทศอุตสาหกรรมผู้บริโภคน้ำมัน รวมถึงประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายที่ไม่มีทรัพยากรน้ำมันเอง และต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ เกิดเป็น ‘สภาวะข้าวยากหมากแพง’ (Adverse Supply Shock) แต่ในประเทศที่ภาครัฐมีการสำรองเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ (SPR : Strategic Petroleum Reserve) อย่างเต็มที่จะมีปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองเพียงพอต่อการใช้งานได้ถึง 90 วัน ประเทศเหล่านั้นจึงไม่ต้องเป็นกังวลถึงวิกฤตน้ำมันในช่วง 90 วัน ทำให้มีเวลาแก้ไขปัญหาและสามารถเตรียมการรองรับผลกระทบวิกฤตน้ำมันในระดับโลกได้นานถึง 90 วัน 

ในขณะที่ปัจจุบันนี้ไทยมีปริมาณน้ำมันสำรองที่เอกชนจัดเก็บเพียงพอต่อการบริโภค 25-36 วัน นั่นหมายความว่า หากปัญหาวิกฤตน้ำมันในประเทศไม่สามารถแก้ไขได้แล้วเสร็จภายในเวลา 1 เดือน ย่อมจะเกิดผลกระทบที่จะสร้างความเสียหายอันใหญ่หลวงต่อประเทศในภาพรวม ไม่ว่าในด้าน เศรษฐกิจ สังคม การเมือง การเงิน และการคลัง ฯลฯ อย่างแน่นอน ดังนั้นนโยบายการสำรองเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ (SPR) ของ ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานจะต้องเกิดขึ้นและดำเนินการให้สำเร็จโดยรวดเร็วที่สุดเพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานอย่างสูงสุดอันจะเป็นหลักประกันที่สำคัญของความมั่นคงของชาติในทุก ๆ มิติได้ตลอดไป

🔎ส่อง ‘อเมริกา’ ประเทศมหาอำนาจที่มีการสำรอง SPR มากที่สุดในโลก✨

หลังวิกฤตพลังงานในปี 1973 โดยองค์การประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) ซึ่งได้ดำเนินการตอบโต้การที่สหรัฐฯ สนับสนุนอิสราเอลในช่วงสงครามอาหรับ-อิสราเอลครั้งที่ 4 ทำให้สหรัฐอเมริกาต้องเริ่มการสำรองเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ (SPR) ในปี 1975 เพื่อบรรเทาปัญหาการหยุดชะงักของอุปทานในอนาคต โดยเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยโครงการพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Program : IEP) 

หลังจากที่อุปทานน้ำมันต้องหยุดชะงักระหว่างวิกฤตน้ำมันดังกล่าวระหว่างปี 1973 -1974 สหรัฐอเมริกาได้ลงนามในข้อตกลง IEP เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 1974 และเป็นหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้งของสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ในฐานะผู้ร่วมลงนามใน IEP พันธสัญญาสำคัญประการหนึ่งที่ทำโดยผู้ลงนามในข้อตกลง IEP ดังกล่าวคือต้องมีการเก็บรักษาปริมาณน้ำมันสำรองไว้ไม่น้อยกว่า 90 วันของปริมาณการนำเข้าน้ำมันสุทธิ

ปริมาณสำรองจะถูกกำหนดตามเงื่อนไขที่เขียนไว้ในรัฐนโยบายและการอนุรักษ์พลังงาน (Energy Policy and Conservation Act : EPCA) ปี 1975 โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเป็นตอบสนองต่อการหยุดชะงักของอุปทานอย่างรุนแรงในอัตราการสูงสุด 4.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน น้ำมันเชื้อเพลิงสำรองสามารถเข้าสู่ตลาดได้ภายใน 13 วันหลังจากคำสั่งประธานาธิบดี โดยกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ ได้ระบุว่ามีการสำรองปริมาณเชื้อเพลิงนำเข้าประมาณ 59 วันใน SPR เมื่อรวมกับการจัดเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงคงคลังของเอกชน ประมาณการณ์ว่าน่าจะเทียบเท่ากับการนำเข้า 115 วัน

Gerald Ford ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในขณะนั้นได้ลงนามประกาศใช้รัฐบัญญัติ EPCA เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 1975 ด้วยรัฐบัญญัติฉบับนี้ได้กำหนดให้สหรัฐอเมริกาสามารถสำรองเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ (SPR) ได้มากถึง 1 พันล้านบาร์เรล โดยมีการซื้อคลังน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีอยู่จำนวนหนึ่งในปี 1977 เริ่มการก่อสร้างคลังเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองบนดินแห่งแรกในเดือนมิถุนายน 1977 และวันที่ 21 กรกฎาคม 1977 น้ำมันดิบประมาณ 412,000 บาร์เรล จากซาอุดีอาระเบียถูกส่งไปยังไปยังคลังเก็บ SPR เป็นครั้งแรก

สำนักงานบริหาร SPR ตั้งอยู่ในเขตเอล์มวูด ชานเมืองนิวออร์ลีนส์ มลรัฐลุยเซียนา โดยคลัง SPR ของสหรัฐฯ ประกอบด้วย คลังใต้ดิน 4 แห่งใกล้ ๆ อ่าวเม็กซิโก คลังใต้ดินมีความลึกราว 600-1,000 เมตรใต้พื้นดิน แต่ละแห่งตั้งอยู่ใกล้ศูนย์กลางสำคัญของการกลั่นและแปรรูปปิโตรเคมี แต่ละคลังสามารถเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองได้ระหว่าง 6 ถึง 37 ล้านบาร์เรล 

กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ อ้างว่า การเก็บน้ำมันไว้ใต้พื้นผิวนั้นคุ้มค่ากว่าบนดินประมาณสิบเท่า โดยมีข้อดีเพิ่มเติมคือไม่มีการรั่วไหลและการหมุนเวียนของน้ำมันตามธรรมชาติอย่างต่อเนื่องเนื่องจากการไล่ระดับของอุณหภูมิในถ้ำ คลังน้ำมันใต้ดิน SPR ได้แก่ 

(1) ไบรอัน เมานด์ เมืองฟรีพอร์ต มลรัฐเท็กซัส ขนาดความจุ 254 ล้านบาร์เรล (คลังใต้ดินย่อย 18 คลัง) สามารถจ่ายน้ำมันได้วันละ 1.5 ล้านบาร์เรล 

(2) บิ๊กฮิลล์ เมืองวินนี่ มลรัฐเท็กซัส จัดเก็บได้ 160 ล้านบาร์เรล (14 คลังย่อย) สามารถจ่ายน้ำมันได้วันละ 1.1 ล้านบาร์เรล 

(3) เวสต์แฮกเบอรี่ ทะเลสาบชาร์ลส์ มลรัฐลุยเซียนา มีความจุ 227 ล้านบาร์เรล (22 คลังย่อย) สามารถจ่ายน้ำมันได้วันละ 1.3 ล้านบาร์เรล 

และ (4) บายู ชอกทาว เมืองแบตันรูช มลรัฐลุยเซียนา ขนาดความจุ 76 ล้านบาร์เรล (6 คลังย่อย) สามารถจ่ายน้ำมันได้วันละ 550,000 บาร์เรล 

ประธานาธิบดีและสภา Congress ต่างมีอำนาจควบคุม SPR โดยประธานาธิบดีจะเป็นผู้สั่งการในการจ่ายออกน้ำมันสำรองจาก SPR และสภา Congress มีอำนาจอนุมัติในการเติมปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองใน SPR ประธานาธิบดีสามารถอนุมัติการจ่ายออกน้ำมันสำรองจาก SPR ได้อย่างอิสระเพื่อตอบสนองต่อ ‘การหยุดชะงักของการจัดหาพลังงานอย่างร้ายแรง’ หรือหากสหรัฐอเมริกาได้รับมอบหมายจาก  โครงการพลังงานระหว่างประเทศ (IEP) ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือระหว่างสมาชิกขององค์การพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ตัวอย่างเช่น ในปี 2011 ประเทศสมาชิกของ IEA ร่วมกันปล่อยน้ำมันจำนวน 60 ล้านบาร์เรลเพื่อตอบสนองต่อปัญหาการขาดแคลนอันเป็นผลมาจากสงครามกลางเมืองในลิเบีย 

สำหรับการตอบสนองต่อการหยุดชะงักของการจัดหาน้ำมันเชื้อเพลิงในปริมาณไม่มากนัก ด้วยอำนาจของประธานาธิบดีสามารถสั่งจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองจาก SPR ได้ไม่เกิน 30 ล้านบาร์เรลโดยไม่ต้องประกาศการเบิกใช้ฉุกเฉิน และกระทรวงพลังงานจะทำการประมูลจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองดังกล่าวให้กับผู้เสนอราคาสูงสุดจากบรรดาบริษัทที่ได้จดทะเบียนไว้กับ SPR

รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ มีหน้าที่รับผิดชอบในการซื้อน้ำมันเพื่อเติม SPR แต่ต้องให้สภา Congress อนุมัติเพื่อดำเนินการดังกล่าว ตัวอย่างเช่น ประธานาธิบดี Donald Trump ได้สั่งให้เพิ่มปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองให้เต็มขีดความสามารถในการจัดเก็บเพื่อช่วยผู้ผลิตน้ำมันในสหรัฐฯ ที่ประสบปัญหาในช่วงเริ่มต้นของการระบาดใหญ่ของ COVID-19 แต่สภา Congress กลับไม่อนุมัติการซื้อ 

นอกจากนั้นแล้วกระทรวงพลังงานยังเป็นผู้นำในข้อตกลงแลกเปลี่ยนหรือกู้ยืมน้ำมันระยะสั้นที่ชำระคืนพร้อมดอกเบี้ย ซึ่งจะช่วยในการเพิ่มขนาดของ SPR นับตั้งแต่ทศวรรษ 1990 ประธานาธิบดีและสภา Congress ได้ออกคำสั่งขายน้ำมันจากแหล่งสำรองเป็นครั้งคราวเพื่อเป็นการเพิ่มรายได้มาแล้ว 30 ครั้ง นับตั้งแต่การจัดตั้ง SPR อาทิ การขาย 5 รายการเป็นการเบิกจ่ายฉุกเฉินในปี 1991 ระหว่างสงครามอ่าวเปอร์เซีย, ในปี 2005 เพื่อนำรายได้มาจัดการวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นจากพายุเฮอริเคนแคทรีนาง ในปี 2011 ระหว่างความขัดแย้งในลิเบีย และ 2 ครั้งในปี 2022 เพื่อตอบโต้การรุกรานยูเครนของรัสเซีย 

ปริมาณความจุสูงสุดเต็มที่ของคลัง SPR ทั้งหมดของสหรัฐฯ อยู่ที่ 727 ล้านบาร์เรล ปัจจุบันปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงสำรอง SPR ของสหรัฐฯ อยู่ที่ประมาณ 367 ล้านบาร์เรล ซึ่งปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงสำรอง SPR ของสหรัฐฯ เมื่อลดลงเหลือน้อยกว่า 400 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบสี่ทศวรรษ ส่งผลต่อราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกสูงขึ้น หากปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงสำรอง SPR ของสหรัฐฯ มากกว่า 400 ล้านบาร์เรล จะถือว่าอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกมีเสถียรภาพตามไปด้วยทั้งยังเป็นสัญญาณของแนวโน้มของราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลงอีกด้วย

จะเห็นได้ว่า สหรัฐฯ ซึ่งเป็นทั้งประเทศผู้ผลิตน้ำมันและบริโภคน้ำมันอันดับหนึ่งของโลกให้ความสำคัญต่อ SPR เป็นอย่างมาก เพราะ SPR นอกจากจะเป็นหลักประกันที่สำคัญที่สุดในด้านความมั่นคงทางพลังงานซึ่งแน่นอนย่อมส่งผลกระทบต่อความมั่นคงโดยรวมของประเทศด้วย ดังนั้นเพื่อประโยชน์สูงสุดสำหรับการบริโภคน้ำมันเชื้อเพลิงของพี่น้องประชาชนคนไทย จึงต้องจัดการให้ SPR ของไทยเกิดขึ้นและประสบความสำเร็จโดยเร็วด่วนที่สุด ซึ่งเป็นไปตามนโยบายการสำรองเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ (SPR) ของ ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน 

ขณะนี้มีข้อมูลว่า บรรดาผู้ที่เสียผลประโยชน์จากการที่ประเทศไทยจะมี SPR ได้พยายามคัดค้านต่อต้านนโยบายดังกล่าว โดยใช้สื่อที่ไร้จรรยาบรรณทั้งยังเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ส่วนรวมได้ให้ร้ายรองฯ พีระพันธุ์ต่าง ๆ นานา ด้วยหวังให้รองฯ พีระพันธุ์ต้องพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งจะทำให้มาตรการและนโยบายของรองฯ พีระพันธุ์ที่จะทำให้พี่น้องประชาชนคนไทยที่ต้องบริโภคน้ำมันเชื้อเพลิงได้รับประโยชน์สูงสุดทั้งจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่สะท้อนความถูกต้องและเป็นจริงทั้งเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานของไทยไม่ประสบความสำเร็จ พี่น้องประชาชนคนไทยทุกคนจึงต้องช่วยกันติดตาม เฝ้าดู และเป็นกำลังใจให้รองฯ พีระพันธุ์ได้ทำภารกิจนี้ให้สำเร็จ

🔎ส่อง SPR ของ ASEAN ใคร ‘แข็งแกร่ง’ ที่สุด

ปัจจุบันพลังงานจากเชื้อเพลิงปิโตรเลียมยังคงเป็นพลังงานหลักที่ชาวโลกจำเป็นต้องพึ่งพาเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งย่อมรวมถึงพลเมืองของกลุ่มประเทศ ASEAN ด้วย ASEAN หรือสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nations) ถือกำเนิดขึ้นด้วยการลงนามของชาติสมาชิกเริ่มต้น 5 ประเทศใน ‘ปฏิญญากรุงเทพฯ’ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 1967 โดยมี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อความร่วมมือในการเพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาสังคม วัฒนธรรมในกลุ่มประเทศสมาชิก และการธำรงรักษาสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค และเปิดโอกาสให้คลายข้อพิพาทระหว่างประเทศสมาชิกอย่างสันติ 

ด้วยจำนวนประชากรของประชาคมเศรษฐกิจ ASEAN ร่วม 700 ล้านคน และการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ความต้องการน้ำมันในอาเซียนจึงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ความต้องการน้ำมันเชื้อเพลิงสูงถึง 4.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน จึงเป็นกลุ่มประเทศที่มีการบริโภคเชื้อเพลิงพลังงานในปริมาณมากแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งทำให้ ASEAN ต้องมีความร่วมมือด้านเชื้อเพลิงพลังงานระหว่างกันด้วย โดย ASEAN เริ่มจัดการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน (ASEAN Ministers on Energy Meeting: AMEM) ครั้งแรกในปี 1982 

โดยเล็งเห็นความสำคัญของการสร้างความมั่นคงทางพลังงานเพื่อรองรับการขยายตัว ทางเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ด้วยการสร้างเครือข่ายด้านพลังงานในระดับภูมิภาคที่อาศัยจุดแข็งและศักยภาพ ของแต่ละประเทศในอาเซียนที่มีแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติตลอดจนพลังงานทดแทนในรูปแบบต่าง ๆ และทำให้เกิดความตกลงว่าด้วยความมั่นคงทางปิโตรเลียมของ ASEAN (ASEAN Petroleum Security Agreement: APSA) ซึ่งได้ลงนามมาตั้งแต่ปี 1986 

APSA เป็นกลไกในการแบ่งปันปิโตรเลียมในภาวะฉุกเฉินด้านน้ำมันดิบและหรือผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมในเวลาหรือสถานการณ์ทั้งที่มีการขาดแคลนและมีอุปทานมากเกินไป โดย APSA กำหนดว่า ประเทศที่ขอรับความช่วยเหลือในกรณีที่เกิดภาวะการขาดแคลนปิโตรเลียมต้องขาดแคลนปิโตรเลียมอย่างน้อย 10% ของความต้องการภายในประเทศนั้น ๆ และ ความร่วมมือให้เป็นไปตามสมัครใจ โดยให้เลขาธิการคณะมนตรี ASEAN ว่าด้วยปิโตรเลียม (ASEAN Council on Petroleum (ASCOPE) Secretary-in-Charge) เป็นผู้ประสานงาน

แม้ว่า ASEAN จะมี APSA เป็นหลักประกันหากเกิดภาวะฉุกเฉินในด้านน้ำมันดิบและหรือผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมแล้วก็ตาม แต่ละประเทศสมาชิกต่างก็มีการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมเองด้วย ปัจจุบันสมาชิก ASEAN 10 ประเทศ (ยกเว้นกัมพูชาและลาว) มีโรงกลั่นน้ำมันรวมกันกว่า 30 โรง มีกำลังการกลั่นรวมกันราว 5.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยประเทศที่มีกำลังการกลั่นสูงสุดคือ สิงคโปร์ รองลงมาคือ ไทย และอินโดนีเซีย รวมสามประเทศสามารถกลั่นน้ำมันคิดเป็น 70% ของกำลังการกลั่นทั้งหมด โดยสิงคโปร์มีกำลังการกลั่นเหลือเพื่อการส่งออกมากที่สุด 1.2-1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน สามารถส่งออกได้ประมาณ 8 แสนถึง 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน 

ในขณะที่ไทยมีกำลังการกลั่นประมาณ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่เหลือส่งออกประมาณ 1.7 แสนบาร์เรลต่อวัน ด้วยปัจจัยนี้กอรปกับทำเลที่ตั้งที่เอื้อต่อการเป็นจุดศูนย์กลางการเดินเรือของเอเชีย จึงเป็นทั้งจุดรับน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางและจุดกระจายน้ำมันสำเร็จรูปไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ในทวีปเอเชียได้โดยสะดวก อีกทั้งตลาดซื้อ-ขายน้ำมันระหว่างประเทศที่เป็นแหล่งใหญ่มีเพียง 3 แห่ง คือ ตลาดนิวยอร์ก (NYMEX) ตลาดลอนดอน (IPE) และตลาดสิงคโปร์ (SIMEX) ทำให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปสิงคโปร์จึงกลายเป็นราคาน้ำมันอ้างอิงของภูมิภาคเอเชีย 

รัฐบาลสิงคโปร์จัดให้มี SPR ตั้งแต่หลังจากเกิดวิกฤตน้ำมันปี 1973 ทั้งหมดทั้งมวลนี้จึงทำให้ SPR ของสิงคโปร์แข็งแกร่งที่สุดใน ASEAN ด้วยโรงกลั่นน้ำมันและคลังน้ำมันที่ทันสมัย และเป็นหนึ่งในสามศูนย์การกลั่นน้ำมันที่สำคัญของโลกและส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปไปทั่วโลก รัฐบาลสิงคโปร์มีปริมาณการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงใน SPR เป็นน้ำมันดิบประมาณ 32 ล้านบาร์เรล และน้ำมันสำเร็จรูปอีกราว 65 ล้านบาร์เรล ซึ่งจะทำให้สิงคโปร์มีเชื้อเพลิงสำรองเพียงพอต่อการใช้งานสำหรับชาวสิงคโปร์กว่า 5.5ล้านคนนานถึง 451 วันเลยทีเดียว อาจจะถือว่ามากที่สุดในโลกก็ว่าได้ อินโดนีเซียประเทศเดียวของ ASEAN ที่เป็นสมาชิก OPEC โดยส่งออกน้ำมันปิโตรเลียมที่ไม่สามารถกลั่นเองได้วันละกว่า 600,000 บาร์เรล โดยมีการบริโภคเชื้อเพลิงอยู่ที่ประมาณ 1.3-1.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน และ SPR ของอินโดนีเซียนั้นดำเนินการโดย PT Pertamina (Persero) บริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของรัฐบาลอินโดนีเซียสามารถตอบสนองความต้องการบริโภคน้ำมันสำเร็จรูปภายในประเทศได้เป็นเวลา 19-22 วัน ขณะนี้รัฐบาลอินโดนีเซียอยู่ระหว่างการพัฒนา SPR ให้สามารถจัดเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองให้ได้มากขึ้น 

ตั้งแต่ปี 1974 มาเลเซียผลิตน้ำมันได้ 9 พันล้านบาร์เรล และก๊าซธรรมชาติ 50 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ปัจจุบันมาเลเซียผลิตน้ำมันเชื้อเพลิง 660,000 บาร์เรลและก๊าซประมาณ 7.0 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน  มาเลเซียบริโภคน้ำมันเชื้อเพลิงราว 708,000 บาร์เรลต่อวัน มาเลเซียต้องการขยายขีดความสามารถในการกักเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มมากขึ้นอันเนื่องจากความต้องการน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาค ทั้งสิงคโปร์ยังเผชิญกับข้อจำกัดด้านการจัดเก็บน้ำมัน ซึ่งมาเลเซียพยายามหาประโยชน์ด้วยการเป็นผู้ให้บริการทางเลือกสำหรับการจัดเก็บน้ำมันในภูมิภาค ประมาณการว่าปัจจุบันมาเลเซียน่าจะมีปริมาณ SPR อยู่ที่ 23.5 ล้านบาร์เรล ซึ่งเพียงพอต่อการใช้งานในประเทศราว 33 วัน และอยู่ระหว่างการก่อสร้างคลังน้ำมันเพิ่มเติม ซึ่งจะทำให้ SPR เพิ่มเป็น 34.6 ล้านบาร์เรล เพียงพอต่อการใช้งานในประเทศราว 493 วัน ใน 2-3 ปีข้างหน้า

เวียดนามมีปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมสำรองแห่งชาติเท่ากับ 9 วันของการนำเข้าสุทธิ และไม่มีน้ำมันดิบสำรองของชาติ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (MOIT) ของเวียดนามได้พยายามเสนอให้เพิ่มปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมสำรองเป็น 15 วันหรือ 30 วันของการนำเข้าสุทธิ เมียนมามีการจัดเก็บปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมสำรองรองรับการบริโภคในประเทศ 60 วัน โดยแบ่งเป็นเอกชนจัดเก็บในปริมาณสำหรับ 40 วัน และรัฐบาลจัดเก็บ (SPR) ในปริมาณสำหรับ 200 วัน ลาวมีการจัดเก็บปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมสำรองรองรับการบริโภคในประเทศ 16 วัน (เป็นน้ำมันสำเร็จรูป 60 ล้านลิตร) ฟิลิปปินส์มีการจัดเก็บน้ำมันสำรองยุทธศาสตร์ปิโตรเลียมแห่งชาติประมาณ 30 ล้านบาร์เรล สามารถรองรับการบริโภคในประเทศได้ 63 วัน กัมพูชามีการจัดเก็บปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมสำรองรองรับการบริโภคในประเทศ 30 วัน และบรูไนประเทศที่สามารถส่งออกน้ำมันดิบได้มากที่สุดใน ASEAN ได้กำหนดให้บริษัทผู้ผลิตน้ำมันต้องสำรองน้ำมันดิบ 50% ของปริมาณน้ำมันดิบที่จัดเก็บ 

และเป็นที่ทราบกันว่า ไทยเรามีการจัดเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมสำรองโดยบริษัทเอกชนผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงตามมาตรา 7 เพียงพอสำหรับการบริโภคในประเทศ 25-36 วันเท่านั้น ซึ่งยังคงต่ำกว่าปริมาณมาตรฐานน้ำมันสำรองของ IEA ที่ 50 วัน หลาย ๆ ประเทศที่เศรษฐกิจมีศักยภาพสูงมี SPR มีน้ำมันเชื้อเพลิงเพียงพอต่อการบริโภคสูงถึง 90 วัน ประเทศเหล่านั้นจึงไม่ต้องกังวลถึงผลกระทบในด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมที่อาจเกิดขึ้นได้ หากมีเหตุการณ์ที่ทำให้การขนส่งหรือการกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิงเกิดปัญหาอันไม่คาดคิดจนกระทบต่อการจัดการน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ เมื่อมี SPR เกิดขึ้นรัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานก็จะมีอำนาจในการต่อรองและถ่วงดุลระบบการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ อีกด้วย เพราะรัฐจะเป็นผู้ถือครองน้ำมันเชื้อเพลิงที่มากที่สุด โดยที่ SPR จะมีการหมุนเวียนจากการซื้อเข้าและจำหน่ายออกอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้รัฐบาลรู้ต้นทุนนำเข้าและราคาหลังการกลั่นได้โดยตลอด จึงสามารถกำกับดูแลราคาจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศที่สะท้อนได้อย่างแท้จริง ซึ่งทำให้พี่น้องประชาชนคนไทยได้รับประโยชน์อย่างมากมาย 

ดังนั้นนโยบายการสำรองเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ (SPR) ของ ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ต้องเกิดขึ้นและถูกนำไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างแท้จริงโดยเร็วที่สุด

🔎ส่อง ‘ยุโรป’ และ ‘แอฟริกา’ SPR เป็นยังไง

นับตั้งแต่ปี 2004 น้ำมันเชื้อเพลิงประมาณ 4.1 พันล้านบาร์เรลถูกจัดเก็บไว้เพื่อเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสำรอง โดยประเทศสมาชิกของสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ซึ่งปริมาณ 1.4 พันล้านบาร์เรลอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลของชาติสมาชิกจัดว่าเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองทางยุทธศาสตร์ (SPR) และส่วนที่เหลือ 2.7 พันล้านบาร์เรลถูกถือครองโดยภาคธุรกิจเอกชน ความแตกต่างระหว่างน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองทางยุทธศาสตร์ (SPR) กับน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองเชิงพาณิชย์ที่ถือครองโดยภาคธุรกิจเอกชน แม้จะมีความมุ่งหมายเดียวกันคือการป้องกันความเสี่ยงจากวิกฤตพลังงานในอนาคต แต่ SPR เป็นการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองเพื่อความมั่นคง ส่วนน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองเชิงพาณิชย์เป็นการจัดเก็บเพื่อการพาณิชย์ด้วยหวังผลกำไรทางธุรกิจของบริษัทเอกชนผู้ถือครองโดยภาครัฐไม่สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวจัดการได้ เว้นแต่มีการประกาศใช้กฎหมายพิเศษเช่น กฎอัยการเพื่อเข้าควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองดังกล่าว

ตามข้อตกลงในเดือนมีนาคม 2001 สมาชิกในขณะนั้นทั้งหมด 30 ชาติของสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) จะต้องมีปริมาณสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์เท่ากับ 90 วันของการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมสุทธิของปีที่แล้วของแต่ละประเทศ เฉพาะสมาชิกผู้ส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมสุทธิ (ส่งออกมากกว่านำเข้า) ของ IEA เท่านั้นที่ได้รับการยกเว้นจากข้อกำหนดนี้ ประเทศที่ได้รับการยกเว้น ได้แก่ แคนาดา เอสโตเนีย เม็กซิโก เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ และสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาสหราชอาณาจักรและเดนมาร์กได้จัดตั้งคลังน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมสำรองทางยุทธศาสตร์ของตนเองเพื่อให้เป็นไปตามพันธกรณีทางกฎหมายในฐานะรัฐสมาชิกของสหภาพยุโรป 

เพื่อให้ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันเพิ่มความยืดหยุ่นในโควตาการผลิตของตน จึงมีความเคลื่อนไหวที่นำไปสู่ข้อตกลงการจัดเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมเชิงพาณิชย์ล่วงหน้า ข้อตกลงเหล่านี้อนุญาตให้จัดเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมไว้ภายในประเทศผู้นำเข้าน้ำมัน อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมสำรองดังกล่าวอยู่ภายใต้การควบคุมทางเทคนิคของประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน ข้อตกลงดังกล่าวช่วยให้ประเทศผู้นำเข้าน้ำมันสามารถเข้าถึงปริมาณสำรองเชิงพาณิชย์เหล่านี้ได้อย่างรวดเร็วและไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ ในขณะที่หลายประเทศในยุโรปมีข้อตกลงในการแบ่งปันน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมกับประเทศอื่น ๆ ในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินในยุโรปขึ้น ตามคำสั่งของสภาแห่งสหภาพยุโรป 68/414/EEC วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2511 รัฐสมาชิกทั้ง 27 ประเทศจะต้องมีปริมาณสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ภายในอาณาเขตของสหภาพยุโรป เท่ากับอย่างน้อย 90 วันของการบริโภคภายในประเทศโดยเฉลี่ย

• สาธารณรัฐเช็กมี SPR 4 คลังในเมือง Nelahozeves ดำเนินการโดยบริษัท CR Mero โดย SPR ของเช็กเพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ 100 วันหรือ 20,300,000 บาร์เรล 

• เดนมาร์กมีปริมาณสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียม SPR เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ 81 วัน ยังไม่รวม SPR ที่ถือครองโดยกองทัพ

• ฟินแลนด์จัดเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียม SPR 14-18 ล้านบาร์เรล ซึ่งเพียงพอต่อการบริโภคในประเทศอย่างน้อย 90 วัน

• ฝรั่งเศสมี SPR มีขนาดประมาณ 65,000,000 บาร์เรล (ในปี 2003 มีการกำหนดให้มีปริมาณเชื้อเพลิงเครื่องบินคงเหลืออย่างน้อย 55 วัน) โดยครึ่งหนึ่งควบคุมโดย Société Anonyme de Gestion des Stocks de Sécurité (SAGESS) และอีกครึ่งหนึ่งควบคุมโดยบริษัทผู้ค้าน้ำมัน

• เยอรมนีก่อตั้ง Federal Oil Reserve ในปี 1970 ซึ่งตั้งอยู่ในถ้ำเกลือ Etzel ใกล้กับ Wilhelmshaven ทางตอนเหนือของเยอรมนี โดยมีขนาดเริ่มแรก 70 ล้านบาร์เรล (ปัจจุบัน Federal Oil Reserve ของเยอรมนีและ Erdölbevorratungsverband (EBV) (บริษัทถือหุ้นของเยอรมนี) กำหนดให้บริษัทผู้กลั่นน้ำมันต้องสำรองน้ำมันไว้เป็นเวลา 90 วัน ทำให้เยอรมนีมีขนาดสำรองประมาณ 250,000,000 บาร์เรล SPR ของเยอรมันถือว่ามากที่สุดในยุโรป

• ฮังการีมี SPR เพียงพอเท่ากับราว 90 วันสำหรับการบริโภคในประเทศหรือ 11,880,000 บาร์เรล 

• ไอร์แลนด์มี SPR เพียงพอต่อการบริโภคประมาณ 31 วันที่จัดเก็บในประเทศ และปริมาณสำหรับอีก 9 วันเก็บในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปอื่น ๆ นอกจากนี้ยังมีตั๋วน้ำมัน (สัญญาในการซื้อน้ำมันในกรณีฉุกเฉิน) และน้ำมันเชื้อเพลิงที่ถือครองโดยอุตสาหกรรมเอกชนขนาดใหญ่หรือผู้ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงรายใหญ่ โดยรวมแล้วเพียงพอสำหรับการใช้ประมาณ 100 วัน

• เนเธอร์แลนด์มีน้ำมันสำรอง 90 วันของการนำเข้าน้ำมันสุทธิ ในปี พ.ศ. 2556 คิดเป็นปริมาณน้ำมันประมาณ 30.5 ล้านบาร์เรล

• โปแลนด์มี SPR เท่ากับประมาณ 90 วันสำหรับการบริโภค ทั้งยังกำหนดให้บริษัทน้ำมันต้องรักษาปริมาณสำรองไว้เพียงพอสำหรับการบริโภค 73 วัน 

• โปรตุเกสมี SPR มีขนาดประมาณ 22,440,000 บาร์เรล 
• สโลวาเกียมี SPR มีขนาดประมาณ 748,000 บาร์เรล
• สเปนมี SPR มีขนาดประมาณ 144,000,000 บาร์เรล 
• สวีเดนมี SPR มีขนาดประมาณ 13,290,000 บาร์เรล 
• สหราชอาณาจักรจัดเก็บเชื้อเพลิงสำรองทางยุทธศาสตร์เท่ากับประมาณ 90 วันสำหรับการบริโภค มีขนาดประมาณ 144,000,000 บาร์เรล

• รัสเซียประเทศที่มีทรัพยากรน้ำมันติดอันดับหนึ่งในสามของโลก สามารถผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมได้ถึงวันละ 10.8 ล้านบาร์เรล มีการจัดเก็บปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองทางยุทธศาสตร์ในลักษณะของน้ำมันเชื้อเพลิงสำเร็จรูปที่ถือครองโดย Rosneftegaz บริษัทของรัฐ ในปริมาณ 14.7 บาร์เรล

• สวิตเซอร์แลนด์มี SPR สร้างขึ้นในทศวรรษที่ 1940 ซึ่งประกอบด้วยก๊าซ ดีเซล น้ำมันเครื่องบิน และน้ำมันให้ความร้อนเพียงพอสำหรับการบริโภค 120-140 วัน

• ยูเครน ในช่วงเริ่มต้นของการรุกรานยูเครนโดยรัสเซีย รัสเซียได้ทำลายคลังน้ำมันเชื้อเพลิงหลักของยูเครนจนนำไปสู่สถานการณ์เชื้อเพลิงวิกฤต ยูเครนแก้ปัญหาด้วยการซื้อรถบรรทุกน้ำมันเชื้อเพลิงใช้แล้วจำนวน 2,000 คันจากสหภาพยุโรปและตุรกี พร้อมด้วยรถบรรทุกน้ำมันเชื้อเพลิงใหม่อีก 600 คัน รถบรรทุกเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นระบบจัดเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงเคลื่อนที่ ต่างจากคลังน้ำมัน โรงกลั่น และสถานีรถไฟ ซึ่งอยู่กับที่ โดยรถบรรทุกน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นเป้าหมายที่ทำลายได้ยากกว่า

SPR ของประเทศสำคัญในทวีปแอฟริกา (บางประเทศ)

• เคนยา เดิมไม่มีปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองทางยุทธศาสตร์ และอาศัยปริมาณสำรองน้ำมันเป็นเวลา 21 วันของบริษัทน้ำมันตามที่กำหนดภายใต้กฎหมาย ขณะนี้เคนยากำลังจัดตั้งคลังน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองทางยุทธศาสตร์ โดยบริษัทน้ำมันแห่งชาติของประเทศเคนยาเป็นผู้จัดหา และจัดเก็บโดยบริษัท เคนยา ไปป์ไลน์ จำกัด

• มาลาวีกำลังพิจารณาจัดเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองสำหรับ 22 วัน ซึ่งเป็นการขยายจาก 5 วันในปัจจุบัน รัฐบาลกำลังวางแผนที่จะสร้างคลังจัดเก็บในจังหวัด Chipoka และ Mchinji รวมถึงสนามบินนานาชาติ Kamuzu

• แอฟริกาใต้มี SPR ที่จัดการโดย PetroSA คลังหลักที่จัดเก็บคือ คลังน้ำมันที่อ่าว Saldanha ซึ่งเป็นจุดขนถ่ายหลักสำหรับการขนส่งน้ำมัน ถังเก็บคอนกรีตฝังดิน 6 ถังของคลังน้ำมันอ่าว Saldanha ทำให้มีความจุน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองปริมาณ 45,000,000 บาร์เรล

จากข้อมูลของประเทศต่าง ๆ ในยุโรปและแอฟริกาจะเห็นได้ว่า SPR หรือการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์มีความสำคัญอย่างมากต่อความมั่นคงทางด้านพลังงานและส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศโดยรวมในทุก ๆ มิติ โดยที่ประเทศไทยยังไม่มีการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์หรือ SPR เลย ความมั่นคงทางพลังงานต้องฝากไว้กับบริษัทค้าน้ำมันเอกชน ซึ่งเมื่อเกิดวิกฤตน้ำมันจะมีน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมเพียงพอต่อการบริโภคเพียง 25-36 วันเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ นโยบายการสำรองเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ (SPR) ของ ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จึงมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งยวด เพื่อความมั่นคงทางพลังงานเกิดขึ้นและอยู่ภายใต้รัฐบาล ซึ่งนอกจากจะทำให้ไทยมีหลักประกันในด้านความมั่นคงทางด้านพลังงานที่แข็งแกร่งแล้ว จะเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงของประเทศโดยรวมในทุก ๆ มิติอีกด้วย

🔎ส่อง ‘ตะวันออกกลาง เอเชีย และโอเชียเนีย’ SPR ทำยังไง?

ด้วยปัจจุบันทุกวันนี้ น้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดสิ่งหนึ่งส่งผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของโลก เป็นทรัพยากรสุดยอดปรารถนาของทุกประเทศบนโลกใบนี้ กระทั่งทุกการดำเนินกิจการและกิจกรรมต่าง ๆ แทบจะขาดพลังงานที่มาจากน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมไม่ได้ แม้จะมีการใช้พลังงานทดแทนอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น พลังงานจากแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ ฯลฯ แต่ยังคงต้องใช้เวลาอีกพอสมควรถึงจะพัฒนาจนสามารถทดแทนพลังงานจากน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมได้

เมื่อน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ส่งผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การบริโภคน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมจึงมีความต่อเนื่องตามแต่ความต้องการของผู้บริโภคย่อมจะทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไม่สะดุดและหยุดนิ่ง แต่การณ์กลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น น้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมของโลกมิได้มีเสถียรภาพทั้งด้านปริมาณและด้านราคา เมื่อปริมาณการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค แน่นอนว่า ย่อมทำให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมพุ่งสูงขึ้นจึงเป็นที่มาของวิกฤตน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียม

วิกฤตน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมในปี 1973 ถือเป็นวิกฤตครั้งที่ใหญ่และส่งผลกระทบมากที่สุดเมื่อ OPEC เกิดความขัดแย้งกับอิสราเอลและประเทศที่สนับสนุนจึงทำให้ราคาของน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมสูงขึ้นถึงเกือบ 300% จึงทำให้เกิด ‘สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA)’ และเป็นที่มาของ ‘การสำรองเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ (SPR : Strategic Petroleum Reserve)’ ซึ่งเริ่มโดยสหรัฐอเมริกา และปัจจุบันเป็นผู้ถือครองน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมสำรอง SPR มากที่สุดในโลก 

การเกิดขึ้นของวิกฤตน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมมากมายหลายหน จึงทำให้ประเทศต่าง ๆ ต้องมีการสำรองเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ (SPR) เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาในระยะสั้น ทำให้ประเทศต่าง ๆ เหล่านี้รวมทั้ง ตะวันออกกลาง เอเชีย และโอเชียเนีย ล้วนแล้วแต่มีการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทั้งในรูปแบบ SPR และการสำรองเพื่อการพาณิชย์ทั้งสิ้น 

แม้แต่ประเทศในตะวันออกกลางซึ่งส่วนใหญ่แล้วต่างก็เป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันก็มี SPR เนื่องจากปริมาณน้ำมันสำรองในประเทศเหล่านั้นแม้จะมีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ยังคงเป็นน้ำมันดิบใต้พื้นดินที่ยังไม่ได้สูบขึ้นมาเพื่อกลั่นใช้แต่อย่างใด โดย ซาอุดีอาระเบีย มีน้ำมันดิบสำรอง 266.5 พันล้านบาร์เรล, คูเวต 102 พันล้านบาร์เรล, อิรัก 145 พันล้านบาร์เรล, ยูเออี 98 พันล้านบาร์เรล, กาตาร์ 25 พันล้านบาร์เรล, โอมาน 54 พันล้านบาร์เรล, ซีเรีย 2.5 พันล้านบาร์เรล, อิหร่านมีปริมาณน้ำมันดิบสำรอง 209 พันล้านบาร์เรล (SPR ของอิหร่านดำเนินการโดยบริษัทน้ำมันแห่งชาติอิหร่าน (NIOC) ได้สร้างถังเก็บน้ำมันดิบ 15 ถังที่มีความจุ 10,000,000 บาร์เรล ในปี 2023 อิหร่านได้นำน้ำมันสำรอง SPR จำนวน 7.55 ล้านบาร์เรลออกจำหน่ายเพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ ทำให้มีน้ำมันสำรอง SPR เหลืออยู่เพียง 4.2 ล้านบาร์เรล ซึ่งพอใช้บริโภคในประเทศได้ 4 วันเท่านั้น), อิสราเอล ตั้งแต่ปี 1975 มีปริมาณน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์เท่ากับ 270 วันของการบริโภค และจอร์แดนมีปริมาณสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์เท่ากับ 60 วันของการบริโภค

เอเชีย หลายประเทศทั้งที่เป็นสมาชิกและไม่เป็นสมาชิกของ ‘สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA)’ ต่างก็มีการจัดเก็บน้ำมันสำรอง SPR 

• จีน ในปี 2007 มีการประกาศการขยายปริมาณน้ำมันดิบสำรองเป็นระบบสองส่วน เงินสำรองของจีนจะประกอบด้วยน้ำมันดิบสำรองทางยุทธศาสตร์ที่รัฐควบคุม (SPR) เสริมด้วยน้ำมันดิบสำรองเชิงพาณิชย์ตามที่ได้รับคำสั่งจากรัฐ ปริมาณน้ำมันดิบสำรอง SPR ของจีนอยู่ที่ 475.9 ล้านบาร์เรล เท่ากับ 90 วันของการบริโภค 

• อินเดีย ปัจจุบันปริมาณน้ำมันดิบสำรอง SPR ของอินเดียอยู่ที่ 36.9 ล้านบาร์เรล เพียงพอที่จะใช้บริโภคได้ 9.5 วัน แต่โรงกลั่นน้ำมันของอินเดียต้องจัดเก็บน้ำมันดิบไว้ 64.5 วัน ดังนั้นจึงมีปริมาณสำรองน้ำมันโดยรวมเท่ากับ 74 วันของการบริโภค

• ญี่ปุ่น ในปี 2010 ญี่ปุ่นมี SPR ดำเนินการโดยบริษัท Japan Oil, Gas and Metals National Corporationประกอบด้วยสำรองน้ำมันที่รัฐควบคุม ณ แหล่งต่าง ๆ 11 แห่ง รวม 324 ล้านบาร์เรล ปริมาณน้ำมันสำรองของเอกชนที่ถือครองตามกฎหมายการกักเก็บน้ำมัน 129 ล้านบาร์เรล และปริมาณน้ำมันสำรองผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมภาคเอกชนอื่น ๆ อีก 130 ล้านบาร์เรล ปริมาณน้ำมันสำรองทั้งหมดประมาณ 583 ล้านบาร์เรล เพียงพอที่จะบริโภคได้ 224 วัน

• เกาหลีใต้ ตามกฎหมายกำหนดให้ โรงกลั่น ผู้จัดจำหน่ายที่ระบุ และผู้นำเข้า มีหน้าที่ระงับการจำหน่ายหรือการผลิตที่กลั่นได้ในแต่ละวันเป็นเวลา 40-60 วัน โดยอิงจาก 12 เดือนที่ผ่านมา ปลายปี 2010 เกาหลีใต้มีปริมาณน้ำมันสำรอง 286 ล้านบาร์เรล ซึ่งประกอบด้วย 146 ล้านบาร์เรล ณ South Korea National Oil Corporation สำหรับคลัง SPR รัฐบาลและคลังน้ำมันร่วมระหว่างประเทศ (อาทิร่วมกับคูเวต) และน้ำมันสำรองอุตสาหกรรมและคลังน้ำมันอุตสาหกรรมบังคับ (เอกชน) อีก 140 ล้านบาร์เรล เพียงพอที่จะบริโภคได้ 240 วัน (SPR 124 วันและเอกชน 117 วัน) ณ มีนาคม 2014

• ไต้หวัน มี SPR โดยมีขนาดตามรายงานในปี 1999 อยู่ที่ 13,000,000 บาร์เรล ในปี 2005 มีการเพิ่มปริมาณน้ำมันสำรองเชิงพาณิชย์ที่รัฐสามารถควบคุมอีก 27,600,000 บาร์เรล รวมแล้วเพียงพอที่จะบริโภคได้ 60 วัน

• ปากีสถาน มีการประกาศแผนน้ำมันสำรองฉุกเฉินเพียงพอที่จะบริโภคได้ 20 วัน และกำลังเพิ่มขีดความสามารถในการจัดเก็บ SPR อันเนื่องมาจากความขัดแย้งในตะวันออกกลาง

สำหรับประเทศโอเชียเนีย มีข้อมูล SPR ของ 2 ประเทศหลัก ๆ คือ

• ออสเตรเลีย ในปี 2008 ออสเตรเลียถือครองปิโตรเลียมไว้สามสัปดาห์ แทนที่จะเป็น 90 วันตามมาตรฐาน IEA ที่ได้ตกลงไว้ ปัจจุบันตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2023 รัฐบาลกำหนดให้ผู้นำเข้าน้ำมันต้องสำรองน้ำมัน : น้ำมันเบนซิน 27 วัน, น้ำมันดีเซล 32 วัน และน้ำมันเครื่องบิน 27 วัน

• นิวซีแลนด์ ในปี 2008 มีปริมาณสำรองทางยุทธศาสตร์อยู่ที่ 1,200,000 บาร์เรล น้ำมันสำรองส่วนใหญ่อิงตามสัญญาซื้อขายน้ำมันปิโตรเลียมกับออสเตรเลีย ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นสัญญารับประกันการซื้อน้ำมันปิโตรเลียมของนิวซีแลนด์กับประเทศคู่สัญญาในกรณีฉุกเฉินหรือเกิดวิกฤตน้ำมันขึ้น

จะเห็นได้ว่า ทุกวันนี้แทบทุกประเทศในโลกมี ‘การสำรองเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ (SPR : Strategic Petroleum Reserve)’ โดยรัฐเพื่อความมั่นคงและประชาชน และเสริมด้วยการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อการพาณิชย์ของเอกชน ในขณะนี้ไทยเรามีเพียงแต่การสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อการพาณิชย์โดยเอกชนผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 เท่านั้น และหากเกิดกรณีฉุกเฉินหรือเกิดวิกฤตน้ำมันขึ้นไทยเราจะมีน้ำมันสำรองเพียงพอใช้เท่ากับ 25-36 วัน ดังนั้น SPR น้ำมันเชื้อเพลิงสำรองซึ่งอยู่ภายใต้ถือครองของรัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานจะทำให้ประเทศไทยมีความมั่นคงทางพลังงานน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อจัดการแก้ไขปัญหากรณีฉุกเฉินหรือเกิดวิกฤตน้ำมันในระยะสั้นได้ในระดับหนึ่ง อันเป็นการบรรเทาเบาคลายปัญหาอีกมากมายจากผลกระทบที่จะเกิดขึ้นและเป็นการป้องกันความเดือดร้อนที่จะเกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนคนไทยให้สามารถดำรงชีวิตเป็นปกติสุขเช่นที่เป็นอยู่ได้ต่อไป

🔎แนวคิดในการจัดตั้งและรูปแบบ SPR ของไทย โดย ‘พีระพันธุ์’ แบบไหน...คนไทยจะได้รับประโยชน์สูงสุด

หลังจาก ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เดินหน้ารื้อโครงสร้างพลังงานและสั่งให้มีการศึกษารูปแบบ ‘การสำรองน้ำมันและก๊าซเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve: SPR) เช่น หากมีกรณีสงครามระหว่างอิสราเอล-อิหร่านเกิดขึ้นจะไม่มีผลกระทบกับคนไทยทั้งในด้านราคาและปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิง และระบบนี้จะช่วยรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันให้อยู่ในระดับที่รัฐบาลกำหนดได้เองโดยไม่กระทบจากราคาน้ำมันในตลาดโลก ทำให้ปัญหาการขึ้นลงของราคาน้ำมันในตลาดโลกเป็นเรื่องระหว่างรัฐกับผู้ค้าน้ำมัน โดยประชาชนไม่เกี่ยวข้องด้วย เป็นการ ‘ปลด’ พันธนาการชีวิตของประชาชนจากความไม่เสถียรด้วยสภาวะขึ้นลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกอย่างสิ้นเชิง ทั้งเป็นการความมั่นคงและรักษาระดับราคาโครงสร้างราคาใหม่ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง’ ของประเทศไทย โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการร่วมกันใน 3 ด้านหลักได้แก่ 

1. ศึกษาการสำรองปิโตรเลียมเหลว (LPG) ของประเทศญี่ปุ่น 
2. ศึกษาการจัดซื้อจัดหา การกลั่น การส่งออก รวมไปถึงการใช้น้ำมันและก๊าซของประเทศสิงคโปร์
3. ศึกษาการกำหนดราคาขายน้ำมันส่งออกและที่จำหน่าย การผลิตไฟฟ้า การบริหารจัดการ และการกำหนดราคาค่าไฟฟ้าของประเทศสิงคโปร์กันอย่างละเอียด เพื่อนำมากำหนดเป็นแผนงานพัฒนาระบบการสำรองน้ำมันและก๊าซที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยให้มากที่สุด

การสำรองปิโตรเลียมเหลว (LPG) ของประเทศญี่ปุ่น ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่นำเข้า 80% ของปริมาณใช้งานด้วยญี่ปุ่นประสบภัยพิบัติบ่อยครั้งทั้งแผ่นดินไหวและพายุ จากข้อดี 3 หลักประการของ LPG คือ 

(1) เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะปล่อย CO2 น้อยกว่าน้ำมันเชื้อเพลิง และแทบไม่ปล่อยซัลเฟอร์ออกไซด์ (SOx) หรือไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) ในระหว่างการเผาไหม้เลย ทั้งยังไม่มีเขม่าเกิดขึ้นจึงทำให้ก๊าซที่ปล่อยออกมาสะอาด 

(2) ขนส่งสะดวก สามารถจัดเก็บได้ตลอดเวลาและเก็บไว้ได้เป็นระยะเวลานาน แม้จะเป็นก๊าซที่ความดันและอุณหภูมิห้อง แต่ก็สามารถทำให้เป็นของเหลวได้ง่าย ทำให้เป็นแหล่งพลังงานที่เคลื่อนย้ายได้สะดวกมาก ด้วยคุณสมบัติเหล่านี้ ทำให้สามารถจัดส่ง LPG ให้กับเกือบทุกพื้นที่ของญี่ปุ่น ตั้งแต่เขตเมืองไปจนถึงเกาะห่างไกลและบริเวณภูเขา นอกจากนี้ยังใช้ในไฟแช็ค ถังแก๊สแบบพกพา และกระป๋องสเปรย์อีกด้วย 

และ (3) ทนทานต่อภัยพิบัติ LPG เป็นแหล่งพลังที่สามารถกู้คืนได้รวดเร็วกว่าแหล่งพลังงานอื่น ๆ เพราะมีโรงงานบรรจุแยกย่อยมากมาย 

ในกรณีที่เกิดภัยพิบัติจึงไม่มีการหยุดชะงักในการจัดหาและขนส่ง ในพื้นที่ที่ประสบภัยพิบัติสามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงในการปรุงอาหารในกรณีฉุกเฉิน และเป็นแหล่งความร้อนให้กับที่อยู่อาศัยชั่วคราว ทำให้ประมาณครึ่งหนึ่งของครัวเรือนญี่ปุ่นทั้งหมดใช้ LPG โดยญี่ปุ่นได้จัดเก็บ LNG สำรองเป็น SPR 1.5 ล้านตัน (5 คลัง) และผู้ค้าเอกชนสำรองเชิงพาณิชย์อีก 1.5 ล้านตัน รวม 3 ล้านตัน เพียงพอต่อการใช้งาน 100 วัน

สิงคโปร์เป็นหนึ่งในศูนย์กลางการขนส่งที่สำคัญที่สุดในเอเชีย และเป็นหนึ่งในสามศูนย์กลางการค้าและการกลั่นน้ำมันชั้นนำของโลก ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘ศูนย์กลางน้ำมันที่ปราศจากปัญหาของเอเชีย’ โดยที่แหล่งใหญ่ของตลาดซื้อ-ขายน้ำมันระหว่างประเทศมีเพียง 3 แห่ง คือ ตลาดนิวยอร์ก (NYMEX) ตลาดลอนดอน (IPE) และตลาดสิงคโปร์ (SIMEX) ทำให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปสิงคโปร์กลายเป็นราคาน้ำมันอ้างอิงของภูมิภาคเอเชีย สิงคโปร์มีกำลังการกลั่นน้ำมันดิบรวม 1.35 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยโรงกลั่นน้ำมันหลัก 3 แห่งของประเทศ ได้แก่ โรงกลั่น 605,000 บาร์เรล/วันของ ExxonMobil (Pulau Ayer Chawan), โรงกลั่น 500,000 บาร์เรล/วันของ Royal Dutch/Shell (Pulau Bukom) และโรงกลั่น 290,000 บาร์เรล/วันของ Singapore Rinning Company (Pulau Merlimau)

สิงคโปร์บริโภคน้ำมันปิโตรเลียมและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องอื่น ๆ คิดเป็น 86% ของการใช้พลังงานหลักของประเทศสิงคโปร์ รองลงมาคือก๊าซธรรมชาติที่ 13% ถ่านหินและพลังงานหมุนเวียนรวมกันคิดเป็น 1% ของการใช้พลังงานหลัก สิงคโปร์มีปริมาณการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงใน SPR เป็นน้ำมันดิบประมาณ 32 ล้านบาร์เรล และน้ำมันสำเร็จรูปอีกราว 65 ล้านบาร์เรล ซึ่งจะทำให้สิงคโปร์มีเชื้อเพลิงสำรองเพียงพอต่อการใช้งานสำหรับชาวสิงคโปร์กว่า 5.5 ล้านคนนานถึง 451 วัน 

แม้สิงคโปร์จะเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปอันดับหนึ่งของ ASEAN แต่ราคาจำหน่ายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปก็สูงเป็นอันดับหนึ่งเช่นกัน โดยราคาจำหน่ายปลีกน้ำมันเบนซิน98 ขึ้นไปอยู่ที่ลิตรละ 80.83 บาท (ภาษีลิตรละ 21.23 บาท หรือ 0.79SGD) และน้ำมันดีเซลอยู่ที่ลิตรละ 73.43 บาท (ภาษีน้ำมันดีเซลและเบนซิน92&95 ลิตรละ 17.74 บาท หรือ 0.66SGD) โดยภาษีน้ำมันของสิงคโปร์เป็นภาษีคงที่คำนวณจากปริมาณที่ใช้ ในขณะที่ไทยมีภาษีน้ำมันต่าง ๆ 5 รายการถูกคิดเป็นร้อยละหรือ % ซึ่งคำนวณจากราคาน้ำมัน 

ดังนั้นเมื่อราคาน้ำมันในตลาดโลกสูงขึ้น นอกจากที่ประชาชนคนไทยจะต้องจ่ายค่าน้ำมันที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังต้องจ่ายภาษีน้ำมันเพิ่มขึ้นอีกด้วย

ในการวางรูปแบบการสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ (SPR) เพื่อความมั่นคง และรักษาเสถียรภาพทางด้านราคาของไทยนั้น คณะทำงานของรองฯ ‘พีระพันธุ์’ ได้พิจารณาโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เป็นหลัก อันถือเป็นหัวใจของการเปลี่ยนแปลงระบบการสำรองน้ำมันและก๊าซ นอกจากนี้แล้ว ยังได้มีการศึกษาการอุดหนุนราคาน้ำมันของประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ การสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อความมั่นคงทางการทหารและประชาชนของไทย ความจำเป็นในการปันส่วนน้ำมันในกรณีที่เกิดการขาดแคลน รวมทั้งแนวทางการบริหารจัดการน้ำมันดิบที่ผลิตในประเทศ เพื่อเปรียบเทียบและสรุปนำมาใช้ประโยชน์ในประเทศให้ได้มากที่สุด .

เนื่องจากประเทศไทยถือเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมัน แม้จะสามารถผลิตน้ำมันเองได้ แต่ก็เป็นส่วนน้อยมากไม่เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ จึงต้องมีการนำเข้าน้ำมันดิบเพื่อกลั่นให้เพียงพอต่อการบริโภคของคนไทย ดังนั้น การจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันและก๊าซ (SPR) ที่จะเกิดขี้นในโอกาสนี้ ประชาชนชาวไทยจะสามารถมั่นใจได้เลยว่า จะทำให้ราคาของน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซเกิดความเป็นธรรมอย่างแน่นอน และเป็นผลดียิ่งในการบริหารจัดการด้านพลังงานของประเทศไทยอย่างยั่งยืนต่อไป

🔎ยกเครื่องพลังงานไทยด้วยกฎหมายในการจัดตั้ง ‘SPR’ ฉบับแรกของไทย โดยรองฯ พีระพันธุ์

หลังจากคนไทยต้องฝากความมั่นคงทางพลังงานน้ำมันเชื้อเพลิงกับผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนมาอย่างนี้ยาวนาน วันนี้ ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้เร่งผลักดันให้จัดตั้ง SPR : Strategic Petroleum Reserve หรือ การสำรองเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ ในประเทศไทยขึ้น จากเดิมบริษัทเอกชนผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ต้องเป็นผู้จัดเก็บน้ำมันสำรองเชิงพาณิชย์ไว้ให้เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ 25-36 วัน เป็นรัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานจัดเก็บน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ไว้ให้เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ 50 วันตามมาตรฐาน IEA หรือ 90 วันเช่นเดียวกับประเทศสมาชิก IEA ส่วนใหญ่ (ไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกสมทบของ IEA) 

แม้จะมีน้ำมันสำรองเชิงพาณิชย์เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ 25-36 วัน แต่น้ำมันเชื้อเพลิงเหล่านั้นถือครองโดยเอกชน (เป็นการสำรองน้ำมันตามกฎหมายของผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543) รัฐบาลจึงไม่สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือบริหารจัดการได้ นอกจากเกิดเหตุฉุกเฉินและมีการประกาศใช้กฎหมายพิเศษ อาทิ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือกฎอัยการศึก จึงจะเข้าไปควบคุมจัดการน้ำมันสำรองที่มีอยู่ได้ และวิกฤตน้ำมันที่ผ่านมามากมายหลายครั้งได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความสำคัญและจำเป็นที่รัฐต้องถือครองน้ำมันสำรองในรูปแบบของ SPR ด้วยตนเองเพื่อให้เพียงพอต่อการใช้งาน 50 วันเป็นอย่างน้อยหรือ 90 วัน ซึ่งจะทำให้ไทยมีความมั่นคงทางพลังงานน้ำมันเชื้อเพลิงในระดับที่เข้มแข็งทัดเทียมนานาอารยประเทศ และเป็นหลักประกันที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติโดยรวม

มีการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันและก๊าซเพื่อความมั่นคงทางยุทธศาสตร์และระบบรักษาระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซ ประกอบด้วยคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านกฎหมายและด้านพลังงานในสาขาต่าง ๆ ร่วมกันหารือกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงพลังงาน เพื่อทำการทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และศึกษาวิธีการและรูปแบบการสำรองน้ำมันในต่างประเทศ เพื่อกำหนดเป็นแนวทาง ‘การสำรองน้ำมันและก๊าซเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อความมั่นคงและรักษาระดับราคาโครงสร้างราคาใหม่’ ของประเทศไทยเพื่อให้เกิดเสถียรภาพด้านพลังงาน จากการศึกษาความเป็นไปได้ของการดำเนินการสำรองน้ำมันในรูปแบบที่เหมาะสมกับประเทศไทย โดยพิจารณาผลการศึกษาของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียน เช่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม รวมถึงประเทศอื่น ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ และเยอรมนี ถึงมีจุดแข็งและข้อได้เปรียบการสำรองน้ำมันในรูปแบบที่แตกต่างกัน เพื่อวางรูปแบบ (Model) ของ SPR ที่จะเกิดขึ้นให้สอดคล้องเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยมากที่สุด

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานได้มีการทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ และคำสั่งต่าง ๆ ให้สามารถดำเนินการระบบ SPR เพื่อเป็นหนึ่งในมาตรการและนโยบายที่จะลดผลกระทบด้านพลังงาน และเพื่อให้เกิดความมั่นคง ยั่งยืน และเป็นธรรมกับภาคประชาชนในอนาคตต่อไป 

แนวคิดเกี่ยวกับ SPR เบื้องต้นคือการกำหนดนโยบายการเก็บสำรองน้ำมันโดยภาครัฐ เพื่อให้สามารถนำน้ำมันที่มีการเก็บสำรอง มาใช้ในการบริหารจัดการราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศให้ลดลงในช่วงที่ราคาน้ำมันขึ้นสูง ในลักษณะที่คล้ายกับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้วิธีการเก็บเงินเข้าออก และปรับอัตราการจัดเก็บน้ำมันแต่ละประเภทให้มีความเหมาะสมในแต่ละช่วง 

โดยใช้เงินที่มีอยู่ในกองทุนน้ำมันฯ ในการบริหารจัดการราคาน้ำมันไม่ให้สูงจนเกินไป ซึ่งจะเป็นรูปแบบเดียวกับการสำรองน้ำมันโดยภาครัฐ จะใช้น้ำมันสำรองที่มีอยู่ในคลังออกมาจำหน่ายเพื่อรักษาระดับราคาน้ำมันแทน ไม่ต้องใช้เงินเหมือนเช่นกองทุนน้ำมันฯ ตลอดจนให้มีการศึกษาถึงปริมาณที่เหมาะสมอัตราการของการเก็บสำรองน้ำมันโดยผู้ค้ามาตรา 7 เพื่อเป็นอีกแนวทางที่จะช่วยทำให้ราคาน้ำมันในประเทศสามารถลดลงได้

ปัจจุบันการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศไทยเป็นการสำรองโดยภาคเอกชนโดยกำหนดให้เป็นหน้าที่สำคัญของผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงรายใหญ่ที่มีปริมาณการค้าแต่ละชนิด หรือรวมกันทุกชนิดปีละตั้งแต่ 2,374,768 บาร์เรล (100,000 เมตริกตัน) ขึ้นไป หรือเป็นผู้ค้าก๊าซปิโตรเลียมเหลวแต่เพียงชนิดเดียวที่มีปริมาณการค้าปีละตั้งแต่ 1,187,384 บาร์เรล (50,000 เมตริกตัน) ขึ้นไป (ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543) 

ทั้งนี้การกำหนดปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองตามกฎหมายจะอ้างอิงจากปริมาณการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ โดยคำนึงถึงระยะเวลาในการจัดหาน้ำมันดิบรวมระยะเวลาในการขนส่งจากแหล่งจัดหาหลัก (แหล่งตะวันออกกลาง) มายังประเทศไทย เพื่อให้มีน้ำมันสำรองเพียงพอรองรับวิกฤตน้ำมันเชื้อเพลิงหรือสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นไม่คาดคิดอยู่ตลอดเวลา 

ในปี พ.ศ. 2566 ตามข้อมูลของกรมธุรกิจพลังงานระบุว่า ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 มีหน้าที่สำรองน้ำมันดิบในอัตราร้อยละ 5 และน้ำมันสำเร็จรูปในอัตราร้อยละ 1 ของปริมาณความต้องการใช้ทั้งปี หรือคิดเป็นอัตราสำรองเทียบเท่ากับปริมาณการใช้ 22 วัน (น้อยกว่า 25-36 วันตามข้อมูลที่มีการเผยแพร่) โดยมีกรมธุรกิจพลังงานเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการกำกับ ติดตาม และตรวจสอบการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างต่อเนื่อง และเป็นผู้รับแจ้งปริมาณและสถานที่เก็บน้ำมันสำรองตามกฎหมายคงเหลือรายวัน การตรวจวัดปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองตามกฎหมาย ณ คลังน้ำมันเชื้อเพลิงทุกแห่งทั่วประเทศ ในกรณีที่มีความจำเป็น ภาครัฐโดยกรมธุรกิจพลังงานสามารถสั่งให้ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 งดจำหน่าย หรือให้จำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงที่สำรองไว้ตามกฎหมายเพื่อป้องกันและแก้ไขการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงได้ในปริมาณไม่เกินกว่า 20% ของปริมาณสำรองตามกฎหมาย เพื่อให้มีน้ำมันเพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ หลังจากนั้น ผู้ค้าต้องเก็บสำรองน้ำมันให้ได้ตามที่กฎหมายกำหนดเช่นเดิม

จะเห็นได้ว่า การมี SPR นั้นจะทำให้เกิดผลกระทบในวงกว้างต่อหลายภาคส่วน แน่นอนที่ผลกระทบทางบวกย่อมเกิดขึ้นกับประเทศชาติและประชาชนคนไทย ในขณะที่เอกชนผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงย่อมได้ผลกระทบทางลบทั้งทางตรงและทางอ้อม เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ SRP เลย ดังนั้นจึงต้องมีการยกร่างและออกกฎหมายใหม่ขึ้นมา ซึ่งต้องผ่านรัฐสภาทั้งสภาผู้แทนฯและวุฒิสภาฯ ดังนั้นหากมีการพิจารณาร่างกฎหมาย SPR ประชาชนคนไทยต้องช่วยกันสนับสนุนกฎหมาย SPR ให้สามารถประกาศใช้ให้สำเร็จให้จงได้ เพราะการเก็บสำรองน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ในปริมาณที่มีความเหมาะสมและมากพอย่อมจะทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศสามารถลดลงได้อีกนั้นเอง

👉รู้หรือไม่ เมื่อไทยมี 'SPR' แล้ว จะทำให้ปัญหาราคาก๊าซ LPG และ LNG หมดไปด้วย

👉รู้หรือไม่ เมื่อไทยมี 'SPR' แล้ว จะทำให้ปัญหาราคาก๊าซ LPG และ LNG หมดไปด้วย

ทุกวันนี้นอกจากจะมีการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมเป็นเชื้อเพลิงแล้ว ยังการใช้เชื้อเพลิงพลังงานที่เป็นก๊าซอีกด้วย ประเทศไทยก็เช่นเดียวกันมีการใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงพลังงาน 2 ชนิดคือ ก๊าซ LPG  และก๊าซ LNG 

LPG (Liquefied Petroleum Gas) เป็นก๊าซปิโตรเลียมเหลวที่ได้จากการแยกน้ำมันดิบในโรงกลั่นน้ำมัน และได้จากการแยกก๊าซธรรมชาติ มีสถานะเป็นได้ทั้งของเหลวและก๊าซ สามารถแปรสภาพจากของเหลว โดยขยายตัวเป็นก๊าซได้ถึง 250 เท่า น้ำหนักเบากว่าน้ำ แต่หนักกว่าอากาศ มีคุณสมบัติให้ค่าความร้อนสูงเพราะประกอบไปด้วย Propane และ Butane จึงมีคุณสมบัติในการเป็นเชื้อเพลิงที่สามารถติดไฟง่าย และเป็นพลังงานที่มีการเผาไหม้อย่างสมบูรณ์จึงไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ก๊าซ LPG ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายและเป็นหนึ่งในพลังงานทางเลือกที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง 

ปัจจุบันประชาชนคนไทยใช้ก๊าซ LPG เป็นเชื้อเพลิงหลักในการหุงต้มประกอบอาหาร เป็นเชื้อเพลิงทางเลือกสำหรับยานพาหนะ และใช้ในการให้ความร้อนในโรงงานอุตสาหกรรมที่ไม่ได้ใช้ก๊าซ LNG หรือหม้อไอน้ำขนาดใหญ่ (Steam Boiler) ที่ใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิง 

LNG (Liquefied Natural Gas) หรือ ก๊าซธรรมชาติเหลว คือ ก๊าซธรรมชาติที่ถูกแปรสภาพจากสถานะก๊าซให้กลายเป็นของเหลว โดยลดอุณหภูมิลงจนเหลือประมาณ -160 องศาเซลเซียส เพื่อสะดวกในการขนส่งไปยังที่ต่าง ๆ ที่มีระยะทางไกล ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการขนส่งทางเรือ และก่อนจะนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิง LNG จะถูกทำให้ระเหยกลับมาสู่สถานะก๊าซอีกครั้งก่อนนำไปใช้งาน คุณลักษณะสำคัญของ LNG คือเป็นเชื้อเพลิงที่สะอาด ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีพิษ และไม่มีฤทธิ์กัดกร่อน เมื่อ LNG รั่วไหลสู่สิ่งแวดล้อมจะระเหยกลายเป็นไอแพร่กระจายในอากาศได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่มีการตกค้างในน้ำหรือดิน การรั่วไหลของ LNG ที่จะก่อให้เกิดการลุกไหม้ขึ้นได้นั้น ต้องมีความเข้มข้นของการระเหยของ LNG ในบรรยากาศอยู่ในช่วงระหว่าง 5%-15% รวมทั้งจะต้องมีแหล่งกำเนิดไฟในบริเวณใกล้เคียงด้วย ประเทศไทยใช้ LNG เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า เป็นเชื้อเพลิงสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม และเป็นเชื้อเพลิงสำหรับยานยนต์  (NGV)

แนวคิดของ ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในการจัดตั้ง SPR : Strategic Petroleum Reserve หรือ การสำรองเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ ในประเทศไทยขึ้นนั้น นอกจากการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงแล้วยังให้มีการสำรองก๊าซพลังที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างเช่น ก๊าซ LPG และ LNG อีกด้วย 

ปัจจุบันนี้ก๊าซ LPG มียอดร่วมการจำหน่ายอยู่ที่ประมาณ 280,000 ตันต่อเดือน ตามกฎหมายกำหนดให้ผู้ค้าก๊าซ LPG จัดเก็บสำรองก๊าซ LPG 1% โดยกระทรวงพลังงานมีนโยบายในการเพิ่มอัตราสำรองก๊าซ LPG เป็น 2% แต่ผู้ค้าก๊าซ LPG ของไทยไม่เห็นด้วย โดยอ้างจากรายงานการศึกษา เรื่อง การแก้ไขปัญหาโครงสร้างราคาพลังงาน (น้ำมันเชื้อเพลิง เชื้อเพลิงชีวภาพ และก๊าซปิโตรเลียม) ของ คณะกรรมาธิการการพลังงาน วุฒิสภา (เมษายน พ.ศ. 2567) ซึ่งสรุปว่า นโยบายการรักษาระดับปริมาณเก็บสำรองก๊าซ LPG ที่ 1% ซึ่งเป็นจำนวนที่เพียงพอสำหรับการใช้ในภาคครัวเรือน 

เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยสามารถผลิตก๊าซ LPG เองได้ การเก็บสำรองก๊าซ LPG มากเกินไปจะทำให้ไม่สามารถนำก๊าซที่มีอยู่ออกมาใช้ได้ และต้องเพิ่มการนำเข้าจากต่างประเทศซึ่งจะทำให้ต้นทุนสูงขึ้น

เช่นเดียวกับก๊าซ LNG ไทยบริโภคก๊าซ LNG ราว 125,453,900 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าประมาณ 55-60% ของเชื้อเพลิงทุกประเภทรวมกัน โดยก๊าซ LNG ที่ใช้ผลิตไฟฟ้าทั้งหมด (100%) ได้มาจากอ่าวไทยราว 63% จากเมียนมาราว  16% และก๊าซ LNG ที่นำเข้าจากต่างประเทศ 21% โดยที่ก๊าซ LNG จากอ่าวไทยเริ่มมีปริมาณลดลงและอาจจะหมดไปในอีกไม่ถึง 10 ปีข้างหน้า จึงต้องมีการนำเข้าจากประเทศต่าง ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ 

แต่ปัจจุบันไทยมีคลัง LNG รองรับการนำเข้าก๊าซ LNG ทางเรือของเอกชนโดยบริษัท PTTLNG อยู่ 2 แห่ง แห่งแรกตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยอง (LMPT 1) มีถังเก็บก๊าซ LNG ขนาด 160,000 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 4 ถัง และแห่งที่ 2 อยู่ที่บ้านหนองแฟบ จังหวัดระยอง (LMPT 2) ซึ่งมีถังเก็บก๊าซ LNG ขนาด 250,000 ลูกบาศก์เมตร 2 ถัง และ ขนาด 160,000 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 4 ถัง ซึ่งพอใช้เพียง 1-2 วันหากเกิดกรณีฉุกเฉินหรือวิกฤตพลังงานเชื้อเพลิงพลังงานที่เป็นก๊าซ LNG จากอ่าวไทยและเมียนมา  

ข้อมูลที่นำเสนอมาข้างต้นจะเห็นได้ว่า ไทยมีความเสี่ยงด้านเชื้อเพลิงพลังงานที่เป็นก๊าซมากกว่าด้านน้ำมันเชื้อเพลิงเสียด้วยซ้ำไป ดังนั้น SPR ของไทยที่จะเกิดขึ้นจึงต้องรวมการสำรองก๊าซ LPG และ LNG เอาไว้ด้วย เมื่อมีระบบ SPR ภาครัฐมีการจัดเก็บสำรองก๊าซ LPG เองในระดับปริมาณที่เหมาะสม ย่อมส่งผลต่อราคาจำหน่ายปลีกก๊าซ LPG ในประเทศอย่างแน่นอน เมื่อภาครัฐเป็นผู้ถือครองก๊าซ LPG รายใหญ่ที่สุดจะลดพลังอำนาจทางธุรกิจของเหล่าบรรดาผู้ค้าก๊าซ LPG ลง ทั้งยังเป็นการป้องกันการกักตุนก๊าซ LPG ในกรณีฉุกเฉินหรือวิกฤตพลังงานเชื้อเพลิงพลังงานก๊าซ LPG ของผู้ค้า LPG ได้อีกทางหนึ่งด้วย 

ในกรณีของก๊าซ LNG ซึ่งเป็นก๊าซพลังงานที่สำคัญในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการผลิตกระแสไฟฟ้า การมีระบบ SPR ในการสำรองก๊าซ LNG จะเกิดความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้า และทำให้การคำนวณราคาค่าไฟฟ้าในส่วนของค่าไฟฟ้าผันแปรมีความเสถียรคงที่ขึ้นในกรณีฉุกเฉินหรือวิกฤตพลังงานจากเชื้อเพลิงพลังงานก๊าซ LNG อีกด้วย 

ดังนั้นเมื่อไทยมีการตั้งระบบ SPR ครบวงจรพลังงานแล้วก็จะทำให้ปัญหาราคาก๊าซ LPG และ LNG ในกรณีฉุกเฉินหรือวิกฤตพลังงานจากเชื้อเพลิงพลังงานก๊าซระยะสั้นค่อย ๆ ลดลง จนหมดไปในที่สุด 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top