Wednesday, 15 January 2025
BYD

‘เลขาฯ กขค.’ แจง!! ‘BYD’ ลดราคารถ ไม่ผิด พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า ยัน!! ไม่ได้กระทบผู้ผลิตชิ้นส่วน แค่หั่นกำไรตัวเอง ช่วยกระตุ้นการแข่งขัน

(8 ก.ค.67) นายวิษณุ วงศ์สินศิริกุล เลขาธิการคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เปิดเผยถึงกรณีค่ายรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) จากจีน คือ BYD ลดราคาขายรถอีวีในไทยหลายแสนบาทว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่า BYD ไม่ได้ขายรถอีวีในไทยในราคาต่ำกว่าทุนแปรผันเฉลี่ย เพื่อเป็นการฆ่าคู่แข่ง และยังไม่ได้บังคับให้ซัพพลายเออร์ ต้องลดราคาขายชิ้นส่วน หรืออะไหล่รถยนต์ให้กับบริษัท จึงไม่ได้เป็นการกระทำผิดตามพ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 เพราะเท่าที่ทราบ ราคาที่ขายในไทย ยังแพงกว่าราคาที่ขายในจีน แม้ถูกกว่าที่ขายในยุโรป อีกทั้งการลดราคาดังกล่าว ไม่ได้เป็นการทำลายคู่แข่ง แต่ทำให้เกิดการแข่งขัน และผู้บริโภคได้ประโยชน์

“ผมมองว่า BYD ยอมขาดทุนกำไร หรือมาร์จินของตัวเอง ซึ่งจะทำให้เกิดการแข่งขันทางการค้ามากขึ้น และผู้บริโภคได้ประโยชน์ในที่สุด อย่างไรก็ตาม ภายใต้พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า การขายราคาต่ำกว่าทุน สามารถทำได้ แต่ต้องมีเหตุผลทางธุรกิจ และทำภายในระยะเวลาที่จำกัด เช่น ล้างสต๊อกสินค้า หรือทดลองตลาดสำหรับสินค้าที่จะออกใหม่” นายวิษณุ กล่าว

อย่างไรก็ตาม กขค.ไม่จำเป็นต้องเชิญค่ายรถยนต์มาหารือ เพราะพฤติกรรมยังไม่เข้าข่ายกระทำผิดตามพ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า แต่กขค.จะจับตาการแข่งขันของรถยนต์อีวีอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกิดการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม ผู้ประกอบการไม่เอารัดเอาเปรียบกันจนทำให้เกิดความเสียหายทางธุรกิจ ส่วนกรณีของ BYD ที่เกิดขึ้นขณะนี้ เป็นในส่วนของผู้บริโภคที่รู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการซื้อสินค้า ซึ่งมีสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ดูแลอยู่แล้ว

ด้านนายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า “กรมได้ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เพื่อส่งเสริมและการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจให้มีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรมเพื่อเสริมพลังความร่วมมือกำกับดูแลการประกอบธุรกิจให้มีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม เพื่อเสริมพลังเพิ่มศักยภาพในการกำกับดูแลและส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าในประเทศให้มีความเป็นธรรมสำหรับผู้ประกอบการ พร้อมกับดูแลประชาชนและผู้บริโภคทั่วประเทศให้ได้รับการพิทักษ์ประโยชน์ โดยทั้ง 2 หน่วยงานจะแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจ สำหรับสนับสนุนการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจสินค้าและบริการ และใช้ประโยชน์ในการกำหนดนโยบายที่เหมาะสม”

“กรมมีช่องทางการร้องเรียนผ่านสายด่วน 1569 อยู่แล้ว หากประชาชน หรือผู้ประกอบการ ไม่ได้รับความเป็นธรรมทางการค้า ก็สามารถร้องเรียนมาได้ หากเกี่ยวข้องกับพ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า กรมก็จะส่งต่อให้ กขค.พิจารณา ซึ่งถือเป็นการช่วยกันสร้างความเป็นธรรมทางการค้า และส่งเสริมบรรยากาศการแข่งขันที่เป็นธรรม” นายวัฒนศักย์ กล่าว

ยอดขาย ‘BYD’ มาแรงแซง ‘Honda-Nissan’ ขยับสู่อันดับ 7 ของโลก วัดจากจำนวนที่ขายได้

(23 ส.ค. 67) เว็บไซต์นิกเกอิ เอเชียรายงานว่า ยอดขาย ‘บีวายดี’ (BYD) ของจีน แซงหน้า Honda Motor และ Nissan Motor จนกลายเป็นผู้ผลิตรถยนต์อันดับ 7 ของโลกตามจำนวนรถยนต์ที่ขายได้ในไตรมาส 3 ขับเคลื่อนด้วยความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าราคาประหยัดของบริษัท ตามข้อมูลจากผู้ผลิตรถยนต์และบริษัทวิจัย MarkLines

สำหรับยอดขายรถยนต์ใหม่ของ BYD เพิ่มขึ้น 40% เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็น 980,000 คันในไตรมาสนี้ แม้ว่าผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำส่วนใหญ่ รวมถึง Toyota Motor และ Volkswagen Group จะประสบภาวะยอดลดลงก็ตาม โดยยอดขายของ BYD ที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากยอดขายต่างประเทศ ซึ่งเพิ่มขึ้นประมาณสามเท่าเมื่อเทียบกับปีก่อน เป็น 105,000 คัน

ทั้งนี้ BYD เคยอยู่อันดับที่ 10 ของโลกในช่วงไตรมาส 3 ของปีที่แล้ว ด้วยยอดขาย 700,000 คัน นับตั้งแต่นั้นมา BYD ได้แซงหน้า Nissan และ Suzuki Motor และเอาชนะ Honda ในฐานะรายไตรมาสเป็นครั้งแรกในไตรมาสล่าสุด

มีเพียงผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นรายเดียวที่ยังคงมียอดขายมากกว่า BYD คือ ‘Toyota’ ซึ่งนำอันดับโลกในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน ด้วยยอดขาย 2.63 ล้านคัน ขณะที่ ‘Big Three’ (General Motors, Stellantis, Ford Motor) ในสหรัฐก็ยังคงนำหน้า แต่ BYD กำลังไล่ตามรถ Ford Motor อย่างรวดเร็ว

สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าราคาประหยัดของ BYD ได้รับความนิยมมากขึ้นในประเทศจีนซึ่งเป็นตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดของโลก ทำให้ยอดขายในเดือนมิถุนายนเพิ่มขึ้น 35% เมื่อเทียบกับปีก่อน

ตรงกันข้าม ผู้เล่นชาวญี่ปุ่น ซึ่งมีความแข็งแกร่งในรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์เบนซิน กำลังมียอดขายตามหลัง โดยยอดขายของ Honda ในจีนลดลง 40% ในเดือนมิถุนายน ผู้ผลิตรถยนต์วางแผนลดกำลังการผลิตในประเทศลงประมาณ 30% แม้กระทั่งในไทยซึ่งบริษัทญี่ปุ่นครองส่วนแบ่งตลาดประมาณ 80% อีกทั้ง Susuki ก็กำลังยุติการผลิต ในขณะที่ Honda กำลังลดกำลังการผลิตลงครึ่งหนึ่ง

‘จีน’ ยักษ์ใหญ่ประเทศผลิตรถยนต์ ส่งออกรถยนต์ 2.79 ล้านคันในช่วงครึ่งแรกของเดือนมกราคม-มิถุนายน มากกว่าญี่ปุ่น 780,000 คัน โดย BYD ได้เปิดโรงงานประกอบรถยนต์ขนาดใหญ่แห่งแรกในต่างประเทศที่ไทย พร้อมแผนสร้างฮับเพิ่มเติมในฮังการีและบราซิล นอกจากนี้ยังกำลังพิจารณาการผลิตรถในเม็กซิโกด้วย

‘BYD’ เรียกคืน 'Dolphin-Yuan Plus' 97,000 คัน หลังพบปัญหาชุดควบคุมพวงมาลัย เสี่ยงการเกิดไฟไหม้

(30 ก.ย. 67) รอยเตอร์ รายงานว่า ‘บีวายดี’ ได้แจ้งต่อหน่วยงานกำกับดูแลของจีนว่า กำลังเรียกคืนรถยนต์ 97,000 คัน เนื่องจากพบข้อบกพร่องในการผลิต ซึ่งเกี่ยวกับชุดควบคุมพวงมาลัย ที่มีความเสี่ยงอาจทำให้เกิดไฟไหม้ได้

แถลงการณ์จาก สำนักงานกำกับดูแลตลาดแห่งรัฐของจีน (SAMR) ระบุว่า ผู้ผลิตรถยนต์จีนรายนี้ กำลังเรียกคืนรถยนต์ไฟฟ้า Dolphin และ Yuan Plus ที่ผลิตในจีนระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2022 ถึงธันวาคม 2023 

ขณะที่ บีวายดี ยังไม่ได้ตอบสนองต่อข้อซักถามทันที โดยบริษัทจะขอให้ตัวแทนจำหน่าย ติดตั้งการแก้ไขทางกายภาพในรถยนต์ที่ถูกเรียกคืน ตามคำแถลงของ SAMR

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีการระบุว่า ได้ส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวไปหรือไม่ 

ทั้งนี้ จากข้อมูลของสมาคมผู้ผลิตรถยนต์แห่งประเทศจีน Dolphin และ Yuan Plus เป็นสองรุ่นที่ขายดีที่สุดของบริษัท BYD ในปี 2023 ซึ่งคิดเป็น 26% จากจำนวนรถยนต์ 3 ล้านคันที่ขายได้ในปีนั้น

การเรียกคืนรถยนต์ไฟฟ้า และรถยนต์ไฮบริดแบบปลั๊กอิน ถือเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก เนื่องจากบริษัทจีนแห่งนี้เติบโตอย่างรวดเร็วและกลายมาเป็นผู้จำหน่ายรถยนต์อีวีที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ในปี 2022 บีวายได้ ได้เรียกคืนรถยนต์ไฮบริดแบบปลั๊กอิน ang จำนวนเล็กน้อย เนื่องจากพบข้อบกพร่องในแบตเตอรี่ซึ่งอาจทำให้เกิดเพลิงไหม้ได้ 

บัณฑิตจีน สิ้นหวัง เกษียณกลับบ้านเกิด ด้วยความท้อแท้ เหตุ!! อุตสาหกรรมทรุดตัว บริษัทเลิกจ้าง แรงงานล้นตลาด

(14 ต.ค. 67) หากคิดว่าหางานใน ‘ไทย’ ยากแล้ว ใน ‘จีน’ กลับยิ่งหางานยากกว่ามาก แม้มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก แต่หนุ่มสาวจบใหม่ในจีนตอนนี้กลับหางานลำบากยิ่งนัก โดยอัตราว่างงานของหนุ่มสาวจีนในเดือนสิงหาคม “ทำสถิติใหม่” ที่ 18.8% ซึ่งสูงที่สุดนับตั้งแต่เริ่มใช้ระบบบันทึกสถิติใหม่ในเดือนธันวาคม โดยเพิ่มขึ้นจาก 17.1% ในเดือนกรกฎาคม

มีเรื่องราวของสาวจีนที่จบการศึกษามาไม่นาน เธอชื่อ สวี่อวี่ (Xu Yu) สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่งในฮ่องกง และใช้เวลาหางานเป็นเวลา 5 เดือนแล้ว

แม้เธอจะมีผลการเรียนดีเยี่ยมและประสบการณ์ฝึกงานถึงสามครั้ง สวี่อวี่ก็ยังคงต้องดิ้นรนอย่างหนักเพื่อแข่งขันในตลาดงานที่ดุเดือด เธอลงทุนเงินกว่า 20,000 หยวน หรือราว 90,000 บาทเพื่อเข้าฝึกอบรมเทคนิคการสัมภาษณ์ แต่กลับต้องเผชิญกับความผิดหวังเมื่อได้รับจดหมายปฏิเสธจากบริษัทชั้นนำหลายแห่ง เช่น Tencent Holdings และ JD.com

ส่วนอีกคนหนึ่งชื่อ ถังฮุ่ย (Tang Hui) เธอได้รับข้อเสนองานด้านบัญชีจากผู้ผลิตรถพลังงานใหม่ชั้นนำก่อนจบการศึกษา แต่ต่อมาบริษัทได้ยกเลิกข้อเสนอทั้งหมดให้กับผู้จบใหม่ ถังฮุ่ยได้รับเงินชดเชยเป็นค่าแรงหนึ่งเดือน แต่หลังจากนั้น แม้ว่าเธอจะสมัครงานไปกว่า 50 บริษัทแล้วก็ตาม ก็ยังไม่ได้รับข้อเสนอใด ๆ กลับมา เหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความยากลำบากของบัณฑิตใหม่จีนหลังจบการศึกษา

ในปีนี้ เหล่าบัณฑิตจีนที่จบออกมามีจำนวนมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ถึง 11.8 ล้านคน และกำลังก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงานที่อ่อนแอที่สุดที่จีนเคยเผชิญมาหลายปี จากการที่บรรดาบริษัทด้านอินเทอร์เน็ต การศึกษา และอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมกระดูกสันหลังของจีน ตัดสินใจลดจำนวนพนักงานลง 

ยกตัวอย่าง ‘เหล่าบริษัทเทคโนโลยี’ อย่าง  Alibaba, Tencent และ Baidu ก่อนหน้านี้เคยขยายการจ้างงาน แต่ปัจจุบันตัดสินใจลดจำนวนพนักงานลง โดย Alibaba ตัดพนักงานลงมากกว่า 13%

ไม่เพียงเท่านั้น แม้แต่ ‘ธุรกิจกวดวิชา’ ที่เคยเป็นดาวรุ่ง ก็ถูกเปลี่ยนให้เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร รัฐบาลออกระเบียบลดภาระการบ้านและการติวหลังเลิกเรียน อีกทั้ง ‘ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์’ ที่เคยเป็นตัวขับเคลื่อนจีดีพีจีนก็ยังคงซบเซา จนทำให้มากกว่าครึ่งหนึ่งของงานทั้งหมดในอุตสาหกรรมนี้ได้หายไปในปีนี้

ส่วนอุตสาหกรรมเกิดใหม่ เช่น พลังงานทดแทนและเซมิคอนดักเตอร์ ยังไม่สามารถทดแทนด้านการจ้างงานได้ เพราะการสรรหาบุคลากรเหล่านี้ ‘ต้องการความสามารถเฉพาะทาง’ ซึ่งมักมีวุฒิขั้นสูง เช่น BYD ผู้นำด้านรถยนต์ไฟฟ้า ในปีนี้ได้ลดการรับสมัครนักศึกษาลงมากกว่าครึ่งจาก 30,000 คนในปี 2023

หลายคนอาจมีค่านิยมว่า จบจากมหาวิทยาลัยดังมีชัยไปกว่าครึ่ง แต่ปัจจุบันนี้อาจไม่ได้สำคัญขนาดนั้นอีกต่อไป หลายบริษัทต้องการคนมีประสบการณ์และเคยผ่านงานด้านนั้นมากกว่า  

จากที่เคยเป็นเพียงส่วนเสริม ‘ประสบการณ์การฝึกงานที่ผ่านมา’ ได้กลายเป็นปัจจัยชี้ขาดโอกาสในการทำงาน หลิว จื่อเฉา (Liu Zichao) บัณฑิตด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ จบจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงน้อยกว่า ได้แสดงให้เห็นถึงความจริงข้อนี้ เมื่อเขาคว้าตำแหน่งงานเทคโนโลยีมาครองได้สำเร็จหลังจากฝึกงานที่ ByteDance บริษัทแม่ของ TikTok 

เรื่องราวของเขาสะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มที่การฝึกงานเฉพาะทาง กำลังกลายเป็นตัวชี้วัดความสามารถที่สำคัญยิ่งกว่าวุฒิการศึกษา

นอกจากปัจจัยเศรษฐกิจจีนอันซบเซาแล้ว อีกปัจจัยหนึ่งคือ บัณฑิตจบใหม่หลายคนกำลังเผชิญปัญหาการหางานที่ไม่ตรงกับความสามารถของตนเอง โดยมีคุณสมบัติเกินกว่างานระดับล่าง แต่ขาดประสบการณ์สำหรับงานระดับสูง

ยิ่งไปกว่านั้น ความคาดหวังด้านอาชีพที่สูงขึ้นของบัณฑิตในปัจจุบัน กำลังทำให้ความไม่ลงรอยกันในตลาดแรงงานของจีนเพิ่มขึ้น ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรบุคคลหลายคนรายงานว่า ความทะเยอทะยานที่เกิดจากโซเชียลมีเดียสำหรับงานเทคโนโลยีที่มีรายได้สูงได้นำไปสู่การเรียกร้องเงินเดือนที่สูงเกินจริง ทำให้บัณฑิตจำนวนมากไม่พอใจกับตำแหน่งงานที่มีอยู่

จาง (Zhang) ผู้จัดการทรัพยากรบุคคลกล่าวว่า บัณฑิตที่สอบข้าราชการไม่ผ่านมักเข้าสู่ตลาดแรงงานโดยไม่พร้อม และเรียกร้องเงินเดือนสูงกว่ามาตรฐานอุตสาหกรรมมาก

ในทำนองเดียวกัน หยาง เจียน (Yang Jian) ซึ่งทำงานด้านการสรรหาบุคลากรสำหรับบริษัทอัตโนมัติขนาดเล็กกล่าวว่า ความคาดหวังที่ไม่สมจริงของบัณฑิตจบใหม่ และความลังเลในการยอมรับงานที่มีรายได้ต่ำกว่า ทำให้บริษัทของเธอหยุดรับสมัครบัณฑิตใหม่

อย่างไรก็ตาม เมื่อหันมามองดูมุมมองของเหล่าบัณฑิต ผู้หางานรุ่นใหม่รู้สึกไร้อำนาจในตลาดแรงงาน สวัสดิการพื้นฐานเช่น วันทำงานแปดชั่วโมงและประกันสังคมที่ได้รับกลับถูกมองว่าเป็นสิ่งหรูหรา โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเหรินหมินของจีนพบว่า พนักงานรุ่นใหม่ทำงานหนักเกินมาตรฐาน ซึ่งเป็นการทำงานเฉลี่ย 251.9 ชั่วโมงต่อเดือน และมีความคุ้มครองด้านประกันสังคมที่ต่ำจากนายจ้าง

ด้วยภาวะบีบคั้นทางเศรษฐกิจ และรู้สึกสิ้นหวังในตลาดแรงงาน ชาวจีนรุ่นใหม่จึงถอยกลับไปยังชนบท โดยหลังจากประกาศว่าตนถูกเลิกจ้าง ลาออก หรือว่างงาน ชาวจีนเจน Z และ Y ก็บันทึกชีวิตประจำวันแบบ ‘เกษียณอายุ’ ในชนบทของตนบนโซเชียลมีเดีย  

เมื่อปีที่แล้ว ผู้เกษียณอายุที่ประกาศตนเองวัย 22 ปี ซึ่งใช้ชื่อแฝงว่า เหวินจือ ต้าต้า (Wenzi Dada) ได้ตั้งถิ่นฐานในกระท่อมไม้ไผ่ริมหน้าผาในมณฑลกุ้ยโจวของจีน เหวินจือ ซึ่งเคยทำงานในหลากหลายสาขา เช่น ซ่อมรถยนต์ ก่อสร้าง และการผลิต บอกกับสื่อท้องถิ่นว่าเขารู้สึกเหนื่อยกับการต้องจัดการกับเครื่องจักรทุกวัน จึงลาออกเพื่อกลับบ้านเกิด

นอกจากนี้ บัณฑิตบางคนหันไปทำงานอิสระ เช่น เป็นคนขับส่งของหรือพี่เลี้ยงเด็ก ในขณะที่อีกหลายคนก็เลื่อนการเข้าสู่ตลาดแรงงาน

BYD ยอดขายทั่วโลกใน Q4/67 พุ่ง คาดปี 2025 แซง Tesla ขึ้นแท่นค่ายรถอีวีขายดีสุด

วอลล์สตรีทเจอร์นัล (WSJ) รายงานว่า บีวายดี (BYD) ยังคงครองตำแหน่งผู้นำด้านยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ทั่วโลก โดยในไตรมาส 4 ของปี 2024 บีวายดีแซงหน้าเทสลา (Tesla) เป็นครั้งที่สอง

(3 ม.ค.68) จากรายงานระบุว่า บีวายดี ผู้ผลิตรถ EV รายใหญ่ที่สุดของจีน ส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบ (All-Electric Vehicles) จำนวน 207,734 คันในเดือนธันวาคม 2024 เพิ่มขึ้นประมาณ 9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

ในไตรมาส 4 ปี 2024 บีวายดีส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบรวมประมาณ 595,000 คัน มากกว่าเทสลาที่ส่งมอบได้ 496,000 คัน แม้ตัวเลขดังกล่าวจะเป็นสถิติใหม่ของเทสลา แต่ยังต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 507,000 คัน

สำหรับยอดขายทั้งปี 2024 บีวายดีสามารถขายรถยนต์ไฟฟ้าได้รวม 1.768 ล้านคัน เพิ่มขึ้นราว 12% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ขณะที่เทสลามียอดขายรวม 1.79 ล้านคัน ลดลงประมาณ 1% เมื่อเทียบกับปี 2023

รายงานของ WSJ สอดคล้องกับการเปิดเผยของเทสลา ที่ได้รายงานยอดการผลิตและส่งมอบรถยนต์ในไตรมาส 4 และตลอดปี 2024 โดยในไตรมาสสุดท้ายของปี เทสลาส่งมอบรถยนต์รวม 495,570 คัน และมียอดผลิตรวม 459,445 คัน ขณะที่ยอดส่งมอบทั้งปีอยู่ที่ 1,789,226 คัน และยอดผลิตรวม 1,773,443 คัน นี่เป็นครั้งแรกที่ยอดส่งมอบรถยนต์ของเทสลาลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยในปี 2023 เทสลาส่งมอบรถได้ทั้งหมด 1.81 ล้านคัน

ก่อนหน้านี้ เทสลาได้เตือนนักลงทุนถึงความเป็นไปได้ที่การเติบโตอาจลดลงในปี 2024 เนื่องจากบริษัทกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญ นอกจากนี้ ในเดือนเมษายน 2024 เทสลาได้ปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ โดยเลิกจ้างพนักงานกว่า 10% เพื่อลดต้นทุนและเน้นการพัฒนาแท็กซี่ไร้คนขับตามคำมั่นของ อีลอน มัสก์

ในช่วงครึ่งปีหลัง มัสก์กลายเป็นที่จับตามองอีกครั้ง จากบทบาทของเขาในการสนับสนุนแคมเปญหาเสียงเลือกตั้งของ โดนัลด์ ทรัมป์ มัสก์ใช้เงินราว 277 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนทรัมป์และผู้สมัครจากพรรครีพับลิกัน พร้อมร่วมลงพื้นที่หาเสียงในหลายรัฐสำคัญ

แม้ว่าเทสลาจะยังคงเป็นผู้นำในด้านยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าหากมองจากยอดขายรวมตลอดทั้งปี แต่ช่องว่างในการแข่งขันกำลังลดลงอย่างรวดเร็ว โดย บีวายดี มีศักยภาพสามารถเพิ่มยอดขายรถยนต์ได้มากกว่า 41% ในปี 2024 เมื่อเทียบเป็นรายปี และมีโอกาสสูงที่จะแซงหน้าเทสลาในปี 2025

การเติบโตนี้ได้รับแรงหนุนจากยอดขายรถยนต์ไฮบริดที่แข็งแกร่ง รวมถึงการสนับสนุนจากตลาดในประเทศจีน ซึ่งมีการแข่งขันระหว่างแบรนด์ท้องถิ่นอย่างดุเดือด และยังได้รับแรงจูงใจจากเงินอุดหนุนของรัฐบาลหลายประเทศ ที่ช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าหรือรถยนต์ที่ประหยัดน้ำมันมากขึ้น

กว่า 90% ของยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าของบีวายดี มาจากตลาดจีน ซึ่งช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้บีวายดีเหนือแบรนด์ต่างชาติอย่างโฟล์คสวาเกน และโตโยต้า

การเติบโตของบีวายดีและผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายอื่น ๆ ของจีนกำลังสร้างแรงกดดันให้ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ในตะวันตก ฮอนด้า และ นิสสัน ได้ประกาศเมื่อเดือนที่แล้วว่ากำลังเจรจาควบรวมกิจการ เพื่อต่อสู้กับการแข่งขันที่เข้มข้นจากอุตสาหกรรมรถยนต์ของจีน

‘จีน’ ส่ง BYD ตีชนะ!! Tesla ‘เวียดนาม’ เดินหน้า พัฒนาอุตสาหกรรม ‘เซมิคอนดักเตอร์’ ‘รัฐบาลไทย’ มุ่งสร้าง!! ฐานประชานิยม เน้นแค่หาเสียง เพื่อให้ได้กลับมาเป็นรัฐบาล

(5 ม.ค. 68) ข่าวส่งท้ายปี 2567 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่านายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ไม่ผ่านคุณสมบัติที่จะเข้ารับตำแหน่งประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพราะการเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นบุคคลที่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จากการเปิดเผยของ นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง (24 ธ.ค.2567)

ซึ่งคงต้องมีการสรรหากันใหม่ คาดว่าน่าจะเป็นช่วงเดือนมกราคม 2568

แรงกดดันจากฝ่ายการเมือง ที่จะเข้าไปแทรกแซงการกำหนดนโยบายทางการเงิน การคลัง รวมทั้งเงินสำรองระหว่างประเทศ ก็คงซาไปอีกระยะ จนกว่าจะมีการเสนอชื่อเพื่อเข้ารับการสรรหากันอีกครั้ง

และข่าวเริ่มต้นปีมะเส็ง 2568 กับการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้า วอลล์สตรีทเจอร์นัล (WSJ) รายงานว่า บีวายดี (BYD) ยังคงครองตำแหน่งผู้นำด้านยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ทั่วโลก โดยในไตรมาส 4 ของปี 2024 บีวายดีแซงหน้าเทสลา (Tesla) เป็นครั้งที่สอง

จากรายงานระบุว่า บีวายดี ผู้ผลิตรถ EV รายใหญ่ที่สุดของจีน ส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบ (All-Electric Vehicles) จำนวน 207,734 คันในเดือนธันวาคม 2024 เพิ่มขึ้นประมาณ 9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

ในไตรมาส 4 ปี 2024 บีวายดีส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบรวมประมาณ 595,000 คัน มากกว่าเทสลาที่ส่งมอบได้ 496,000 คัน แม้ตัวเลขดังกล่าวจะเป็นสถิติใหม่ของเทสลา แต่ยังต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 507,000 คัน

สำหรับยอดขายทั้งปี 2024 บีวายดีสามารถขายรถยนต์ไฟฟ้าได้รวม 1.768 ล้านคัน เพิ่มขึ้นราว 12% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ขณะที่เทสลามียอดขายรวม 1.79 ล้านคัน ลดลงประมาณ 1% เมื่อเทียบกับปี 2023

ตามด้วยข่าว รัฐบาลเวียดนามเสนอเงินอุดหนุน 50% ของมูลค่าลงทุนให้กับโครงการวิจัยและพัฒนาหลักในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และปัญญาประดิษฐ์ (AI)

โครงการที่มีสิทธิ์รับเงินอุดหนุนดังกล่าวซึ่งระบุไว้ในพระราชกฤษฎีกาที่ออกเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2024 จะต้องมีการลงทุนขั้นต่ำ 3 ล้านล้านดอง (4.07 พันล้านบาท), ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อระบบนิเวศนวัตกรรม (innovation ecosystem), ส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ที่ก้าวล้ำ และผู้พัฒนาโครงการจะต้องไม่มีภาษีค้างชำระหรือหนี้กับรัฐบาล โดยผู้พัฒนาโครงการจะต้องชำระทุนจดทะเบียนอย่างน้อย 1 ล้านล้านดอง (1.35 พันล้านบาท) ภายใน 3 ปีนับจากได้รับการอนุมัติการลงทุน

รัฐบาลเวียดนาม ยังคงเดินนโยบายด้านเศรษฐกิจ ดึงนักลงทุน และส่งเสริมการลงทุน ในส่วนโครงการเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อผลักดันการเติบโตของประเทศ ที่มั่นคง ยั่งยืน โดยเฉพาะการพัฒนาบุคลากร การวิจัยและพัฒนา การลงทุนในสินทรัพย์ การผลิต และโครงสร้างพื้นฐาน ที่จะสร้างเม็ดเงินทางเศรษฐกิจได้เป็นจำนวนมาก

หันกลับมาดูการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลไทย กลับเป็นนโยบายประชานิยม ที่แทบจะสร้างฐานสำหรับอนาคตของประเทศไม่ได้ ซ้ำยังส่งผลเสียต่อวินัยทางการเงินของประชาชนไปเรื่อยๆ เน้นแค่หาเสียงเพื่อให้ได้กลับมาเป็นรัฐบาลในสมัยต่อไป 

มารอดูกันต่อว่า ประชาชนผู้เสียภาษีเงินได้ส่วนบุคคล ที่มีอยู่ 4 ล้านกว่าคน ที่เหมือนต้องแบกการใช้จ่ายงบประมาณ ไปกับนโยบายประชานิยม จะทนต่อได้มากน้อยแค่ไหน หากคนกลุ่มนี้เริ่มส่งเสียง เก้าอี้รัฐบาล จะเริ่มสั่นคลอน ... สวัสดีปีใหม่ 2568 ครับ 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top