เปิดคำพิพากษา จำคุก 2 ปี ‘ดร.พิรงรอง’ อดีตกรรมการ กสทช. ผิด!! ‘อาญา 157’ ฐานรายงานประชุมเท็จ ทำเอกชนเสียหาย

(9 ก.พ. 68) เมื่อช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ‘ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง’ ได้มีคำพิพากษาในคดีสำคัญ ซึ่งถือเป็นกรณีตัวอย่างในการยกระดับมาตรฐานของคณะกรรมการกำกับดูแล หรือ Regulator ของประเทศไทย ในการใช้อำนาจทางกฎหมายอย่างระมัดระวัง โดยจะต้องดำเนินการตามหลักความโปร่งใส ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริตใจ หลีกเลี่ยงผลประโยชน์ที่ทับซ้อน 

โดย ‘ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง’ ได้อ่านคำพิพากษาคดีที่ ‘บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด’ เป็นโจทก์ ฟ้อง!! ‘นางสาวพิรงรอง รามสูต’ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ในฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 

การกระทำของ ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต อดีตกรรมการ กสทช. ในการออกหนังสือแจ้งไปยังผู้รับอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ ทำให้ผู้ได้รับอนุญาตเข้าใจว่า โจทก์เป็นผู้กระทำผิดกฎหมาย ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้รับอนุญาตอาจระงับเนื้อหารายการต่าง ๆ ที่บริษัทส่งไปออกอากาศ ส่อแสดงเจตนากลั่นแกล้งให้บริษัทฯ ได้รับความเสียหาย 

โดยศาลเห็นว่าการกระทำของจำเลยที่สั่งการให้ส่งหนังสือไปยังผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ 127 ราย เพื่อชะลอหรือขยายระยะเวลาเข้าทำนิติกรรมกับโจทก์นั้น เป็นการกระทำโดยมิชอบ ไม่ผ่านมติที่ประชุม  และมีการแก้ไขรายงานการประชุมเพื่อปกปิดความจริง  รวมถึงการใช้ถ้อยคำที่สื่อความหมายถึงการต้องการให้ธุรกิจของโจทก์ได้รับความเสียหาย เช่น  ‘ต้องเตรียมตัวจะล้มยักษ์’ ซึ่งจำเลยก็ยอมรับว่า คำว่า ‘ยักษ์’ นั้นหมายความถึงโจทก์ ถ้อยคำดังกล่าวเป็นการสื่อความหมายชัดเจนว่า ประสงค์ให้กิจการของโจทก์ได้รับความเสียหาย ศาลจึงเห็นว่าเป็นการกลั่นแกล้งโจทก์

ประเด็นสำคัญที่ศาลได้ยกขึ้นพิจารณาก็คือ ‘กสทช.’ ไม่เคยกำหนดให้ผู้ให้บริการแอปพลิเคชันประเภท ‘โอทีที’ ต้องขอใบอนุญาต  และการกระทำของจำเลยถือเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด  ส่งผลให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จากการที่ผู้ประกอบการหลายรายชะลอการทำนิติกรรมกับโจทก์

คำตัดสินของศาล

พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ โดยมีเจตนามุ่งประสงค์กลั่นแกล้งโจทก์ และใช้อำนาจหน้าที่ของตนไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย 

เพราะภายหลังจากมีหนังสือดังกล่าวแจ้งไปยังผู้ประกอบการรวม 127 รายแล้ว มีผู้ประกอบกิจการหลายรายได้ชะลอหรือขยายระยะเวลา ในการเข้าทำนิติกรรมกับโจทก์ 

เมื่อศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า พยานหลักฐานของ ‘จำเลย’ ไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะหักล้างพยานหลักฐานของ ‘โจทก์’ ได้  

ศาลพิจารณาแล้ว เห็นว่า ศ.ดร. พิรงรอง รามสูต อดีตกรรมการ กสทช. ได้กระทำความผิดจริงตามที่โจทก์ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด (ผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน True ID) ได้ยื่นฟ้อง 

จึงได้มีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก จำเลย ‘นางสาวพิรงรอง’ เป็นเวลา 2 ปี ในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 

นอกจากนี้ศาลได้อนุญาตให้ประกันตัวด้วยวงเงิน 120,000 บาท และมีเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศ

คดีนี้ถือเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ ในการใช้อำนาจของทางภาครัฐ ผิดก็ว่ากันไปตามผิด ถูกก็ว่ากันไปตามถูก พิจารณากันอย่างเป็นธรรม    

ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย!! 


เรื่อง : กันย์ ฉันทภิญญา ทนายความ