ย้อนเปิดยุทธศาสตร์จากยุคปธน.ทรูเเมน 'เเปซิฟิกมีอะเเลสกา เเอตเเลนติกก็ควรมีกรีนเเลนด์'
(26 ธ.ค. 67) โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 47 เคยเสนอให้สหรัฐฯ ซื้อกรีนแลนด์จากเดนมาร์กในช่วงปี 2019 ขณะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก แต่แนวคิดดังกล่าวถูกปฏิเสธจากเดนมาร์ก โดยชี้ว่า "กรีนแลนด์ไม่ใช่สินค้าที่สามารถขายได้" ล่าสุดในปี 2024 ทรัมป์ได้หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากเสนอชื่อนายเคน ฮาวเวอรี อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำสวีเดน และนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำเดนมาร์กคนใหม่ โดยทรัมป์มั่นใจว่าฮาวเวอรีจะทำหน้าที่ได้อย่างยอดเยี่ยมในการเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของสหรัฐฯ
ทรัมป์ยังได้ย้ำผ่านแพลตฟอร์มโซเชียล Truth Social โดยระบุถึงความสำคัญของการเป็นเจ้าของกรีนแลนด์ โดยมองว่าเพื่อเสริมความมั่นคงและเสรีภาพทั่วโลก สหรัฐฯ ควรมีอำนาจในการครอบครองและควบคุมพื้นที่กรีนแลนด์
ดินแดนกรีนแลนด์ ถูกจัดว่าเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตั้งอยู่เหนือสุดของโลกในแถบขั้วโลกเหนือ มีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลถึง2,175,900 ตารางกิโลเมตร และมีสถานะเป็นดินแดนในคุ้มครองของเดนมาร์ก มีประชากรอยู่ราว 57,000 คน กรีนแลนด์เพิ่งมีสถานะเป็นดินแดนเอกราชปกครองตนเองในปี 2009 ประชาชนมีการเลือกรัฐบาลท้องถิ่นเป็นของตนเอง พื้นที่ส่วนใหญ่ของกรีนแลนด์เต็มไปด้วยน้ำแข็งและดินแดนอันเวิ้งว้างที่หนาวเหน็บ แต่เต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติมากมาย
ข้อมูลจากรายงานที่มีชื่อว่า "The Greenland Gold Rush: Promise and Pitfalls of Greenland’s Energy and Mineral Resources" ระบุว่า ในขณะที่โลกกำลังเผชิญสภาวะโลกร้อน แน่นอนว่าส่งผลกระทบต่อกรีนแลนด์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ .. การละลายของน้ำแข็งในอาร์คติกส่งผลให้ทรัพยากรอันมีค่าหลากหลายชนิดของกรีนแลนด์ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ดเพราะเข้าถึงได้ง่าย อาทิ แร่เหล็ก ตะกั่ว สังกะสี เพชร ทองคำ องค์ประกอบธาตุหายาก (แรร์เอิรธ์) ยูเรเนียม และน้ำมัน
การที่กรีนแลนด์สามารถมีสิทธิจัดตั้งรัฐบาลท้องถิ่นเพื่อปกครองตนเอง ที่เป็นอิสระจากรัฐบาลกลางเดนมาร์ก ส่งผลให้กรีนแลนด์สามารถแสวงหาผลประโยชน์เหล่านี้ได้ง่ายมากขึ้นเช่นกัน .. แต่ก็ใช่ว่ากรีนแลนด์จะขุดทุกอย่างออกมาขาย ด้วยวิถีการดำเนินเศรษฐกิจแบบพึ่งพาตนเอง กรีนแลนด์จึงระมัดระวังอย่างมากในการแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรเหล่านี้
แม้ทรัมป์จะไม่เคยกล่าวถึงเหตุผลชัดเจนว่าทำไมเขาต้องการกรีนแลนด์ แต่สามารถคาดเดาได้ว่าเพราะเป็นดินแดนที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่มากมายรอการขุดค้น ขณะที่ยังมีอีกเหตุผลด้านความมั่นคง
แนวคิดการซื้อกรีนแลนด์ด้านความมั่นคงนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในยุคของประธานาธิบดีทรัมป์เท่านั้น เพราะในปี 1946 สมัยประธานาธิบดีแฮร์รี่ ทรูแมน ผู้นำสหรัฐฯ คนที่ 33 ก็เคยเสนอซื้อกรีนแลนด์จากเดนมาร์กด้วยจำนวนเงิน 100 ล้านดอลลาร์ ภายใต้แนวคิด "หากทางแปซิฟิกมีอะแลสกา ทางแอตแลนติกก็ควรมีกรีนแลนด์" แต่ข้อเสนอนี้ถูกปฏิเสธทั้งจากเดนมาร์กและประชาชนในกรีนแลนด์ เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับการแทรกแซงจากสหรัฐฯ
แม้การซื้อกรีนแลนด์จะไม่สำเร็จ แต่สหรัฐฯ ยังคงรักษาอิทธิพลในกรีนแลนด์ผ่านข้อตกลงการตั้งฐานทัพทูล (Thule Air Base Agreement) เพื่อประโยชน์ด้านความมั่นคงทางยุทธศาสตร์จ ให้ปัจจุบันสหรัฐฯ ยังคงมีฐานทัพอากาศ Thule Air Base ประจำการในกรีนแลนด์มาตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่สอง โดยเป็นฐานทัพอากาศสำคัญในการป้องกันการรุกรานจากสหภาพโซเวียตในช่วงสงครามเย็น และยังเป็นฐานทัพอากาศสหรัฐที่ตั้งอยู่ในบริเวณเหนือสุดของโลกอีกด้วย