‘รองนายกฯ พีระพันธุ์’ เล็งยกร่างกฎหมายปาล์มน้ำมัน ช่วยเกษตรกร หลังหยุดหนุนน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ ปี 69 หวังสร้างความเป็นธรรมทุกฝ่าย
เหลือเวลาอีกหนึ่งปีนิด ๆ โดยปี 2569 จะเป็นปีสุดท้ายที่กองทุนน้ำมันฯ จะชดเชยราคา เชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งได้แก่ ไบโอดีเซล และเอทานอล แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า ประเทศไทยจะยกเลิกการผสมเชื้อเพลิงชีวภาพในน้ำมันเชื้อเพลิง เพราะเมื่อถึงตอนนั้นแล้ว ราคาขายปลีกน้ำมันน่าจะยิ่งสูงขึ้น แต่เนื่องจากในปัจจุบันราคาเชื้อเพลิงชีวภาพอยู่ในระดับสูงกว่าน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นเท่าตัว ทำให้เมื่อผสมแล้วแทนที่จะทำให้น้ำมันเชื้อเพลิงถูกลงแต่กลับกลายเป็นยิ่งทำให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงแพงขึ้น ซึ่งทำให้ผิดไปจากเดิมวัตถุประสงค์ในการนำเชื้อเพลิงชีวภาพมาผสมในน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อลดราคาน้ำมันเชื้อเพลิงลง
ปัจจุบันไทยมีน้ำมันเชื้อเพลิงผสมน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ 2 ชนิดได้แก่ (1) ไบโอดีเซล (Biodiesel) หรือ Fatty acid methyl ester (FAME) คือ น้ำมันที่ผลิตมาจากพืช ซึ่งถือเป็น 'เชื้อเพลิงทางเลือก' ที่ผลิตได้จากชีวภาพ เช่น ปาล์ม ทานตะวัน ถั่วเหลือง สบู่ดำ มะพร้าว หรือ ผลิตมากจากไขมันสัตว์หรือน้ำมันที่ผ่านการใช้งานแล้วซึ่งเป็นสารจำพวกไตรกลีเซอไรด์ ก็สามารถนำมาผลิตไบโอดีเซลได้โดยนำมาผ่านกระบวนการทางเคมี โดยไทยใช้น้ำมันปาล์มเป็นน้ำมันชีวภาพหลักสำหรับไบโอดีเซล และ (2) แก๊สโซฮอล คือ การเอาน้ำมันเบนซินพื้นฐาน มาผสมกับแอลกอฮอล ซึ่งจะกลายเป็นน้ำมันสูตรใหม่ที่เรียกว่า 'น้ำมันแก๊สโซฮอล'
- น้ำมันแก๊สโซฮอล 91 ได้จากการนำน้ำมันเบนซินพื้นฐานชนิดที่ 1 ผสมกับ เอทานอล หรือเอทิลแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ 99.5% ในอัตราส่วน 10 %
- น้ำมันแก๊สโซฮอล 95 ส่วนผสมเช่นเดียวกับน้ำมันแก๊สโซฮอล 91 แต่ผสมจากการนำน้ำมันเบนซินพื้นฐานชนิดที่ 2
- น้ำมันแก๊สโซฮอล Gasohol (E20) ส่วนผสมเช่นเดียวกับน้ำมันแก๊สโซฮอล 95 แต่ผสมในอัตราส่วน 20%
- น้ำมันแก๊สโซฮอล Gasohol E85 น้ำมันแก๊สโซฮอลที่ผสมเอทานอลบริสุทธิ์สูงถึง 85% กับน้ำมันเบนซิน 15% เป็นเชื้อเพลิงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Environmentally Friendly Fuel) เนื่องจากมลพิษที่ปล่อยจากไอเสียน้อยมากเมื่อเทียบกับเบนซิน
แต่จุดประสงค์ของการนำไบโอดีเซลมาผสมในดีเซล เอทานอลผสมในเบนซิน ในความเป็นจริงแล้วไม่ได้ทำเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร แต่ต้องการนำมาผสมเพื่อได้ปริมาณน้ำมันเพิ่มขึ้นเป็นการช่วยลดต้นทุนราคาน้ำมัน ลดรายจ่ายจากการนำเข้าน้ำมันให้ประเทศ เนื่องจากกระบวนการอุดหนุนเกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนานจนทำให้กลายเป็นความเข้าใจทั่วไปว่า กระบวนการดังกล่าวเกิดขึ้นเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร แต่ความจริงแล้วความช่วยเหลือต่อเกษตรกรเป็นเพียงผลพลอยได้ ทั้งนี้ต้องเข้าใจด้วยว่า อันที่จริงแล้วภารกิจของกระทรวงพลังงานไม่ได้มีบทบาทหลักในการช่วยเหลือเกษตรกรเลย แต่ต้องรับผิดชอบดูแลสืบเนื่องมาจากนโยบายเชื้อเพลิงชีวภาพได้ถูกดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องและยาวนานมาแล้ว ทั้งยังไม่มีหน่วยงานอื่นใดร่วมช่วยคิดเพื่อแก้ปัญหา กระทรวงพลังงานจึงต้องรับหน้าที่ดังกล่าวเพื่อช่วยหาทางออกให้กับเกษตรกรไปก่อน แล้วหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงเกษตรฯและกระทรวงพาณิชย์จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภารกิจหลักของทั้ง 2 กระทรวงนี้ต่อไป
โดย 7 พฤศจิกายน 2567 รองพีร์ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เพื่อพิจารณาแนวทางการกำหนดสัดส่วนของน้ำมันไบโอดีเซล B100 ในช่วงที่ราคาน้ำมันปาล์มดิบ (CPO : Crude Palm Oil) สูงขึ้นมาก ซึ่งได้ข้อสรุปว่า ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันราคา CPO ที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาไบโอดีเซลอยู่ที่ประมาณ 48 บาทต่อลิตร หรือราว 2 เท่าของราคาเนื้อน้ำมัน ทำให้ต้นทุนน้ำมันดีเซลสูงขึ้นตามไปด้วย และจะส่งผลให้ราคาน้ำมันดีเซลที่ขายให้พี่น้องประชาชนมีราคาสูงขึ้นด้วย ดังนั้น เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน และเพื่อให้การจัดการราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ที่ประชุม กบง. จึงมีมติเห็นชอบการกำหนดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลเป็นดังนี้
- น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา ไม่ต่ำกว่า 5% และไม่สูงกว่า 7% โดยปริมาตร (ส่วนผสมไบโอดีเซลลงถูกปรับจาก B7 เป็น B5)
- น้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 20 ไม่ต่ำกว่า 19% และไม่สูงกว่า 20% โดยปริมาตร
ซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อเครื่องยนต์แต่อย่างใดโดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2567เป็นต้นไป
ทั้งนี้ รองพีร์มีแนวคิดที่จะนำรูปแบบการแก้ปัญหาเรื่องอ้อยกับน้ำตาล ตามพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 มาปรับใช้เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาเรื่องอ้อยและน้ำตาลซึ่งหากปล่อยไว้โดยเฉพาะปาล์มน้ำมันจะได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก จึงได้มีการเตรียมพร้อมเพื่อยกร่างกฎหมายที่คล้ายกันกับพ.ร.บ. อ้อยและน้ำตาลฯ ให้เป็นกฎหมายสำหรับปาล์มน้ำมันต่อไป โดยที่อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มอยู่ในความรับผิดชอบกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรองพีร์ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีด้วย จะมีการทำงานร่วมกันระหว่างสองกระทรวงเพื่อรองรับเมื่อเชื้อเพลิงชีวภาพต้องถูกยกเลิกการชดเชยจากกองทุนน้ำมัน ฯ ในปี 2569
โดยกฎหมายอ้อยและน้ำตาลภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรมจะมีส่วนช่วยทำให้การผลิตและจำหน่ายอ้อยและน้ำตาลทรายสอดคล้องกันกับชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลทรายในการร่วมมือกับทางการ ตั้งแต่ผลิตอ้อยไปจนถึงการจัดสรรเงินรายได้จากการขายน้ำตาลทรายทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งทุกวันนี้กลายเป็นระบบที่ดีเกษตรกรพอใจที่ได้ผลประโยชน์เพิ่มมากขึ้นนอกจากนี้แล้ว รองพีร์ยังได้มองถึงการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel) หรือ SAF เพื่อเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพในอนาคต หากมีความต้องการสูงขึ้นจะสามารถดูดซับวัตถุดิบอย่างปาล์มน้ำมันไปใช้เพิ่มได้ แต่ต้องมีการวางแนวทางพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพเพื่อให้รากฐานเข้มแข็ง เป็นการสร้างความมั่นใจในการลงทุนของผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศต่อไป
เรื่อง : กองบรรณาธิการ