4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2532 ‘พายุไต้ฝุ่นเกย์’ ซัดถล่มฝั่งอ่าวไทย เสียชีวิตกว่า 500 คน สูญเสียนับหมื่นล้านบาท
ช่วงปลายเดือนตุลาคม 2532 มีหย่อมความกดอากาศต่ำก่อตัวขึ้นที่บริเวณปลายแหลมญวน ชายฝั่งประเทศเวียดนาม และเคลื่อนตัวเข้าสู่อ่าวไทย ซึ่งเป็นลักษณะที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยนัก หย่อมความกดอากาศต่ำนี้ได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นดีเปรสชัน เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2532 บริเวณตอนใต้ของอ่าวไทย และทวีกำลังแรงต่อเนื่องเป็นพายุโซนร้อนในเวลาต่อมา โดยถูกตั้งชื่อเรียกว่าพายุโซนร้อน 'เกย์' ซึ่งยังคงทวีกำลังแรงขึ้นอีกจนกลายเป็นพายุไต้ฝุ่นอย่างรวดเร็วในเวลาไม่กี่ชั่วโมง
ต่อมาพายุไต้ฝุ่น 'เกย์' ได้ทวีกำลังแรงขึ้น โดยมีอัตราเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางพายุถึง 100 นอต หรือประมาณ 185 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นความเร็วของพายุไต้ฝุ่นระดับ 3 ก่อนเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งที่บริเวณรอยต่อระหว่าง อ.ปะทิว กับ อ.ท่าแซะ จังหวัดชุมพร ในตอนเช้าของวันที่ 4 พฤศจิกายน 2532 เมื่อเวลาประมาณ 10.30 น. แล้วเคลื่อนผ่านลงทะเลอันดามันในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2532 ต่อไปยังมหาสมุทรอินเดียเหนือและถูกเปลี่ยนชื่อเป็นพายุไซโคลน KAVALI หลังจากนั้นได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นซุปเปอร์ไต้ฝุ่นระดับ 5 ก่อนเคลื่อนขึ้นฝั่งไปยังรัฐอานธรประเทศ รัฐที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของประเทศอินเดีย แล้วสลายตัวไปบริเวณเหนือเทือกเขากัตส์ตะวันตก เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2532
สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย พายุไต้ฝุ่น 'เกย์' ส่งผลทำให้เกิดคลื่นพายุซัดฝั่ง ที่ อ.บางสะพานน้อย อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ อ.ท่าแซะ อ.ปะทิว จ.ชุมพร และจังหวัดใกล้เคียงตามแนวชายฝั่งอ่าวไทย รวมถึงจังหวัดตามแนวชายฝั่งทะเลตะวันออก มีผู้เสียชีวิตถึง 446 คน บาดเจ็บ 154 คน สูญหายมากกว่า 400 คน บ้านเรือน เสียหาย 38,002 หลัง ประชาชนเดือดร้อน 153,472 คน เรือกสวนไร่นาเสียหายมากกว่า 9 แสนไร่ เรือประมงจมลงสู่ใต้ท้องทะเลประมาณ 500 ลำ ศพลูกเรือลอยเกลื่อนทะเล และสูญหายไปเป็นจำนวนมาก อีกทั้งพายุลูกนี้ได้เคลื่อนตัวผ่านฐานขุดเจาะน้ำมันของบริษัทยูโนแคล ที่ตั้งอยู่ในอ่าวไทย ทำให้เรือขุดเจาะชื่อ 'ซีเครสต์' (Sea Crest) พลิกคว่ำ มีเจ้าหน้าที่ประจำเรือเสียชีวิต 91 คน รวมมีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 537 คน มูลค่าความเสียหายประมาณ 11,257,265,265 บาท นอกจากนี้ยังสร้างความเสียหายอย่างหนักให้กับปะการังนอกชายฝั่งประเทศไทย พายุไต้ฝุ่นเกย์ถือเป็นพายุหมุนเขตร้อนที่สร้างความเสียหายให้กับประเทศไทยมากที่สุด นับตั้งแต่พายุโซนร้อนแฮเรียตถล่มแหลมตะลุมพุก จ.นครศรีธรรมราช ในปี พ.ศ. 2505
ยังมีรายงานเรือขุดเจาะน้ำมันซีเครสต์อับปางลงนอกชายฝั่ง มีลูกเรือเสียชีวิต 91 คน รวมผู้เสียชีวิตทั้งหมด 537 คน เช่นเดียวกับความเสียหายอย่างหนักที่เกิดขึ้นกับปะการังนอกชายฝั่งประเทศไทย พายุไต้ฝุ่นเกย์ถือเป็นพายุหมุนเขตร้อนที่สร้างความเสียหายให้กับประเทศไทยมากที่สุดในรอบ 27 ปี นับตั้งแต่พายุโซนร้อนแฮเรียต ทำลายล้างและซัดใส่แหลมตะลุมพุก ในปี พ.ศ. 2505 หรือในปี 1962 (โดยเหตุการณ์นี้ เคยถูกถ่ายทอด ผ่านภาพยนตร์ ตะลุมพุก มหาวาตภัยล้างแผ่นดิน (2002) ด้วย) เป็นพายุลูกเดียวในประวัติศาสตร์ที่พัดเข้าสู่ไทยในระดับไต้ฝุ่น