‘เมียนมา’ เตรียมเข้าเป็นสมาชิกของกลุ่ม ‘BRICS’ เพื่อยกระดับ!! บทบาทของตน ในเวทีระดับโลก
(23 ต.ค. 67) ไม่นานมานี้มีสำนักข่าวหลายสำนักไม่ว่าจะมาจากฝั่งอินเดียหรือจีนรายงานตรงกันว่าเมียนมากำลังดำเนินการสมัครเข้าเป็นประเทศในกลุ่ม BRICS ก่อนอื่นที่เราจะมารู้ว่าทำไมเมียนมาถึงสมัครเข้า BRICS เรามาทำความรู้จักกันก่อนว่า BRICS คืออะไร
BRICS เป็นการรวมกลุ่มกันของประเทศตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่ ก่อตั้งขึ้นโดยสมาชิกผู้ก่อตั้ง 4 ประเทศ คือ บราซิล, รัสเซีย, อินเดีย และจีน ในปี 2009 ซึ่งเริ่มแรกใช้ชื่อกลุ่มว่า BRIC โดยเป็นการนำอักษรตัวแรกของแต่ละประเทศมาเรียงต่อกัน ต่อมาได้รับแอฟริกาใต้เพิ่มเข้ามาในปี 2010 ทำให้เปลี่ยนไปเป็น BRICS และใช้มาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าต้นปี 2024 จะรับสมาชิกเพิ่มมาอีก 5 ประเทศอันได้แก่ อียิปต์, เอธิโอเปีย, อิหร่าน, ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และล่าสุดมี 34 ประเทศที่ยื่นคำร้องขอเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการแล้ว อันได้แก่ แอลจีเรีย อาเซอร์ไบจาน บาห์เรน บังกลาเทศ เบลารุส โบลิเวีย คิวบา ชาด สาธารณรัฐคองโก อิเควทอเรียลกินี เอริเทรีย ฮอนดูรัส อินโดนีเซีย คาซัคสถาน คูเวต ลาว มาเลเซีย เมียนมา โมร็อกโก นิการากัว ไนจีเรีย ปากีสถาน เซเนกัล ซูดานใต้ ศรีลังกา ปาเลสไตน์ ซีเรีย ไทย ตุรกี ยูกันดา อุซเบกิสถาน เวเนซุเอลา เวียดนาม และซิมบับเว
ข้อดีของการเป็นสมาชิกใน BRICS มีหลายประการกล่าวโดยสรุปคือ
1. การเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS จะช่วยยกระดับบทบาทของประเทศตนในเวทีระหว่างประเทศ
2. ทำให้ประเทศที่เป็นสมาชิกมีจุดยืนในฐานะพหุภาคีและความสมดุลระดับโลก
3. โอกาสที่จะเข้าถึงการลงทุนและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี อันยกระดับให้ประเทศมีการพัฒนามากขึ้น
4. สร้างความมั่นคงและเสถียรภาพในระดับภูมิภาค
5. ได้รับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้า
เฉกเช่นเดียวกันกับไทยที่มองหาโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนและเทคโนโลยีในการพัฒนาประเทศ รัฐบาลทหารเมียนมาก็แสวงหาลู่ทางในการที่จะลืมตาอ้าปากจากการถูกแซงชั่นจากประเทศตะวันตกและประเทศพันธมิตรของตะวันตกโดยมีหัวหอกเป็นอเมริกาด้วยเช่นกัน จากที่เอย่าคาดการณ์แล้วหากเมียนมาเข้าเป็นสมาชิก BRICS ได้สำเร็จ เมียนมาจะบรรลุถึงการส่งออกสินค้าเกษตรของตนไปยังตลาดใหม่ๆโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศของ BRICS เอง อีกทั้ง BRICS ยังเปิดโอกาสทางการค้าที่เสรีโดยไม่จำเป็นต้องค้าขายผ่านสกุลเงินใครเป็นสกุลเงินหลักแต่เปิดโอกาสให้ทำธุรกิจผ่านสกุลเงินของประเทศตนเองได้โดยตรงอันจะช่วยให้ลดปัญหาการได้เปรียบหรือเสียเปรียบอันเนื่องมาจากการใช้ระบบ SWIFT
อีกอย่างเมียนมาจะสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ที่จะช่วยในการพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืนได้มากขึ้นหลังถูกโดดเดี่ยวมาตั้งแต่รัฐประหารและประเทศในกลุ่ม BRICS ก็น่าจะเข้ามาลงทุนในเมียนมามากขึ้นด้วยเหตุที่ค่าแรงถูกและยังมีที่ดินเป็นจำนวนมากที่ที่สามารถพัฒนาได้
สุดท้ายหากเกิดสงครามขึ้นมาประเทศในกลุ่ม BRICS ก็จะได้รับการช่วยเหลือทางอาหารจากประเทศในกลุ่มสมาชิกที่มีการส่งออกสินค้าเกษตรเป็นหลักซึ่งนอกจากไทยแล้วเมียนมาก็เป็นอีกประเทศที่มีการส่งออกสินค้าทางการเกษตรในราคาถูกและสามารถตอบสนองต่อความต้องการของตลาดได้ดีเช่นกัน
South China Morning Post ระบุในถ้อยแถลงว่าทางรัฐบาลทหารเมียนมาแสดงความปรารถนาของเมียนมาที่จะเข้าร่วมกับกลุ่มประเทศ BRICS ในฐานะผู้สังเกตการณ์ระหว่างการเยือนมอสโคว์เมื่อไม่นานมานี้ และจากท่าทีของจีนและรัสเซียที่เป็นหัวเรือใหญ่ใน BRICS เชื่อว่าสามารถนำพาเมียนมาเข้าเป็น 1 ในสมาชิกของ BRICS ได้อย่างไม่ยากเย็นนัก
การที่ทางรัฐบาลเมียนมาคิดแบบนี้น่าจะเป็น 1 ในแผนระยะยาวในการสร้างเสถียรภาพของประเทศและสร้างความเจริญที่ยั่งยืนในประเทศอันจะส่งผลให้ความขัดแย้งในประเทศจบลงไวขึ้นนั่นเอง และนั่นก็รวมถึงการผลักดันผู้คิดต่างให้ออกไปอยู่นอกวงและกลายเป็นคนไร้สัญชาติในที่สุด
เรื่อง : AYA IRRAWADEE