‘สุกฤษฏิ์ชัย’ ชี้เหตุการณ์น้ำท่วมภาคเหนือ เกิดจากวิกฤติทรัพยากรธรรมชาติแนะเร่งฟื้นฟูป่าไม้ สร้างระบบนิเวศที่สมบูรณ์ ลดผลกระทบในอนาคต

(4 ต.ค. 67) นายสุกฤษฏิ์ชัย ธีระเริงฤทธิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการมูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ (หน่วยงานดีเด่นแห่งชาติสาขาอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) และที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. .... ในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า 

ก่อนอื่นต้องขอแสดงความเสียใจ รวมถึงขอเป็นกำลังใจให้กับผู้ประสบภัยพิบัติจากเหตุการณ์น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมฉับพลันและดินโคลนถล่มรุนแรงที่เกิดขึ้นในจังหวัดเชียงรายและพื้นที่ใกล้เคียงหลายจังหวัดทางภาคเหนือ ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนจำนวนมาก 

เหตุการณ์ครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ต้องเร่งแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาสภาพพื้นที่ป่าที่ถูกทำลาย เสียหาย เปลี่ยนแปลงสภาพ จากการตัดไม้ทำลายป่าต้นน้ำ ป่าสมบูรณ์ จนเกิดเป็นภูเขาหัวโล้น การบุกรุกเพื่อเปิดพื้นที่ทำการเกษตร ทำไร่เลื่อยรอย ปลูกพืชไร่เชิงเดี่ยว 

ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้น้ำป่าไหลหลากและเกิดดินถล่มโดยไม่มีการชะลอความรุนแรงจากป่า รวมถึงการปลูกสร้างอาคารที่อยู่อาศัยที่กีดขวาง รุกล้ำทางน้ำธรรมชาติ

ข้อมูลจากสำนักจัดการที่ดินป่าไม้ กรมป่าไม้ พบว่าพื้นที่ป่าไม้ในภาคเหนือในปี 2566 มีจำนวน 37,976,519.37 ไร่ หรือ 63.24% ของพื้นที่ภูมิภาค ลดลงอย่างต่อเนื่อง จากปี 2565 เท่ากับ 171,143.04 ไร่ 

การสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความสามารถในการดูดซับน้ำของพื้นที่ และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภัยธรรมชาติ 

อีกข้อมูลจากคณะนักวิจัยจากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่าในปี 2566 พื้นที่ป่าลดลงมาก ปัจจัยหนึ่งเกิดจากไฟป่าที่ลุกลามและขยายวงอย่างรุนแรงในหลายพื้นที่ สะท้อนถึงปัญหาเรื้อรังและเป็นปัจจัยสำคัญสู่วิกฤติทางสิ่งแวดล้อมจนนำไปสู่ภัยพิบัติที่เกิดขึ้น 

การบังคับใช้กฎหมายให้เข้มข้น จริงจัง คงเป็นสิ่งที่หน่วยงานผู้มีหน้าที่รับผิดชอบต้องรีบดำเนินการ และถือปฏิบัติโดยไม่มีข้อยกเว้นใดๆ รวมถึงการเร่งฟื้นฟูป่าไม้ จัดกิจกรรมรณรงค์ปลูกต้นไม้ เพิ่มความแข็งแรงสมบูรณ์ให้ป่าต้นน้ำ ให้ระบบนิเวศธรรมชาติคืนกลับมาโดยเร็ว บนพื้นฐานให้ชุมชนและสังคมมีส่วนร่วมเพื่อความยั่งยืน 

ภาครัฐ ภาคราชการอาจเป็นผู้สนับสนุนให้ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม มูลนิธิต่าง ๆ มาร่วมกันเป็นเจ้าภาพดำเนินการ พร้อมทั้งเพิ่มจำนวนอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) ให้มากขึ้นและครอบคลุมทุกพื้นที่ ใช้เทคโนโลยี ระบบดิจิทัล ภาพถ่ายดาวเทียมเข้ามาใช้กำหนดแผนงาน สำรวจภูมิประเทศ

เราอาจได้ทั้งป่าไม้ที่คืนสภาพธรรมชาติเดิม และยังแก้ไขปัญหาฝุ่นควันพิษ PM2.5 ได้อากาศสะอาดกลับคืนมา วิกฤติครั้งนี้อาจเป็นโอกาสให้เราได้แก้ไขและบูรณาการการทำงานด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบจากทุกภาคส่วนได้อย่างยั่งยืนด้วย