'อ.เจษฎา' แนะ!! ควรนำ DNA หมอคางดำแอฟริกาเทียบที่ระบาดในไทย อีกทั้งยังตัดเรื่องผู้ลักลอบนำเข้าปลาแบบที่ไม่ขออนุญาตทิ้งไม่ได้
(27 ก.ย. 67) หลังจากที่ คณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (อนุ กมธ.อว.) ได้แถลงสรุปผลการศึกษาปลาหมอคางดำ ว่ามีเอกชนเพียงรายเดียว ที่ดำเนินการขออนุญาตเพื่อนำเข้าปลาหมอคางดำเข้ามาในราชอาณาจักร และผลศึกษาบ่งชี้ว่าปลาหมอคางดำที่ระบาดในไทยมีแหล่งที่มาร่วมกัน รวมถึงยังอ้างอิงข้อมูลของ อ.เจษฎา นั้น
ล่าสุด ศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นที่ปรึกษาของ 'อนุ กมธ.อว.' ชุดนี้ ได้แถลงสรุปผลการศึกษาปลาหมอคางดำที่ นายวาโย อัศวรุ่งเรือง สส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชน ในฐานะประธานกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร ได้แถลงผลการดำเนินงาน การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ พบว่ามีเอกชนเพียงรายเดียว ที่ดำเนินการขออนุญาตเพื่อนำเข้าปลาหมอคางดำเข้ามาในราชอาณาจักรไทย
อ.เจษฎา กล่าวว่า มีส่วนจริงที่บอกว่ามีบริษัทเอกชนเพียงรายเดียวที่ขออนุญาตนำเข้าปลาหมอคางดำเพื่อนำมาวิจัย แต่ปลาตายหมดแล้วไม่สามารถทำวิจัยต่อได้ จึงทำให้หลายคนมองว่าบริษัทเอกชนดังกล่าวคือจุดกำเนิดการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ แต่ตอนนี้ถ้าจะให้สรุปผลแบบรวบรัด ก็ยังตัดเรื่องที่มีคนลักลอบนำเข้าปลาแบบที่ไม่ขออนุญาตทิ้งไม่ได้ เพราะในเชิงอุตสาหกรรม ในเชิงผู้เลี้ยงปลาสวยงามหรือปลาแปลก ๆ ทุกคนรู้ดีว่ามีการลักลอบนำเข้ามาสารพัดทางอยู่แล้วแม้จะมีการตรวจสอบแต่ในสมัยนั้นปลาพวกนี้ยังไม่มีกฎหมายห้ามนำเข้า
ทางด้านผลการวิจัย DNA ปลาหมอคางดำ ความจริงแล้วอยากจะได้ DNA ของปลาสมัยที่บริษัทเอกชนนำเข้ามาเมื่อ 10 ปีก่อนมาสกัด DNA เพื่อเทียบว่า DNA ของปลาหมอคางดำในตอนนั้นตรงกับ DNA ของปลาหมอคางดำที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้หรือไม่ เพราะเท่าที่ทราบมาคือ บริษัทเอกชนได้นำเข้าปลาหมอคางดำจากประเทศกานา ก็เลยเสนออธิบดีกรมประมงว่ามีอีกทางหนึ่งก็คือ ขอ DNA ปลาหมอคางดำจากประเทศต่าง ๆ ในแอฟริกา เช่น กานา โกตดิวัวร์ มาเทียบกับตัวอย่างของปลาหมอคางดำในไทยเพื่อทำสโคปให้แคบลง