'ไทย' เปิด 'ศูนย์คัดแยกและส่งต่อระดับชาติเหยื่อค้ามนุษย์' หวังยกระดับขึ้น Tier 1

(24 ก.ย.67) เวลา 10.00 น. นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานกรรมการประสานและกำกับการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (คณะกรรมการ ปกค.) ได้มอบหมายให้ พลตำรวจโท ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รักษาราชการแทนรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นประธานเปิดศูนย์คัดแยกและส่งต่อผู้เสียหายระดับชาติ (Thailand Victim Identification and Referral Center) อย่างเป็นทางการ ณ ถนนเชิดวุฒากาศ แขวงสีกัน เขตดอนเมือง 

โดยมี พลตำรวจโท อภิชาติ สุริบุญญา
ผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี/หัวหน้าชุดปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (TATIP) พลตำรวจตรี ฐิตวัฒน์ สุริยฉาย รองจเรตำรวจ (สบ 7)/หัวหน้าชุดปฏิบัติการปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต (TICAC) และผู้แทนจากหน่วยงานราชการอันประกอบด้วยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคดีค้ามนุษย์ สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานศาลยุติธรรม กรมสอบสวนคดีพิเศษ กรุงเทพมหานคร สถานเอกอัครราชทูต และสถานกงสุลต่าง ๆ ประจำประเทศไทย รวมถึงองค์กรภาคประชาสังคม(NGOs) ได้ร่วมกันเป็นสักขีพยานและแสดงความยินดีต่อพิธีเปิดครั้งนี้       

พลตำรวจโท ประจวบ วงศ์สุข ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า รัฐบาลไทยให้ความสำคัญต่อการป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์และประกาศเป็นวาระแห่งชาติมาอย่างยาวนานต่อเนื่อง 
และเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2565 ก็มีความคืบหน้าที่สำคัญในเรื่องนี้ นั่นคือ คณะกรรมการประสานและกำกับการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ได้ให้ความเห็นชอบต่อแผนปฏิบัติการ
ว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติ การบริหารจัดการคดี และการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ พ.ศ. 2565 เพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติให้กับเจ้าหน้าที่ที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อการป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ ซึ่งแผนปฏิบัติการดังกล่าวยึดแนวทาง 'ผู้เสียหาย
เป็นศูนย์กลาง' หรือ 'victim-centric approach' และยังได้นำเอากลไกการส่งต่อระดับชาติ
ที่ใช้แพร่หลายในระหว่างประเทศมาปรับใช้ ทั้งนี้ เพื่อยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติงานด้านการป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ของไทยให้มีประสิทธิภาพ สอดคล้องต่อหลักสิทธิมนุษยชน และกติกาสากลระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้น

พลตำรวจโท ประจวบฯ อธิบายต่อว่า กลไกการส่งต่อระดับชาติ หรือ National Referral Mechanism: NRM ที่กล่าวไปนั้น เป็นกลไกที่ออกแบบมาเพื่อให้เกิดความสะดวกในการปฏิบัติงาน
ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการประสานความร่วมมือ การแบ่งปันข้อมูล การส่งต่อความช่วยเหลือคุ้มครองบุคคลที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจะเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ จากการบังคับใช้แรงงาน
หรือบริการ เพื่อช่วยให้บุคคลเหล่านี้สามารถเข้าถึงบริการการช่วยเหลือในเบื้องต้นได้

แนวคิดที่สำคัญของกลไกนี้ มีเรื่องของการกำหนดระยะเวลาการฟื้นฟูไตร่ตรอง (reflection period) โดยเป็นช่วงเวลาที่ให้ผู้ต้องสงสัยว่าจะเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ได้มีโอกาสผ่อนคลาย ทบทวนประสบการณ์ที่ผ่านมาในสถานที่ที่เหมาะสม อันจะนำไปสู่การพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังมีขั้นตอนการปฏิบัติงานที่สำคัญตามแผนปฏิบัติการได้แก่ 1) การรับแจ้งเหตุ 2) การคัดกรอง 3) การคัดแยก และ 4) การคุ้มครอง โดยการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ ในต่างจังหวัดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดรับผิดชอบในการกำหนดสถานที่และบริหารจัดการให้เป็นไปตามแผน ส่วนในเขตกรุงเทพมหานคร และส่วนกลาง ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงแรงงาน รับผิดชอบในการกำหนดสถานที่ และบริหารจัดการให้เป็นไปตามแผน

ในส่วนของกรุงเทพมหานคร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานหลักทั้ง 3 หน่วย ตามที่ได้กล่าวไปนั้น ได้ดำเนินการและปรับปรุงอาคารศูนย์ฝึกอบรมสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองมาอย่างต่อเนื่อง
และจัดตั้งเป็น “ศูนย์คัดแยกและส่งต่อผู้เสียหายระดับชาติ (Thailand Victim Identification and Referral Center)” เพื่อให้เป็นไปตามแผน ซึ่งรัฐบาลได้อนุมัติเห็นชอบอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา

พลตำรวจโท ประจวบฯ แสดงความเชื่อมั่นว่า ศูนย์คัดแยกและส่งต่อผู้เสียหายระดับชาติแห่งนี้ จะเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการดำเนินงานตามแผนการปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ที่รัฐบาลได้เห็นชอบให้มีประสิทธิภาพ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับนานาประเทศและองค์กรระหว่างประเทศที่มีต่อการป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ของไทยมากยิ่งขึ้น ซึ่งรัฐบาลไทย
มีความตั้งใจอย่างยิ่งที่จะยกระดับสถานการณ์การค้ามนุษย์จากปัจจุบันที่อยู่ในระดับ Tier 2 ก้าวขึ้นสู่ระดับ Tier 1 ต่อไป