'อียิปต์' โชว์นวัตกรรมอิฐจากถุงพลาสติก ทนทานกว่าคอนกรีต 2 เท่า แถมช่วยรีไซเคิลถุงขยะพลาสติกได้ 5,000 ล้านใบ ภายในปี 2025

(2 ก.ย. 67) TNN Tech รายงานว่า สตาร์ตอัปในประเทศอียิปต์เผยนวัตกรรมการนำขยะถุงพลาสติกในประเทศมารีไซเคิลใหม่ ให้กลายเป็นก้อนอิฐ โดยอ้างว่าผลิตออกมาเป็น 'ก้อนอิฐสำหรับงานก่อสร้าง' ที่มีความแข็งแกร่งกว่าคอนกรีตทั่วไปมากถึง 2 เท่า

สตาร์ตอัปแห่งนี้มีชื่อว่า 'ไทล์กรีน' (TileGreen) ซึ่งได้พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ในการเปลี่ยนเศษขยะถุงพลาสติกเก่า ๆ ให้กลายเป็นก้อนอิฐ โดยจะผสมเข้ากับวัสดุพอลิเมอร์ ขยะถุงขยะพลาสติกที่เจอทั่วไป และวัสดุธรรมชาติอย่างกรวดและทราย เพื่อขึ้นรูปเป็นวัสดุก่ออิฐตามที่ต้องการ 

โดยกระบวนการผลิต จะเริ่มจากการนำถุงขยะพลาสติกไปย่อยเป็นชิ้นเล็ก ๆ พร้อมหลอมรวมเข้ากับวัสดุดังกล่าว จากนั้นจะรีดออกมาเป็นแผ่น แล้วนำมาขึ้นรูปในแม่พิมพ์ ซึ่งใช้การบีบอัดด้วยแรงดันสูงและการให้ความร้อนเพื่อเพิ่มความแข็ง ผลลัพธ์ที่ได้ ก็จะมีลักษณะเป็นก้อนอิฐผิวหยาบ เหมาะสำหรับการใช้ปูพื้นภายนอกอาคาร เช่น พื้นฟุตพาท หรือพื้นลานกิจกรรม 

ทั้งนี้บริษัทเผยว่าสำหรับในประเทศอียิปต์ มีอัตราการผลิตขยะพลาสติกมากถึงราว 4,500,000 ตันต่อปี แต่มีอัตราการรีไซเคิลขยะพลาสติก อยู่ที่ระหว่างร้อยละ 10 ถึง 15 เท่านั้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่ายังมีช่องว่างขนาดใหญ่ ของขยะพลาสติกที่ไม่ถูกนำมารีไซเคิล

บริษัทจึงต้องการที่จะพัฒนาเทคโนโลยีที่จะมาช่วยแก้ไขปัญหานี้ โดยจะมุ่งเน้นไปที่การเลือกใช้ขยะพลาสติก ที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้อย่างปลอดภัย เช่น ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว หรือภาชนะบรรจุอาหารอื่น ๆ โดยขยะเหล่านี้ มักถูกทิ้งบนถนน หรือถูกเผา ซึ่งก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หนึ่งในที่ตัวการที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน 

ดังนั้นการที่บริษัทออกไอเดียนำถุงขยะพลาสติก มารีไซเคิลเป็นก้อนอิฐที่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ใหม่ จึงช่วยลดจำนวนขยะพลาสติกที่จะถูกเผาทำลายไปในแต่ละปีได้ และยังช่วยลดปัจจัย ที่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย

สำหรับกำลังการผลิตปัจจุบัน ของโรงงานบริษัทที่ตั้งอยู่ในกรุงไคโร สามารถผลิตก้อนอิฐจากถุงขยะพลาสติกนี้ได้ประมาณ 5,000 ก้อนต่อเดือน ทั้งนี้บริษัทมีแผนที่จะต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้กว้างขึ้น เช่น การผลิตเป็นอิฐปูพื้น เสา ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปต่าง ๆ รวมถึงเฟอร์นิเจอร์ในเมือง และมีเป้าหมายที่จะรีไซเคิลถุงขยะพลาสติกให้ได้ 5,000 ล้านใบ ภายในปี 2025 นี้


ที่มา: TNN Tech