‘เสธหิ’ เตือน!! ‘ก้าวไกล’ อย่าใช้กระแสโซเชียลบริหารประเทศ แนะ ว่าที่นายกฯ ต้องรู้จักวางตัว เพราะสถานการณ์เปลี่ยนได้ตลอด

(3 มิ.ย. 66) ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ ผู้ประสานงานพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ได้สัมภาษณ์ผ่านรายการ ‘คุยกับ ดร.หิมาลัย’ ถึงรูปแบบการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกล ว่ามีมุมมองความคิดเห็นอย่างไร โดย ดร.หิมาลัย ได้กล่าวแสดงความยินดีกับพรรคก้าวไกล ที่ได้รับคะแนนเสียงมาเป็นอันดับ 1 และได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และได้กล่าวว่า รูปแบบในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ มีความแตกต่างจากที่ผ่านๆ มา เนื่องจากที่ผ่านมา พรรคแกนนำจะต้องทำการติดต่อประสานไปหาพรรคร่วมรัฐบาล และมีส่งผู้ใหญ่ของพรรคแกนนำไปเชิญพรรคร่วมมาเจรจาพูดคุยกันในการจัดตั้งรัฐบาล เพื่อเป็นการให้เกียรติพรรคร่วม และในระหว่างการเจรจาพูดคุยกัน ก็จะไม่มีการออกสื่อ ส่วนมากการดำเนินการค่อนข้างที่จะเป็นความลับ เพราะว่าจะต้องมีการพูดคุย การต่อรองกันในการจัดสรรดูแลกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ เป็นเรื่องปกติธรรมดาของระบอบประชาธิไตย คือ เน้นความชำนาญ ใครเก่งด้านไหน ก็ให้ดูแลกระทรวงนั้นๆ ตามความเชี่ยวชาญกันไป ซึ่งวิธีการดำเนินการจะเป็นไปอย่างเรียบง่าย และไม่ก่อให้เกิดความกดดัน

แต่การจัดตั้งรัฐบาลครั้งนึ้ นับเป็นมิติใหม่ อาจจะด้วยความเป็นคนรุ่นใหม่ของพรรคแกนนำ ตนอาจจะเป็นคนรุ่นเก่า เพราะคนรุ่นเก่า เวลาจะทำอะไร จะค่อนข้างระมัดระวังในการให้ข่าว และให้เกียรติผู้ที่มาร่วมงานกับเราเสมอ

“ผู้ที่เป็นว่าที่นายกฯ ในอดีต หากสังเกตดู ทุกคนจะยังไม่ออกตัวว่าจะเป็นว่าที่นายกฯ ทุกคนจะบอกว่า ต้องรอดูความชัดเจนต่างๆ ก่อน เพราะ ณ ขณะนี้ ยังอยู่ในห้วงเวลาที่สามารถมีการเปลี่ยนแปลงได้ ทำให้ที่ผ่านมาจะไม่มีใครกล้าประกาศออกตัวอย่างชัดเจนว่าจะเป็นว่าที่นายกฯ แต่ครั้งนี้ สิ่งที่แตกต่างที่ผมเห็นก็คือ การใช้โซเชียลในการดำเนินการต่างๆ ที่มีผลอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการประกาศเชิญพรรคร่วม หรือการแถลงข่าวต่างๆ ผ่านสื่อ ผ่านโซเชียล ซึ่งผมมองว่าเป็นบริบทใหม่ของสังคมคนรุ่นใหม่ ที่มีต้องการแสดงความชัดเจนให้ประชาชนได้เห็น ในเรื่องการจัดสรรกระทรวง ทบวง กรม ว่าใครจะเป็นผู้ดูแลบ้าง ก็ถือว่าเป็นเรื่องแปลกใหม่ที่เราไม่เคยเห็น มองในแง่ดี ก็อาจจะเป็นความเหมาะสมในเรื่องของกาลเวลาที่มันเปลี่ยนไป ในอดีต วัฒนธรรมในเวลานั้น ความรู้สึกของผู้คนในสมัยนั้น อาจจะเป็นเรื่องที่ดูเหมาะสม แต่ในวันนี้ ก้าวเข้าสู่ยุคของคนรุ่นใหม่ที่เป็นยุคของความทันสมัย และความรวดเร็ว สิ่งเหล่านี้อาจจะเหมาะสมกับเขาในเวลานี้ก็ได้ ก็เป็นสิ่งที่เราต้องยอมรับความเปลี่ยนแปลง แต่สิ่งที่ผมกังวลก็คือ การประกาศออกสื่อในการเตรียมตัวจัดตั้งรัฐบาลในลักษณะอย่างนี้ มันเหมือนกับการไปบีบบังคับพรรคร่วม ให้ยอมรับในเงื่อนไขต่างๆ ซึ่งตรงนี้ก็อาจมองได้ 2 มุม แต่อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ให้ได้ เพราะทั้งหมดนี้ก็เป็นไปตามวิถีประชาธิปไตย” ดร.หิมาลัย กล่าว

เมื่อถามว่า คิดว่า ‘พิธา’ ออกตัวแรง แซงโค้งไปหรือไม่? ดร.หิมาลัย ตอบว่า ที่ผ่านมา คนที่จะเป็นว่าที่นายกฯ นั้น ค่อนข้างที่จะถนอมตัว แบ่งรับแบ่งสู้ และไม่ได้เปิดตัวชัดเจนแบบนี้ รวมถึงพรรคอันดับ 2 ที่ได้คะแนนเสียงห่างกันไม่มาก ผมว่าประเทศในระบอบประชาธิปไตยทั่วโลก พรรคอันดับ 2 มักจะตั้งรัฐบาลแข่งกันทั้งนั้น

เมื่อถามว่า พรรคเสียงข้างน้อยในระบอบประชาธิปไตย ตั้งรัฐบาลได้หรือไม่? ดร.หิมาลัย ตอบว่า ในระบอบรัฐสภา ประชาธิปไตย พรรคที่ได้เสียงข้างน้อย หากสามารถรวมเสียงได้มาก ก็สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ในประเทศไทยรวมถึงหลายประเทศทั่วโลกก็เคยมีมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นประเทศญี่ปุ่น หรืออังกฤษ ในประเทศไทยเอง สมัยก่อนก็เคยมีมาแล้ว อย่างเช่นในสมัยของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่ได้คะแนนเสียงเพียง 18 เสียง แต่ได้รับการเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นที่ฮือฮาอย่างมาก เพราะฉะนั้น นี่ไม่ใช่สิ่งที่ผิดในระบอบประชาธิปไตย

เมื่อถามว่า การที่ก้าวไกล แสดงเจตนารมณ์อย่างนี้ เป็นการสร้างกระแสหรือไม่? ดร.หิมาลัย ตอบว่า…

“ผมมองว่า หากเราเริ่มต้นที่จะบริหาร และปกครองประเทศด้วยการใช้กระแสนำเมื่อไรก็ตาม ย่อมน่าเป็นห่วงในหลายๆ สิ่ง หลายๆ อย่าง เพราะในกระแสเหล่านั้น มีผู้คนที่รับสื่อ รับข่าวสารต่างๆ ไม่ครบถ้วน ในบางครั้งอาจอยู่ที่การโปรโมต การทำการตลาด เพื่อให้เป็นไปในทิศทางตามที่ตัวเองต้องการ หากเราเริ่มต้นการจัดตั้งรัฐบาลด้วยการบีบบังคับพรรคร่วมโดยการใช้กระแสนำ ผมมองว่าเป็นเรื่องที่น่ากังวล เพราะหากบริหารประเทศโดยการใช้กระแสนำอย่างเดียว นั่นอาจหมายถึงความไม่รอบคอบ หรืออาจเกิดข้อผิดพลาดจนสร้างความเสียหายให้แก่ประเทศชาติได้ในอนาคต”

เมื่อถามถึง หลักเกณฑ์ที่ควรใช้ในการเลือกตำแหน่งประธานสภา ดร.หิมาลัย ตอบว่า ในความชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตยนั้น ต้องขึ้นอยู่กับเสียงส่วนมาก แต่ในเรื่องของการเลือกประธานสภานั้น ตนมองว่าควรจะต้องเลือกบุคคลมีความอาวุโส หรือเป็นบุคคลที่ในรัฐสภาให้ความเคารพนับถือ นอกจากนี้ ประธานสภาควรเป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถจนเป็นที่ยอมรับ ผ่านการเป็น ส.ส.มาหลายสมัย มีประสบการณ์และความรู้ในเรื่องของกฎข้อบังคับ และสามารถแก้ไขเหตุการณ์ในขณะประชุมสภา เพราะในการประชุมสภา มักจะมีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้น ประธานสภาจึงจำเป็นต้องเป็นบุคคลที่สามรถควบคุมสถานการณ์ได้ หากคนที่มาดำรงตำแหน่งประธานสภาคนต่อไปได้รับความเคารพจากสมาชิกฯ น้อย ก็อาจจะเกิดความวุ่นวายในการประชุมสภาได้ แต่หากมองอีกมุมหนึ่ง การไม่ได้มองความสำคัญในเรื่องของความอาวุโส การให้ความเท่าเทียมกับทุกอย่าง ซึ่งไม่ใช่สิ่งผิด เพียงแต่ว่าอาจจะเป็นสิ่งใหม่ที่ต้องรอดูบริบทกันต่อไป

เมื่อถามว่า มีความคิดเห็นอย่างไรกับตำแหน่งประธานสภา ว่าจะต้องเป็นของพรรคก้าวไกล ดร.หิมาลัย ตอบว่า ในความคิดเห็นของตนนั้น เป็นเรื่องของรัฐสภา หากใครรวมคะแนนเสียงส่วนมากได้ตามกฎข้อยังคับของสภาฯ ก็ควรต้องได้รับการบรรจุตำแหน่งเป็นประธานสภา

เมื่อถามว่า ตำแหน่งประธานสภา จะทำให้เกณฑ์การเมืองเปลี่ยนหรือไม่? ดร.หิมาลัย ตอบว่า…

“ผมมองว่า จริงๆ แล้วก็อาจจะสามารถดึงเกมได้ ขนาดการจัดตั้งรัฐบาลยังจัดตั้งผ่านโซเชียล ทุกอย่างชัดเจนหมด กระแสโซเชียลสามารถควบคุมได้ทุกอย่าง เพราะฉะนั้น ก็ไม่เห็นจะต้องไปกลัวการเปลี่ยนแปลงในอนาคตเลย”