เรื่องเล่าจาก ‘เงินถุงแดง’ ย้อนไทม์ไลน์วิวัฒนาการของ ‘ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์’ ผ่านเหตุการณ์สำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ของไทย

(27 พ.ค. 66) จากประเด็น ‘ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์’ ที่ได้เกิดขึ้นมาตลอดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หลัง ‘กลุ่มราษฎร’ ได้ประกาศจุดยืนในการเปลี่ยนแปลงประเทศ จึงทำให้ทางรายการข่าววันศุกร์ ข่าวช่องวัน ได้ออกมานำเสนอข่าว ‘วิวัฒนาการของทรัพย์สินพระมหากษัตริย์’ ว่ามีความเป็นมาอย่างไร

โดยได้สรปุอย่างคราวๆ เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ ไล่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 จนถึงรัชกาลที่ 10 โดยระบุว่า…

วิวัฒนาการของทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เริ่มต้นจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาล 1 ซึ่งนับเป็นยุคกรุงรัตนโกสินทร์ ตอนต้น ทรัพย์ราชสำนัก กับรัฐบาลที่ทับซ้อนกัน พระมหากษัตริย์ทรงใช้จ่ายได้อย่างอิสระ เนื่องจากในยุคนั้น ยังมีการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ดังนั้น รัฐบาลจึงหมายถึง ตัวขององค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งทรงเป็นทั้งประมุขและผู้นำฝ่ายบริหาร ยังไม่มีการจัดการเกี่ยวกับเรื่องของทรัพย์สินของรัฐฯ เพราะในยุคสมัยนั้น ยังไม่มีการจัดตั้งกระทรวง ทบวง กรม ในการรับผิดชอบ ดูแลเรื่องต่างๆ ในประเทศ

จนกระทั่ง ได้มีวิวัฒนาการก่อกำเนิดที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ซึ่งทรงมีปรีชาสามารถในเรื่องเกี่ยวกับการค้าขาย ทรงออกทะเลไปทำการเจรจาทางการค้ากับต่างประเทศ เมื่อได้เงินกลับมาจากการค้า จึงได้นำมาใส่ไว้ใน ‘ถุงแดง’ พระองค์ได้ทำการเก็บสะสมเงินเหล่านี้ไว้ เมื่อมีมากขึ้นจึงต้องสร้างห้อง ซึ่งติดกับพระแทน หรือ พระที่ เพื่อเก็บเงินถุงแดงเอาไว้ จนเรียกกันติดปากว่า ‘เงินข้างที่’ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของคำว่า ‘พระคลังข้างที่’ นั่นเอง และเงินส่วนนี้ นับเป็นเงินส่วนพระองค์ เพราะพระองค์ทรงเป็นผู้ออกเรือไปทำการค้าขาย ยังไม่นับว่าเป็นเงินของประเทศไทย หรือ ‘สยาม’ ใน ณ ขณะนั้น

จนเมื่อถึงรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เกิดเหตุการณ์ ‘รัตนโกสินทร์ศก’ หรือที่เรียกกันว่า ‘ร.ศ.112’ ที่เกิดการปะทะกันระหว่างประเทศไทยและจักรวรรดินิยมของโลกในขณะนั้น อย่างประเทศอังกฤษ และฝรั่งเศส โดยเฉพาะฝรั่งเศส ที่มีการปะทะกันอย่างรุนแรง จนทำให้รัชกาลที่ 5 ต้องนำเงินถุงแดงมาจ่ายให้กับรัฐบาลฝรั่งเศส เพื่อเจรจาต่อรองให้กองทัพของฝรั่งเศส ถอดทัพออกจากปากแม่น้ำเจ้าพระยา และยังต้องยอมแลกแผ่นดินบางส่วนของประเทศให้กับฝรั่งเศส เพื่อรักษาแผ่นดินผืนใหญ่ของชาติเอาไว้

หลังจากเหตุการณ์นั้นทำให้รัชกาลที่ 5 ท่านทรงเล็งเห็นความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจัดการการปกครองต่างๆ ในประเทศมากขึ้น โดยได้เปลี่ยนจากรูปแบบเวียง วัง คลัง นา เป็นการจัดตั้งกระทรวงต่างๆ ขึ้นมาใหม่ และได้มีการตั้ง ‘กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ’ เพื่อจัดเก็บภาษี เป็นเงินแผ่นดิน นับเป็นการแยกทรัพย์สินของแผ่นดินสยาม และทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ออกจากกันเป็นครั้งแรก ที่ได้มีการบันทึกไว้

นอกจากนี้ ยังได้ตั้ง ‘กรมพระคลังข้างที่’ ขึ้น เพื่อคอยดูแลจัดการทรัพย์สินส่วนพระองค์ และยังเริ่มทำการลงทุนในด้านอสังหาริมทรัพย์อีกด้วย ซึ่งทำให้รายได้หลักของกรมพระคลังข้างที่นั้น มาจากการปล่อยให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ จึงเป็นที่มาของการก่อตั้งธนาคารไทยพาณิชย์ และการก่อตั้งบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ‘SCG’ ในสมัยรัชกาลที่ 6 ทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นเงินจากกรมพระคลังข้างที่ ถือการลงทุนมหาศาลจนกลายเป็นหน่วยงานที่มีการครอบครองที่ดินมากที่สุดในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังได้งบประมาณจากการจัดเก็บภาษี ปีละ 15% จากกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ เข้ากรมพระคลังข้างที่

ต่อมา ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ที่ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทำให้กรมพระคลังข้างที่ ที่เคยมีบทบาทอย่างมากในรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 ถูกลดบทบาทลงมาจนกลายเป็น ‘สำนักงานพระคลังข้างที่’ ซึ่งขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี อีกทั้งยังเป็นรัชสมัยที่สำคัญที่ทำให้ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์นั้นเกิดความสั่นคลอน โดยคณะ ‘อภิวัฒน์สยาม 2475’

ทำให้ในอีก 4 ปีต่อมา ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ได้เกิดการต่อสู้เพื่อแย่งชิงอำนาจกันอย่างดุเดือด ระหว่างฝ่ายอํามาตย์ และคณะราษฎร ว่าใครจะเป็นผู้ได้ทรัพย์สินจากกรมพระคลังข้างที่ ใครจะได้ทรัพย์สินที่เป็นของพระมหากษัตริย์ และอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่สำคัญที่สุด คือการออกฎกหมาย พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สิน ฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479 และได้จัดตั้ง ‘สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์’ ซึ่งเป็นสำนักงานภายใต้การดูแลของกระทรวงการคลัง โดยได้ทำการแยกทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่

1.) ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ คือ ทรัพย์สินของสถาบันพระมหากษัตริย์ 
2.) ทรัพย์สินส่วนพระองค์ คือ ทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ ในฐานะบุคคลคนหนึ่ง
3.) ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของสํานักงานพระราชวัง

จนกระทั่ง ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ได้มีการปรับเปลี่ยน และแก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สิน ฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2491 ในภายหลังจากที่กลุ่มคณะราษฎรนั้นได้เริ่มอ่อนกำลังลง จนกระทั่งสิ้นสุดอำนาจลง หลังจากการจากไปของจอมพล ป. พิบูลสงคราม สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้ถูกยกระดับ จากหน่วยงานราชการ ขึ้นเป็น ‘นิติบุคคล’ มีอิสระจากรัฐบาล โดยมีประธานกรรมการ คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทำให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ‘ไม่ต้องเสียภาษี’ แต่ทรัพย์สินส่วนพระองค์ ‘ต้องเสียภาษี’ และทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ขึ้นตรงกับสํานักงานพระราชวัง

ทำให้นับจากนั้นเป็นต้นมา จนถึงในรัชสมัยปัจจุบันของ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณ์อดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ได้มีการเปลี่ยนแปลง พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2561 โดยไม่มีการแบ่งฝ่ายในการจัดการอีกต่อไป ได้มีการรวมเอาทรัพย์สินทั้งหมดเข้าไว้ด้วยกัน และได้ให้มีการเสียภาษี

ทั้งหมดนี้ คือ วิวัฒนาการของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ใครจะมีความเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยอย่างไร หรือจะตีความอย่างไร กับสิ่งที่ได้นำเสนอมานั้น เป็นเรื่องปัจเจกบุคคลที่ทุกท่านต้องใช้วิจารณญาณในการศึกษาเพิ่มเติมด้วยตัวเองกันต่อไป


ที่มา : https://youtu.be/vSa7GIGIZC8