ควันหลงเลือกตั้ง ประวัติศาสตร์ การเมืองไทย  บัตรโหล – แบ่งเขต - นอกราชฯ กับ ปรากฎการณ์ที่สุ่มเสี่ยง

ปรากฏการณ์ "ก้าวไกล" ชนะเลือกตั้งถล่มทลาย เขี่ยบ้านใหญ่หลายพื้นที่สอบตก และหลายจังหวัดกวาด ส.ส.ครบทุกเขต  นำมาสู่การเดินหน้าฟอร์มรัฐบาล รวมให้ได้ 376 เสียงให้เพียงพอต่อการโหวตเลือกนายกฯ  แต่ขณะเดียวกันก็ยังต้องลุ้น กกต. ส่วนกลางเคลียร์ประเด็นข้อร้องเรียนต่างๆ และรับรองผลคะแนนเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ ให้แล้วเสร็จภายในกรอบระยะเวลา 60 วัน 

แต่หากมองอีกด้าน ในข่วงก่อนเลือกตั้ง กกต. ในฐานะผู้กำกับดูแลการเลือกตั้ง ก็ถูก "ตั้งคำถามดังๆ" ในหลายประเด็น ที่อาจสุ่มเสี่ยงต่อความผิดพลาด และทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้เกิดความอลวน  อย่างไรบ้าง มาดูกัน 

1 "แบ่งเขตเลือกตั้ง"
สำหรับการแบ่งเขตเลือกตั้งครั้งนี้ กกต.ใช้หลักการ “จัดให้มีจำนวนราษฎรในแต่ละเขตใกล้เคียงกัน” โดยแต่ละเขตจะมีจำนวนประชากรมากหรือน้อยจากค่าเฉลี่ยไม่เกิน 10 %  มาใช้คำนวณหา ส.ส. 1 คนต่อจำนวนราษฎร  วิธีการ คือ นำจำนวนประชากรไทยทั้งหมดตามหลักฐานทะเบียนราษฎร ซึ่งมีทั้งหมด 66,090,475 คน มาหารด้วย 400 เขต จะได้สัดส่วน ส.ส. 1 คน ต่อจำนวนราษฎร 162,766 คน เป็นค่าเฉลี่ย  เสร็จสรรพเรียบร้อย ก่อนนำไปแบ่งเป็นเขตเลือกตั้งในแต่ละจังหวัด ทำให้เขตเลือกตั้งหนนี้ ถูกแบ่งพื้นที่ต่างไปจากพื้นที่เลือกตั้งเดิม บางจังหวัดมี ส.ส. เพิ่มขึ้น และบางจังหวัดมี ส.ส.ลดลง 

แต่ต่อมา ก็มีนักวิชาการออกมาตั้งข้อสังเกตว่า การแบ่งเขตเลือกตั้งโดยคิดค่าเฉลี่ยจำนวนประชากรของ กกต. นั้น มีการนำคนที่ไม่มีสัญชาติไทยมานับรวมด้วย จะทำให้การแบ่งเขตเกิดความผิดพลาดหรือไม่

ขณะเดียวกัน มีผู้สมัครรับเลือกตั้ง 4 คนยื่นฟ้อง กกต. ว่าแบ่งเขตเลือกตั้งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายใน 3 จังหวัด รวม 4 คดี ประกอบด้วย กทม. 1 คดี , สุโขทัย 2 คดี และสกลนครอีก 1 คดี  และขอให้ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งเพิกถอนประกาศของ กกต.

อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า หนึ่งในผู้ยื่นฟ้อง กกต. มองว่า การแบ่งเขตเลือกตั้งต้องยึดเขตเลือกตั้งเก่าและเขตปกครอง เพราะกฎหมายกำหนดให้ "รวมอำเภอ" ต่าง ๆ เป็นเขตเลือกตั้ง โดยคำนึงถึงพื้นที่ที่ติดต่อใกล้ชิดกัน ความสะดวกในการเดินทางระหว่างกัน แต่ กกต. กลับนำแขวงมายำรวมกัน แล้วกำหนดให้เป็นเขตเลือกตั้ง ทำให้มี 13 จาก 33 เขตเลือกตั้งของ กทม. ที่มีแต่แขวงล้วน ไม่มีเขตหลัก และยังสร้างความสับสนให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง รวมถึงส่งผลกระทบต่อนักการเมืองเดิมที่ลงพื้นที่มานาน ไม่ผูกพันกับพื้นที่เขตเลือกตั้งใหม่

อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดข้อถกเถียงยุติลงเมื่อ 7 เม.ย. หลังศาลปกครองสูงสุดพิพากษายกฟ้อง โดยเห็นว่าประกาศ กกต. ชอบด้วยกฎหมายและไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

2 บัตรโหล ทั้งประเทศ เลือก ส.ส.เขต มีแต่เลข ไม่มีชื่อ ไม่มีพรรค 
สร้างความสับสนไม่น้อย เมื่อการเลือกตั้งครั้งนี้ ผู้สมัคร ส.ส.พรรคเดียวกัน แต่ต่างเขต หมายเลขไม่เหมือนกัน และหมายเลข ผู้สมัคร ส.ส.เขต ก็ไม่ตรงกับหมายเลขพรรค ในระบบปาร์ตี้ลิสต์  เพราะขึ้นอยู่กับผลการจับสลากหมายเลขในวันสมัครรับเลือกตั้ง

สำหรับบัตรเลือกตั้ง "พรรคที่ชอบ"  แม้จำหมายเลขไม่ได้ แต่ก็ยังมีโลโก้พรรคให้เห็น ต่างจากบัตรเลือกตั้ง ส.ส.เขต ที่มีเพียงหมายเลข ไม่มีชื่อผู้สมัคร รวมถึงโลโก้และชื่อพรรค หรือที่เรียกว่า “บัตรโหล” 

ซึ่งทางเลขาฯ กกต. ยืนยันว่าเป็นรูปแบบบัตรมาตรฐานที่ใช้จัดการเลือกตั้งในไทยทุกครั้งที่ผ่านมา ยกเว้นในปี 2562 ที่ใช้บัตรเลือกตั้งแบบเฉพาะเพราะเลือกจบในใบเดียว  และการนำบัตรโหลมาใช้เลือก ส.ส.เขต จะช่วยประหยัดงบประมาณ และ ป้องกันบัตรเสียจากความสับสน กับบัตรเลือกตั้งบัญชีรายชื่อ ที่มีหมายเลข โลโก้ และชื่อพรรคอยู่บนบัตร  ตรงกันข้ามกับความเห็นของหลายพรรคการเมือง ที่วิจารณ์ว่า การใช้บัตรโหลเป็นการผลักภาระให้ผู้ใช้สิทธิ และสับสน เพราะต้องจำทั้ง “เบอร์คน” และ “เบอร์พรรค”

3 "เลือกตั้งล่วงหน้า  นอกราชอาณาจักร" ใส่ชื่อพรรคผิด-หาย ทำผู้มีสิทธิเลือกตั้งในต่างแดนสับสน
นอกจากเรื่องวุ่น ๆ ในการจัดการเลือกตั้งภายในประเทศแล้ว ยังมีความผิดพลาด บกพร่องเกี่ยวกับเอกสารแนะนำผู้สมัครที่แจ้งต่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรในหลายกรณี จากหลายประเทศ ซึ่งอาจทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสับสน เข้าใจผิด และลงคะแนนผิด เช่น 

ภาพผู้สมัคร ส.ส.เขตอยู่สลับพรรคกัน มีการพิมพ์ชื่อพรรคต้นสังกัดของผู้สมัครผิด 

ชื่อพรรคต้นสังกัดของผู้สมัคร ซึ่งมีภาพ หมายเลข และชื่ออยู่ด้านบน แต่ชื่อพรรคดันถูกจัดหน้ามาไว้เหนือภาพผู้สมัคร ส.ส. ที่อยู่ด้านล่าง

รายชื่อผู้สมัคร ส.ส.เขต ไม่มีชื่อพรรคต้นสังกัดในช่องเดียวกับผู้สมัคร เนื่องจากชื่อพรรคถูกจัดหน้าแล้วดันไปไว้ในเอกสารหน้าถัดไป โดยไปปรากฏเหนือภาพผู้สมัครอื่น

ความสับสนทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับเอกสาร ทางสถานทูตหลายแห่งที่เกิดปัญหาที่ปลายทางนั้นไม่สามารถแก้ไขได้ เนื่องจากเป็นเทมเพลตสำเร็จรูปจาก กกต. 

4 กกต. ไม่มีเอกสารประกาศ 400 เขตเลือกตั้ง เป็นทางการ
ช่วงโค้งสุดท้าย ก่อนการเลือกตั้ง 2 วัน  "ยิ่งชีพ อัชฌานนท์" ผู้จัดการไอลอว์ ที่ออกมารณรงค์ให้ประชาชนร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการติดตามและตรวจสอบการนับคะแนนเลือกตั้งให้โปร่งใส โดยออกมาเป็นอาสาสมัครสังเกตการณ์กันเลือกตั้งและนับคะแนนตามเขตเลือกตั้งทั้ง 400 เขตทั่วประเทศ   ได้เปิดเผยถึง หนึ่งในอุปสรรคของการทำงานของภาคประชาชน  คือไม่มีเอกสารระบุรายละเอียดของการแบ่งเขตเลือกตั้งทั้ง 400 เขต

ซึ่งก่อนหน้านั้น ตน และทีมงานได้พยายามยื่นเรื่องขอเอกสารจาก กกต. เพื่อนำมาจัดสรรอาสาสมัครลงทำงานในพื้นที่เขตเลือกตั้ง หลายครั้ง แต่ได้รับคำตอบว่าไม่มีเอกสารเป็นทางการให้ ทำให้ภาคประชาชนทำงานได้ไม่คล่องตัว และอาจเข้าไปสังเกตการณ์พื้นที่เลือกตั้งอย่างไม่ทั่วถึง เนื่องจากไม่มีข้อมูลของเขตเลือกตั้งที่แม่นยำและครบทุกเขต เรื่องนี้อาจดูไม่เป็นปัญหาใหญ่แต่ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ กกต. ทำให้ครบ จบ สมบูรณ์กว่านี้ได้ 

การเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 นอกจากจะถูกบันทึกว่าเป็นการเลือกตั้งที่เกิดปรากฏการณ์ความพลิกผันเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จากกระแสพรรคก้าวไกลแล้ว การเลือกตั้งครั้งนี้ก็นับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งครั้งที่เกิดความอลวน และมีความความสุ่มเสี่ยงต่อการผิดพลาดบกพร่องมากที่สุดครั้งหนึ่งด้วยเช่นกัน