วันที่ 12 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันพยาบาลสากล (International Nurses Day) ระลึก ‘ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล’ ผู้ก่อกำเนิดวิชาชีพพยาบาล

นอกจากวันพยาบาลแห่งชาติ ที่ตรงกับวันที่ 21 ตุลาคมของทุกปีแล้ว สภาพยาบาลระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นองค์กรวิชาชีพพยาบาลระดับโลก ได้กำหนดให้วันที่ 12 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันพยาบาลสากล นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514 

เหตุที่กำหนดให้ 12 พฤษภาคม เป็นวันพยาบาลสากล เพราะเป็นวันเกิดของ ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ผู้ให้กำเนิดวิชาชีพการพยาบาลแผนปัจจุบัน และเป็นผู้มีอุดมการณ์ ตั้งใจบำเพ็ญสาธารณประโยชน์เพื่อมวลมนุษย์อย่างแท้จริง จนได้รับการยกย่อง และเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

วันพยาบาลสากลจึงถูกกำหนดขึ้นเพื่อรำลึกถึงคุณความดีของ ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ที่สร้างประโยชน์ให้แก่มวลมนุษย์อย่างมากมาย รวมทั้งเพื่อยกย่อง ให้เกียรติ และยึดถือเอาเป็นแบบอย่าง นอกจากนี้ ยังมีจุดมุ่งหมายให้พยาบาลทั่วโลก ร่วมมือกันจัดกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์แก่สาธารณชน และกำหนดแนวทางในการให้พยาบาลทั่วโลก ได้รณรงค์แก้ไขปัญหาด้านสุขภาพอีกด้วย

ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล (Florence Nightingale) เป็นชาวอังกฤษ แต่เกิดที่เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 1820 ครอบครัวของฟลอเรนซ์ ไนติงเกล จัดว่าเป็นชนชั้นสูงที่มีฐานะดี ทำให้เธอได้รับการศึกษาเป็นอย่างดี เธอมีความตั้งใจที่จะช่วยเหลือผู้อื่นอยู่เสมอ จึงขอบิดามารดาเรียนพยาบาล แต่เนื่องจากในยุคนั้น งานพยาบาลถือเป็นงานของชนชั้นแรงงาน และไม่ได้รับความนับถือจากคนในสังคมชั้นสูงนัก ครอบครัวของเธอจึงปฏิเสธ แต่ ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ก็ยังมุ่งมั่นทำงานเพื่อผู้ที่เจ็บป่วย และคอยหาโอกาสได้ไปเยี่ยมตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ก่อนเข้าศึกษาอบรมวิชาพยาบาลที่ประเทศเยอรมนีสมดังใจ

ต่อมาในปี 1857 เกิดสงครามไครเมียขึ้น ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล อาสาไปช่วยดูแลทหารที่บาดเจ็บจากสงคราม นอกจากเสียสละทรัพย์สินส่วนตัวแล้ว เธอยังขอเรี่ยไรจัดหาเครื่องเวชภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือทหาร และออกเยี่ยมเยียนเพื่อรักษา และให้กำลังใจทหารตั้งแต่เช้าจนค่ำ มักมีคนเห็นฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ถือตะเกียงเล็ก ๆ คอยเดินตรวจอาการของเหล่าทหารกลางดึกอยู่เสมอ จนผู้คนต่างพากันเรียกเธอว่า The Lady with the Lamp

ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ยังเป็นผู้ที่ริเริ่มเสนอแนวคิดเรื่องการรักษาความสะอาดในสถานพยาบาล เนื่องจากในสมัยนั้น ยังไม่มีคนรู้จักสิ่งที่เรียกว่า เชื้อโรค มากนัก ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล คือผู้ที่สังเกตเห็นว่า ทหารที่มีบาดแผลสกปรก จนเกิดการอักเสบ จะมีอัตราการเสียชีวิตสูง และเรียกร้องให้มีการรักษาความสะอาดในสถานพยาบาลอย่างเคร่งครัด

หลังสงครามสิ้นสุดลง ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ได้พัฒนากิจการพยาบาลให้ก้าวหน้าขึ้น จนได้รับการยอมรับให้เป็นผู้จัดระเบียบด้านสุขภาพในกองทัพประเทศอังกฤษ วางแผนงานด้านสุขาภิบาลในประเทศอินเดีย ก่อนจะก่อตั้งโรงเรียนการพยาบาลที่เป็นต้นแบบของโรงเรียนพยาบาลทั่วโลก