‘ดร.หิมาลัย’ ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดกับเด็กรุ่นใหม่ ย้ำชัด!! ควรหยุดวาทกรรม ‘ชังชาติ’ ก่อนทำสังคมแตกแยก

(11 พ.ค.66) ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ ผู้ประสานงานพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ร่วมเวทีเสวนา : คนรุ่นใหม่ชังชาติจริงหรือไม่? ซึ่งจัดโดยเครือข่ายแรงใจ โดยมีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจำนวนมาก 

พร้อมกันนี้ ดร.หิมาลัย ได้ให้ความเห็นว่า ในบริบทของสังคมไทยในปัจจุบัน โดยส่วนตัวแล้วไม่อยากให้ใช้คำว่า ‘ชังชาติ’ ไม่ว่ากับคนกลุ่มใด เพราะความรักชาติของคนแต่ละช่วงวัยนั้นไม่เหมือนกัน และอาจแสดงออกแตกต่างกัน เพราะฉะนั้น จะต้องเปิดใจรับฟังซึ่งกันและกัน

เพราะคนที่ถูกตราหน้าว่า ‘ชังชาติ’ นั้น แท้จริงแล้วเขาอาจจะรักชาติในมุมของเขาก็ได้ และแสดงออกในแบบที่เขาเชื่อว่าถูกต้องจนสุดโต่ง ส่วนคนที่บอกว่าตนเองรักชาตินั้น บางครั้งอาจจะเลยไปถึงขั้นชาตินิยม และจะไม่ยอมรับความเห็นต่างจากคนอื่น ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องนัก เนื่องจากในบริบทของสังคมทุกสังคม จะต้องยอมรับความเห็นและให้เกียรติซึ่งกันและกัน แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของกรอบกฎหมาย

ดร.หิมาลัย ย้ำว่า สังคมไทยกำลังถูกวาทกรรมและความคิดของคนต่างวัยบ่อนทำลาย เพราะฉะนั้น อยากให้ผู้ใหญ่รับฟังความคิดเด็ก ๆ คนรุ่นใหม่โดยไม่ปิดกั้น เพราะความคิดของเด็กก็ไม่ใช่ว่าจะผิดทุกครั้ง และเช่นเดียวกัน ความคิดของผู้ใหญ่ก็ใช่ว่าจะถูกต้องเสมอไป เรื่องบางเรื่องผู้ใหญ่ควรเรียนรู้จากเด็ก

“อยากจะยกตัวอย่างสิ่งที่ผู้ใหญ่ควรเรียนรู้จากเด็กรุ่นใหม่ จากสิ่งที่เพิ่งประสบมาล่าสุด จากการที่ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรครวมไทยสร้างชาติบางคน ที่ออกมาเรียกร้องค่าใช้จ่ายในการหาเสียงจากทางพรรค ซึ่งเป็นนักการเมืองรุ่นเก่า ตนได้ชี้แจงไปว่า พรรคเราทำการเมืองตามอุดมการณ์ ใช้งบประมาณตามที่ได้รับบริจาคมา ซึ่งไม่มีมากนัก แต่เมื่อย้อนกลับไปดูผู้สมัครที่เป็นคนรุ่นใหม่ ทั้งที่อยู่ในพรรคของเราเอง และพรรคอื่น ๆ ที่มีความตั้งใจทำงานการเมืองอย่างที่อยากทำ กลับไม่มีการเรียกร้อง แต่ใช้การบริหารงบประมาณได้รับ และหาวิธีหาเสียงกับกลุ่มเป้าหมายโดยไม่ย่อท้อ ซึ่งตรงนี้ต้องขอยกย่องและเป็นสิ่งที่นักการเมืองรุ่นเก่าหรือผู้ใหญ่จะต้องเรียนรู้และปรับตัว”

ขณะที่ ส่วนประเด็นที่หลายคนกล่าวหาว่า พรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นพรรคเผด็จการนั้น ดร.หิมาลัย ชี้แจงว่า จากการที่ได้ทำงานร่วมกับ พล.อ.ประยุทธ์อย่างใกล้ชิด และท่านได้ตัดสินใจทำการเมืองต่อ ไม่ใช่เพราะการอยากจะสืบต่ออำนาจแต่อย่างใด เพียงแต่ท่านเห็นว่ายังมีสิ่งที่ยังน่ากังวล และต้องการทำสิ่งที่เริ่มต้นมาแล้วให้สำเร็จลุล่วง แต่ในขณะเดียวกันท่านได้ย้ำเสมอว่า การจะได้ทำต่อหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของพี่น้องประชาชน ถ้าประชาชนเห็นว่าสิ่งที่ท่านทำมาตลอดนั้นมีประโยชน์ต่อชาติบ้านเมือง ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่ถ้าประชาชนไม่ให้ไปต่อ ก็ต้องยอมรับ เพราะท่านยึดหลักในระบอบประชาธิปไตย อำนาจอยู่ที่ปลายปากกาของประชาชน และไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาเช่นไรท่านก็พร้อมจะยอมรับ