‘IMF’ เผย ยูโรอาจกลายเป็นผู้ท้าชิง ‘สกุลเงินสำรองหลักของโลก’ หลังสัดส่วนการถือครองเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงเหลือต่ำกว่า 60%

(3 พ.ค. 66) กรรมการจัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) แสดงความคิดเห็นในเวทีสัมมนาหนึ่งในสัปดาห์นี้ เผย ดอลลาร์สหรัฐฯ กำลังค่อยๆ สูญเสียสถานะในฐานะ ‘สกุลเงินสำรองหลักของโลก’ ท่ามกลางสัดส่วนการถือครองลดลงจากระดับ 70% เหลือต่ำกว่า 60% เล็กน้อย

อย่างไรก็ตาม คริสตาลินา จอร์เจียวา กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ เน้นย้ำระหว่างกล่าวในเวทีสัมมนา Milken Institute Global Conference ประจำปี 2023 ในเบเวอร์ลีฮิลส์ รัฐแคลิฟอร์เรีย สหรัฐฯ เมื่อวันจันทร์ (1พ.ค.) ว่ายังไม่มีทางเลือกอื่นในบรรดาสกุลเงินอื่น ๆ ของโลก ที่จะก้าวมาแทนที่ดอลลาร์ในอนาคตอันใกล้นี้

“มีการบ่ายหนีจากดอลลาร์อย่างค่อยเป็นค่อยไป สัดส่วนการสำรองเคยอยู่ที่ 70% ตอนนี้ลดลงมาต่ำกว่า 60% เล็กน้อย” เธอกล่าว พร้อมระบุว่า ยูโรสามารถถูกมองในฐานะผู้ท้าชิงรายใหญ่ที่สุดของดอลาร์ ขณะที่เงินปอนด์ของสหราชอาณาจักร เยนญี่ปุ่นและหยวนองจีน “มีบทบาทเล็กน้อยมาก”

เธอเน้นว่าปัจจัยสำคัญสำหรับความเชื่อมั่นที่มีต่อสกุลเงินและประเทศนั้น ๆ ก็คือความเข้มแข็งของเศรษฐกิจและมิติความลึกของตลาดทุน

“และหากคุณคิดว่ามีทางเลือกอื่นๆในโลก ซึ่งเราอาจโยกย้ายสู่สกุลเงินดิจิทัล ที่ออกโดยธนาคารกลางครั้งใหญ่ แต่ฉันมองไม่เห็นทางเลือกอื่น ฉันไม่เห็นว่ามันจะก้าวเข้ามาในอนาคตอันใกล้นี้” จอร์เจียวา ระบุ

กรรมการจัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ยังได้กล่าวเน้นย้ำถึงคลื่นความช็อกต่าง ๆ นานาที่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทั้งโรคระบาดใหญ่โควิด-19 ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังจากใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินมานานหลายปี โดยเรียกมันว่าเป็น “เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดมาก่อน”

เธออธิบายว่า การปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็วจากอัตราดอกเบี้ยระดับต่ำสู่ระดับสูง ได้เปิดโปงให้เห็นถึงความอ่อนแอต่าง ๆ นานาในภาคการเงิน และยอมรับว่าความอ่อนแออย่างมากของภาคธนาคารสหรัฐฯ ที่มีต่อวิกฤต ได้สร้างความประหลาดใจแก่บรรดานักวิเคราะห์ของไอเอ็มเอฟเป็นอย่างยิ่ง

ที่มา:เอเจนซี/อาร์ทีนิวส์
https://mgronline.com/around/detail/9660000040612